ปัจจุบันการท่องเที่ยวมีหลากหลายรูปแบบ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ(ในอดีตเรียกการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์) ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบหนึ่งที่สำคัญมากและได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่นักท่องเที่ยวทั่วโลก เพราะเป็นการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นการการเดินทางท่องเที่ยวไปยังแหล่งธรรมชาติและแหล่งวัฒนธรรมอย่างมีความรับผิดชอบ โดยไม่ก่อให้เกิดการรบกวนหรือสร้างความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชม ศึกษาเรียนรู้ และเพลิดเพลินไปกับทัศนียภาพ พืชพรรณ และสัตว์ป่า ตลอดจนลักษณะทางวัฒนธรรมที่ปรากฏในแหล่งธรรมชาตินั้น อีกทั้งช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกิดประโยชน์ต่อชุมชนอีกด้วย
สำหรับ ที่"อุทยานแห่งชาติหาดวนกร"และบริเวณใกล้เคียง จ.ประจวบคีรีขันธ์ นับเป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีการบริหารจัดการจัดพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของเมืองไทย
*กองบิน 53 พื้นที่อนุรักษ์ค่างแว่นถิ่นใต้
กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่น่าสนใจอย่างหนึ่งในพื้นที่แถบนี้นั่นก็คือ การศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตของ "ค่างแว่นถิ่นใต้" บริเวณ "เขาล้อมหมวก"ในพื้นที่กองบิน 53 กองพลบินที่ 4 กองบัญชาการยุทธทางอากาศ อ.เมืองประจวบฯ ที่มีลักษณะเป็นภูเขาล้อมรอบด้วยทะเล ทั้งทิศเหนือ ตะวันออก และใต้อันเป็นปัจจัยที่เหมาะสมในการดำรงชีวิตของสัตว์ประเภทนี้
ค่างแว่นถิ่นใต้ เป็นสัตว์ตระกูลลิง อาศัยอยู่เฉพาะในป่าดงดิบทางภาคใต้ของไทย มีการดำเนินชีวิตบนยอดไม้ รูปร่างแขน ขา และหางยาวกว่าลิง แต่ไม่มีถุงข้างแก้มสำหรับเก็บอาหาร บริเวณใบหน้ามีสีเทา ฝ่ามือ ฝ่าเท้ามีสีดำ และไม่มีขน ค่างแว่นแรกเกิดจะมีสีเหลืองทอง และเมื่อโตเต็มวัยจะมีสีเทา
ค่างแม่ลูกอ่อนจะให้ลูกเกาะที่อกเวลาออกหากิน และจะคอยดูแลจนกว่าจะถึงช่วงของการออกลูกตัวใหม่ ค่างแว่นที่อาศัยอยู่บริเวณเขาล้อมหมวกจะอยู่รวมกันเป็นฝูง นิสัยเป็นมิตรไม่ดุร้าย อาหารของค่างได้แก่ ดอกไม้ ใบไม้ ผลไม้ และเมล็ดพืช ผู้คนที่ไปมักจะให้อาหารจำพวกถั่ว
*พื้นที่ธรรมชาติที่อุทยานแห่งชาติหาดวนกร
