xs
xsm
sm
md
lg

มหัศจรรย์ “สามพันโบก” ดังไว ระวัง!!! ไปเร็ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แก่งหินใหญ่น้อยที่อวดโฉมอยู่กลางลำน้ำโขง
ในเวิ้งแม่น้ำโขงมหานทีแห่งชีวิต ที่ อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี มีความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติสร้างไว้ ในนามของ “สามพันโบก”

สามพันโบก เป็นแก่งหินที่อยู่ใต้ลำน้ำโขง ในช่วงฤดูน้ำหลากแก่งหินทั้งหลายจะถูกฟูมฟักไว้ด้วยสายน้ำ เมื่อแรงน้ำวนกัดเซาะ จากแก่งหินกลายเป็นแอ่งเล็กแอ่งใหญ่มากมายนับไม่ถ้วน เพราะนับไม่ถ้วนมีหลายพันแอ่งจึงเรียกกันว่า “สามพันโบก” โบก หมายถึง หลุม แอ่ง บ่อ ในที่นี้คือ บ่อน้ำลึกในแก่งหินใต้ลำน้ำโขง เป็นภาษาของลาวที่มักนิยมเรียกกัน หรืออีกสมญานามหนึ่งที่ได้รับขนานนามคือ “แกรนแคนยอนน้ำโขง”

พอสิ้นฤดูน้ำหลาก โบกจำนวนมากมายจะได้เวลาเผยความงามกลางลำน้ำโขงให้ได้ประจักษ์ อันเกิดจากการกัดเซาะของน้ำหลายพันปี สามพันโบกมีความกว่างใหญ่ถึง 10 ตร.กม. แฝงไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวที่เรียงรายเชื่อมต่อกันหลายแห่ง เริ่มจาก หาดสลึง บริเวณบ้านสองคอน เป็นหาดทรายขาวละเอียดทอดยาวไปตลอดแนวแม่น้ำโขง
สระมรกต โบกขนาดใหญ่ที่มีน้ำเต็มโบกตลอดเวลา
ปากบ้อง ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำโขงแคบที่สุดตลอดระยะทางยาวกว่า 700 กิโลเมตร โดยมีความกว้างของแม่น้ำเพียง 56 เมตร เท่านั้น ถัดจากบริเวณปากบ้องขึ้นไปทางเหนือ มีแก่งใหญ่ขวางกลางลำน้ำโขง เรียกว่า หินหัวพะเนียง ที่ทำให้แม่น้ำโขงแยกออกเป็นสองสาย หรือสองคอนในภาษาท้องถิ่น ที่มาของชื่อ บ้านสองคอน

ในบริเวณใกล้เคียงยังมีถ้ำที่มีความสวยงามในลำน้ำโขง ประกอบด้วย ถ้ำนางเข็นฝ้าย ถ้ำนางต่ำหูก หาดหงษ์ หาดหินสี หลักศิลาเลข แก่งสองคอน ภูเขาหิน และหาดแห่ การล่องเรือไปชมสามพันโบก จะล่องลงตามแม่น้ำโขงระยะทางจากหาดสลึงประมาณ 4 กิโลเมตร ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการชมสามพันโบก คือ ประมาณตุลาคมถึงพฤษภาคม

และด้วยความสวยงาม ความมหัศจรรย์ สามพันโบกจึงถูกคัดเลือกเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลต์ในภาพยนตร์โฆษณาของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ชุด (พี่) “เบิร์ดชวนเที่ยว” ตามด้วยการประชาสัมพันธ์สามพันโบกอย่างถี่ยิบผ่านสื่อต่างๆ ส่งผลให้สถานที่แห่งนี้โด่งดังปานพลุแตก กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งปีที่มาแรงมาก ชนิดที่หลายๆ คนคาดไม่ถึง

แน่นอนว่า ธรรมชาติที่สามพันโบก ย่อมคาดไม่ถึงด้วยเช่นกัน
จินตนาการจากธรรมชาติกับโบกที่นักท่องเที่ยวเรียกว่า มิกกี้เม้าท์
จาก “ปู่จกปู” สู่ “สามพันโบก”

