xs
xsm
sm
md
lg

พบ"พลิ้ว" เพื่อผูกพัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้ำตกพลิ้ว ไหลลู่สู่แอ่งน้ำใส
จันทบุรี จังหวัดนี้มีแหล่งท่องเที่ยวดีๆอยู่เยอะ เพียงแต่ว่าหลายคนอาจมองข้ามไป โดยเฉพาะกับน้ำตกนี่ เมืองจันท์มีน้ำตกขนาดใหญ่ สวยงามอยู่ถึง 3 แห่งทีเดียว คือ"น้ำตกกระทิง" ในอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ "น้ำตกเขาสอยดาว"ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว และ"น้ำตกพลิ้ว" เป้าหมายของเราในครั้งนี้

น้ำตกพลิ้ว ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว ในเขตเทือกเขาสระบาป จัดเป็นน้ำตกเข้าถึงสะดวก เดินจากถนนนิดเดียวก็ถึง
คนกับธรรมชาติ
สำหรับทริปนี้ "ตะลอนเที่ยว" เดินทางมาถึงน้ำตกพลิ้วในช่วงบ่าย และมาพร้อมกับสายฝนที่ตกปรอยๆ ดังจะแกล้งทดสอบใจว่าเราจะฝ่อเพราะเม็ดฝนหรือจะดั้นด้นไปยลความงามของสายน้ำ แต่เมื่อมาถึงที่แล้ว ต่อให้เป็นฝนแสนห่าก็บ่ยั่น งานนี้ขอบุกตะลุยพลิ้วไหวไปกับสายน้ำอันงดงามของน้ำตกพลิ้วให้หนำใจ

น้ำตกพลิ้ว นอกจากจะมีความงามชุ่มฉ่ำมีสายน้ำเย็นใสไหลตลอดทั้งปีแล้ว ยังเป็นน้ำตกที่มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ของไทยอีกด้วย โดยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาสมายังน้ำตกแห่งนี้หลายต่อหลายครั้งในระหว่างปี พ.ศ. 2417-2424
ปลาพลวงหินจำนวนมากในแอ่งน้ำ
เรียกได้ว่าจะจัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติหรือจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ก็ย่อมได้เช่นกัน

อนึ่งเมื่อเรามาถึงยังจุดจอดรถ(ด้านนอกอุทยานฯ) ระหว่างทางเดินสู่น้ำตกมีซุ้มขายของที่ระลึก ขายอาหาร อยู่มากมายหลายร้าน 2 ฟากฝั่ง ที่สำคัญคือช่วงนี้จะมีแม่ค้าเรียกซื้ออาหารปลากันให้ควัก

ลองทายกันเล่นๆดูสิว่า ที่นี่เขาใช้อะไรเป็นอาหารปลา ไม่ใช่ทั้งอาหารเม็ด ไม่ใช่ขนมปัง แต่เป็น 'ถั่วฝักยาว'(ผักบุ้งก็มีแต่น้อย)ขายเป็นกำๆ ราคาตามขนาดกำ เล็ก-ใหญ่
ปลาพลวงสัตว์ยอดนิยมของนักท่องเที่ยว
"ตะลอนเที่ยว" จึงร่วมกระจายรายได้ด้วยการซื้อถั่วฝักยาวไปทะกิน เอ้ย!!! ซึ้อไปเป็นอาหารปลา จากนั้นเราเดินหน้าเข้าสู่อุทยานฯมุ่งหน้าสู่สายธารอันชุ่มฉ่ำของน้ำตกพลิ้ว

เส้นทางเดินไปน้ำตกเดินสบายมาก มีการปรับแต่งพื้นที่เทปูนผสมผสานกับก้อนหินตามธรรมชาติ มีสะพานไม้ บันไดปูนในบางช่วง ดูไม่ขัดตากับธรรมชาติ

ระหว่างทางเดินก็จะได้เสียงลำธารไหลซู่ดังแว่วมา ก่อนที่จะลอบมองเห็นธารน้ำใส ไหลอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยอยู่ทางซ้ายมือ ซึ่งเลยขึ้นมาอีกไม่ไกลก็จะเห็นนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำกันเต็มลำธารไปหมด เมื่อได้เห็นธารใสไหลเย็น ก็เกิดอาการอยากลงเล่นน้ำกับเขาบ้างเหมือนกัน ดีที่เพื่อนร่วมทางเตือนสติไว้ก่อนว่า ข้างหน้าสวยกว่านี้ นั้นแหละ จึงฮึดเดินต่อไปได้
สถูปพระนางเรือล่ม
เดินมาอีกไม่ไกลก็จะเจอจุดตรวจอาหาร ที่ห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มผ่านเข้าไป แต่อนุญาตให้ อาหารปลาอย่างถั่วฝักยาวผ่านได้

