xs
xsm
sm
md
lg

ศิลปะหริภุญชัย ชวนหลงใหลที่ลำพูน/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
พระธาตุหริภุญชัย
"หริภุญชัย" นามนี้คืออดีตอาณาจักรอันรุ่งโรจน์ ปัจจุบันคือจังหวัดลำพูน

เมืองหริภุญชัย ในตำนานยังเล่าว่าการเกิดขึ้นของเมืองหริภุญชัยสัมพันธ์กับความเชื่อทางพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าเคยเสด็จเยือนเพื่อโปรดสัตว์ และทรงพยากรณ์ว่าในอนาคตจะเกิดเป็นเมืองหริภุญชัยขึ้น รวมถึงเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุของพระองค์ด้วย

จากนั้นอีกหนึ่งพันปีต่อมา ฤาษี 5 องค์ได้ร่วมกันสร้างเมือง พร้อมกับเชิญพระนางจามเทวีแห่งเมืองละโว้มาปกครอง

พระนางจามเทวี ท่านนี้เมื่อเสด็จมาได้นำช่างฝีมือและผู้มีความรู้แขนงต่างๆมาวางรากฐานทางการเมือง การปกครอง ความเชื่อ งานศิลปกรรม วัฒนธรรมประเพณี เอาไว้ จนผู้คนต่างยกย่องว่าหริภุญชัยในยุคพระนางจามเทวี คือยุคที่รุ่งเรืองสุดๆ

เมืองหริภุญชัย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำกวง ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมเมืองทั้ง 4 มน จากหลักฐานระบุว่าเมืองนี้เริ่มต้นมีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 14 แล้วเจริญรุ่งเรืองเป็นเมืองศูนย์กลางทางภาคเหนือลง อย่างมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17

กระทั่งในปี พ.ศ.1835 หริภุญชัยถูกพญามังรายแห่งเชียงรายเข้ายึดครอง ทำให้บทบาททางการเมืองการปกครองของเมืองนี้ยุติลง แต่ว่าก็ยังคงไว้ซึ่งความเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาและศูนย์กลางด้านศิลปวัฒนธรรมอีกพักใหญ่ก่อนย้ายฐานมายังอาณาจักรล้านนา ราชธานีที่เกิดใหม่ในเวลาต่อมา

มาวันนี้ แม้เวลาจะผ่านมานับพันปีแล้ว แต่มรดกแห่งหริภุญชัยหลายๆอย่างยังคงอยู่ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษากัน โดยเฉพาะในด้านงานศิลปกรรมที่แนบแน่นกับพุทธศาสนาที่ยังคงความอมตะมาจนถึงทุกวันนี้

ใครที่อยากจะชื่นชมงานพุทธศิลป์ที่มีรูปแบบเฉพาะตัวของศิลปะหริภุญชัย ในลำพูนมีวัดที่โดดเด่นเป็นเอกอุอยู่ 2 วัดด้วยกัน ซึ่งวัดแรกผมขอแนะนำที่ วัดพระบรมธาตุหริภุญชัย ที่ขึ้นชื่อลือชาด้วยพระธาตุหริภุญชัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำพูน

พระธาตุหริภุญชัย สร้างใน ปี พ.ศ. 1607 โดย พระเจ้าอาทิตยราชเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ประกอบด้วย ธาตุกระหม่อม ธาตุกระดูกอก ธาตุกระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง

ตามตำนานพระธาตุหริภุญชัยกล่าวว่า ลักษณะขององค์พระธาตุที่สร้างแรกเริ่มเดิมทีเป็นไปตาม พุทธทำนาย คือ เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมทรงปราสาท สูง 12 ศอก มีซุ้มทวาร เข้า- ออกทะลุกันได้ทั้งสี่ด้าน มีปราสาทศิลาแลงสี่เหลี่ยมอยู่มุมละองค์

เมื่อพญามังราย ยึดเมืองหริภุญชัย ได้โปรดให้บูรณะซ่อมแซมองค์พระธาตุเสียใหม่ พร้อมเปลี่ยนรูปแบบจากทรงปราสาทกลายเป็นทรงเจดีย์ฐานกลมแบบทรงลังกา ก่อนที่จะบูรณะอีกอย่างต่อเนื่องจนเป็นเจดีย์ทรงกลมระฆังแบบล้านนามาจนทุกวันนี้

ความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุหริภุญชัยนั้นดูได้จากพุทธศาสนิกชนที่แวะเวียนกันมาสักการะไม่ได้ขาด โดยเฉพาะวันพระใหญ่นั้นจะเนืองแน่นทีเดียว ซึ่งที่นั่นมีชุดเทียนนพเก้าเอาไว้บริการผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายด้วย

นอกจากพระธาตุหริภุญชัยแล้ว วัดแห่งนี้ยังมีเจดีย์ศิลปะหริภุญชัยอีก 2 องค์สำคัญให้ทัศนากันอีก นั่นก็คือ