แสงอาทิตย์ยามเย็น ณ บริเวณสามพันโบก ที่เริ่มรี่แสงลงตามวัฏจักรโลก ชายวัยกลางคนคนหนึ่งยืนมองผู้คนที่แวะเวียนมาสามพันโบก ทั้งว่ายน้ำ ถ่ายภาพกับโบกต่างๆ เขามองด้วยสายตาที่ยากจะยั้งความรู้สึก อ.เรืองประทิน เขียวสด ครูโรงเรียนบ้านสองคอน คือผู้ชายคนนั้น ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกสามพันโบก

อ.เรืองประทิน บอกเล่าเรื่องราวเชื่อมโยงอันเป็นตำนานของสามพันโบกให้ฟังว่า ก่อนเป็นสามพันโบก เหล่าแอ่งหินน้อยใหญ่กลางน้ำโขงแห่งนี้ เป็นที่รู้จักของชาวบ้านว่า “ปู่จกปู” จากตำนานพื้นบ้านเล็กๆ ที่เล่าเรียงถึง ปู่กับหลานคู่หนึ่งลงเรือลอยลำหาปลากลางลำน้ำโขง และได้มาแวะพักยังโบกแห่งนี้ ฝ่ายหลานเกิดอาการหิวขึ้นมา ปู่จึงเอามือล้วงเข้าไปในหลุมโบก จับได้ปูมาทำเป็นอาหารมื้อโอชะให้หลานได้อิ่ม
ชมอาทิตย์ตกริมสระมรกต
แต่เพราะปูจกปู่คงไม่สามารถสร้างความคุ้นในความทรงจำของใครๆ ได้ อ.เรืองประทิน และกลุ่มเพื่อนผู้ร่วมบุกเบิกสามพันโบก จึงได้ครุ่นคิดและเปลี่ยนชื่อให้เสียใหม่

“ปู่จกปูคงไม่สามารถสร้างชื่อได้ในแง่ของการตลาด ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็นสามพันโบก เรามาคิดว่าที่ลาวเขามี “มหานทีสี่พันดอน” ของเราตั้งทีหลัง เลยของเป็นแค่สามพันโบก” อ.เรืองประทินเล่า

เดิมชาวบ้านแถบนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสามพันโบกมากนัก เพราะอย่างเดียวที่พอจะเป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านให้จับปลาได้ คือ “สระมรกต” หรือ “บุ่งน้ำใส” ที่ชาวบ้านเรียกมีลักษณะเป็นสระน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่กลางโบกลึกราว 3 เมตร น้ำใสเล่นได้ทั้งปี แต่น้ำใสที่สุดในเดือน ธ.ค. ที่น่ามหัศจรรย์ยิ่งกว่าก็คือ ไม่ว่าระดับน้ำโขงจะเพิ่มจะลดอย่างไร น้ำในสระก็จะคงที่

“ปีนี้คนมาเที่ยวเยอะ แต่มีนักท่องเที่ยวไม่มากที่รู้ว่า สามพันโบกยังมีฐานะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดในลำน้ำโขงตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ” อ.เรืองประทิน เอ่ยถึงความสำคัญของสามพันโบกให้ฟัง
ร่องน้ำเล็กๆแยกหินแกร่งแบ่งเป็นสอง
แหล่งท่องเที่ยวแห่งปี

ดูเหมือนว่าเมื่อเริ่มเอ่ยถึงการท่องเที่ยวของสามพันโบก อ.เรืองประทิน จะกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาทันที ก่อนบอกเล่าถึงสามพันโบกภายหลังเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ จนมีผู้คนมากมายพูดถึง ว่านี่คือแหล่งท่องเที่ยวแห่งปีของไทย

