ยังสบายดีกันอยู่หรือป่าว? กับสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ในปัจจุบันที่ดูจะตึงเครียด จนทำให้หลายๆคนอยากจะปิดหูปิดตาไม่รับรู้ข่าวสารใดๆ แต่ฉันมีวิธีที่ดีกว่านั้น หากนั่งติดขอบทีวี หรือหูติดวิทยุ ตาติดอินเตอร์เน็ตล่ะก็ ลองหาเวลาว่างสักหนึ่งวัน มาทำให้ใจเบิกบานสำราญจิตกันดีกว่า
วันนี้ฉันจะชวนไปแถวเส้นถนนเกษตร-นวมินทร์ ซึ่งบางครั้งบางช่วงจะเห็นต้นทานตะวันยิ้มแฉ่งเริงร่าชูดอกสีเหลืองสว่างสดใสท้าทายดวงอาทิตย์อยู่มากมายริมถนนหลังโรงเรียนสตรีวิทยา 2 ก็ไม่ต้องแปลกใจไป เพราะทางฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะเขตลาดพร้าว เขาได้จัดโครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยเอาพื้นที่รกร้างว่างเปล่าของเอกชนมาปรับภูมิทัศน์เป็นทุ่งทานตะวันอันสวยงามสดใสอย่างที่เราเคยได้เห็นๆกันมาแล้วในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา
โดยทางสำนักงานเขตลาดพร้าวได้ทำโครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยทำเป็นทุ่งทานตะวันมาแล้วประมาณ 2 ปี โดยในแต่ละปีจะปลูกเจ้าทานตะวันให้ออกดอกสวยงามบานสะพรั่งใน 2 ช่วง คือในช่วงปีใหม่สากล หรือวันที่ 1 มกราคม และวันปีใหม่ไทย หรือวันสงกรานต์ นั่นเอง ถือเป็นการต้อนรับวันปีใหม่ที่สดชื่นสวยงามจริงๆ
สำหรับ "ทุ่งทานตะวัน" ที่ถนนเกษตร-นวมินทร์แห่งนี้ มีพื้นที่ประมาณ 15 ไร่ ใกล้ๆกันเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่พอสมควรสามารถส่งน้ำมาหล่อเลี้ยงเจ้าต้นทานตะวันเหล่านี้ให้เบ่งบาน และจากที่ผ่านมาก็ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพมหานครของเราแล้ว ยังสร้างแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่สดชื่นสวยงามให้กับชาวกรุง
ผู้คนในละแวกลาดพร้าว รวมถึงผู้ที่ผ่านมาผ่านไปมักจะแวะเวียนมาชมความสวยงามสดชื่น และสีสันอันสดใสของทุ่งทานตะวัน พร้อมทั้งพกกล้องมาถ่ายรูปกันอย่างหนาตาจนทางสน.ลาดพร้าวได้จัดเจ้าหน้าที่มาอำนวยความสะดวกในเรื่องของที่จอดรถและการจราจรอย่างเต็มที่
และในช่วงที่ 2 ของปีนี้ ทางฝ่ายรักษาความสะอาดฯ สำนักงานเขตลาดพร้าว ก็คาดว่าดอกทานตะวันจะชูช่อเหลืองบานอร่ามเต็มพื้นที่อย่างสวยงามเหมือนอย่างที่ผ่านมาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงนี้ เพื่อให้ชาวกรุงหรือผู้ที่ผ่านไปมาได้แวะเวียนมาชมโฉมดอกไม้สวยๆ หรือจะพาครอบครัวเพื่อนฝูงมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกก็น่าสนใจเป็นที่ยิ่ง
ฉันเองก็คาดว่าช่วงสงกรานต์นี้จะหาโอกาสแวะเวียนไปยลโฉมเจ้าดอกสีเหลืองบานสะพรั่งนี้เช่นกัน ถ้าพลาดช่วงสงกรานต์นี้ก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะช่วงปีใหม่ต้อนรับพ.ศ.ใหม่แบบสากล รับรองว่ามีให้ยลกันอีกแน่ อาจจะรอนานหน่อยแต่สวยชัวร์ๆ
จากดอกไม้แสนสวยสดใส ที่ฉันอยากจะแนะนำก่อนเพราะอายุอันเบ่งบานของเจ้าดอกทานตะวันนี้จะบานแฉ่งสวยงามอยู่ได้ประมาณ 2 อาทิตย์เท่านั้น ขอบอกไว้ก่อนนะว่า ถ้าใจร้อนไปตอนนี้เจ้าดอกทานตะวันยังไม่บานหรอก เขาคำนวณไว้แล้วว่าจะบานช่วงเทศกาลพอดิบพอดี
