โดย : ปิ่น บุตรี
“ฉันจะไม่สร้างบ้านอยู่ที่นี่ ถ้าไม่มีโครงการพัฒนาดอยตุง”
ครั้งหนึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่าของคนไทย เคยรับสั่งเช่นนี้เนื่องจากพระองค์ท่านมีปณิธานอันแน่วแน่ว่า "ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง" เพื่อต้องการพลิกเขาหัวโล้นให้กลับกลายมาเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์
โครงการพัฒนาดอยตุง(พื้นที่ทรงงาน)อันเนื่องมาจากพระราชดำริจึงถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2530 ด้วยแนวคิดปลูกป่า ปลูกคน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดี กินดี มีความรู้ มีความเข้มแข็ง มีอาชีพเลี้ยงตัวเอง เพื่อให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวเองดังแนวพระราชดำริ "เราช่วยเขา ให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้"
นั่นจึงทำให้ดอยตุงที่มีสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น เพราะถูกบุกรุกทำไร่เลื่อนลอยเพื่อปลูกฝิ่น กลับกลายเป็นผืนป่าอุดมสมบูรณ์เขียวขจี เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารอันทรงคุณค่า อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของ “พระตำหนักดอยตุง” ที่ปัจจุบันสองสิ่งนี้ถือเป็นของคู่กันที่ยากจะแยกออกได้ เหมือนดังภาพของสมเด็จย่าที่ยากจะแยกจากภาพการทรงงานหนักตลอดพระชนม์ชีพของท่าน เพียงเพื่อต้องการให้พสกนิกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนชาวไทยภูเขาและชาวเหนือที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารเรียกขานพระองค์ท่านว่า “แม่ฟ้าหลวง” ซึ่งก็หมายถึงแม่ที่สวรรค์เบื้องบนประทานมาให้” โดยสมญาพระนามนี้เริ่มมาในปี พ.ศ. 2507 ครั้งที่พระองค์ท่าน เสด็จฯไปทรงเยี่ยมชาวกระเหรี่ยงหมู่บ้าน “กองก๋อย” อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน
นับแต่นั้นมาสมญาพระนามแม่ฟ้าหลวงก็อยู่ในใจของคนไทยทุกคน
1...
บนถนนที่ทอดตัวยาวไกล โอบล้อมไปด้วยธรรมชาติที่งดงามของเทือกเขานางนอน จ.เชียงราย ผมเดินทางไต่ขึ้นไปตามอ้อมกอดแห่งขุนเขามุ่งหน้าสู่ดอยตุงในเส้นทางตามรอยสมเด็จย่า เพื่อซึมซับในพระราชกรณียกิจของสมเด็จย่า ณ แดนดอยแห่งนี้
ภาพตุงที่ปลิวไสวค่อยๆปรากฏเด่นชัดขึ้นเมื่อเข้าเขตแหล่งท่องเที่ยวบนดอยตุง ซึ่งจุดแรกที่ผมเลือกเข้าไปเที่ยวชมนั้น คือ “พระตำหนักดอยตุง” สถานที่ที่เป็นดังบ้านหลังแรกของสมเด็จย่า(ในเมืองไทย)ที่สร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ดูเรียบง่ายแต่งดงามและสมประโยชน์ใช้สอย มีลักษณะเป็นเรือนไม้ 2 ชั้นสร้างบนไหล่เนินต่างระดับด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนาผสมพื้นบ้านสวิสส์ที่เรียกว่า“ชาเล่ย์” แบ่งเป็น 4 ส่วน เชื่อมติดกันเป็นอาคารเดียว ด้านหน้ามองเห็นไม้แกะสลักเชิงชายลายเมฆไหลอันอ่อนช้อย และกาแลไม้ฝีมือปราณีตจนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในกาแลที่งดงามสมส่วนมากที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย
อนึ่งการเข้าชมในพระตำหนักได้เปิดให้เข้าชมเฉพาะบางส่วนเท่านั้น เมื่อถอดรองเท้าเดินเข้าไปตามทางเดินสู่พระตำหนักด้านใน ที่มีห้องต่างๆ มากมาย อาทิ ห้องท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม พระราชนัดดา ห้องที่ประทับของสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ห้องที่ประทับของสมเด็จย่า และมีห้องท้องพระโรงหรือห้องโถงกลาง ซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จย่าประดิษฐานอยู่
ณ ห้องท้องพระโรงหลังผมก้มกราบสักการะพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จย่า เมื่อแหงนหน้าขึ้นไปบนเพดานท้องพระโรงก็ต้องทึ่งกับเพดานดาวที่เป็นไม้สนแกะสลักเป็นรูปกลุ่มดาวราศีต่างๆล้อมรอบระบบสุริยะจักรวาล แล้วฝังดวงไฟแทนดวงดาวตามราศีในวันพระราชสมภพ ถือเป็นการตกแต่งที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการที่สมเด็จย่าทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก
จากนั้นผมต่อด้วยการเดินชมบริเวณท้องพระโรงโดยรอบที่มีสิ่งน่าสนใจ อาทิ ผนังห้องที่เป็นผ้าปักลวดลายสวยงามที่ชาวบ้านปักถวาย หรือจะเป็นส่วนบริเวณผนังเชิงบันไดที่แกะสลักเป็นพยัญชนะไทยอันหาชมได้ยาก
จากภายในเมื่อเดินตามเส้นทางออกมามีจุดชวนชมสำคัญอย่างริมระเบียงยาวด้านนอก ซึ่งตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับสีสันสวยงาม เป็นจุดชมวิวและจุดยอดฮิตที่นักท่องเที่ยวจะมายืนถ่ายรูปคู่กับมวลหมู่ดอกไม้ โดยมีทิวทัศน์ขุนเขาอันสวยงามเป็นฉากหลัง ก่อนที่เส้นทางจะพาไปชมห้องต่างๆที่สมเด็จย่าเคยประทับด้วยการมองผ่านกระจกเข้าไป เห็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆของพระองค์ที่ถูกจัดเก็บรักษาแสดงไว้เหมือนเดิมเป็นอย่างดี ซึ่งเห็นได้ว่าพระองค์ท่านใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและสมถะ จนผมอยากให้บรรดานักศึกษา เยาวชน หรือผู้ที่ฟุ้งเฟ้อทั้งหลาย ได้เข้าไปเที่ยวในพระตำหนักดอยตุงจัง เผื่อว่าเรื่องราวของสมเด็จย่าจะได้ไปกระตุ้นต่อมสำนึกให้เพลาๆจากความฟุ้งเฟ้อที่มันเกินตัวลงไปบ้าง
2...
เมื่อมาถึงดอยตุงแล้ว ไม่ควรพลาดการเที่ยวชมไฮไลท์อย่าง“สวนแม่ฟ้าหลวง” ที่อยู่ตรงเนินเขาด้านหลังพระตำหนักดอยตุงด้วยประการทั้งปวง
“สวนแม่ฟ้าหลวงสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้มาเที่ยวได้ดูความสวยงามของต้นไม้ ดอกไม้ ถ้าคนที่มาเหยียบย่ำหรือทำลายต้นไม้ ดอกไม้ ใบหญ้า แม้แต่คนละเล็กละน้อย คนมาข้างหลังก็จะไม่มีโอกาสได้ดูความสวยงามนี้”
แผ่นป้ายข้อความกระแสพระราชดำรัสของสมเด็จย่าที่ติดอยู่ตรงปากทางเข้าสวนแม่ฟ้าหลวง เป็นดังสิ่งเตือนใจนักท่องเที่ยวได้ชะงัดนัก ที่นี่จึงไม่ค่อยมีใครเหรอหราเดินออกนอกลู่นอกทางไปเหยียบย่ำต้นไม้ใบหญ้าให้เสียหายเท่าไหร่
สำหรับสวนแม่ฟ้าหลวงได้ชื่อว่าเป็นสวนตกแต่งที่สวยที่สุดในเมืองไทย แปลงไม้ดอกไม้ที่นี่ได้รับการปลูกแต่งให้ผลิดอกออกใบสวยงามหมุนเวียนไม่ซ้ำกันทั้งสามฤดู จึงมีดอกไม้ออกดอกหมุนเวียนสลับสับเปลี่ยนกันไปทุกช่วงฤดูตลอด 365 วัน จนได้รับรางวัลพาต้า โกลด์ อวอร์ด (PATA GOLD AWARDS ) เมื่อปี พ.ศ. 2536 จากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเอเชีย-แปซิฟิค
ส่วนที่ผมชื่นชอบอย่างมาก คือ ประติมากรรมกลางลานสวนดอกไม้รูปพัด ชื่อ “ความต่อเนื่อง” (continuity) ของศิลปินนามอุโฆษ มีเซียม ยิบอินซอย ซึ่งตรงกับกระแสรับสั่งของสมเด็จย่าที่ว่า “ทำงานอะไรก็ตามจะสำเร็จได้ต้องมีความเนื่อง”