ยิ่งเดินเข้ามาลึกเท่าไหร่ ความหนาวเย็นแบบชื้นๆก็มีมากขึ้นเท่านั้น เสียงน้ำในลำธารและเสียงของสายน้ำที่ไหลตกกระทบพื้น บวกกับเสียงร้องสนุกสนานของนักท่องเที่ยว เป็นเหมือนสิ่งกระตุ้นให้รีบจ้ำอ้าวเร็วขึ้น ๆ

ใช้เวลาเพียงไม่นานก็เดินทางมาจนถึง "สถูปพระนางเรือล่ม"อนุสรณ์สถานแห่งความรักของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีต่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เป็นที่บรรจุพระอังคารของพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พระนางเรือล่ม) ซึ่งเคยเสด็จประพาสน้ำตกพลิ้ว เมื่อ พ.ศ. 2417 ตั้งอยู่ทางซ้ายมือ สถูปสร้างขึ้นในปีพ.ศ.2424 ภายในบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ไว้ด้วย
อลงกรณ์เจดีย์
มีลักษณะเป็นรูปทรงพีระมิดพร้อมคำจารึก โดยเหตุที่สร้างสถูปเป็นรูปทรงปิรามิด ก็มาจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ที่ว่า "ทำเป็นรูปอื่นอาจไม่คงทนถาวร เพราะตั้งอยู่กลางป่าเขาลำเนาไพร อันไม่มีผู้ดูแล ฉะนั้น เมื่อปิรามิดของอียิปต์ยืนยงคงทนอยู่ได้ฉันใด ปิรามิดน้อยนี้ก็จะยืนยงคงทนอยู่เช่นกัน ณ ท่ามกลางป่าเขาและเสียงไหลรินของธารพลิ้ว "ซึ่งเป็นน้ำตกที่ทั้งล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 และพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงโปรดปราน

ส่วนทางขวามือยังเป็นที่ตั้งของ "พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์" ที่เพิ่งสร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2551ที่ผ่านมา โดยความร่วมมือของสมาคมชาวจันทบุรีฯกับชาวเมืองจันท์ที่ต้องการในนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาได้รับรู้ว่าพระเจ้านางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงมีพระรูปพระโฉมเป็นเช่นไร พระราชานุสาวรีย์อยู่ในอิริยาบทประทับนั่ง
พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
เยื้องกันอีกนิดเป็นที่ตั้งของ "อลงกรณ์เจดีย์"อยู่ทางขวามือ มีลักษณะเป็นเจดีย์ศิลาแลง รัชกาลที่ 5 โปรดให้พระยาจันทบุรีเป็นแม่กองสร้างเมื่อ พ.ศ. 2419 เนื่องจากทรงชื่นชมโสมนัสในความงดงามของน้ำตกแห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง ทรงเสด็จประพาสน้ำตกแห่งนี้หลายครั้ง ในระหว่างปี พ.ศ. 2417-2424 และทรงยกย่องว่าเป็นน้ำตกที่งดงามที่สุดในบรรดาน้ำตกที่พระองค์เคยเสด็จประพาส

ในฤดูฝนเช่นนี้อลงกรณ์เจดีย์มีมอสขึ้นปกคลุมเขียวชอุ่มดุจดังพรมกำมะหยี่สีเขียวก็ไม่ปาน ถวายสักการะสิ่งสำคัญ อันผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของน้ำตกพลิ้วเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้ฤกษ์เบิกชัย เดินลงไปตามบันไดที่เป็นทางลัดเลาะพาไปสู่ตัวน้ำตกพลิ้วเสียที

สำหรับ "น้ำตกพลิ้ว" อันเป็นหัวใจหลักของการมาเยือนในครั้งนี้ มีข้อ
รูปปั้นตัวลั้ง(ยักษ์)
สันนิษฐานว่า ชื่อ"พลิ้ว" เป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งชอบขึ้นในที่ดินปนทราย เป็นไม้เถา มีดอกเป็นช่อ มี ผลเล็กขนาดลูกเกด สีเหลืองอมแดงขึ้นอยู่ทั่วไปในแถบนี้ หรืออีกหนึ่งข้อสันนิษฐานคือชื่อ "พลิ้ว" มาจากภาษาชอง ซึ่งเป็นเผ่าดั้งเดิมของเมืองจันท์ แปลว่า ทรายหรือหาดทราย

ลักษณะของตัวน้ำตกแบ่งเป็น 3 ชั้น มีสายน้ำตกแบ่งเป็น 2 สายในช่วงหน้าฝน และหดรวมเหลือสายเดียวในฤดูแล้ง สายหนึ่งไหลลดหลั่นผ่านซอกหินผา อีกสายหนึ่งมีขนาดเล็กกว่า แต่ทิ้งตัวลงมาจากผาสูง 20 เมตร

