โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
เมื่อจินตนาการถึงภาพของพระนคร หรือกรุงเทพฯในอดีตเมื่อสักร้อยปีที่ผ่านมา ฉันหลับตามองเห็นบ้านเมืองที่ยังไม่เจริญด้วยวัตถุ แต่มีความสงบเรียบง่าย เมืองยังคงมีทุ่งนา ทุ่งหญ้า ห้วย หนอง คลอง บึง และต้นไม้ใหญ่ร่มครึ้ม ผู้คนสัญจรไปมาหาสู่กันทางน้ำด้วยเรือเป็นเส้นทางหลัก หรือทางบกก็ด้วยเกวียน รถลาก หรือใช้สองเท้าก้าวเดินไปตามถนนดิน
แต่หลังจากนั้นเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น วิทยาการใหม่ๆเริ่มเข้ามาสู่พระนครด้วยการเข้ามาของชาวต่างชาติ ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่าง สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วก็คือ "ถนน" โดยถนนอันทันสมัยสายแรกในกรุงเทพฯ ที่สร้างด้วยเทคนิคแบบตะวันตกนั้นก็คือ "ถนนเจริญกรุง" หรือ New Road ถนนใหม่ที่นำพาเอาความเจริญใหม่ๆ เข้ามาสู่ชาวพระนคร ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของการขนส่งมวลชนนั่นเอง
ถึงตอนนี้หลายคนคงจะเดาได้แล้วว่าฉันกำลังจะพูดถึง "รถราง" ซึ่งถือเป็นพาหนะขนส่งมวลชนชนิดแรกของไทยเลยก็ว่าได้ อีกทั้งยังเรียกว่าเป็นความทันสมัยอย่างมาก เพราะเราเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีรถรางใช้กัน โดยรถรางในกรุงเทพฯนั้นเกิดขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 5 หรือเมื่อปี พ.ศ.2431 โดยชาวเดนมาร์กสองคนคือนายจอน ลอฟตัส และนาย เอ. ดูเปลสิเดริเซอเลียว ได้ขอพระราชทานดำเนินกิจการรถรางขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเป็นกิจการรถรางลากจูงด้วยม้าถึง 8 ตัวด้วยกัน มีเส้นทางวิ่งระหว่างพระบรมมหาราชวัง บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองไปตามถนนเจริญกรุง ปลายทางอยู่ที่อู่ฝรั่งหรือบางกอกด๊อก (Bangkok Dock) หรือบริษัทอู่กรุงเทพ ยานนาวาในปัจจุบัน และในปีต่อมาก็ได้ขยายเส้นทางไปถึงถนนตก
แต่รถรางที่ใช้ม้าลากนั้นค่าตั๋วแพง อีกทั้งยังกินเวลานานกว่าจะถึงจุดหมาย ทั้งต้องหยุดให้คนกินข้าวบ้าง ให้ม้ากินหญ้าบ้าง คนทั่วไปจึงไม่นิยมใช้บริการ ทำเอาบริษัทขาดทุนไปมากมายจนต้องปิดกิจการลง แต่หลังจากนั้น บริษัทเดนมาร์กก็ได้สัมปทานทำรถรางต่อ แต่คราวนี้พัฒนาเป็นรถรางไฟฟ้า ที่ใช้ไฟฟ้าเป็นพลังขับเคลื่อนรถ เวลารถรางวิ่งจึงมีกระแสไฟแลบแปล๊บๆ ออกมาด้วย ทำให้ชาวบ้านชาวเมืองยิ่งไม่กล้าขึ้นกันเข้าไปใหญ่เพราะกลัวไฟดูด ฝรั่งเจ้าของบริษัทรถรางจึงต้องมานั่งให้ดูเป็นตัวอย่างอยู่หลายวัน อีกทั้งยังต้องเปิดให้บริการฟรีในช่วงแรก คนจึงกล้าขึ้นไปใช้บริการกัน
