xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอยธรรม "หลวงปูมั่น" อิ่มบุญ อิ่มใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์แห่งอีสาน
หลายคนมักจะหันหน้าเข้าหาวัด ก็ต่อเมื่อยามที่มีเรื่องทุกข์ร้อนใจ ไปไหว้พระ สงบสติหาความสงบ เพิ่มความสบายใจ แต่เมื่อยามที่มีความสุขกายสบายใจ กลับไม่ชอบเข้าวัดไหว้พระทำบุญสักเท่าไหร่ อันที่จริงแล้วการเข้าวัด ทำบุญ ถือศีลภาวนานั้นเป็นเรื่องที่ดี ที่เราชาวพุทธซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนควรยึดถือปฏิบัติ และช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

ดังนั้นทริปนี้ "ตะลอนเที่ยว" จึงขอหันหลังให้ทางโลกชั่วคราว แล้วหันหน้าเข้าหาทางธรรมไป"ตามรอยพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์แห่งอีสาน" กับทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)

สำหรับหลวงปู่มั่นเป็นพระเกจิสายวิปัสสนากรรมฐานวัดป่า ซึ่งที่ผู้คนให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก ข้อมูลจากอัตชีวประวัติ ระบุว่า ท่านเกิดในสกุลแก่นแก้ว เมื่อวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ 20 ม.ค. 2413 ที่บ้านคำบง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี มีบิดาคือนายคำด้วง มารดาคือนางจันทร์

หลวงปู่มั่นมีบุคลิกลักษณะ ร่างเล็ก ผิวขาวแดง คล่องแคล่ว ว่องไว สติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความประพฤติ อัธยาศัยเรียบร้อย ว่าง่ายสอนง่าย ชอบศึกษาธรรมะ
พระพุทธรูปแกะจากไม้ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม
อายุ 15 ปี บรรพชาเป็นสามเณรได้ 2 ปี ลาสิกขามาช่วยงานทางบ้าน พออายุ 22 ปีได้มาศึกษาธรรมที่วัดเลียบ จ.อุบลราชธานี กับพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล จากนั้นอายุ 24 ปี ได้บรรพชาอุปสมบทที่วัดศรีทอง จ.อุบลฯ แล้วท่านได้แสวงหาวิเวกบำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่าง ๆ ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เดินธุดงค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือระยะแรก 24 พรรษา บั้นปลายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 พรรษา ที่วัดป่าบ้านหนองผือ 5 พรรษา มรณะภาพ ปี 2492 ที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร รวมอายุ 80 ปี

เมื่อได้รู้ประวัติของหลวงปู่มั่นกันพอสมควรแล้ว เราเริ่มออกทัวร์ตามรอยหลวงปู่มั่นกันเลยดีกว่าเริ่มด้วยสถานที่แรก วัดศรีทอง หรือ วัดศรีอุบลรัตนาราม(อ.เมือง จ. อุบลราชธานี) เป็นวัดที่หลวงปู่มั่นได้บรรพชาเป็นพระภิกษุ และได้รับการขนานนามมคธว่า "ภูริทัตโต" ที่แปลว่า "ผู้ให้ปัญญา ผู้แจกจ่ายความฉลาด"

วัดศรีทองมีพระอุโบสถที่สร้างตามแบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร กทม. เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วบุษราคัม พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองจ.อุบลราชธานี ที่มีความงามสง่าตามพุทธลักษณะอีกทั้งยังมีพิพิธภัณฑ์ศรีอุบลรัตนาราม ที่ภายในเก็บรวบรวมโบราณวัตถุน่าสนใจไว้มากมาก อาทิ พระพุทธรูปแกะจากไม้ ตู้เก็บพระไตรปิฎกที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 ตู้เก็บคัมภีร์ใบลาน บาตรและเชิงบาตรสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ฯลฯ
รูปหล่อ 5 บูรพาจารย์ประดิษฐานอยู่ภายในสิมที่วัดบูรพาราม
จากวัดศรีทองเราเดินทางมายัง วัดบูรพาราม (ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลฯ) วัดนี้เป็นวัดที่หลวงปู่มั่นท่านมาศึกษาวิปัสสนากับพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจให้เที่ยวชมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สิม(โบสถ์) แบบทึบ หันหน้าสู่แม่น้ำมูล ก่อสร้างด้วยกรรมวิธีดั้งเดิม ตัวฐานอาคารก่อด้วยอิฐถือปูน ผนังภายในเป็นไม้ระแนงฉาบดินเหนียวผสมน้ำ ฟาง และฉาบทับด้วยปูนขาว