ผลงานประติมากรรมชิ้นนี้ถือเป็นงานรุ่นสุดท้ายของคุณมีเซียม ใช้เวลาทำนานกว่า 2 ปี เป็นรูปหล่อสัมฤทธิ์แสดงความต่อเนื่องโดยสื่อออกมาทางเด็กๆ 17 คน ที่ต่อตัวขึ้นไปในอากาศ ดูแล้วทรงเสน่ห์และแฝงความหมายกินใจยิ่งนัก
ผมใช้เวลาอยู่ที่สวนแม่ฟ้าหลวงนานพอสมควรก่อนจะอำลาเส้นทางตามรอยสมเด็จย่ากลับลงสู่พื้นราบ ทิวทัศน์และธรรมชาติ 2 ข้างทางนั้นงดงามมาก แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าครั้งหนึ่งดอยตุงแห่งนี้จะเคยเป็นเขาหัวโล้น แต่เมื่อสมเด็จย่า แม่ฟ้าหลวงมาโปรด ด้วยปณิธาน “ปลูกป่า สร้างคน” ดอยตุงก็กลับกลายเป็นเขียวชอุ่ม กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย
...มาวันนี้แม้พระองค์ท่านจะเสด็จสวรรคตไปนานปีแล้ว แต่สมเด็จย่าก็ยังคงอยู่ในหัวใจของคนไทยทุกคน...
*****************************************
สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจมาเที่ยวดอยตุงสามารถติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โครงการพัฒนาดอยตุง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โทร. 0-5376-7015 ถึง 7
“ฉันจะไม่สร้างบ้านอยู่ที่นี่ ถ้าไม่มีโครงการพัฒนาดอยตุง”
ครั้งหนึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่าของคนไทย เคยรับสั่งเช่นนี้เนื่องจากพระองค์ท่านมีปณิธานอันแน่วแน่ว่า "ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง" เพื่อต้องการพลิกเขาหัวโล้นให้กลับกลายมาเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์
โครงการพัฒนาดอยตุง(พื้นที่ทรงงาน)อันเนื่องมาจากพระราชดำริจึงถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2530 ด้วยแนวคิดปลูกป่า ปลูกคน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดี กินดี มีความรู้ มีความเข้มแข็ง มีอาชีพเลี้ยงตัวเอง เพื่อให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวเองดังแนวพระราชดำริ "เราช่วยเขา ให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้"
นั่นจึงทำให้ดอยตุงที่มีสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น เพราะถูกบุกรุกทำไร่เลื่อนลอยเพื่อปลูกฝิ่น กลับกลายเป็นผืนป่าอุดมสมบูรณ์เขียวขจี เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารอันทรงคุณค่า อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของ “พระตำหนักดอยตุง” ที่ปัจจุบันสองสิ่งนี้ถือเป็นของคู่กันที่ยากจะแยกออกได้ เหมือนดังภาพของสมเด็จย่าที่ยากจะแยกจากภาพการทรงงานหนักตลอดพระชนม์ชีพของท่าน เพียงเพื่อต้องการให้พสกนิกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนชาวไทยภูเขาและชาวเหนือที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารเรียกขานพระองค์ท่านว่า “แม่ฟ้าหลวง” ซึ่งก็หมายถึงแม่ที่สวรรค์เบื้องบนประทานมาให้” โดยสมญาพระนามนี้เริ่มมาในปี พ.ศ. 2507 ครั้งที่พระองค์ท่าน เสด็จฯไปทรงเยี่ยมชาวกระเหรี่ยงหมู่บ้าน “กองก๋อย” อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน
นับแต่นั้นมาสมญาพระนามแม่ฟ้าหลวงก็อยู่ในใจของคนไทยทุกคน
1...