การดำเนินกิจการรถรางนั้นถูกเปลี่ยนมือมาอีกหลายครั้ง และได้มีเส้นทางรถรางขยายออกไปอีกหลายสายด้วยกัน โดยรถรางสายแรกที่ให้บริการก็คือรถรางสายบางคอแหลม วิ่งระหว่างศาลหลักเมือง-ท่าน้ำถนนตก นอกจากนั้นรถรางสายอื่นๆ ก็เช่น สายบางซื่อ วิ่งระหว่างบางซื่อ-บางกระบือ สายสามเสน วิ่งระหว่างสามเสน-สาทร สายอัษฎางค์ สายราชวงศ์ สายสุโขทัย สายหัวลำโพง สายรอบเมือง สายยศเส สายสีลม สายดุสิต
หน้าตาของรถรางนั้นก็คล้ายกับโบกี้รถไฟ แต่มีความยาวน้อยกว่า มีรูปร่างสองแบบคือแบบเปิดโล่งและแบบมีกระจกปิด แบบเปิดโล่งนั้นตัวรถจะทำจากไม้ มีผืนผ้าใบม้วนไว้ข้างรถสำหรับกันฝน และแบบกระจกปิดนั้นคนนิยมเรียกว่า "ไอ้โม่ง" เพราะหลังคาจะมีความโค้งมาก และตัวรถทำด้วยเหล็ก อีกทั้งรถรางจะมีหลายสีด้วยกัน เช่น สีเหลืองกับสีน้ำตาล สีเหลืองกับสีเขียว สีเหลืองกับสีแดง และสีดำกับสีเขียวอ่อน แตกต่างกันไปตามเส้นทางและตามบริษัทเจ้าของเส้นทาง
รถรางเปิดให้บริการมากว่า 80 ปี สุดท้ายก็ต้องถูกปิดกิจการไปอย่างสิ้นเชิงในปี พ.ศ.2511 หลังจากที่มีการพัฒนาบ้านเมืองขนานใหญ่ อีกทั้งมียานพาหนะอื่นเข้ามามีบทบาทในท้องถนนมากขึ้น ทั้งรถประจำทาง รถแท็กซี่ ซึ่งมีความเร็วและสะดวกสบายมากกว่ารถราง ทำให้ขนส่งมวลชนชนิดนี้ต้องยกเลิกไปในที่สุด
กว่า 40 ปีแล้วที่เราไม่ได้เห็นรถรางไฟฟ้ามาวิ่งให้บริการประชาชนกันอีก แต่ก็ยังคงมีสิ่งที่ยังหลงเหลือให้ระลึกถึงยานพาหนะในอดีตนี้อยู่บ้างก็คือตัวโบกี้รถรางที่เคยใช้งานจริง โดยมีให้ชมกันที่สำนักงานการไฟฟ้านครหลวง เขตยานนาวา ซึ่งเราสามารถขึ้นไปสัมผัสกับรถรางได้อย่างใกล้ชิด ได้ทดลองนั่งบนรถรางชั้น 2 ราคาสลึงเดียว ได้ทดลองหมุนพวงมาลัยรถรางที่ไม่เหมือนกับพวงมาลัยรถยนต์ อีกทั้งยังได้ลองเหยียบกระดิ่งรถรางที่ยังเสียงชัดใสได้ยินไปไกล
ส่วนร่องรอยของ "ราง" ก็ยังคงมีให้เห็นอยู่บนถนนเจริญกรุง บริเวณหน้าวัดอุภัยราชบำรุง หรือวัดญวนตลาดน้อย มองเห็นเป็นแนวเส้นเหมือนรางรถไฟอยู่บนถนนที่แนวคอนกรีตที่กร่อนลงไป ซึ่งนั่นก็คือรางของรถรางที่วิ่งให้บริการในอดีต รถรางสายนี้เป็นรถรางสายสีเหลือง หรือสายบางคอแหลมนั่นเอง และบริเวณถนนตกก็ยังคงมีรางรถรางให้เห็นอยู่บ้างเช่นกัน
ไม่เพียงยังมีรางให้เห็นเท่านั้น แต่ยังมีป้ายหยุดรถรางเหลืออยู่อีกแห่งหนึ่งเช่นกัน ป้ายหยุดรถรางนี้เป็นป้ายสามเหลี่ยมเล็กๆสีแดง มีดวงดาวตรงกลาง ป้ายนี้เป็นป้ายหยุดรถรางที่ยังเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในสถานที่จริง คืออยู่บนชายคาของตึกแถวริมถนนเยาวราช บริเวณหน้าเวิ้งนาครเขษม ใครที่เคยนั่งรถผ่านไปผ่านมาแล้วสังเกตเห็นคราวนี้ก็ไม่ต้องสงสัยกันแล้วว่าป้ายนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร
นอกจากสองสิ่งเกี่ยวกับรถรางที่ฉันว่ามานี้แล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่พิเศษกว่านั้น นั่นก็คือ "คนขับรถรางคนสุดท้าย" หรือคุณลุงชอบ วาดเขียน หนุ่ม(เหลือ)น้อย อายุ 80 ปี อดีตคนขับรถรางสายบางคอแหลมจนกระทั่งกิจการรถรางถูกเลิกไป ลุงชอบเล่าให้ฉันฟังถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการขับรถรางที่เคยเป็นอาชีพเมื่อสมัยยังหนุ่มแน่นว่า เมื่อก่อนนี้รถรางมีมากถึง 50 คัน สำหรับสายบางคอแหลมนั้นเป็นรถพ่วงสองคัน วิ่งตั้งแต่ศาลหลักเมือง ข้ามสะพานช้างโรงสีไปเสาชิงช้า เข้าถนนเจริญกรุง ผ่านวัดเล่งเน่ยยี่ สี่พระยา ไปรษณีย์กลางบางรัก สุสานวัดดอน ไปจนถึงท่าน้ำถนนตกเป็นอันสุดสาย หากไม่ติดรถหรือคนก็จะใช้เวลาวิ่งประมาณ 20 นาที
รถรางนี้ยังแบ่งเป็นรถรางชั้น 1 และชั้น 2 อีกด้วย รถรางชั้น 2 นั่งแล้วอาจเมื่อยก้นเพราะไม่มีเบาะรอง มีเพียงม้านั่งแข็งๆ แต่ค่ารถเพียงสลึงเดียว แต่หากอยากนั่งสบายมีเบาะนุ่มๆรองก้นก็ต้องเลือกนั่งรถรางชั้น 1 และต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวคือ 50 สตางค์ ส่วนลุงชอบก็จะยืนขับอยู่ด้านหัวรถราง คอยเหยียบกระดิ่งเตือนรถและคนเดินถนนให้ระวังรถราง ปัญหาต่างๆในการขับรถรางก็ไม่ค่อยมี ยกเว้นแต่เวลาที่ไฟดับรถรางก็ต้องจอดนิ่งสนิทตามไปด้วย
แต่พอมาตอนหลังจากที่รถรางเลิกวิ่งไป ลุงชอบก็เปลี่ยนมาทำงานที่การไฟฟ้า เขตยานนาวาแห่งนี้จนเกษียณอายุ แต่ลุงชอบก็ยังคงคิดถึงรถราง และมองว่ารถรางนั้นก็มีข้อดีไม่น้อย อย่างเช่นไม่ต้องใช้น้ำมันลิตรละ 30 บาท ไม่ต้องใช้แก๊สให้กลัวระเบิดตูมตาม ใช้เพียงไฟฟ้าที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ
มาจนถึงตอนนี้ก็มีความพยายามจะฟื้นคืนรถรางขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง แต่อยู่ในรูปแบบของรถรางเพื่อการท่องเที่ยว ไม่ได้เป็นรถรางไฟฟ้าที่วิ่งบนรางเหมือนเมื่อก่อน แต่เป็นรถรางที่ใช้เครื่องยนต์และน้ำมัน แต่มีรูปลักษณ์ภายนอกเหมือนรถรางในอดีต วิ่งให้บริการนักท่องเที่ยวในสองเส้นทางด้วยกัน คือเส้นทางท่องเที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ และเส้นทางท่องเที่ยวเยาวราช มีมัคคุเทศก์บนรถคอยบรรยายและชี้ชวนสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ ระหว่างทางให้ได้ฟังกันด้วย ซึ่งก็อาจทำให้ใครที่ต้องการไปรำลึกความหลังกับรถรางได้บรรยากาศของอดีตกลับคืนมา และทำให้หลายๆคนอยากจะเห็นยานพาหนะที่แสนจะคลาสสิกนี้กลับมาวิ่งโลดแล่นอยู่บนถนนในกรุงเทพฯอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อจินตนาการถึงภาพของพระนคร