สถานที่ถัดไปคือ "อุทยานแห่งชาติหาดวนกร" อ.ทับสะแก พื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบและชายหาด ส่วนที่เป็นพื้นน้ำอยู่ในทะเลด้านอ่าวไทยมีเกาะเล็ก ๆ อยู่ 2 เกาะ คือ เกาะจาน และเกาะท้ายทรีย์ ซึ่งเป็นแหล่งสัมปทานรังนกนางแอ่น และบริเวณรอบเกาะยังเป็นจุดดำน้ำดูปะการังอีกด้วย ชายหาดที่มีชื่อเสียงในอุทยานฯแห่งนี้ได้แก่ หาดวนกร ซึ่งเป็นหาดที่สะอาด สงบ มีทิวสนทะเล และสนประดิพัทธ์ขึ้นตลอดแนวชายหาดสลับกับโขดหินที่ยื่นลงไปในทะเล หาดทรายเมื่อน้ำลดลงต่ำสุด จะยื่นออกไปในทะเล ประมาณ 150 เมตร เหมาะสำหรับการพักผ่อนและเล่นน้ำทะเล
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติหัวกรังและหินจวง เป็นเหมือนห้องเรียนกลางแจ้งให้เรียนรู้เข้าใจความสัมพันธ์ของธรรมชาติอย่างใกล้ชิด และสร้างจิตสำนึกในการดูแลรักษาธรรมชาติ โดยแต่ละสถานีจะแสดงความสัมพันธ์ของชีวิตที่พึ่งพาอาศัยกันในผืนป่าแห่งนี้ และมีที่พักของอุทยานฯ และจุดกางเต็นท์ด้วย
*ปลูกปะการังคืนสู่ธรรมชาติ ที่เกาะทะลุ
สำหรับโครงการปลูกปะการังนี้เป็นหนึ่งใน "โครงการวีนิไทย ร่วมใจปลูกปะการัง 80,000 กิ่ง ที่เริ่มต้น เพื่อล้นเกล้า" ของบริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผงพลาสติกพีวีซี และโซดาไฟ และหน่วยงานต่างๆ เพื่ออนุรักษ์และขยายพันธุ์ปะการังเขากวางด้วยท่อพีวีซี อันนำไปสู่การฟื้นฟูท้องทะเลไทย ซึ่งได้ถูกทำลายไปมาก โดยมีสาเหตุมาจากหลาย ๆ ปัจจัย อาทิ การท่องเที่ยวที่ขาดการอนุรักษ์ การทำประมงแบบผิดวิธี การพัฒนาที่ดินบริเวณใกล้เคียงชายฝั่ง ฯลฯ
เผ่าพิพัธ เจริญพักตร์ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด เกาะทะลุไอส์แลนด์รีสอร์ท กล่าวว่า การขยายพันธุ์ปะการังในโครงการนี้จะใช้ปะการังเขากวางมาตัดกิ่งแล้วนำไปยึดกับต้นตอที่เป็นท่อพีวีซี โดยมีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2551-2556
ส่วนสถานที่ดำเนินการแบ่งเป็น เกาะ เสม็ด จ.ระยอง จำนวน 10,000 กิ่ง เกาะหวาย จ.ตราด จำนวน 10,000 กิ่ง เกาะทะลุ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 10,000 กิ่ง เกาะขาม จ.ชลบุรี จำนวน 10,000 กิ่ง และพื้นที่ชายฝั่งช่องแสมสาร จ.ชลบุรี จำนวน 40,000 กิ่ง เมื่อโครงการได้ดำเนินการจนเสร็จสิ้น เชื่อว่าจะทำให้ปะการังใต้ทะเลบริเวณดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เป็นการเพิ่มทรัพยากรในท้องถิ่น มีส่วนช่วยส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว
เผ่าพิพัธ เล่าว่า "ปกติที่หมู่เกาะทะลุจะมีวิธีปลูกปะการัง 3 แบบ แบบแรกคือ ในยุคแรกเราจะทำเป็นปะการังโขด หรือที่เขาเรียกปะการังก้อน ปะการังสมอง ที่ถูกพายุพัดขึ้นมาด้านหลังเกาะกลายเป็นสุสานปะการัง เราก็ไปเก็บปะการังโขดมาแล้วก็มาเจาะรู เอาปะการังกิ่งเสียบ ซึ่งทั้งปะการังโขดและปะการังกิ่งเขากวางก็โตขึ้น โตลงไปหุ้มตัวฐานที่เป็นซากปะการังเหมือนก้อนหินก้อนหนึ่งที่ไม่มีตัวปะการัง ข้างในเป็นคล้ายฟองน้ำลักษณะพรุน บางก้อนใหญ่เท่าโต๊ะแต่ยกคนเดียวไหว เพราะข้างในมันจะพรุน ปัญหาของปะการังโขดเวลาเอาไปวาง บางทีมันกลมแล้วมันกลิ้ง เมื่อมันกลิ้งมันก็ไปทับปะการังที่เสียบไว้หัก