บนถนนที่ทอดตัวยาวไกล โอบล้อมไปด้วยธรรมชาติที่งดงามของเทือกเขานางนอน จ.เชียงราย ผมเดินทางไต่ขึ้นไปตามอ้อมกอดแห่งขุนเขามุ่งหน้าสู่ดอยตุงในเส้นทางตามรอยสมเด็จย่า เพื่อซึมซับในพระราชกรณียกิจของสมเด็จย่า ณ แดนดอยแห่งนี้
ภาพตุงที่ปลิวไสวค่อยๆปรากฏเด่นชัดขึ้นเมื่อเข้าเขตแหล่งท่องเที่ยวบนดอยตุง ซึ่งจุดแรกที่ผมเลือกเข้าไปเที่ยวชมนั้น คือ “พระตำหนักดอยตุง” สถานที่ที่เป็นดังบ้านหลังแรกของสมเด็จย่า(ในเมืองไทย)ที่สร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ดูเรียบง่ายแต่งดงามและสมประโยชน์ใช้สอย มีลักษณะเป็นเรือนไม้ 2 ชั้นสร้างบนไหล่เนินต่างระดับด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนาผสมพื้นบ้านสวิสส์ที่เรียกว่า“ชาเล่ย์” แบ่งเป็น 4 ส่วน เชื่อมติดกันเป็นอาคารเดียว ด้านหน้ามองเห็นไม้แกะสลักเชิงชายลายเมฆไหลอันอ่อนช้อย และกาแลไม้ฝีมือปราณีตจนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในกาแลที่งดงามสมส่วนมากที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย
อนึ่งการเข้าชมในพระตำหนักได้เปิดให้เข้าชมเฉพาะบางส่วนเท่านั้น เมื่อถอดรองเท้าเดินเข้าไปตามทางเดินสู่พระตำหนักด้านใน ที่มีห้องต่างๆ มากมาย อาทิ ห้องท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม พระราชนัดดา ห้องที่ประทับของสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ห้องที่ประทับของสมเด็จย่า และมีห้องท้องพระโรงหรือห้องโถงกลาง ซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จย่าประดิษฐานอยู่
ณ ห้องท้องพระโรงหลังผมก้มกราบสักการะพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จย่า เมื่อแหงนหน้าขึ้นไปบนเพดานท้องพระโรงก็ต้องทึ่งกับเพดานดาวที่เป็นไม้สนแกะสลักเป็นรูปกลุ่มดาวราศีต่างๆล้อมรอบระบบสุริยะจักรวาล แล้วฝังดวงไฟแทนดวงดาวตามราศีในวันพระราชสมภพ ถือเป็นการตกแต่งที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการที่สมเด็จย่าทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก
จากนั้นผมต่อด้วยการเดินชมบริเวณท้องพระโรงโดยรอบที่มีสิ่งน่าสนใจ อาทิ ผนังห้องที่เป็นผ้าปักลวดลายสวยงามที่ชาวบ้านปักถวาย หรือจะเป็นส่วนบริเวณผนังเชิงบันไดที่แกะสลักเป็นพยัญชนะไทยอันหาชมได้ยาก
จากภายในเมื่อเดินตามเส้นทางออกมามีจุดชวนชมสำคัญอย่างริมระเบียงยาวด้านนอก ซึ่งตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับสีสันสวยงาม เป็นจุดชมวิวและจุดยอดฮิตที่นักท่องเที่ยวจะมายืนถ่ายรูปคู่กับมวลหมู่ดอกไม้ โดยมีทิวทัศน์ขุนเขาอันสวยงามเป็นฉากหลัง ก่อนที่เส้นทางจะพาไปชมห้องต่างๆที่สมเด็จย่าเคยประทับด้วยการมองผ่านกระจกเข้าไป เห็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆของพระองค์ที่ถูกจัดเก็บรักษาแสดงไว้เหมือนเดิมเป็นอย่างดี ซึ่งเห็นได้ว่าพระองค์ท่านใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและสมถะ จนผมอยากให้บรรดานักศึกษา เยาวชน หรือผู้ที่ฟุ้งเฟ้อทั้งหลาย ได้เข้าไปเที่ยวในพระตำหนักดอยตุงจัง เผื่อว่าเรื่องราวของสมเด็จย่าจะได้ไปกระตุ้นต่อมสำนึกให้เพลาๆจากความฟุ้งเฟ้อที่มันเกินตัวลงไปบ้าง
2...
