xs
xsm
sm
md
lg

"เหี้ย"...(มัน)ผิดตรงไหน!?! /ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
 สัตว์ในตระกูลเหี้ยยังพบได้ทั่วไปในหลายจุดของเมืองไทย
"ดู ดู๊ ดู ดู เธอทำ ทำไมถึงทำกับเหี้ยได้"

จู่ๆเรื่องไม่เป็นเรื่องก็เป็นเรื่องขึ้นมา

กรณี ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ นายชัชวาล พิศดำขำ กระฉูดไอเดีย เสนอให้เปลี่ยนชื่อเรียกขาน"เหี้ย"เสียใหม่เป็น"วรนุช"(วรนุส) เพราะซุ่มเสียงมันไปละม้ายคล้ายกับชื่อทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า Varanus salvator

แต่ประทานโทษ!!! กระแสสังคมกลับไม่เป็นใจไม่ขานรับ เพราะมันส่งผลกระทบต่อคนชื่อ“วรนุช” ที่หมายถึงน้องผู้ประเสริฐ น้องผู้สวยงามเป็นเลิศ อย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังที่ นายวัฒนะ บุญจับ นักวิชาการสำนักภาษาและวรรณกรรม กรมศิลปากร ได้กล่าวไว้ใน "คม ชัด ลึก" (2 ก.ค. 52) ว่า

"การเปลี่ยนชื่อตัวเหี้ยเป็นวรนุช ไม่ใช่สาระของการแก้ปัญหา กลับยิ่งเพิ่มปัญหาในสังคม คนที่ชื่อวรนุชอาจต้องไปเปลี่ยนชื่อใหม่ ทั้งที่ชื่อวรนุชมีความหมายที่ดี ทั้งนี้แม้จะเปลี่ยนชื่อเหี้ยเป็นวรนุช ก็ไม่ได้ช่วยยกระดับเหี้ยให้เป็นสัตว์มงคลแต่อย่างใด"

เรื่องนี้นอกจากคนชื่อวรนุชจะซวยแล้วเหี้ยก็พลอยซวยไปด้วย เพราะมันทำมาหากินอยู่ดีๆ จู่ๆดันมีคนทำมันเป็นข่าวแข่งกับหมีแพนด้า ไม่เพียงเท่านั้นประเด็นการเปลี่ยนชื่อจากเหี้ยเป็นวรนุช หลายคนกังวลว่า สุดท้ายแล้วคนจะไม่เรียก"เหี้ย"ว่า"วรนุช"นะสิ แต่จะกลับกันไปเรียก"วรนุช"ว่า "เหี้ย"แทน

คิดดูสิ ถ้าเกิดมีคนเรียกดาราสาวคนสวยขวัญใจมหาชนว่า"น้องเหี้ยผู้น่ารัก" งานนี้รับรองว่าดูไม่จืดเลยจริงๆ

"ดู ดู๊ ดู ดู เธอทำ ทำไมถึงทำกับนุ่นได้"

นั่นจึงทำให้วันรุ่งขึ้น นายชัชวาลต้องรีบออกมาขอโทษขอโพยคนชื่อวรนุชพร้อมให้แก้ข่าวว่า การเปลี่ยนชื่อเหี้ย เป็น วรนุส เป็นการ"สื่อสารผิด"

เรื่องนี้ คงต้องถือเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้หลักผู้ใหญ่บ้านเรา ที่ก่อนจะคิด จะพูด จะกระฉูดไอเดียอะไร คงต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดี เพราะถ้าดูจากเจตนาของคนพูดนั้น ถือว่ามีเจตนาดีเชียวล่ะ คือต้องการให้คนเลิกดูถูกเหยียดหยามสัตว์ชนิดนี้ ซึ่งเป็นสัตว์เทศบาลช่วยกำจัดของเสียตามธรรมชาติสร้างความสมดุลให้ระบบนิเวศ อีกทั้งในอนาคตอาจมีการเพาะพันธุ์เพื่อการส่งออก และพัฒนาฟาร์มเหี้ยน่าสนใจให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวไปในตัว แต่อย่าลืมว่า ก่อนพูด"เราเป็นนายคำพูด" หลังพูด"คำพูดเป็นนายเรา"

