ในดินแดนสุวรรณภูมิ ดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ มีวัฒนธรรมต่อเนื่องกันมาตั้งแต่โบราณกาล ผ่านเวลามานับหมื่นนับพันปีจนมาถึงปัจจุบัน เรายังได้พบเห็นร่องรอยของอารยธรรมโบราณเหล่านั้นจากแหล่งโบราณคดีหลายๆแห่งในประเทศไทย โดยแหล่งโบราณคดีที่เรารู้จักกันดีนั้นก็เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท จังหวัดนครราชสีมา แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น
ชื่อของ "แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร" ในอำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี อาจจะเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูใครต่อใครนัก และอาจถือเป็นแหล่งโบราณคดีน้องใหม่ เพราะเพิ่งมีการค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2546 หรือเมื่อประมาณ 6 ปีที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งแม้จะเพิ่งมีการขุดค้นพบไม่นานนัก แต่ในเรื่องของความเก่าแก่และความน่าสนใจนั้นไม่เป็นรองใครแน่นอน เพราะอายุของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้อยู่ในช่วงยุคหินใหม่ หรือราว 3,000-4,000 ปีมาแล้ว
การค้นพบแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตรนี้เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2546 นายวิมล อุบล ชาวไร่แห่งหนองราชวัตรออกทำไร่ขุดปรับหน้าดินในที่ดินของตัวเองเพื่อทำเกษตรกรรมอันเป็นงานปกติ แต่วันนี้ไม่ปกติเหมือนทุกวันเพราะเมื่อขุดลึกลงไปก็ได้พบภาชนะเครื่องปั้นดินเผา โบราณวัตถุจำนวนมากใต้พื้นดิน ทางสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรีจึงเข้ามาดำเนินการตรวจสอบโบราณวัตถุเหล่านี้ และปรากฏว่าได้พบกับแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย สมัยหินใหม่ แบบสังคมเกษตรกรรม อายุ 3,500-4,000 ปีมาแล้ว โดยการขุดค้นเพิ่มเติมได้พบหลักฐานเป็นโครงกระดูกมนุษย์ ขวานหินขัด ภาชนะดินเผา และที่สำคัญก็คือ ได้พบ "หม้อสามขา" หลากหลายรูปแบบ นับเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีความสำคัญเทียบเท่า "แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า" ของจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วไปในระดับนานาชาติ
แต่เนื่องจากที่ดินบริเวณนี้มีเจ้าของ แม้นายวิมลจะยินดีให้ทางสำนักศิลปากรเจ้าไปขุดค้นก็ตาม แต่ก็ต้องกลบหลุมคืนให้เจ้าของพื้นที่ได้ทำไร่เลี้ยงครอบครัวต่อไป พลังสามัคคีของชุมชนจึงเกิดขึ้นในครั้งนี้ เนื่องจากตระหนักและเข้าใจว่าแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตรเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ทางชุมชนและภาคส่วนต่างๆจึงได้หารือทางออกในการอนุรักษ์ว่าจะจัดผ้าป่าสามัคคีเพื่อระดมทุนจัดตั้งเป็นกองทุนแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร โดยได้มีการจัดการทอดผ้าป่าขึ้นสองครั้งด้วยกัน และสามารถซื้อที่ดินบางส่วนจากเจ้าของซึ่งขายให้ในราคากันเอง อีกทั้งยังเป็นการเริ่มต้นของ "กองทุนแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร" อีกด้วย
นอกจากซื้อที่ดินแล้ว การเสริมสร้างเครือข่ายมรดกศิลปวัฒนธรรมให้กับทางชุมชนผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากชุมชนรู้และเข้าใจ ก็จะเกิดความตระหนักในความสำคัญและอยากอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ให้คงอยู่ โดยทางกรมศิลปากรได้เข้าไปเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนในโอกาสต่างๆ จัดทำค่ายโบราณคดีหนองราชวัตรให้คนในชุมชนทุกเพศทุกวันได้มีโอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ด้วยการปฏิบัติจริงโดยมีนักโบราณคดีดูแลอย่างใกล้ชิด
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดกับการมีส่วนร่วมของชุมชนก็คือ เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนวัดหนองไซที่มาเป็นมัคคุเทศก์น้อยพาเรานำชมแหล่งโบราณคดีในวันนี้ น้องๆ บอกกับเราว่าได้มีโอกาสในการร่วมขุดค้นแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตรแห่งนี้ด้วย