ภายในมีรูปหล่อของ 5 บูรพาจารย์คือ พระอาจารย์สีทา ชัยเสโน พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระญานวิศิษย์สิงห์ ขันตญาคโม และพระสิทธิธรรมรังสีคัมภีร์เมธาจารย์ (สี ธัมมธโร) ให้ได้กราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล
ศาลาอนุสรณ์สถานบ้านเกิด หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
หลังเที่ยวชมวัดบูรพารามจนอิ่มใจแล้ว "ตะลอนเที่ยว"ออกเดินทางต่อไปยังบ้านเกิดของหลวงปู่มั่น ณ บ้านคำบง อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลฯ เพื่อสักการะ อนุสรณ์สถานบ้านเกิดหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่ภายในมีรูปหล่อหลวงปู่มั่นให้ได้กราบสักการระกัน

ตรงกันข้ามกับอนุสรณ์ฯหลวงปูมั่นเป็นที่ตั้งของ "วัดศรีบุญเรือง"หรือ"วัดบ้านคำบง" วัดที่หลวงปู่มั่นได้มาบรรพชาเป็นสามเณร วัดนี้มีอาคารอนุสรณ์สถานหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่มีการบรรจุพระอัฐิธาตุ และมีหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่มั่น ให้พุทธศาสนิกชนได้กราบเคารพบูชา
ถ้ำที่วัดภูหล่น ที่วิปัสสนากัมมัฎฐานของหลวงปู่มั่น
จากบ้านคำบง เราไปต่อยัง ภูหล่น หรือ วัดภูหล่น (ต.สงยาง อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลฯ) สถานที่ที่หลวงปู่มั่นเริ่มฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงปู่เสาร์เป็นที่แรก

ภูหล่น เป็นภูเขาขนาดย่อม มีต้นไม้ปกคลุมสลับกับโขดหินน้อยใหญ่ มีบรรยากาศเงียบสงบ ร่มรื่น ด้านบนมีลานหินกว้างมีถ้ำอยู่ 2 ถ้ำ ซึ่งพวกชาวบ้านช่วยขนหิน ดิน ขึ้นมาสร้างเป็นถ้ำเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและกันสัตว์ร้ายรบกวน มีถ้ำของหลวงปู่เสาร์ที่มีรอยเท้าเสือปรากฏอยู่ และถ้ำของหลวงปู่มั่นที่ท่านใช้ฝึกปฏิบัติวิปัสสนาธรรม และมีรูปหล่อองค์หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น และพระพุทธรูปให้ได้กราบไหว้เสริมมงคล
กุฏิหลวงปูที่วัดป่านาคนิมิตต์
หลังจากเดินชมถ้ำบนภูหล่นได้สักครู่ เราลงจากภูเดินทางข้ามจังหวัดสู่ วัดป่านาคนิมิตต์ หรือ ที่ชาวบ้านเรียกว่าวัดป่าบ้านนามน (บ้านนามน ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร) วัดนี้หลวงปู่มั่นเคยมาจำพรรษาปฏิบัติธรรม มีกุฏิที่ชาวบ้านจะสร้างกุฏิถวายแด่หลวงปู่มั่น แต่ไม่รู้จะสร้างที่ใดในตอนกลางคืนพญานาคมาทำรอยเอาไว้ให้เหมือนขุดหลุมเสา หลวงปู่มั่นก็ชี้บอกให้ชุดหลุมเสาตามรอยที่พญานาคทำไว้โดยไม่ต้องวัดหลุมเสาเลย แล้วหลวงปู่มั่นก็บอกกับโยมว่าวัดนี้ให้ชื่อว่าวัดป่านาคนิมิตต์