เพียง 2 ปีกว่า ตั้งแต่เริ่มเผยแพร่เมื่อปลายปี พ.ศ.2549 เขาเองก็ไม่อยากจะเชื่อเช่นกันว่า สามพันโบกจะโด่งดังได้มากขนาดนี้ จากโบกหินไร้ค่า นานครั้งจะมีผู้คนแวะเวียนไปหาสักครา กลับต้องรับหน้าที่ต้อนรับขับสู้นักท่องเที่ยวจำนวนมากสู่บ้านตัวเอง ทุกวัน ทุกเวลา

แม้จะภาคภูมิใจกับแหล่งท่องเที่ยวของท้องถิ่นตนเองสักเพียงใด แต่การโตแบบก้าวกระโดดจน อ.เรืองประทินมองว่า “เร็วจนน่าใจหาย” ก็สร้างความวิตกอยู่ลึกๆ ในใจ

“คนเข้ามาเยอะ เกิดปัญหาเรื่องของขยะเพิ่มขึ้นตาม ที่พัก เรือ ห้องน้ำ ทุกอย่างไม่เพียงพอ การเติบโตอย่างรวดเร็วของสามพันโบก ทำให้ชาวบ้านตั้งรับไม่ทัน” อ.เรืองประทินกล่าวน้ำเสียงจริงจัง
 มองสายน้ำโขงจากสามพันโบก
ฤๅ...มาไว ไปเร็ว

ความคิดของ อ.เรืองประทิน ต่อปัญหาใหม่ที่ใหญ่สำหรับสามพันโบก ดูจะไม่แตกต่างจากความคิดของ สมชาติ เบญจถาวรอนันท์ เว็บมาสเตอร์ไกด์อุบลด็อทคอม จ.อุบลราชธานี อีกหนึ่งผู้ร่วมบุกเบิกสามพันมาพร้อมกับ อ.เรืองประทิน

สมชาติเล่าถึงสามพันโบกว่า มันเริ่มต้นจากการที่เขาและเพื่อน รับคำชวนของ อ.เรืองประทิน ไปนอนค้างที่สามพันโบก ในปลายปี พ.ศ.2549 ซึมซับและถ่ายรูป ก่อนจะนำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์จนเริ่มเป็นที่รู้จัก

“เห็นสามพันโบกวันนี้ เรื่องที่ผมกังวล หนึ่งคือ การรองรับชาวบ้านกับการท่องเที่ยว ชาวบ้านมีการพัฒนาเตรียมตัวรองรับนักท่องเที่ยวไม่ทัน ดังนั้นเราจะเห็นความขลุกขลักของการรับนักท่องเที่ยวมากพอสมควร เช่นในช่วงแรกเรือไม่พอ ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังมีอาชีพหาปลาอยู่ ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าโบกนั้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ ทำเงินได้ เพราะฉะนั้นเรือสำหรับรับนักท่องเที่ยวไม่เพียงพอ ประการที่สองเรื่องที่พักกับร้านอาหาร มันเติบโตไม่เพียงพอกับการถาโถมของนักท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวบางทีไม่สะดวก และประการสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือทางด้านสุขอนามัยเรื่องสุขา"สมชาติกล่าวด้วยความเป็นห่วง”

สมชาติยังกล่าวต่อไปว่า เมื่อตอนนี้เขากลับไปที่สามพันโบกอีกครั้งจะเห็นการแย่งนักท่องเที่ยวจากชาวบ้านด้วยกันเอง ตอนนี้จะเห็นว่าชาวบ้านพัฒนาองค์ความรู้ไม่ทัน ว่าสามพันโบกจริงๆ แล้วมันคืออะไร นักท่องเที่ยวที่มาเขาอยากจะมาเห็นอะไร จึงเกิดการแย่งนักท่องเที่ยวกัน ทราบมาว่าถึงขั้นทะเลาะเบาแว้งลงไม้ลงมือกันก็มี

“มีอยู่ครั้งหนึ่งไปประมาณบ่ายโม่ง เห็นชาวบ้านให้นักท่องเที่ยวลงโบกเลย ซึ่งถ้าเจอ อ.เรืองประทิน ท่านจะไม่ให้ลงโบกเด็ดขาด ในช่วงนั้นเพราะมันร้อน เนื่องจากมันเป็นชั้นหิน การลงโบกช่วงนั้นมันจะไม่ประทับใจ” สมชาติกล่าวสิ่งที่เห็น

