xs
xsm
sm
md
lg

"พิพิธภัณฑ์พระบรมธาตุ" บางรัก แหล่งรวมพระธาตุทั่วทุกสารทิศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
บรรยากาศขรึมขลังในพิพิธภัณฑ์พระบรมธาตุ
 
สาธุ......

หลังฉันได้มากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ภายใน "พิพิธภัณฑ์พระบรมธาตุ" เขตบางรัก ซึ่งแม้จะเป็นเพียงห้องเล็กๆ แต่ภายในนั้นเต็มไปด้วยพระบรมธาตุมากมายที่รวบรวมมาจากทั่วทุกสารทิศ อันเกิดจากศรัทธาของผู้ก่อตั้ง

ที่พิพิธภัณฑ์พระบรมธาตุนอกจากฉันจะได้อิ่มเอมใจหลังกราบพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ยังได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับพระบรมธาตุกับคุณปราโมช ประสพสุขโชคมณี ประธานชมรมรักษ์พระบรมธาตุแห่งประเทศไทย
พระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานมากมายบริเวณที่บูชาพระบรมธาตุ
คุณปราโมช เล่าให้ฉันฟังว่า พระบรมสารีริกธาตุ หรือพระบรมธาตุ ซึ่งหมายถึง พระอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้านั้นมีตำนานการเกิดที่เชื่อกันว่า ตามที่ได้รู้กันมาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนๆจะมีพระชนมายุยืนยาว สามารถประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคง และจะมีพระบรมสารีริกธาตุที่มีลักษณะรวมกันเป็นแท่งเดียว ไม่สามารถแบ่งไปประดิษฐานตามที่ต่างๆได้ จึงจำเป็นต้องสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ในที่แห่งเดียว

ต่อมาในสมัยพระพุทธเจ้าสมณโคดม พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ทรงเล็งเห็นว่าพระองค์มีเวลาปฏิบัติพุทธกิจเพียง 45 ปี ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับพระพุทธเจ้าองค์ก่อน และยังมีอีกมากที่เกิดมาไม่ทันในสมัยของพระองค์ หากได้อัฐิธาตุของพระองค์ไปอุปัฏฐากบูชา จะได้บุญกุศลเป็นอันมาก จึงทรงอธิษฐานให้พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ แตกย่อยลงเป็น 3 สัณฐาน เว้นแต่ธาตุทั้ง 7 ประการ ที่ไม่ไหม้ไฟ ได้แก่ คือ พระเขี้ยวแก้ว 4, พระรากขวัญ(ไหปลาร้า) 2 และพระอุณหิส(หน้าผาก) 1
พระอรหันตธาตุของพระอานนท์ สัณฐานดั่งใบบัวเผื่อน
โดยพระเขี้ยวแก้วองค์ที่ 1 เบื้องบนขวา ประดิษฐานในเจดีย์จุฬาโลกมณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ รวมอยู่กับเกศาของพระพุทธเจ้าตอนที่ปลงเสด็จออกบวช, พระเขี้ยวแก้วองค์ที่ 2 เบื้องล่างซ้าย อยู่กับพญานาคในโลกบาดาล, พระเขี้ยวแก้วองค์ที่ 3 เบื้องบนซ้าย ประดิษฐานอยู่ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน, ส่วนพระเขี้ยวแก้วองค์ที่ 4 เบื้องล่างขวา ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา

ส่วนพระรากขวัญ เบื้องซ้าย ประดิษฐาน ณ พรหมโลก, พระรากขวัญเบื้องขวา ประดิษฐาน ณ เมืองอนุราชสิงหฬ และพระอุณหิส ประดิษฐาน ณ เมืองอนุราชสิงหฬ เช่นกัน ซึ่งพระบรมสารีริกธาตุทั้ง 7 ส่วนนี้ถือเป้นพระบรมสารีริกธาตุไม่แตกกระจาย อันหมายถึง ยังคงความเป็นรูปเป็นร่างสมบูรณ์
พระอรหันตธาตุต่างๆที่มีครบตามตำราโบราณ
ส่วนพระบรมสารีริกธาตุประเภทแตกกระจาย คือ ส่วนอื่นๆนอกเหนือจาก 7 ส่วนนั้น คือจะไม่เหลือส่วนที่เด่นชัดขนาดเล็กสุดเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด ขนาดกลางเท่าเมล็ดข้าวสาร และขนาดใหญ่เท่าเมล็ดถั่ว มีตำนานเล่าว่า กษัตริย์อินเดียจาก 8 แคว้นต้องการพระบรมสารีริกธาตุจึงได้ต่อสู้กัน เดือดร้อนถึงโทณพราหมณ์ นักปราชญ์แห่งกุสินาราต้องนำตุมพะทองคำมาตวงแบ่งเป็น 8 ส่วนเท่าๆกันแจกจ่ายให้นำไปบูชาตามแคว้นต่างๆ

คุณปราโมช เล่าถึงสัณฐานต่างๆของพระบรมสารีริกธาตุว่ามีหลากหลายลักษณะ ทั้งสัณฐานแก้วใสดุจเพชร สัณฐานดั่งเมล็ดข้าวสาร สัณฐานดั่งเมล็ดถั่วแตก สัณฐานดั่งเมล็ดดั่งเมล็ดงา สัณฐานดั่งเมล็ดเมล็ดพันธุ์ผักกาด พระบรมสารีริกธาตุวรรณะพรรณหลากสี วรรณะดั่งทองอุไร วรรณะดั่งงาช้าง วรรณะดั่งแก้วมุกดา และยังมีพระบรมสารีริกธาตุที่ไม่สามารถระบุสัณฐานได้อีกด้วย
พระธาตุพระสิวลีเถระ สัณฐานดั่งผลยอป่า
นอกจากนี้ยังมี "พระบรมธาตุ พระปัจเจกพุทธเจ้า" อันหมายถึง พระอัฐิของพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยมิต้องมีใครมาสั่งสอน แต่ว่าท่านก็มิได้สั่งสอนใครให้บรรลุมรรคหรือตั้งมั่นพระศาสนาจนเป็นปึกแผ่นดั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ดังนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าจึงไม่มีพระสงฆ์ หรือพระสาวก

โดยพระปัจเจกพระพุทธเจ้าสามารถบังเกิดขึ้นพร้อมกันได้หลายพระองค์ในยุคนั้นๆ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติยังเกิดขึ้นในโลกครั้งละหนึ่งพระองค์เท่านั้น ซึ่งการนมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้ามีผลอานิสงส์ด้านลาภสักการะมาก
พระธาตุของพระอริยสงฆ์มากมายมากมายภายในพิพิธภัณฑ์
สำหรับพิพิธภัณฑ์พระบรมธาตุแห่งนี้ ภายในมีพระบรมสารีริกธาตุพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระบรมธาตุพระปัจเจกพระพุทธเจ้าให้ได้กราบไหว้บูชา พร้อมทั้งยังได้เห็นลักษณะรูปทรงสัณฐานกันอย่างใกล้ชิด ไม่เพียงแค่นั้น ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังได้รวบรวมเอา "พระอรหันตธาตุ" สมัยพุทธกาล ที่ได้ระบุไว้ตามตำราโบราณทั้ง 47 รูป ครบถ้วน