แบบที่ 2 คือเหล็กเส้น เหล็กที่เหลือจากการก่อสร้าง ในสมัยก่อนที่เราสร้างรีสอร์ทที่เกาะมุกแล้วมีเหล็กเหลือ เราเลยเอาเหล็กมาทำฐาน แล้วเอาปะการังกิ่งที่หักมาเอาลวดธรรมดามาผูก ปะการังจะโตปกติแต่ไม่ยึดเกาะกับเหล็ก
แบบที่ 3 คือ ใช้ฐานเป็นพีวีซีที่เราทำร่วมกับโครงการ 8 หมื่นกิ่ง จะมีท่อพีวีซีชิ้นหนึ่งที่เป็นฐานสี่เหลี่ยม และอีกชิ้นที่เอาปะการังมากับมันยึดติดด้วยสกรูแล้วเสียบลงไปบนฐาน ปะการังสามารถโตและยึดเกาะกับตัวท่อพีวีซีได้เลย จะเห็นได้ว่าวัสดุที่เป็นพีวีซีไม่มีมลพิษ เพราะปะการังที่เซ็นซิทีฟมากสามารถโต และหุ้มไปบนท่อพีวีซีได้
การที่ปะการังที่หักแล้วเราจับตั้งเอาไปวางในจุดที่ระดับน้ำเหมาะสม แสงแดดส่องถึง กระแสน้ำไม่แรงมากจนเกินไป มันก็สามารถโตได้ ปะการังกิ่งถ้าหักเราสามารถเอามายึดบนฐานพีวีซีแล้วเอาไปฟื้นฟูใหม่ได้ มันก็จะโตมีชีวิตขึ้นมา ในโครงการเรามีประมาณ 8-10% เท่านั้นที่ไม่โต แต่ส่วนใหญ่แล้ว 90% เมื่อลงแปลงแล้วหลักจากลงไปเก็บข้อมูลมันก็โตขึ้น ที่นี่โตเฉลี่ยแล้วปีหนึ่งประมาณ 10-14 ซม. ซึ่งถือว่าโตเร็วมากเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ"
ส่วนด้านน้องๆที่ร่วมกิจกรรมปลูกปะการังที่เกาะทะลุเล่าความรู้สึกว่า "เมื่อรู้ว่าจะต้องมาทำกิจกรรมปลูกปะการังก็รู้สึกอยากทำ มันเป็นอะไรที่แปลกใหม่เราไม่เคยได้ทำมาก่อน พอมาทำแล้วรู้สึกภูมิใจ รู้สึกสนุก มันควรจะมีต่อไปเรื่อยๆ เพราะปะการังมันมีเกิดมีตายอยู่ตลอดเวลามันยังมีพื้นที่ที่ต้องการการฟื้นฟูอยู่ มันเป็นแหล่งเพาะพันธ์ปลา นอกจากจะได้เที่ยวแล้ว ปกติการเที่ยวเราจะนึกถึงการบริโภคที่ฟุ่มเฟือย เราเข้าไปใช้ทรัพยากรของสถานที่ท่องเที่ยว แต่การเข้ามาปลูกปะการังมันช่วยให้การท่องเที่ยวมันดูมีคุณค่าขึ้น เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างหนึ่ง ถ้าที่ไหนที่สามารถจัดกิจกรรมแบบนี้ได้ให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมก็ควรจะทำ
ต้องชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการปลูกปะการัง ความสำคัญของปะการัง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวก่อนว่าทำไมถึงต้องมาทำ เมื่อเขาตกลงที่จะมาปลูกปะการังแล้วก็ควรที่จะรู้ว่าสิ่งที่เขาทำมันมีความหมายยังไง มันมีประโยชน์อย่างไร มันจะเกิดความรู้สึกที่มันมากขึ้น มากกว่าที่จะมาปลูกแล้วก็กลับ" พลพจน์ ศรีพระจันทร์ นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาประชาสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