ภายในวัดมีศาสนสถานสำคัญคือ กุฏิหลวงปู่มั่นที่สร้างด้วยไม้ดูเงียบสงบ ภายในประดิษฐานรูปหล่อเหมือนเท่าองค์จริง อัฐบริขาร และภาพอริยาบทต่างๆขององค์ท่าน
รูปหล่อหลวงปู่มั่นและบริขารที่วัดป่าวิสุทธิธรรม
วัดป่าวิสุทธิธรรม หรือ วัดป่าบ้านโคก (บ้านโคก ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร) คือวัดต่อไปในการเดินทางครั้งนี้ สำหรับวัดแห่งนี้ท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ สร้างขึ้นให้หลวงปู่มั่นอยู่พำนักจำพรรษา ภายในวัดมีกุฏิหลวงปู่มั่น มีศาลาโรงธรรมที่ท่านใช้เป็นที่อบรมสานุศิษย์ ภายในศาลามีหุ่นขี้ผึ้งเหมือนองค์จริง มีอัฐบริขารที่ท่านเคยใช้แสดงอยู่ และยังมีเจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่อุ่น กัลยาณธัมโม ภายในประดิษฐานรูปหล่อเท่าองค์จริง อัฐิธาตุและอัฐบริขาร ให้ได้สักการะกันก่อนที่จะออกเดินทางไปยังวัดต่อไปที่รออยู่
พิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่น  ภูริทัตโต ที่วัดป่าสุทธาวาส
จากนั้น“ตะลอนเที่ยว”เดินทางต่อไปยัง วัดป่าสุทธาวาส (ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร) วัดนี้มีความสำคัญกับหลวงปู่มั่นเป็นอย่างมาก เพราะเป็นวัดที่หลวงปู่มั่นเลือกที่ละสังขารที่นี่เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2492 เพราะหากตัวท่านต้องมรณภาพที่วัดป่าภูริทัตตถิราวาส บ้านหนองผือนาใน จะต้องมีงานศพของท่านที่นั้น และชาวบ้านต้องฆ่าสัตว์เป็นจำนวนมากเพื่อมาเลี้ยงพระและญาติโยมที่มางาน ด้วยความเมตตาสงสารสรรพสัตว์ ท่านจึงให้นำร่างที่ใกล้มรณภาพ มาไว้ที่วัดป่าสุทธาวาสและจัดงานพระราชทานเพลิงศพท่าน ณ ที่นี้ ต่อมาได้สร้างพระอุโบสถครอบตรงที่ถวายเพลิงท่านไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ทุกวันจะมีนักท่องเที่ยวมา มาสักการะเป็นประจำ