สุวรรณเจดีย์(ปทุมเจดีย์หรือพระธาตุเหลี่ยม) เจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม ซึ่งตามประวัติเล่าว่าพระนางปทุมเจดีย์ อัครมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราชทรงสร้างเจดีย์องค์นี้พร้อมกับพระสวามีที่สร้างพระธาตุหริภุญชัย สุวรรณเจดีย์ มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืนชั้นละ 3 ซุ้ม ลดหลั่นกันไปจำนวน 5 ชั้น

พระเจดีย์เชียงยืน(เจดีย์เชียงยัน) เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม ทรงปราสาท 5 ยอด มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ทั้ง 4 ด้าน โดยถัดจากเรือนขึ้นไปเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นสวยงาม

จากวัดธาตุหริภุญชัย วัดแรก ผมขอต่อด้วยวัดที่สองนั่นก็คือ วัดจามเทวีหรือวัดกู่กุด วัดนี้โดดเด่นไปด้วยพระเจดีย์กู่กุดอันเก่าแก่สวยงามจนได้รับการยกย่องให้เป็นอันซีนไทยแลนด์
กู่กุด
เจดีย์กู่กุดหรือสุวรรณจังโกฏ ตามตำนานพื้นเมืองล้านนาเล่าว่า พระเจ้ามหันญศ โอรสพระนางจามเทวีโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของพระราชมารดา

เหตุที่ผู้คนเรียกขานเจดีย์องค์นี้ว่า กู่กุด มี 2 ที่มา คือ เดิมเป็นเจดีย์มียอดเป็นปล้องไฉนแต่ตอนหลังชำรุดหักหายไป เลยถูกเรียกว่า กู่กุด ที่หมายถึง ยอดกุดด้วน ส่วนอีกสาเหตุหนึ่ง อาจจะกู่กุด หมายถึง เจดีย์ซึ่งเป็นกุฎิของพระสงฆ์ก็เป็นได้ ก่อนจะเรียกเพี้ยนมาเป็นกู่กุดจนทุกวันนี้

เจดีย์กู่กุด มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลง มีซุ้มพระพุทธรูปยืนปางประธานอภัยประดิษฐานโดยรอบด้านละ 3 ซุ้ม ลดหลั่นกันไป 5 ชั้น รวมทั้งหมด 60 องค์ เช่นเดียวกับสุวรรณเจดีย์ ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย

นับเป็นงานพุทธศิลป์ที่มีลักษณะอันโดดเด่นซึ่งเป็นดังเอกลักษณ์ของศิลปะหริภุญชัย(เจดีย์แบบหริภุญชัย)อันทรงคุณค่ามาจนทุกวันนี้

นอกจากกู่กุดแล้ววัดจามเทวียังมีเจดีย์ที่น่าสนใจอีกองค์หนึ่งคือรัตนเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมที่ยอดหักหาย มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืนทั้งแปดด้าน

นอกจากวัดชื่อดังทั้งสองแห่งแล้ว ในลำพูนยังมีวัดที่มีงานศิลปะหริภุญชัยอันโดดเด่นให้ศึกษากันอีกที่ วัดพระยืน ที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองหริภุญชัย วัดนี้สันนิษฐานว่าสร้างสมัยพญาธรรมมิกราช ผู้ครองนครหริภุญชัย ในพุทธศตวรรษที่ 18 ต่อมาถูกทิ้งร้างจนกระทั่งใน พ.ศ. 1912 สมัยพระเจ้ากือนา(ที่มีลิ่วล้อบางคนพยายามเขียนภาพพระเจ้ากือนาให้ละม้ายคล้ายกับหน้าเหลี่ยมของใครบางคนอย่างตั้งใจ) ได้โปรดให้บูรณะเพื่อถวายเป็นที่จำพรรษาของพระสุมนเถระ วัดนี้มีเจดีย์พระยืน มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระยืนสูง 9 ศอกอันสวยงามเป็นเอกลักษณ์

สำหรับงานพุทธศิลป์ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งนั้นก็คือ กู่ช้าง ซึ่งตามตำนานเล่าว่าเป็นที่ฝังศพช้างคู่บารมีของพระนางจามเทวี มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงลอมฟาง สูงราว 8 เมตร ส่วนปลายตัด คล้ายเจดีย์ที่พุกาม

และนั่นก็คือบางส่วนที่น่าสนใจของงานพุทธศิลป์ ศิลปะหริภุญชัยอันโดดเด่นชวนหลงใหลสำหรับผู้ชื่นชอบในงานศิลปกรรมด้านนี้ ซึ่งการที่ลำพูนถูกเสนอให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น ก็เป็นการดีที่จะช่วยเก็บเมืองเล็กๆอันสงบงามที่ทรงคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมเมืองนี้ไว้

เพราะสำหรับลำพูนแล้ว นี่คือเมืองเล็กที่จัดอยู่ในประเภท

"Small is Beautiful"
กำลังโหลดความคิดเห็น