xs
xsm
sm
md
lg

ทิ้งใจไว้ที่ "ปราก"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : ภูวดล ศรีธเรศ
บ้านเมืองอันสวยงาม มนต์เสน่ห์แห่งกรุงปราก
หลายคนที่เป็นนักเดินทางปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเมืองในฝันที่แอบมีใจให้ หรืออาจเข้าขั้นหลงรักไปเลยก็ได้ ซึ่งก็มีเหตุผลนานัปการมารองรับความรู้สึก "รัก" เหล่านั้น อาจจะเริ่มตั้งแต่ประทับใจกับวิถีลีลาของผู้คนที่แปลกหูแปลกตาแต่ทว่าคุ้นเคยทางใจ หรือไมตรีจิตมิตรใจที่ผู้คนในสถานที่เหล่านั้นมอบมาเป็นบรรณาการ หรือหลายคนอาจจะหลงใหลในอาคารสถานที่ซึ่งสะท้อนเรื่องราวและความเป็นมา กระทั่งหลงใหลในสารพัดเมนูอร่อยที่มาสร้างความเอมอิ่มให้ลิ้น ฯลฯ

สำหรับผมแล้วประทับใจใน "ปราก" (Prague) เมืองหลวงแห่งสาธารณรัฐเช็ก มานมนานหลายขวบปีแล้วล่ะ อยากรู้มั้ยครับว่าทำไม ? ขยับเข้ามาใกล้ๆ สิจะเล่าให้ฟัง...
สะพานชาร์ลส์
ในห้วงคำนึงของผมปรากเปรียบเหมือนหญิงงามที่มีช่วงชีวิตในคริสต์ศตวรรษที่ 9 และเธอยังคงความงามมาตราบเท่าทุกวันนี้ ที่สำคัญสาวคนนี้ในอดีตเป็นอย่างไรปัจจุบันเธอก็ยังคงเป็นเฉกเช่นนั้น เธอไม่ได้เชยนะครับอย่าเพิ่งเข้าใจผิดและคิดไปถึงประเด็นนั้น ! แต่ผมหมายถึงว่าเธองามข้ามข้อจำกัดของกาลเวลาต่างหากล่ะ

ถ้ายังไม่เห็นภาพมาทางนี้ครับ ผมจะจาระไนความงามของเธอให้ฟังเป็นส่วน ๆ เริ่มต้นกันที่สะพานชาร์ลส์ (Charles Bridge) ที่ร้อยรัดสองฟากฝั่งวัลตาวา (Valtava) เข้าไว้ด้วยกันก่อนดีกว่า สะพานแห่งนี้ถือเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวมักไม่พลาดมาเยี่ยมชม หลายคนเชื่อกันว่าสะพานแห่งคือหัวใจของแม่น้ำวัลตาวา ซึ่งอารยธรรมศิลป์ที่ปรากฏบนสะพานแห่งนี้สะท้อนความรุ่งเรืองของปรากในสมัยพระเจ้ายชาร์ลที่ 4 พระผู้ทรงมีบัญชาให้เสกสร้างโบราณสถานสำคัญแห่งนี้ได้ดียิ่งนัก
รูปปั้นนักบุญจอห์น เนโปมุก แห่งสะพานชาร์ลส์
ในช่วงนั้นปรากถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของยุโรป เพราะศิลปวิทยานานาประการรวมตัวอยู่ที่นครแห่งนี้แทบทั้งนั้น แม้แต่ลอนดอน ปารีส มิลาน หรือโรม ก็ยังต้องค้อมคารวะให้ความเรืองโรจน์ของปราก ซึ่งความเจริญรุ่งเรืองแห่งอารยธรรมมักพ่วงท้ายมากับความวิจิตรตระการตาของงานศิลป์

ดังนั้นหากเปรียบความงามของยุโรปเป็นพระมหามงกุฎ ความงามของปรากก็เป็นประหนึ่ง "เพชร" ที่เจิดจรัสอยู่บนยอดพระมหามงกุฎองค์นั้น จุดที่น่าสนใจที่สุดของสะพานแห่งนี้ก็คือรูปปั้นของนักบุญ "จอห์น เนโปมุก" นักบุญที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้หาญกล้าท้าทายพระราชอำนาจที่ไม่เป็นธรรมของจักรพรรดิเวนเซสลัสที่ 4 รูปหล่อสำริดของท่านโดดเด่นเป็นศรีอยู่ ณ จุดกึ่งกลางสะพาน ว่ากันว่าหากใครได้มาสัมผัสรูปภาพนูนต่ำที่ส่วนฐานของรูปเคารพนักบุญท่านนี้ เขาผู้นั้นก็จะได้หวนกลับมาที่ปรากอีกครั้งไม่ว่าจะอยากกลับมาหรือไม่ก็ตาม !
มหาวิหารเซนต์วิตัส
นอกจากเสน่ห์ในครั้งอดีตแล้ว สีสันของสะพานชาร์ลในปัจจุบันก็น่าเสพชมใช่เล่น เพราะบนสะพานแห่งนี้คลาคร่ำไปด้วยศิลปินเปิดหมวกทั้งที่มาในรูปของ นักร้อง นักแสดงหุ่นเชิด ศิลปินตลก หรือแม้แต่จิตรกรที่มารับจ้างวาดภาพ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสีสันที่ส่องสะท้อนว่าสะพานแห่งนี้ยังมีลมหายใจ หาใช่โบราณสถานที่ตัวตนและจิตวิญญาณจ่อมจมไปแล้วกับกาลเวลา เหลือให้เสพชมเพียงเศษซากที่ไร้ชีวิต แม้ว่าจะมีอายุอานามกว่า 700 ขวบปีแล้วก็ตาม !