อาทิ พระธาตุพระอัญญาโกณฑัญญะ พระเถระผู้บวชเป็นคนแรก สัณฐานงอนช้อยดั่งงาช้าง พรรณสีขาวดั่งดอกมะลิตูม สีเหลือง สีดำ, พระธาตุพระสารีบุตรเถระ พระเถระผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศด้านมีปัญญามาก ลักษณะสัณฐานกลมเป็นปริมณฑล รีเป็นไข่จิ้งจก เป็นดั่งรูปบาตรคว่ำ พรรณสีขาวสังข์ สีพิกุลแห้ง สีหวายตะค้า หรือสีน้ำตาลอ่อน
พระธาตุพระปุณณเถระ สัณฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส
พระธาตุพระโมคคัลลานะเถระ พระเถระผู้เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย ผู้เป็นเลิศด้นมีฤทธิ์มาก สัณฐานพระธาตุกลมเป็นปริมณฑล รีเป็นผลมะตูม คล้ายเมล็ดทองหลาง เมล็ดสวาด เมล็ดคำ พรรณสีเหลืองหวายตะค้า ขาวสังข์ เขียวช้ำใน ลายคล้ายไข่นก ลายเป็นรอยร้าวคล้ายสายเลือด, พระธาตุพระสิวลีเถระ พระเถระผู้เป็นเลิศด้านผู้มีลาภสักการะมาก สัณฐานดั่งผลยอป่า เมล็ดในพุทรา เมล็ดมะละกอ พรรณสีขาว สีเหลืองหวายตะค้า สีพิกุลแห้ง สีแดงดั่งหม้อไหม้ สีเขียวดั่งดอกผักตบ

พระธาตุพระอานนท์เถระ พระเถระผู้เป็นเลิศด้านพหูสูต สัณฐานดั่งใบบัวเผื่อน พรรณสีขาวดั่งเงิน สีดำอย่างน้ำรัก เหลืองหวายตะค้า, พระธาตุพระปุณณเถระ พระเถระผู้สั่งสมบุญบารมีมามาก สัณฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส พรรณสีขาว สีดอกพิกุลแห้ง เป็นต้น
พระอัฐิธาตุของพระอริยสงฆ์ผู้เพียบพร้อมในธรรม
หากใครอยากยลและสักการะพระอรหันตธาตุให้ครบทั้ง 47 รูปตามตำราโบราณก็ต้องมาที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้กันเอง เพราะถ้าจะให้ฉันเขียนเล่าจนหมดครบถ้วนกระบวนความคงจะยาวหลายตอนทีเดียว นอกจากนี้ยังมีอัฐิและพระธาตุของพระอริยสงฆ์อีกมากมาย

เช่น ครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน, หลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ อ.เมือง จ.ลำปาง, หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร, พระราชพรหมยานเถระ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี, พระอาจารย์ประยุทธ ธัมมยุตโต วัดป่าผาลาด อ.เมือง จ.กาญจนบุรี, พระธาตุหลวงปู่ทวด สามีราโม วัดช้างไห้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี, อัฐิธาตุสมเด็จพระวันรัต วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ เป็นต้น
พระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระสังฆราชฯ
แม้ว่าพิพิธภัณฑ์พระบรมธาตุแห่งนี้จะเล็ก แต่ก็ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ และพระธาตุ อัฐิพระอริยสงฆ์มากมาย เพื่อให้ประชาชนได้กราบสักการบูชา พร้อมทั้งได้เห็นและศึกษาพระบรมธาตุต่างๆได้อย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังมีคุณปราโมชและเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ และเล่าเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับพระบรมธาตุให้ได้รู้และเข้าใจกันมากขึ้นด้วย

ซึ่งนอกจากจะกราบสักการบูชาพระบรมธาตุต่างๆด้วยจิตใจที่แน่วแน่เป็นบุญกุศลแล้ว ก็ต้องไม่ลืมที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์อันเป็นหัวใจของพุทธศาสนาที่ไม่ว่าอยู่ที่ไหนๆเราก็สามารถทำได้สบายๆเลย
ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุอื่นๆ
 

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

พิพิธภัณฑ์พระบรมธาตุ ชมรมรักษ์พระบรมธาตุแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ที่อาคารศูนย์พลอยเอเชีย ถนนมเหสักข์ ซอย2 เขตบางรัก กรุงเทพฯ โทร.08-6337-4255


รายงานสดจากพื้นที่ข่าว

เส้นทางไปพิพิธภัณฑ์พระบรมธาตุ


กำลังโหลดความคิดเห็น