อย่างไรก็ตามถ้าพูดถึงสัตว์ตระกูลเหี้ยถือว่ามันเป็นสัตว์ที่น่าสนใจไม่น้อยเลย

ที่อินโดนีเซีย สัตว์ลักษณะเดียวกับเหี้ยอย่าง"มังกรโคโมโด" ถือเป็นสัตว์สำคัญประจำชาติ มีหมู่เกาะชื่อเกาะโคโมโด เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ มีอุทยานแห่งชาติโคโมโด ที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก ขณะที่ตามสนามบินต่างๆ ณ จุดสายพานรับกระเป๋าทางการอินโดได้มีการจัดสร้างหุ่นจำลองมังกรโคโมโดตั้งประดับไว้ให้นักท่องเที่ยวรับรู้ถือความสำคัญของมัน

ส่วนที่บ้านเราสัตว์ตระกูลเหี้ยที่พบเห็นกันนั้นมันไม่ใช่เหี้ยอย่างเดียว แต่มันเป็นสัตว์ตระกูลเดียวกัน เป็นเครือ"วงศาคณาเหี้ย"ที่มีอยู่ 6 ชนิดด้วยกัน คือ

1. เหี้ย เหี้ยดอก มังกรดอก ตัวเงินตัวทอง มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศาคณาเหี้ยเมืองไทย ตัวมีสีดำมีลายดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน พาดขวางลำตัว หางมีสีดำหรือลายปล้องดำสลับเหลืองอ่อน บางตัวมีจุดแดงเล็กๆที่หาง ชอบอาศัยตามที่ลุ่มใกล้แหล่งน้ำ พบทั่วทุกภาคในเมืองไทย

2.ตะกวด แลน พบทุกภาคทั่วไทย มีสีรวมๆทั้งตัวเป็นสีเหลืองอ่อน เหลืองหม่น สีน้ำตาลเป็นจุดเล็กๆ ส่วนหัวมักมีสีอ่อนกว่าตัว มีหางเรียวยาวเป็นพิเศษ ขึ้นต้นไม้เก่ง ชอบอยู่ตามป่าโปร่งมากกว่าป่าทึบ

3.เห่าช้าง มีขนาดใหญ่เป็นที่สองรองจากเหี้ย ตัวและหางมีวีดำ มีลานสีจางๆ เป็นปื้น เป็นดอก เป็นปล้อง ตามลำตัว หัวมีสีเทาคล้ำ พบทางภาคใต้และภาคตะวันตก เมื่อจวนตัวจะพองคอขู่ฟ่อๆจึงถูกเรียกว่า "เห่าช้าง"

4.ตุ๊ดตู่ มีขนาดเล็กที่สุดในวงศาคณาเหี้ยไทย ลำตัวมีสีน้ำตาลเทามีลายเป็นปล้องเป็นวงแหวนสีอ่อน หัวมีสีเทาอ่อนหรือน้ำตาลอ่อน ข้างใต้คอมีสีอ่อนจนเกือบขาว ตุ๊ดตู่ พบไม่มากทางจังหวัดภาคใต้

5.แลนดอน มีสีคล้ายตะกวด แต่หัวมีสีเหลืองสดหรือสีส้มเรื่อๆ ชอบอยู่บนที่ดอนจึงถูกเรียกว่าแลนดอน พบตามจังหวัดชายแดนที่ติดกับพม่า

6.เหี้ยดำหรือมังกรดำ เป็นสัตว์ตระกูลเหี้ยชนิดใหม่ที่เพิ่งพบได้ไม่นาน มีรูปลักษณะคล้ายเหี้ย แต่ตัวเล็กกว่ามาก ลำตัวมีสีดำ(ด้าน)ทั้งตัว ท้องมีสีเทาเข้ม ลิ้นสีเทาม่วง พบทางภาคใต้ ชายทะเล และเกาะเล็กๆ

จากบรรดาวงศาคณาเหี้ยทั้งหก เหี้ยนับว่าถูกพบเห็นมากสุด มีคนรู้จักมากที่สุด ด้วยเหตุนี้บ้านเราจึงมีเรื่องราวเกี่ยวกับเหี้ยอยู่มากหลาย ไม่ว่าจะเป็น