เมื่อมาถึงดอยตุงแล้ว ไม่ควรพลาดการเที่ยวชมไฮไลท์อย่าง“สวนแม่ฟ้าหลวง” ที่อยู่ตรงเนินเขาด้านหลังพระตำหนักดอยตุงด้วยประการทั้งปวง
“สวนแม่ฟ้าหลวงสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้มาเที่ยวได้ดูความสวยงามของต้นไม้ ดอกไม้ ถ้าคนที่มาเหยียบย่ำหรือทำลายต้นไม้ ดอกไม้ ใบหญ้า แม้แต่คนละเล็กละน้อย คนมาข้างหลังก็จะไม่มีโอกาสได้ดูความสวยงามนี้”
แผ่นป้ายข้อความกระแสพระราชดำรัสของสมเด็จย่าที่ติดอยู่ตรงปากทางเข้าสวนแม่ฟ้าหลวง เป็นดังสิ่งเตือนใจนักท่องเที่ยวได้ชะงัดนัก ที่นี่จึงไม่ค่อยมีใครเหรอหราเดินออกนอกลู่นอกทางไปเหยียบย่ำต้นไม้ใบหญ้าให้เสียหายเท่าไหร่
สำหรับสวนแม่ฟ้าหลวงได้ชื่อว่าเป็นสวนตกแต่งที่สวยที่สุดในเมืองไทย แปลงไม้ดอกไม้ที่นี่ได้รับการปลูกแต่งให้ผลิดอกออกใบสวยงามหมุนเวียนไม่ซ้ำกันทั้งสามฤดู จึงมีดอกไม้ออกดอกหมุนเวียนสลับสับเปลี่ยนกันไปทุกช่วงฤดูตลอด 365 วัน จนได้รับรางวัลพาต้า โกลด์ อวอร์ด (PATA GOLD AWARDS ) เมื่อปี พ.ศ. 2536 จากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเอเชีย-แปซิฟิค
ส่วนที่ผมชื่นชอบอย่างมาก คือ ประติมากรรมกลางลานสวนดอกไม้รูปพัด ชื่อ “ความต่อเนื่อง” (continuity) ของศิลปินนามอุโฆษ มีเซียม ยิบอินซอย ซึ่งตรงกับกระแสรับสั่งของสมเด็จย่าที่ว่า “ทำงานอะไรก็ตามจะสำเร็จได้ต้องมีความเนื่อง”
ผลงานประติมากรรมชิ้นนี้ถือเป็นงานรุ่นสุดท้ายของคุณมีเซียม ใช้เวลาทำนานกว่า 2 ปี เป็นรูปหล่อสัมฤทธิ์แสดงความต่อเนื่องโดยสื่อออกมาทางเด็กๆ 17 คน ที่ต่อตัวขึ้นไปในอากาศ ดูแล้วทรงเสน่ห์และแฝงความหมายกินใจยิ่งนัก
ผมใช้เวลาอยู่ที่สวนแม่ฟ้าหลวงนานพอสมควรก่อนจะอำลาเส้นทางตามรอยสมเด็จย่ากลับลงสู่พื้นราบ ทิวทัศน์และธรรมชาติ 2 ข้างทางนั้นงดงามมาก แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าครั้งหนึ่งดอยตุงแห่งนี้จะเคยเป็นเขาหัวโล้น แต่เมื่อสมเด็จย่า แม่ฟ้าหลวงมาโปรด ด้วยปณิธาน “ปลูกป่า สร้างคน” ดอยตุงก็กลับกลายเป็นเขียวชอุ่ม กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย
...มาวันนี้แม้พระองค์ท่านจะเสด็จสวรรคตไปนานปีแล้ว แต่สมเด็จย่าก็ยังคงอยู่ในหัวใจของคนไทยทุกคน...
*****************************************
สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจมาเที่ยวดอยตุงสามารถติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โครงการพัฒนาดอยตุง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โทร. 0-5376-7015 ถึง 7