น้องๆมัคคุเทศก์น้อยเริ่มพาเรามารู้จักกับแหล่งโบราณคดีแห่งนี้กันก่อนที่ "ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร" ซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลหนองราชวัตร ภายในศูนย์การเรียนรู้ชุมชนนี้มีข้อมูลเกี่ยวกับการขุดค้นให้เราได้ทราบกันว่า การสำรวจพื้นที่บริเวณนี้ทำให้ได้พบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ ขวานหินขัด ชิ้นส่วนกำไลหิน กระดูกสัตว์ และเศษภาชนะดินเผาจำนวนมาก โดยมีโบราณวัตถุชิ้นเด่นคือชิ้นส่วนของ "หม้อสามขา" ซึ่งเคยพบในแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จ.กาญจนบุรี และแหล่งโบราณคดีถ้ำเบื้องแบบ จ.สุราษฎร์ธานี รวมถึงแหล่งโบราณคดีอีกหลายแห่งในพื้นที่คาบสมุทรภาคใต้และประเทศมาเลเซีย
เหตุที่เราตื่นเต้นกับหม้อสามขากันนั้นก็เนื่องจากว่า ประวัติการค้นพบแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ที่มีการใช้หม้อสามขา หรือที่เรียกว่า "วัฒนธรรมบ้านเก่า" นั้น ส่วนใหญ่จะพบในพื้นที่ราบลุ่มทางภาคตะวันตกของประเทศ ส่วนพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำท่าจีนนั้นเพิ่งเคยมีประวัติการค้นพบครั้งแรกที่บ้านแจงงาม อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี และคราวนี้ก็ได้พบอีกครั้งในพื้นที่ใกล้เคียงกันที่หนองราชวัตรนั่นเอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนโบราณในอดีต
อีกทั้งหม้อสามขาที่พบบริเวณนี้ยังมีหลายแบบ โดยในสมัยแรกจะมีขาอ้วนป้อมคล้ายกับที่พบในวัฒนธรรมลุงชานของจีนที่เป็นต้นแบบของภาชนะประเภทนี้ และในสมัยที่สองได้มีการพัฒนารูปแบบของหม้อสามขาให้มีหลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่นหม้อสามขารูปแบบเดียวกับที่พบที่บ้านเก่า ทำให้สันนิษฐานได้ว่าแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตรนี้อาจจะเป็นชุมชนเกษตรยุคหินใหม่ระยะแรกๆในลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ที่มีกลุ่มชนทางตอนใต้ของจีนเคลื่อนย้ายแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม โดยมีหม้อสามขาเป็นภาชนะพิเศษของชนกลุ่มนี้ และต่อมาก็ได้มีการพัฒนารูปแบบภาชนะชนิดนี้ต่อไป
และภายในศูนย์การเรียนรู้ชุมชนฯ นี้ยังเป็นที่รวบรวมข้าวของโบราณวัตถุบางชิ้นที่ขุดพบได้จากหลุมขุดค้น เช่น กระดูกสัตว์ที่ใช้ทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ขวาน ภาชนะดินเผาต่างๆ และโครงกระดูกมนุษย์ยุคโบราณโครงหนึ่งที่มีการขุดพบและได้นำมาไว้ที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนฯ ซึ่งคนในชุมชนเรียกโครงกระดูกของหญิงคนนี้ว่า "แม่ย่าน้ำฝน" ซึ่งชื่อนี้ได้มาจากชื่อของเด็กนักเรียนที่เป็นคนขุดพบโครงกระดูกโครงนี้นั่นเอง
เมื่อได้รู้เรื่องราวของแหล่งโบราณคดีนี้แล้ว ก็ถึงเวลาที่จะไปเยี่ยมชมหลุมขุดค้น ซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการ อบต.ไปประมาณ 500 เมตร หลุมขุดค้นที่นี่มีอยู่ด้วยกันสองหลุม โดยหลุมแรกนั้นพบโครงกระดูกทั้งหมด 24 โครง โดยรูปแบบการฝังศพนั้นจะเป็นการฝังแบบนอนหงายเหยียดยาว ไม่มีการมัดหรือห่อศพ มีรูปแบบทิศทางการฝัง 2 รูปแบบซึ่งใช้เป็นตัวแบ่งชั้นวัฒนธรรมในแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ออกเป็นสองสมัย ในสมัยแรกจะหันศีรษะศพไปทางทิศเหนือ ส่วนสมัยที่สองจะฝังโดยหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก
และในหลุมศพพบว่ามีการฝังภาชนะดินเผาที่ถูกทุบให้แตก ฝังเครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องประดับต่างๆลงไปกับศพด้วย โดยเราจะสามารถเห็นหม้อสามขาถูกฝังอยู่กับศพในหลุมขุดค้นแห่งที่สอง ในลักษณะวางตะแคง ขาหม้อข้างหนึ่งยังคงถูกฝังอยู่ในพื้นดินบริเวณปลายเท้าของโครงกระดูก
การขุดค้นแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตรนี้ ถือเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงลำดับพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญในลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง และถือเป็นมรดกของชาติที่ไม่เพียงแต่ชาวชุมชนหนองราชวัตรเท่านั้นที่จะเห็นคุณค่า แต่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศก็ควรเห็นความสำคัญด้วยเช่นกัน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
"แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร" ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเปล้า ตำบลหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี สอบถามรายละเอียดได้ที่ อบต.หนองราชวัตร โทร.0-3548-1016