ธรรมพร อุ่ยตระกูล นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะและภาควิชาเดียวกัน เล่าถึงความประทับใจว่า "เมื่อเห็นกิจกรรมว่าต้องมาปลูกปะการังรู้สึกว่ามันเป็นกิจกรรมที่น่าตื่นเต้น ไม่มีโอกาสที่จะได้มาทำง่ายๆ ไม่ใช่ว่านึกอยากจะปลูกอยากจะทำก็ได้ทำเลย ก่อนจะมาก็โทรไปบอกพ่อกับแม่ว่าจะได้มาปลูกปะการังด้วย เราไม่เคยได้ทำ พอมาถึงเมื่อมีโอกาสมาปลูกก็นั่งขันน๊อตกับเพื่อนจนเสร็จทุกอัน มันมีความรู้สึกแบบว่าเรารู้สึกดีใจ ยิ่งตอน ณ เวลาที่ส่งเขาไปถึงมือของพี่ที่จะดำลงไปวางไว้ใต้น้ำ ตอนที่ยืนบอกเขา(ปะการัง)ว่าบ๊ายบาย เรารู้สึกเหมือนพาเขาได้กลับบ้านได้กลับไปอยู่ในที่เกิดของเขา ให้เขาได้มีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ให้เขาได้กลับไปอยู่ในที่ที่ควรอยู่ เรารู้สึกดีใจที่มีส่วนช่วยระบบนิเวศน์ นอกจากนั้นเราก็ได้มาเที่ยวด้วย
หลังจากที่ปลูกปะการังเสร็จ เราก็ได้ลงไปดำน้ำดูปะการัง หนูมองว่าใช่มันอาจจะไม่ได้สวยงามมากเหมือนที่หลายๆคนได้ไปดำน้ำแถวอันดามันที่มีสีสันหลากหลาย แต่ถ้ามาที่นี่แล้วเราได้ทำกับมือได้ปลูกปะการังกับมือ แล้วเราได้กลับไปดูอีกทีเราจะรู้สึกว่า วันข้างหน้าที่เราได้เห็นเขาที่เราเคยปลูกมันได้โตสวยงามแบบนี้ ตอนนี้เราอาจจะเห็นว่านี่ยังไม่โต นี่มีอยู่หย่อมเดียว นี่มีหย่อมหนึ่ง สุดท้ายเขาจะสวยให้เราเห็น เห็นแล้วรู้สึกว่าในอนาคตเราจะได้บอกได้ว่าหนึ่งในนั้นมีฝีมือเขาเราอยู่ด้วย
หนูมองว่าการท่องเที่ยวแบบนี้น่าจะมีต่อไป ไม่ใช่เฉพาะที่นี่ที่เดียว เพราะปัจจุบันมีหลายเกาะหลายที่ที่ประสบปัญหาเรื่องเกี่ยวกับปะการังเหมือนกัน แต่เข้าใจว่าที่นี่มีโอกาสที่จะได้แก้ปัญหาที่ถูกจุด ได้ความร่วมมือกับหลายๆฝ่ายจึงสามารถทำกิจกรรมแบบนี้ได้ ถ้าที่อื่นๆได้ทำกิจกรรมแบบนี้ก็ดี ปัจจุบันนักท่องเที่ยวสนใจแต่ว่าเที่ยวให้ตัวเองมีความสุข แต่ลืมคิดกลับไปว่าเที่ยวแล้วได้อะไรกลับไปบ้างนอกจากแค่ความสุข นอกจากทำให้เศรษฐกิจของบ้านเราดีขึ้น สถานที่ท่องเที่ยวที่เราไปเที่ยวล่ะ เราให้อะไรเขากลับคืนหรือเปล่า"
ด้าน กมลกานต์ เจริญสุข นิสิตจุฬาฯ เช่นเดียวกัน ให้ความเห็นเสริมว่า "การเที่ยวเชิงนิเวศน์แบบนี้เป็นการเที่ยวแบบคนที่มีความคิด ไม่ใช่เที่ยวแบบรักสบายเที่ยวเพื่อเอาความสุขใส่ตัวอย่างเดียว มาเที่ยวโดยใส่ใจกับธรรมชาติ เราต้องสร้างความรู้สึกว่าธรรมชาติหรือทรัพยากรต่างๆมีความรู้สึกมีชีวิตจิตใจ ที่เราควรจะรับผิดชอบกับเขาอย่างหนึ่งด้วย ไม่ใช้มาเที่ยวแบบทิ้งๆขว้างๆทำอะไรกับเขาก็ได้"