ชุมชนฮ่องอ้อเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ของ ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีรวงศ์ จ.อุบลราชธานี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำมูล ความน่าสนใจของชุมชนแห่งนี้ ก็คือ การที่ชาวบ้านได้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนจากการที่มีนายทุนมาบุกรุกถางป่าที่สาธารณะ นำเรือดูดทรายเข้ามายังนอกเขตสัมปทาน ทำให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อน ริมตลิ่งพังทลาย ปลาลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย ชาวบ้านจึงรวมกันต่อสู้จนได้ชัยชนะมา กระทั่งนายทุนเหล่านั้นได้เลิกกิจการไปโดยคืนที่ดินส่วนหนึ่งกลับคืนมา
ดังนั้น เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงความกล้าหาญของบรรพบุรุษ จึงได้ก่อกำเนิด “โครงการเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาขึ้น” เพื่อเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น และร่วมสืบสานความกล้าหาญของคนในชุมชนให้คงอยู่จึงเป็นที่มาของมัคคุเทศก์ชุมชน
คิด แก้วคำชาติ ผู้ประสานงานเด็กและเยาวชน เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ “โครงการมัคคุเทศก์ชุมชน” ว่า ต้องการเน้นวางรากฐานให้เยาวชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง โดยผู้ที่จะมาเป็นมัคคุเทศก์ในชุมชนได้นั้นจะต้องผ่านการทดสอบความรู้ในเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้เด็กต้องมีความรู้ในเรื่องสถานที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นดอนปู่ตา ป่าไม้นานาชนิด เพื่อจะได้เผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้นต่อผู้ที่เดินทางมาศึกษาวิถีชีวิตของคนริมสองฝั่งแม่น้ำมูลได้อย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการฝึกฝนการเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชนในชุมชนได้มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นบ้านเกิดของตนสู่สังคมภายนอกได้รับรู้ จึงได้เกิดเป็นโครงการมัคคุเทศก์ชุมชนขึ้น โดยมุ่งสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนชุมชนฮ่องอ้อเกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ดีงามที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งเรื่องของวิถีวัฒนธรรม การดำเนินชีวิต การต่อสู้ของบรรพบุรุษ รวมทั้งการสืบทอดภูมิปัญญาให้คงอยู่กับชุมชน โดยการทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำสถานที่ต่างๆ ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชนให้แก่ผู้มาเยือนได้ศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชนผ่านมัคคุเทศก์
“ปัจจุบันได้มีคณะบุคคล องค์กร สถาบันการศึกษา เดินทางเข้ามาศึกษาดูงานในชุมชนฮ่องอ้อเพิ่มขึ้น แต่ก็มีเพียงผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่แค่ 2-3 คนเท่านั้น ที่สามารถอธิบายสร้างความเข้าใจให้กับคณะที่มาศึกษาดูงานได้ เยาวชนรุ่นหลังยังไม่สามารถทำหน้าที่เหล่านี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือถ้าเกิดผู้ใหญ่เหล่านี้ไม่อยู่แล้วมีแขกมาเยี่ยมชมหมู่บ้าน พวกเราจึงมีแนวความคิดว่าน่าจะเสนอให้มีมัคคุเทศก์น้อยประจำชุมชนขึ้น เพื่อที่จะได้บอกเล่าเรื่องราวของหมู่บ้านแทนผู้ใหญ่ อีกส่วนหนึ่งเด็กๆ พวกนี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในภายภาคหน้าจะได้มีจิตสำนึกรักธรรมชาติและรักชุมชนต่อไป”คิดเล่าถึงวัตถุประสงค์ นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลอีกว่า ปัจจุบันมีเยาวชนที่เข้าร่วมเป็นมัคคุเทศก์ชุมชนรวม 25 คน อายุระหว่าง 7-13 ปี แบ่งเป็นมัคคุเทศก์ที่เป็นผู้นำ 5 คน โดยมัคคุเทศก์น้อยเหล่านี้ได้เริ่มโครงการมาได้ 2 ปีแล้ว
สำหรับกิจกรรมของมัคคุเทศก์น้อยเหล่านี้ จะเป็นผู้นำนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมป่าไม้ โดยการแนะนำพันธุ์ไม้ท้องถิ่นนานาชนิด บอกเล่าชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ซึ่งเส้นทางศึกษาธรรมชาตินั้นมีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร
ทีนี้.... ลองมาฟังความคิดเห็นของมัคคุเทศก์น้อยกันบ้าง
ด.ญ.ชไบแพร ทองมั่น หรือน้องฟ้า อายุ11 ปี บอกเล่าถึงความรู้สึกว่า มาเข้าร่วมโครงการเนื่องจาก อยากจะศึกษาเรียนรู้ถึงความเป็นมาของหมู่บ้าน วิถีชีวิต และการต่อสู้ของคนในชุมชน
“หนูรักชุมชน รักธรรมชาติ หนูจึงอยากเป็นตัวแทนของชุมชนในการถ่ายทอดความรู้ให้กับคนที่มาเยี่ยมชมในหมู่บ้าน ให้เขาได้รู้ถึงความเป็นมาของหมู่บ้านของเรา”
เช่นเดียวกันกับน้องป๊อป ด.ญ.อริญา ลอยนวล อายุ 13 ปี มีแนวคิดว่า เห็นทรัพยากรของชุมชนถูกทำลายไปมาก จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรักษาชุมชนให้คงอยู่ และอยากศึกษาความเป็นมา วิถีชีวิตของคนในชุมชนด้วย
น้องป๊อป กล่าวทิ้งท้ายว่า “ดอนปู่ตากับชุมชนอยู่ด้วยกัน เห็ดกับหน่อไม้อยู่ด้วยกันวังปลากับท่าทรายอยู่ด้วยกัน ไหลมองกับปลาอยู่ด้วยกัน”
ถึงแม้ว่ามัคคุเทศก์น้อยเหล่านี้จะไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับ คือ “ความรู้” จากการถ่ายทอดของบรรพบุรุษที่สืบทอดมายังพวกเขาให้รักและหวงแหนในชุมชนของตน