วีระศักดิ์ ยื่นหนังสือลาออกพ้นตำแหน่งประธานบอร์ด ททท. มีผลทันที คนใกล้ชิดระบุ เจ้าตัวเกิดความเครียดต่อแรงกดดันในทุกเหตุการณ์เกิดขึ้น โดยเฉพาะล่าสุดการตั้งนายกอักกพล รับตำแหน่งที่ปรึกษา 11 แบบไม่โปร่งใส ด้านเอกชนคาดกระทบท่องเที่ยวแน่
แหล่งข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (บอร์ดททท.) ได้ทำหนังสือส่งถึงนายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อขอลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดททท.โดยให้มีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.52 โดยแหล่งข่าวใกล้ชิดกล่าวถึงเหตุผลการลาออกว่าน่าจะเป็นเพราะนายวีระศักดิ์ เกิดความไม่สบายใจอย่างรุนแรงกับหลายๆเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งได้สะสมมาโดยตลอด และรู้สึกถูกกดดันกับทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนไม่สามารถจะทำงานต่อไปได้อีก จึงขอปลดล็อกตัวเองออกไปดีกว่า
อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตว่า การลาออกของนายวีระศักดิ์ในครั้งนี้น่าจะมาจากแรงกดดันจากสหภาพรัฐวิสาหกิจการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และพนักงานททท.ที่ประท้วงให้นายวีระศักดิ์ รับผิดชอบในเรื่องการตัดสินใจแต่งตั้ง นายอักกพล พฤกษะวัน รองผู้ว่าการด้านสินค้าการท่องเที่ยว ขึ้นเป็นที่ปรึกษาระดับ 11 โดยสหภาพฯมองว่าการตัดสินใจครั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะนายวีระศักดิ์ ปล่อยให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาครอบงำ และ มาล้วงลูกการทำงานมากจนเกินไป ทำให้การทำงานและการตัดสินใจขาดการเป็นเอกภาพโดยสิ้นเชิง ขณะเดียวกันก็มองได้ว่าเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา หรือ ITD ซึ่งได้ถูกรับเลือกและจะเริ่มเข้ารับตำแหน่งในเดือน ต.ค.นี้
ด้านนายเจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว(ทีทีเอเอ) และโฆษกสหพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย(เฟสต้า) กล่าวว่า การลาออกของนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เชื่อว่าจะกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างแน่นอน เพราะขณะนี้ทิศทางการบริหารงานของ ททท.และคนในวงการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันนัก
ฉะนั้นการลาออกของผู้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดททท. ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความวุ่นวายภายในอุตสาหกรรมนี้ที่มีข้อขัดแย้งกันมากขึ้น ผลของการลาออกครั้งนี้จะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะยิ่งเคว้งควางไร้ทิศทางอย่างเห็นได้ชัด และเชื่อมั่นว่า เป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติ 14 ล้านคน ตามที่ นายชุมพล ศิลปอาชา รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวกำหนดไว้คงไม่เป็นไปตามนั้นอย่างแน่นอน
ทางด้านแหล่งข่าวจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สรทท.) กล่าวว่า จากกรณีแต่ตั้งนายอักกพล พฤกษะวัน ขึ้นเป็นตำแหน่งที่ปรึกษาระดับ 11 และการโยกย้ายตำแหน่งรองผู้ว่าการ ททท. การเสนอขอเพิ่มตำแหน่งรองผู้ว่าการด้านตลาดต่างประเทศอีก 1 ตำแหน่ง นั้น สรทท. จะเดินหน้าเคลื่อนไหวแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างถึงที่สุด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมความคิดเห็นจากผู้บริหารระดับ 8 ขึ้นไปของ ททท.ด้วยว่า มีความคิดเห็นจากการแต่งตั้งโยกย้ายในครั้งนี้อย่างไรบ้าง เพื่อรวบรวมเป็นความคิดเห็นของคนทั้งองค์กรททท.ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก่อนทำหนังสือสอบถามต่อนายชุมพล ศิลปอาชา รมว.กระทรวงการท่องเที่ยว อย่างเป็นทางการภายหลังนายชุมพลกลับจากการเดินทางไปร่วมงานเทรดโชว์และโรดโชว์ที่ประเทศรัสเซีย ในสัปดาห์หน้า พร้อมขอรับทราบเหตุผลถึงการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม สรทท. ต้องการตั้งคำถามว่า การแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ ได้มีการศึกษาอย่างรอบคอบถึงผลดีผลเสียหรือยัง เพราะไม่มีหน่วยงานใด ที่จะตั้งตำแหน่งสูงสุดขององค์กรให้มีถึง 2 คน ซึ่งตำแหน่งผู้ว่าการ ททท.กับตำแหน่งที่ปรึกษา 11 ถือว่าเป็นตำแหน่งสูงสุดขององค์กรเท่าๆกัน ต่างกันที่ตำแหน่งที่ปรึกษา 11 ไม่มีอำนาจหน้าที่เรื่องการสั่งการ จึงมองว่ากรณีของการแต่งตั้งนายอักกพล น่าจะเป็นเรื่องของการตั้งเพื่อแขวนนายอักกพลไว้มากกว่า
ส่วนการเตรียมของกระทรวงการคลังเพิ่มตำแหน่ง รองผู้ว่าการด้านต่างประเทศอีก 1 ตำแหน่ง น่าจะมีนัยสำคัญมากไปกว่าที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพราะแท้จริงแล้ว หากมีรองผู้ว่าด้านนี้ถึง 2 ตำแหน่ง จะทำให้การทำงานไม่มีเอกภาพด้านการสั่งงาน และท้ายสุดภาระการตัดสินใจและการสั่งการก็ต้องตกเป็นของผู้ว่าการททท.เพียงผู้เดียว และที่สำคัญปัจจุบันหน่วยงานรัฐพยายามรีดไขมันองค์กรเพื่อความคล่องตัว และโอนถ่ายงานที่จำเป็นน้อยกระจายไปสู่องค์กรส่วนจังหวัด และประชาชน และการตั้งตำแหน่งรองผู้ว่าการททท.เพิ่มเติมก็ไมได้ยืนยันว่า จะสามารถกระตุ้นให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นจริง