จากทุ่งแสนสวย เลี้ยวขวาเข้าไปทางถนนลาดปลาเค้า ตรงมาจะเจอะเจอกับ “วัดลาดปลาเค้า” อายุประมาณ 140 กว่าปี เป็นวัดเก่าแก่คู่ชาวลาดปลาเค้า วัดนี้ก่อตั้งมาเมื่อประมาณก่อนปี พ.ศ.2409 แต่เดิมอำแดงด้วง และอำแดงไหม ต้นตระกูล เกตุสุวรรณ ได้ถวายที่ดินตั้งเป็นสำนักสงฆ์ มีชื่อเรียกตามชื่อชุมชนว่า “สำนักสงฆ์ราบปลาเค้า”
โดยชุมชนลาดปลาเค้าเป็นชุมชนเล็กๆ ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การอยู่อาศัยของสัตว์น้ำโดยเฉพาะ “ปลาเค้า” ซึ่งมีอยู่มากมาย ชุมชนนี้จึงได้ชื่อว่าราบปลาเค้า ซึ่งหมายถึง เป็นที่ราบซึ่งมีปลาเค้าอาศัยอยู่มาก ต่อมาก็ได้เรียกเพี้ยนมาเป็น ลาดปลาเค้า
และในปี พ.ศ.2435 ทางราชการก็ได้ประกาศตั้งสำนักสงฆ์แห่งนี้เป็น “วัดลาดปลาเค้า” ซึ่งวัดนี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านกล่าวถึงคือ อภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อน้อย พุทธสรณ์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สาม ในเรื่องของการอยู่ยงคงกระพัน ความร่มเย็นเป็นสุขศัตรูทั้งหลายจะพ่ายแพ้ อุปสรรคทั้งปวงทั้งหลายมลายสุญไป เป็นสุขใจแก่ผู้บูชาด้วย
จากวัดลาดปลาเค้า ตรงผ่านแยกวังหินไปจะเจอกับ “วัดสิริกมลาวาส” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “วัดใหม่เสนานิคม” ซึ่งเป็นชื่อดั่งเดิมของวัดแห่งนี้ มีพระครูปราโมทย์ธรรมธาดา หรือหลวงปู่หลอด ปโมทิโต ศิษย์องค์สุดท้ายของพระอาจารย์มั่นภูริทัตโต เป็นเจ้าอาวาส หลวงปู่เป็นพระกรรมฐานที่มีชื่อเสียง ใช้เวลาศึกษากรรมฐาน และออกธุดงค์เป็นเวลาร่วมถึง 26 ปี
เมื่อเข้าไปภายในวัดจะรู้สึกได้ทันทีถึงความสงบเงียบร่มเย็น ด้วยลานต้นไม้ด้านหน้าวัดที่ให้ร่มเงา มองไปเบื้องหน้าจะเจอกับอุโบสถอันสวยงาม ด้านข้างเป็นที่ประดิษฐานของพระแม่ธรณี และองค์หลวงพ่อดำ นอกจากนี้ยังมีของดีคือขอนไม้พญางิ้วดำ ซึ่งเป็นไม้มงคลศักดิ์สิทธิ์มีอายุหลายพันปี ผู้คนให้ความเลื่อมใสศรัทธามากอีกด้วย
เมื่อกราบไหว้พร้อมขอพรแล้ว ฉันก็ออกจากวัดใหม่เสนาฯ มุ่งตรงต่อไปจนถึง “วัดลาดพร้าว” เป็นวัดเก่าแก่อายุมากกว่า 100 ปี ซึ่งแต่เดิมเป็นสำนักสงฆ์เล็กๆ ต่อมาในปี พ.ศ.2417 ชาวบ้านลาดพร้าวมีความเห็นพ้องต้องกับคณะสงฆ์ว่าสมควรย้ายวัดมาอยู่ที่วังลาดพร้าว ซึ่งคำว่าวัง หมายถึง แอ่งน้ำขังที่กว้างใหญ่กว่าบึง
และเนื่องจากสถานที่เดิมนั้นเป็นที่ดอนไม่สะดวกต่อการที่พระสงฆ์สามเณรจะใช้น้ำ จึงได้ย้ายวัดมาสร้างใหม่ที่วัดลาดพร้าวแห่งนี้ เพราะที่แห่งใหม่นี้อยู่ใกล้แหล่งน้ำกว่าและเป็นทางแยกคลองทรงกระเทียมกับคลองลาดพร้าว ทั้งเป็นที่ลุ่ม เป็นวังกว้าง สะดวกต่อการใช้น้ำ
เมื่อย้ายมาอยู่ที่แห่งใหม่แล้วได้มีการสร้างกุฏิ ศาลาการเปรียบล้วนเป็นไม้ทั้งสิ้น ปัจจุบันวัดลาดพร้าวมีเนื้อที่ทั้งหมด 24 ไร่เศษ เป็นวัดที่มีความสวยงาม เมื่อเข้าไปภายในจะเห็นถึงความอลังการทั้งจากภายนอกและภายในอุโบสถ
สิ่งสำคัญที่สุดของวัดคือ ปราสาทซึ่งภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้อัญเชิญจากเมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา มาประดิษฐานไว้ที่พระเจดีย์ดาวดึงส์เหนือเศียรพระเจ้าเปิดโลก ภายในวิหารหลังใหม่นี้ทางวัดได้สร้างพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์จำลองที่มีอยู่ทั่วประเทศ อาทิ หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อเพชร หลวงพ่อวัดบ้านแหลม นำมาประดิษฐานไว้ในวิหาร กล่าวได้ว่ามาวัดลาดพร้าวเพียงวัดเดียว สามารถไหว้พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ได้เกือบทั้งประเทศเลยทีเดียว
ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือศาลาการเปรียญที่สร้างด้วยไม้สักทั้งหลังยังคงอยู่ถาวร ซึ่งหาดูได้ยากมากตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทยและน้อยคนจะรู้ หรือสังเกตว่าที่วัดลาดพร้าวยังมีศาลาหลังนี้อยู่ และพระพรหมวัดลาดพร้าว ที่ประดิษฐานอยู่ในซุ้มด้านหน้าก็เป็นที่กล่าวขวัญถึงความศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย ฉันเองก็ไม่พลาดเช่นกัน มาถึงแล้วก็ขอไหว้ขอพรให้ครบทุกองค์ก่อนที่จะจากวัดลาดพร้าวไปต่อยังสถานที่ต่อไป
อีกหนึ่งศาสนสถานชาวพุทธในย่านนี้ก็คือ “ตำหนักพระแม่กวนอิม” ที่ฉันได้เคยพาไปสัญจรกันมาแล้ว ที่พระตำหนักนี้มีจุดเด่นคือ พระมหาเจดีย์พระพุทธเจ้าหมื่นพระองค์ อันเป็นพระมหาเจดีย์ที่สูงที่สุดในเอเชียอาคเนย์ก็ว่าได้ ภายในยังเป็นที่ประดิษฐานพระแม่กวนอิมพันเนตรพันกรขนาดใหญ่ แกะสลักจากไม้จันทน์หอมจากประเทศจีนปิดทองเหลืองอร่ามสวยงาม และบริเวณลานด้านนอกยังมีรูปปั้นรูปแกะพระแม่กวนอิมปางต่างๆอีกมากมายหลายร้อยรูป
สำหรับวัดสุดท้ายที่ฉันได้ไป ก็คือ “วัดเซนต์จอห์น” หรือในอดีตเรียกว่า “วัดห้องเรียน” หรือ “วัดน้อย” เพราะแต่ก่อนเคยใช้ห้องเรียนเป็นที่ประกอบศาสนกิจ ต่อมาสมาชิกเพิ่มมากขึ้น จึงได้ซื้อบ้านหลังหนึ่งดัดแปลงให้เป็นวัดน้อยชั่วคราว
เวลาต่อมาเนื่องจากมีสัตบุรุษมาร่วมพิธีมิสซากันมากขึ้น ทำให้วัดคับแคบ ไม่สะดวกต่อการประกอบศาสนกิจ จึงได้สร้างวัดใหม่อย่างถาวร โดยแบ่งเนื้อที่ของโรงเรียนประมาณ 200 ตารางวาเพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้าง วัดใหม่แห่งนี้
โครงสร้างออกแบบเป็นรูปทรงอาคารหกเหลี่ยม พร้อมกับหอระฆังสูง 43 เมตร สามารถบรรจุคนได้ประมาณ 200 คน ชั้นใต้ดินใช้เป็นห้องประชุมเยาวชน ส่วนบนเป็นบาลโคนีสำหรับนักขับร้องประมาณ 80 คน ด้านหลังเป็นบ้านพักพระสงฆ์ เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้ถวายให้แก่อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ และพระคาร์ดินัลได้ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัดเซนต์จอห์น” ดังปัจจุบัน
เป็นอย่างไรบ้าง ทั้งชมดอกทานตะวันแสนสวยให้สดชื่น แล้วก็ตะเวนไหว้พระในหลายๆวัดในย่านลาดพร้าวให้สบายจิตเบิกบานใจแล้ว ก็เหมือนเป็นการชาร์ตแบตเตอรี่ให้ร่างกายและจิตใจให้พร้อมสู้กับทุกสถานการณ์ต่อไป
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
การเดินทางสามารถเข้าได้จากทางจากถนนเกษตร-นวมินทร์ เลี้ยวเข้าทางลาดปลาเค้าจะเจอกับวัดลาดปลาเค้า สอบถามโทร.0-2570-6853 หากเลี้ยวเข้าทางวังหิน เลยแยกวังหินไปจะเจอกับวัดสิริกมลาวาสก่อน สอบถามโทร.0-2570-8193 ถัดไปจะเป็นวัดลาดพร้าว สอบถามโทร.0-2513-2386 เลยเข้าไปทางโชคชัย 4 เข้าซอย 39 จะเจอกับตำหนักพระแม่กวนอิม สอบถามโทร.0-2514-0715 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สำนักงานเขตลาดพร้าว โทร.0-2530-6641-50
คลิกเพื่อดูแผนที่การเดินทางเที่ยวเขตลาดพร้าว