หรือกรุงเทพฯในอดีตเมื่อสักร้อยปีที่ผ่านมา ฉันหลับตามองเห็นบ้านเมืองที่ยังไม่เจริญด้วยวัตถุ แต่มีความสงบเรียบง่าย เมืองยังคงมีทุ่งนา ทุ่งหญ้า ห้วย หนอง คลอง บึง และต้นไม้ใหญ่ร่มครึ้ม ผู้คนสัญจรไปมาหาสู่กันทางน้ำด้วยเรือเป็นเส้นทางหลัก หรือทางบกก็ด้วยเกวียน รถลาก หรือใช้สองเท้าก้าวเดินไปตามถนนดิน
แต่หลังจากนั้นเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น วิทยาการใหม่ๆเริ่มเข้ามาสู่พระนครด้วยการเข้ามาของชาวต่างชาติ ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่าง สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วก็คือ "ถนน" โดยถนนอันทันสมัยสายแรกในกรุงเทพฯ ที่สร้างด้วยเทคนิคแบบตะวันตกนั้นก็คือ "ถนนเจริญกรุง" หรือ New Road ถนนใหม่ที่นำพาเอาความเจริญใหม่ๆ เข้ามาสู่ชาวพระนคร ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของการขนส่งมวลชนนั่นเอง
ถึงตอนนี้หลายคนคงจะเดาได้แล้วว่าฉันกำลังจะพูดถึง "รถราง" ซึ่งถือเป็นพาหนะขนส่งมวลชนชนิดแรกของไทยเลยก็ว่าได้ อีกทั้งยังเรียกว่าเป็นความทันสมัยอย่างมาก เพราะเราเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีรถรางใช้กัน โดยรถรางในกรุงเทพฯนั้นเกิดขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 5 หรือเมื่อปี พ.ศ.2431 โดยชาวเดนมาร์กสองคนคือนายจอน ลอฟตัส และนาย เอ. ดูเปลสิเดริเซอเลียว ได้ขอพระราชทานดำเนินกิจการรถรางขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเป็นกิจการรถรางลากจูงด้วยม้าถึง 8 ตัวด้วยกัน มีเส้นทางวิ่งระหว่างพระบรมมหาราชวัง บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองไปตามถนนเจริญกรุง ปลายทางอยู่ที่อู่ฝรั่งหรือบางกอกด๊อก (Bangkok Dock) หรือบริษัทอู่กรุงเทพ ยานนาวาในปัจจุบัน และในปีต่อมาก็ได้ขยายเส้นทางไปถึงถนนตก
แต่รถรางที่ใช้ม้าลากนั้นค่าตั๋วแพง อีกทั้งยังกินเวลานานกว่าจะถึงจุดหมาย ทั้งต้องหยุดให้คนกินข้าวบ้าง ให้ม้ากินหญ้าบ้าง คนทั่วไปจึงไม่นิยมใช้บริการ ทำเอาบริษัทขาดทุนไปมากมายจนต้องปิดกิจการลง แต่หลังจากนั้น บริษัทเดนมาร์กก็ได้สัมปทานทำรถรางต่อ แต่คราวนี้พัฒนาเป็นรถรางไฟฟ้า ที่ใช้ไฟฟ้าเป็นพลังขับเคลื่อนรถ เวลารถรางวิ่งจึงมีกระแสไฟแลบแปล๊บๆ ออกมาด้วย ทำให้ชาวบ้านชาวเมืองยิ่งไม่กล้าขึ้นกันเข้าไปใหญ่เพราะกลัวไฟดูด ฝรั่งเจ้าของบริษัทรถรางจึงต้องมานั่งให้ดูเป็นตัวอย่างอยู่หลายวัน อีกทั้งยังต้องเปิดให้บริการฟรีในช่วงแรก คนจึงกล้าขึ้นไปใช้บริการกัน