ภายในวัดนี้มีสถานที่ที่สำคัญคือ พิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ภายในเป็นประดิษฐานรูปหล่อเหมือนองค์จริงหลวงปู่มั่น และมีประวัติของท่านตั้งแต่เกิดจนมรณภาพ มีอัฐิธาตุ อัฐบริขารและสิ่งของต่างๆที่ท่านเคยใช้ประจำสมัยที่ยังมีชีวิต และมีพิพิธภัณฑ์หลวงปู่หลุย จันทสาโร เป็นเจดีย์พิพิธภัณฑ์ที่พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้สร้างขึ้น เพื่อบรรจุอัฐิธาตุอัฐบริขารหลวงปู่หลุย จันทสาโร ลูกศิษย์องค์สำคัญของหลวงปู่มั่นภายหลังจากที่ท่านได้มรณภาพแล้วให้ประชาชนได้มากราบเคารพบูชา
กุฏิที่หลวงปู่มั่นเคยจำพรรษาที่วัดป่าภูริทัตตถิราวาส
ที่วัดป่าสุทธาวาสมีสิ่งให้ชมมากมาย จึงใช้เวลานานสักหน่อย ก่อนที่จะเดินทางไปต่อยัง วัดป่าภูริทัตตถิราวาส หรือ วัดป่าบ้านหนองผือ (ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร) เป็นวัดที่หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร สร้างให้หลวงปู่มั่นจำพรรษา ตอนแรกให้ชื่อว่าวัดสันติวนาราม ต่อมาหลังจากหลวงปู่มั่น มรณภาพแล้ว พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโร) ได้เห็นถึงความสำคัญในสถานที่ที่หลวงปู่มั่นเคยพำนักจำพรรษาอยู่ถึง 5 ปีติดต่อกัน จึงดำริให้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่เพื่อเชิดชูบูชาคุณให้สอดคล้องกับนามฉายาของท่านพระอาจารย์มั่น อันเป็นมงคลนามว่า วัดป่าภูริทัตตถิราวาส
วัดป่ากลางโนนภู่มีนิทรรศการชีวประวัติหลวงปู่มั่นให้ได้ชม
จากวัดป่าภูริทัตฯ จุดหมายต่อไปอยู่ที่ วัดป่ากลางโนนภู่ (บ้านกุดก้อม อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร) วัดอันเป็นที่ตั้งของศาลาไม้ที่ใช้เป็นที่พักขณะที่หลวงปู่มั่นอาพาธก่อนจะมรณภาพ ภายในศาลามีรูปหล่อหลวงปู่มั่น มีพระบรมสารีริกธาตุ อัฐิธาตุหลวงปู่มั่น แคร่ที่ใช้หามหลวงปู่มั่นมาจากวัดป่าบ้านหนองผือ กลด มุ้งกลด ที่นอน รวมทั้งสิ่งของที่ท่านเคยใช้เมื่อครั้งท่านอาพาธ และจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับชีวประวัติหลวงปู่มั่น ภาพถ่ายต่างๆ ให้ได้ชมและศึกษาหาความรู้กัน
อัฐบริขารต่างๆ ของหลวงปู่มั่นมีให้ชมที่วัดป่าโนนนิเวศน์
แล้วเราก็มาปิดทริปทัวร์ตามรอยธรรมหลวงปู่มั่นกันที่ วัดป่าโนนนิเวศน์ (อ.เมือง จ.อุดรธานี) วัดนี้หลวงปู่มั่นมาจำพรรษาหลังจากกลับจากเชียงใหม่ โดยมาจำพรรษาอยู่ถึง 2 พรรษา ภายในวัดมีกุฏิจำลองของหลวงปู่มั่นให้ได้ชมกัน และยังมีวิหารหลวงปู่มั่น-หลวงปู่ภูมี ซึ่งในวิหารได้บรรจุรูปเหมือนหลวงปู่มั่น และหลวงปู่ภูมี ได้พุทธศาสนิกชนได้มากราบไหว้ขอพร แล้วยังมีอัฐบริขารบางส่วน ชีวประวัติของหลวงปู่ทั้งสองให้ได้ศึกษา และคำสอนต่างๆ ของหลวงปู่มั่นให้ได้จดจำนำไปปฏิบัติใช้ในประจำวัน ดำเนินชีวิตเจริญตามรอยธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต...สาธุ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ผู้ที่สนใจท่องเที่ยว "ตามรอยพระอาจารย์ มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์แห่งอีสาน" สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย โทร. 0-2247-2517-20 สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ โทร. 0-2270 1505-8 สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวไทย โทร. 0-2998-0744 สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย โทร. 0-2246-5659

กำลังโหลดความคิดเห็น