หลายครั้งที่ผมมาปรากก็มักจะนึกถึงคำพูดของปราชญ์ทางเทวปรัชญาท่านหนึ่ง "สตีเฟน ฟี. ฮุยเลอร์" ซึ่งผมสรุปความจากคำพูดของท่านมาว่า "มีคนเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่สามารถเข้าใจนามธรรมหรือสภาวะอันไร้รูปของอุดมการณ์สูงสุดในแต่ละศาสนาได้ เขาส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงพระเป็นเจ้าได้ด้วยความงามทางศิลปะของศาสนสถาน รูปลักษณ์ รวมถึงพิธีกรรมที่ได้กระทำเพื่อเป็นบัตรพลีแด่พระเป็นเจ้าในศาสนานั้นๆ ซึ่งก็ใช่ว่าพระเป็นเจ้าจะทรงมีพระประสงค์ที่จะให้เป็นเช่นนั้น แต่เพราะว่าด้วยข้อจำกัดทางปัญญาของศาสนิกชนต่างหาก ดังนั้นในแต่ละศาสนาจึงตอบสนองความต้องการของมนุษย์ส่วนใหญ่นั้นด้วยภาพสำแดงอันหลากหลาย ผ่านงานประณีตศิลป์แขนงต่างๆ แต่นั่นก็ยังถือว่าเป็นรองเนื้อหาทางด้านจิตวิญญาณ กล่าวให้ง่ายงานประณีตศิลป์ที่รับใช้ศาสนาจึงเป็นสื่อที่จำเป็นยิ่งที่จะทำให้มวลมนุษย์ผู้ศรัทธาได้มีประสบการณ์หลอมรวมเป็นหนึ่งกับพระเจ้าในขณะที่ยังมีลมหายใจ"
บรรยากาศแบบกอธิคภายในมหาวิหารเซนต์วิตัส
ด้วยเหตุผลตามที่ปราชญ์ชาวตะวันตกท่านนี้ได้กล่าวแล้ว งานทัศนศิลป์และประณีตศิลป์ทั้งหลายที่สร้างขึ้นมาเพื่อรับใช้ศาสนาในปรากส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีการจารจารึกศิลปินและนายช่างผู้เสกสร้าง ด้วยหมายว่าไม่ต้องการที่จะให้เป็นผลงานส่วนตัว แต่ทว่าต้องการให้ปรากฏเป็นสมบัติของสังคมส่วนรวมมากกว่า และเหนืออื่นใดก็เพื่อความมุ่งมาดให้เป็นการถวายสักการะต่อพระเป็นเจ้าในท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นวิหารติน หอนาฬิกาดาราศาสตร์ หรือแม้แต่พระราชวังกอล์ซ - คินสกี ที่กลายมาเป็นหอศิลป์ประจำเมืองในปัจจุบัน มหาวิหารเซนต์วิตัส วิหารเซนต์จอร์จ ฯลฯ

หากมาถึงปรากแล้วแต่ไม่ได้ไปชื่นชมความหรูอลังการของมหาวิหารเซนต์วิตัส (St. Vitus Cathedral) ก็เท่ากับว่าคุณยังเข้าไม่ถึงสิ่งที่เป็นจิตวิญญาณที่แท้จริงของปราก มหาวิหารแห่งนี้อวดความงามด้วยสถาปัตยกรรมศิลป์แบบ "กอธิค" ที่มีอัตลักษณ์อันโดดเด่นคือ "สูงชะลูดเสียดยอดขึ้นทิ่มแทงท้องฟ้า" มหาวิหารแห่งนี้มีหอคอยที่สูงถึง 97 เมตร เริ่มเสกสถาปนามาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 จากนั้นก็ต่อเติมเสริมแต่งมาจนเวลาล่วงผ่านกว่า 6 ศตวรรษ จึงแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์เมื่อ ค.ศ. 1929 ที่ผ่านมานี้เอง เมื่อใช้เวลาสร้างสรรค์ยาวนานขนาดนั้นเรื่องของความหรูอลังการจึงไม่ต้องพูดถึงให้เสียเวลา ทุกๆ ตารางนิ้วของมหาวิหารแห่งนี้น่าเสพชมไปทุกส่วน !
ตึกสวยในปราก
ความสลักสำคัญของมหาวิหารเซนต์วิตัส ก็คือสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นที่ฝังพระศพของพระจักรพรรดิเวนเซสลัส พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของชาวเช็ก รวมถึงเป็นที่ฝังพระศพของพระมหากษัตริย์ นักบุญ รวมถึงนักบวชรูปสำคัญๆ ของปราก จุดที่ผมถือว่าที่สวยจนแทบ "ลืมหายใจ" ของมหาวิหารแห่งนี้ก็คือภาพประดับกระจกสีอันตระการตา ซึ่งเล่าเรื่องราวของพระคริสต์ที่ปรากฏในพระคัมภีร์ นอกจากนั้นในส่วนประกอบที่เป็นบริวารก็จะเล่าเรื่องประวัติชีวิตของนักบุญองค์สำคัญๆ