ขนมไข่เหี้ย นี่ก็อร่อย แต่ว่าปัจจุบันหากินยาก และถูกเรียกขานเสียใหม่เป็นขนม"ไข่หงส์" ส่วนไข่เหี้ยจริงๆ คนที่เคยกินบอกว่าอร่อยนัก ในขณะที่เนื้อเหี้ย(แท้ๆ)นั้น คนเคยกินบอกว่าอร่อยไม่เบาแถมมีราคาสูงเอาเรื่อง มีรสชาติคล้ายไก่บ้านแต่แน่นกว่า โดยเฉพาะตรงส่วนโคนหางหรือที่เรียกว่า"บ้องตัน"นี่ สุดยอดทีเดียว

ชุมชนบางเหี้ย ที่มีทั้งวัดบางเหี้ย คลองบางเหี้ย สนับสนุนที่มาที่ไปของชื่อชุมชนนี้ บางเหี้ย เป็นชุมชนเก่าแก่อายุกว่า 250 ปี ตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ที่มีเหี้ยอาศัยอยู่มาก เพราะป่าชายเลนขนาดใหญ่มีอาหารของเหี้ยพวกกุ้ง หอย ปู ปลา อุดมสมบูรณ์ บางเหี้ยปัจจุบันคือ ชุมชนคลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ แหล่งหอยแมลงภู่พื้นที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย

ฤาษีกินเหี้ย(โคธชาดก) ที่เป็นความเชื่อในศาสนาพุทธ กล่าวถึงชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้าที่เคยเสวยชาติเป็นเหี้ย และถูก"ฤาษี"ผู้แสดงตนว่าทรงศีล พยายามจะหลอกกินเนื้อเหี้ยที่มาฟังธรรมจากฤาษี แต่พระพุทธเจ้ารู้ทันจึงหลบหนีได้ นับเป็นชาดกสอนใจให้รู้ว่า คนประเภทมือถือสากปากคัมภีร์ ฤาษีทุศีลวิญญูชนจอมปลอม คนดีฉากหน้าชั่วช้าลับหลังนั้นมีอยู่เยอะในสังคม

นั่นเป็นตัวอย่างของเรื่องเกี่ยวกับเหี้ยที่อาจจะพอคุ้นๆสำหรับบางคน แต่ถ้าเป็นเรื่องที่คุ้นสุดๆอยู่กับสังคมไทยมาช้านานเห็นจะไม่มีเรื่องใดเกินคำด่าทอว่า"(ไอ้)เหี้ย" เพราะคนไทยถือเหี้ยเป็นตัวซวย เป็นสัตว์อัปมงคล อันเนื่องมาจากรูปร่างหน้าตา พฤติกรรมการกินซากเน่า และนิสัยชอบลักขโมยกินไก่ กินไข่ ของชาวบ้าน

เหี้ยจึงถูกเกลียดชังทั้งๆที่ไม่ใช่ความผิดของมัน หากแต่มันคือธรรมชาติของสัตว์ประเภทนี้(คล้ายดังแร้งกินซากศพ หนูขโมยกินกัดแทะข้าวของในบ้าน) คนโบราณจึงหยิบยก"เหี้ย"มาเป็นคำด่าทอคนไม่ดี คนที่เกลียดชัง คนที่ไม่ชอบหน้า และด่าสืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน ทำให้คำว่าเหี้ยกลายเป็นคำด่าคำหยาบคายไป(อีกคำด่าทอที่มาจากเหี้ยนั่นก็คือ "อีดอก" เนื่องเพราะลายบนตัวของเหี้ยนั้นเป็นลายดอก)

แต่ก็เป็นคนโบราณอีกเช่นกันที่เห็นว่าน่าจะแก้เคล็ดความอัปมงคลของเหี้ย(ตามความเชื่อ) ในกรณีที่มันเข้าบ้านหรือยามพบเจอมัน ด้วยการเรียกขานชื่อเสียงเรียงนามของเหี้ยเสียใหม่ให้ดูสุภาพขึ้นว่า "ตัวเงินตัวทอง" ซึ่งชื่อนี้อยู่กับสังคมไทยมาช้านานเป็นที่รับรู้ไปทั่ว ดังนั้นกระแสสังคมจึงเห็นว่าไม่ควรที่จะต้องหาชื่อเรียกขานนามของเหี้ยเสียใหม่แต่อย่างใด

แต่ถ้าใครจะคิดเปลี่ยนจริงๆ ผมว่าเราน่าจะเปลี่ยนมาเรียกพวกเลวๆโกงบ้านกินเมือง ทรยศชาติ ทรยศแผ่นดินว่า "(ไอ้)เหี้ย"น่าจะเหมาะสมกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น