การดำเนินกิจการรถรางนั้นถูกเปลี่ยนมือมาอีกหลายครั้ง และได้มีเส้นทางรถรางขยายออกไปอีกหลายสายด้วยกัน โดยรถรางสายแรกที่ให้บริการก็คือรถรางสายบางคอแหลม วิ่งระหว่างศาลหลักเมือง-ท่าน้ำถนนตก นอกจากนั้นรถรางสายอื่นๆ ก็เช่น สายบางซื่อ วิ่งระหว่างบางซื่อ-บางกระบือ สายสามเสน วิ่งระหว่างสามเสน-สาทร สายอัษฎางค์ สายราชวงศ์ สายสุโขทัย สายหัวลำโพง สายรอบเมือง สายยศเส สายสีลม สายดุสิต
หน้าตาของรถรางนั้นก็คล้ายกับโบกี้รถไฟ แต่มีความยาวน้อยกว่า มีรูปร่างสองแบบคือแบบเปิดโล่งและแบบมีกระจกปิด แบบเปิดโล่งนั้นตัวรถจะทำจากไม้ มีผืนผ้าใบม้วนไว้ข้างรถสำหรับกันฝน และแบบกระจกปิดนั้นคนนิยมเรียกว่า "ไอ้โม่ง" เพราะหลังคาจะมีความโค้งมาก และตัวรถทำด้วยเหล็ก อีกทั้งรถรางจะมีหลายสีด้วยกัน เช่น สีเหลืองกับสีน้ำตาล สีเหลืองกับสีเขียว สีเหลืองกับสีแดง และสีดำกับสีเขียวอ่อน แตกต่างกันไปตามเส้นทางและตามบริษัทเจ้าของเส้นทาง
รถรางเปิดให้บริการมากว่า 80 ปี สุดท้ายก็ต้องถูกปิดกิจการไปอย่างสิ้นเชิงในปี พ.ศ.2511 หลังจากที่มีการพัฒนาบ้านเมืองขนานใหญ่ อีกทั้งมียานพาหนะอื่นเข้ามามีบทบาทในท้องถนนมากขึ้น ทั้งรถประจำทาง รถแท็กซี่ ซึ่งมีความเร็วและสะดวกสบายมากกว่ารถราง ทำให้ขนส่งมวลชนชนิดนี้ต้องยกเลิกไปในที่สุด
กว่า 40 ปีแล้วที่เราไม่ได้เห็นรถรางไฟฟ้ามาวิ่งให้บริการประชาชนกันอีก แต่ก็ยังคงมีสิ่งที่ยังหลงเหลือให้ระลึกถึงยานพาหนะในอดีตนี้อยู่บ้างก็คือตัวโบกี้รถรางที่เคยใช้งานจริง โดยมีให้ชมกันที่สำนักงานการไฟฟ้านครหลวง เขตยานนาวา ซึ่งเราสามารถขึ้นไปสัมผัสกับรถรางได้อย่างใกล้ชิด ได้ทดลองนั่งบนรถรางชั้น 2 ราคาสลึงเดียว ได้ทดลองหมุนพวงมาลัยรถรางที่ไม่เหมือนกับพวงมาลัยรถยนต์ อีกทั้งยังได้ลองเหยียบกระดิ่งรถรางที่ยังเสียงชัดใสได้ยินไปไกล
ส่วนร่องรอยของ "ราง" ก็ยังคงมีให้เห็นอยู่บนถนนเจริญกรุง บริเวณหน้าวัดอุภัยราชบำรุง หรือวัดญวนตลาดน้อย มองเห็นเป็นแนวเส้นเหมือนรางรถไฟอยู่บนถนนที่แนวคอนกรีตที่กร่อนลงไป ซึ่งนั่นก็คือรางของรถรางที่วิ่งให้บริการในอดีต รถรางสายนี้เป็นรถรางสายสีเหลือง หรือสายบางคอแหลมนั่นเอง และบริเวณถนนตกก็ยังคงมีรางรถรางให้เห็นอยู่บ้างเช่นกัน
ไม่เพียงยังมีรางให้เห็นเท่านั้น แต่ยังมีป้ายหยุดรถรางเหลืออยู่อีกแห่งหนึ่งเช่นกัน ป้ายหยุดรถรางนี้เป็นป้ายสามเหลี่ยมเล็กๆสีแดง มีดวงดาวตรงกลาง ป้ายนี้เป็นป้ายหยุดรถรางที่ยังเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในสถานที่จริง คืออยู่บนชายคาของตึกแถวริมถนนเยาวราช บริเวณหน้าเวิ้งนาครเขษม ใครที่เคยนั่งรถผ่านไปผ่านมาแล้วสังเกตเห็นคราวนี้ก็ไม่ต้องสงสัยกันแล้วว่าป้ายนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร
นอกจากสองสิ่งเกี่ยวกับรถรางที่ฉันว่ามานี้แล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่พิเศษกว่านั้น นั่นก็คือ "คนขับรถรางคนสุดท้าย" หรือคุณลุงชอบ วาดเขียน หนุ่ม(เหลือ)น้อย อายุ 80 ปี อดีตคนขับรถรางสายบางคอแหลมจนกระทั่งกิจการรถรางถูกเลิกไป ลุงชอบเล่าให้ฉันฟังถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการขับรถรางที่เคยเป็นอาชีพเมื่อสมัยยังหนุ่มแน่นว่า เมื่อก่อนนี้รถรางมีมากถึง 50 คัน สำหรับสายบางคอแหลมนั้นเป็นรถพ่วงสองคัน วิ่งตั้งแต่ศาลหลักเมือง ข้ามสะพานช้างโรงสีไปเสาชิงช้า เข้าถนนเจริญกรุง ผ่านวัดเล่งเน่ยยี่ สี่พระยา ไปรษณีย์กลางบางรัก สุสานวัดดอน ไปจนถึงท่าน้ำถนนตกเป็นอันสุดสาย หากไม่ติดรถหรือคนก็จะใช้เวลาวิ่งประมาณ 20 นาที
รถรางนี้ยังแบ่งเป็นรถรางชั้น 1 และชั้น 2 อีกด้วย รถรางชั้น 2 นั่งแล้วอาจเมื่อยก้นเพราะไม่มีเบาะรอง มีเพียงม้านั่งแข็งๆ แต่ค่ารถเพียงสลึงเดียว แต่หากอยากนั่งสบายมีเบาะนุ่มๆรองก้นก็ต้องเลือกนั่งรถรางชั้น 1 และต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวคือ 50 สตางค์ ส่วนลุงชอบก็จะยืนขับอยู่ด้านหัวรถราง คอยเหยียบกระดิ่งเตือนรถและคนเดินถนนให้ระวังรถราง ปัญหาต่างๆในการขับรถรางก็ไม่ค่อยมี ยกเว้นแต่เวลาที่ไฟดับรถรางก็ต้องจอดนิ่งสนิทตามไปด้วย
แต่พอมาตอนหลังจากที่รถรางเลิกวิ่งไป ลุงชอบก็เปลี่ยนมาทำงานที่การไฟฟ้า เขตยานนาวาแห่งนี้จนเกษียณอายุ แต่ลุงชอบก็ยังคงคิดถึงรถราง และมองว่ารถรางนั้นก็มีข้อดีไม่น้อย อย่างเช่นไม่ต้องใช้น้ำมันลิตรละ 30 บาท ไม่ต้องใช้แก๊สให้กลัวระเบิดตูมตาม ใช้เพียงไฟฟ้าที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ
มาจนถึงตอนนี้ก็มีความพยายามจะฟื้นคืนรถรางขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง แต่อยู่ในรูปแบบของรถรางเพื่อการท่องเที่ยว ไม่ได้เป็นรถรางไฟฟ้าที่วิ่งบนรางเหมือนเมื่อก่อน แต่เป็นรถรางที่ใช้เครื่องยนต์และน้ำมัน แต่มีรูปลักษณ์ภายนอกเหมือนรถรางในอดีต วิ่งให้บริการนักท่องเที่ยวในสองเส้นทางด้วยกัน คือเส้นทางท่องเที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ และเส้นทางท่องเที่ยวเยาวราช มีมัคคุเทศก์บนรถคอยบรรยายและชี้ชวนสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ ระหว่างทางให้ได้ฟังกันด้วย ซึ่งก็อาจทำให้ใครที่ต้องการไปรำลึกความหลังกับรถรางได้บรรยากาศของอดีตกลับคืนมา และทำให้หลายๆคนอยากจะเห็นยานพาหนะที่แสนจะคลาสสิกนี้กลับมาวิ่งโลดแล่นอยู่บนถนนในกรุงเทพฯอีกครั้งหนึ่ง