น้ำตกจากผาสูง จะไหลตกลงมาสู่แอ่งน้ำใสขนาดใหญ่ชั้นล่างสุด ซึ่งแอ่งนี้มีความลึกราว 2 เมตร เป็นศูนย์รวมของนักท่องเที่ยวที่มาแหวกว่ายรับความเย็นกับสายน้ำ
นักท่องเที่ยวป้อนอาหารปลาพลวงด้วยถั่วฝักยาว
สายน้ำที่กระเซ็นเป็นฟองฝอยกระทบผิวกาย และแอ่งน้ำใสที่มีปลาพลวงหิน ฝูงใหญ่แหวกว่ายรายล้อมอยู่รอบตัวในแอ่งน้ำใส เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า "ตะลอนเที่ยว" ได้มาถึงน้ำตกพลิ้วโดยสมบูรณ์แล้ว และไม่ขอรีรอที่จะหย่อนกายลงเป็นส่วนหนึ่งของสายน้ำ พร้อมกับไม่ลืมที่จะหยิบถั่วฝักยาวที่ถือมาป้อนให้เหล่าฝูง 'ปลาพลวงหิน' ที่มีจำนวนมากมายมหาศาลในลำธารน้ำตกแห่งนี้ เป็นหนึ่งในสัตว์แม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ไปชม ไปให้อาหารมัน ตามความสะดวกของแต่ละคน

ปลาพลวงที่นี่ กินเก่งไม่เบา(นั่นอาจเป็นเพราะพวกมันมีจำนวนมากต้องแย่งกันกิน) พอเอาถั่วฝักยาวไปจ่อใกล้ ต่างยื้อแย่งกันอ้างับๆ ถั่วฝักยาวหนึบ หนับ เป็นว่าเล่น
สะพานเดินข้ามธารน้ำตกพลิ้ว
อ้อ!!! ที่น้ำตกพลิ้ว ยังมีตัว"ลั้ง"(ภาษาถิ่น) หรือ ตะกอง หรือกิ้งก่ายักษ์ เป็นกิ้งก่าขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในเมืองไทย ถ้าใครโชคดีมันจะออกมาอวดโฉมให้เห็น แต่หากใครอยากชม ไม่ยาก เพราะทางอุทยานฯได้ทำรูปปั้นตัวลั้งขนาดเบ้อเริ่มเทิ้มตั้งประดับไว้ในนักท่องเที่ยวได้รู้จักรูปร่างหน้าตาของมันใกล้ๆกับรูปปั้นปลาพลวงหินตัวขนาดไล่เลี่ยกัน ซึ่งทั้งคู่ต่างเป็นจุดถ่ายรูปที่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการเป็นฉากอยู่ไม่ได้ขาด

หลังมาเที่ยวน้ำตกพลิ้วและได้สัมผัสในความงามความชุ่มฉ่ำ ทำให้เราพบว่านี่คือน้ำตกที่เมื่อพบแล้วช่างเพลิดเพลินและรู้สึกผูกพันไม่น้อยทีเดียว ซึ่งเราขอปิดท้ายทริปด้วย พระราชนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสน้ำตกพลิ้ว ในปีพ.ศ.2419 ดังความว่า
 สายธารน้ำตกพลิ้วอันชุ่มชื่น
..."น้ำพุดุดั้นยอดบรรพต กระทบเหลี่ยมศิลาลด ล่มพื้น ขาวดังกษีรรส รินร่วง โรยแฮ พร่างพร่างละอองชื้น เช่นน้ำสุคนธ์โปรย เบื้องล่างอ่างรับน้ำ เย็นใส เจ็ดศอกคืบแต่ใน ซึ่งซึ้ง ลำธารชลาลัย ไหลหลั่ง เหลิงแฮ ลงสู่ครู่เดียวถลึ้ง เหตุล้ำ เหลือหนาว ยามสายกายเร่าร้อน สุรีย์ฉาน เพียรสถิตปากธาร ที่ใกล้ กลับเย็นยิ่งสำราญ ร่มสุขเกษมแฮ ธารกี่ธารบ่ได้ เทียบพลิ้วเทียมถึง ชลธารปานน้ำทิพย์ มาโปรย สรงฤา เสียวแต่นามชวนโหย ละห้อย เรียกพลิ้วโอ๊ยอกโอย ฉวยบิด เบือนนา แม้ว่าบิดพลิ้วน้อย หนึ่งแล้วจำตาย"...

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

"อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว" ตั้งอยู่ที่ ต.พลิ้ว อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ14 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 3 แล้วแยกซ้ายที่บ้านพลิ้ว อ.แหลมสิงห์ไปอีก 2 กิโลเมตร ทางอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-3943-4528 และสามารถสอบถามรายละเอียดการเดินทาง สถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ในเมืองจันท์ได้ที่ สมาคมชาวจันทบุรีฯ โทร.0-2281-5497 โทรสาร.0-2282-1195
กำลังโหลดความคิดเห็น