พระราชวังแห่งปราก ก็ถือเป็นอีกจุดที่ไม่ควรพลาดการไปเยี่ยมเยือน เมื่อแรกสถาปนานั้นสร้างขึ้นมาด้วยสไตล์ศิลป์แบบ "โรมาเนสก์" จากนั้นราวศตวรรษที่ 14 สมัยพระเจ้าชาร์ลที่ 4 จึงปรับปรุงเป็นศิลปะสกุล "กอธิค" ทั้งหมด จุดที่น่าสนใจก็อย่างเช่นท้องพระโรงวลาดิสลาฟ (Vladislav Hall) ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการว่าราชการ การต้อนรับแขกเมือง รวมถึงเป็นท้องพระโรงสำหรับการประกอบพระราชพิธีใหญ่ๆ สำคัญๆ ที่แห่งนี้จึงงามสง่าด้วยซุ้มเพดานโค้งแบบกอธิค ยังมีเรื่องเล่าว่าบ่อยครั้งที่สถานที่แห่งนี้มีการประลองทวนบนหลังม้าต่อหน้าพระพักตร์อีกด้วย
ปรากมุมสูง
หากสิ่งที่ผมเล่าให้ฟังเมื่อครู่ดูลึกลับซับซ้อนเกินไปสำหรับห้วงความรู้สึกของหนุ่มสาวผู้โฉบเฉี่ยวเฉกเช่นปัจจุบัน หากแต่มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนปราก ก็ขอให้รับรู้แต่ว่ามหาสถาปัตยกรรมต่างๆ เหล่านั้นถูกเสกสถาปนามาประดับผืนธรณินก็ด้วยหวังเพื่อเป็นเครื่องพิสูจน์พลังศรัทธาที่มีต่อพระเป็นเจ้า อีกประการหนึ่งเพื่อให้เป็นพระราชสุสานของพระผู้ให้เสกสร้าง รวมถึงเพื่อเป็นศูนย์กลางที่ต้องการสะท้อนพระราชอำนาจของกษัตริย์แต่โบราณด้วย จึงไม่ต้องแปลกใจในความวิเศษทางเชิงช่างและความวิจิตรอลังการของการตกแต่ง และก็พึงระลึกไว้เลยว่าสถานที่เหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่ได้สร้างขึ้นมาสำหรับเป็นสถานที่ให้มนุษย์ในสมัยอย่างเราๆ ไปเดินเที่ยวชม แต่ทว่าการที่เรามีโอกาสอย่างว่าก็ด้วยเพราะกาลเวลากลืนกินความเชื่อถือศรัทธาบางอย่างให้หล่นหายไปบ้างแล้ว
ราตรีที่เมืองปราก
ที่ผมเล่าในส่วนนี้ก็เพราะหลายครั้งที่มีโอกาสไปเยือนปราก ทุกครั้งมักจะมีคำถามให้ได้ยินว่า "คนโบราณขึ้นไปข้างบนอย่างไร" บ้างล่ะ "บันไดสูงชันมาก" บ้างล่ะ และอื่นๆ อีกมากมาย การพรรณาถึงความวิเศษเลอเลิศของปรากก็เพียงเพื่อจะบอกถึงถึงเหตุผลว่าทำไมผมถึงได้หลงใหลในมนต์เสน่ห์ และกลิ่นอายของดินแดนในฝันแห่งนั้นนักหนา ผมหลงใหลถึงขนาดที่ว่าทิ้งใจไว้ที่นั่นนับแต่ครั้งแรกที่ได้สัมผัสเมื่อกว่าสิบปีที่ผ่านมาแล้วล่ะ แล้วคุณล่ะพร้อมที่จะไปสัมผัสสาวงามที่ชื่อ "ปราก"หรือยัง
กำลังโหลดความคิดเห็น