เขาเล่าต่อไปว่า ปกติช่วงเวลาที่เหมาะแก่การชมโบก คือ บ่าย 3 ถึงบ่าย 4 โมง แต่เมื่อนักท่องเที่ยวมาถึงเที่ยงวันพาลงช่วงเที่ยง ทำให้เกิดเสียงสะท้อนกลับมาว่าสามพันโบกไม่สวยเลย ไม่น่าไม่เดินเลย ร้อนมากเลย

“มีนักท่องเที่ยวโทร.มาคุย หลังจากกลับจากสามพันโบก ว่าสามพันโบกเปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งคำนี้มันทำให้เราสะท้อนใจ ทั้งที่จริงๆ แล้วสามพันโบกเพิ่งเกิดด้วยซ้ำ เหมือนกันเด็กที่เพิ่งมีอายุหนึ่งขวบ แต่ว่านักท่องเที่ยวกลับมอบว่าสามพันโบกใกล้ตายแล้ว เสื่อมแล้ว มันไปเร็วมาก เช่น ไปปลูกเพิงอยู่ในโบก ขายเบียร์กระป๋องอยู่ในโบก นักท่องเที่ยวกินเสร็จก็โยนใส่โบก ตรงนี้ยังไม่มีระบบจัดการที่ชัดเจน ว่าหน่วยงานไหน จะเดินไปเก็บขยะตามโบกได้ทุกวัน” สมชาติกล่าว
โบกเล็กๆใต้ผิวน้ำ
ยังงดงาม

อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดปัญหาจากการที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า สามพันโบกยังคงงดงามน่าเยือน สมชาติจึงแนะนำนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาว่า ช่วงเดือนมกราคมเป็นช่วงที่เหมาะแก่การมาสามพันโบกมากที่สุด เพราะน้ำโขงลดต่ำ เดินสบาย เหนื่อยแต่เหงื่อไม่ออก ไม่ร้อน

“สามพันโบกเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของอุบลฯ ไม่ใช่วัตถุก่อสร้าง ที่ถ่ายรูปมุมเดียวแล้วหมด มีมุมมองแตกต่างเสมอ อยากให้ไปกันดูสักครั้งหนึ่ง แล้วจะเห็นว่าไม่น่าเชื่อว่าประเทศไทยจะมีสถานท่องเที่ยวที่สวยงามแบบนี้อยู่ เหนืออื่นใดอยากให้ช่วยกันรักษาสามพันโบกไว้นานๆ” สมชาติกล่าวทิ้งท้าย

เช่นเดียวกัน อ.เรืองประทิน ที่แม้จะกังวลกับปัญหาที่ก่อเกิดในสามพันโบก แต่ก็อดไม่ได้ ที่จะบอกเล่าเสน่ห์ที่เป็นจุดแข็งของสามพันโบก

“คนชอบถ่ายภาพต้องมา ตอนนี้ผมเตรียมโฮมสเตย์ไว้รองรับนักท่องเที่ยวเพิ่ม ที่บ้านของผมเองจำนวน10 ห้อง และมีของชาวบ้านอีก 2-3 หลัง ส่วนปัญหาต่างๆ ที่ผมพอทำได้ คือ เรื่องขยะที่จัดทำโครงการเก็บขยะคืนถิ่น ซึ่งยังต้องดูต่อไปว่าจะสำเร็จหรือไม่ เพราะถึงใครจะมองสามพันโบกเป็นอย่างไร แต่มันยังงดงามในสายตาผมเสมอ” อ.เรืองประทินกล่าว พร้อมกับการยิ้มน้อยๆ ไปทั่วโบกกว้าง พร้อมความหวังที่กล่าวทิ้งท้ายว่า...

“สักวันคนมาเที่ยวและชาวบ้านที่หากินกับสามพันโบกจะมีจิตสำนึกมากขึ้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น