xs
xsm
sm
md
lg

"ตะรุเตา" งามเข้าขั้นเทพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท้องทะเลยามเย็นที่หลังเกาะหลีเป๊ะ
เมื่อโลกยังหมุน เวลายังเดิน สรรพสิ่งย่อมมีความเปลี่ยนแปลง

สถานที่ท่องเที่ยวก็เช่นเดียวกัน บ้างเปลี่ยนจากดีเป็นแย่ บ้างเปลี่ยนจากแย่เป็นดี บ้างเปลี่ยนจากสวยงามเป็นเสื่อมโทรม บ้างเปลี่ยนจากแห้งแล้งเป็นสวยงาม ฯลฯ

แต่หากพูดถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่เปลี่ยนจาก"นรก"เป็น"สวรรค์"ทอดตาดูในเมืองไทยก็เห็นจะมี "หมู่เกาะตะรุเตา"เท่านั้นที่โดดเด่นสุดๆ เพราะในยุคสมัยหนึ่ง(ช่วงปี 2479 - 2489)เกาะตะรุเตาเคยเป็น"คุกเปิด"คุมขังนักโทษการเมืองและนักโทษคดีอุจฉกรรจ์ กลางทะเลลึกที่เต็มไปด้วยไข้ป่า และความโหดร้ายของสภาพอากาศ

เป็นเกาะนรกในความรับรู้ของคนทั่วไป
อ่าวพันเตมะละกา
กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลได้ยกเลิกคุกบนตะรุเตา และปล่อยทิ้งร้างไว้ 20 กว่าปี จึงค่อยประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติตะรุเตาในปี พ.ศ. 2517 ก่อนจะเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวตามมาในภายหลัง อันเป็นจุดเปลี่ยนจากนรกเป็นสวรรค์ เพราะความสวยงามพิสุทธิ์ของหมู่เกาะตะรุเตานั้นจัดอยู่ในขั้นเทพ จนได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นมรดกแห่งอาเซียนในปี พ.ศ. 2525

ด้วยความงามและชื่อเสียงที่สะสมทำให้ ร้อนนี้ "ตะลอนเที่ยว" จึงเลือกที่จะกลับไปเยือหมู่เกาะตะรุเตาอีกครั้ง โดยจากท่าเรือปากบารา เราออกเดินทางสู่เป้าหมายแรกที่ "เกาะตะรุเตา"อดีตที่คุมขังนักโทษ(คุกเปิด) ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติตะรุเตา

บนเกาะตะรุเตา มีจุดชวนเที่ยวอย่าง อ่าวตะโละวาว หาดทรายอ่าวเมาะ หาดทรายอ่าวสน และอ่าวพันเตมะละกา ที่เราไปหย่อนตัว นั่งๆเดินๆทอดหุ่ยรับลมทะเลที่นี่อยู่พักใหญ่

อ่าวพันเตมะละกา มีหาดทรายสวยงามทอดยาวขาวสะอาดอยู่หน้าเกาะ และทิวสนขึ้นเรียงรายเลาะเรียบไปตามทะเลเป็นที่งามตานัก โดยเฉพาะยามสนต้องลม
มุมมองในซุ้มประตูหิน
จากหน้าอ่าวพันเตมะละกาลึกเข้าไปบนแผ่นดินดูร่มรื่นเป็นระเบียบ บริเวณนี้เป็นที่ตั้งอุทยานฯ ค่ายพักแรม จุดกางเต็นท์ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว รวมถึงเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 และเจ้าพ่อตะรุเตาให้นักท่องเที่ยวแวะเวียนมาสักการะ

งานนี้เพื่อความเป็นสิริมงคล เราเข้าไปกราบไหว้เจ้าพ่อตะรุเตา(ใช้ธูป 9 ดอก)เอาฤกษ์เอาชัยก่อนตะลอนออกเรือเดินทางต่อไปยังสัญลักษณ์ตะรุเตาที่"เกาะไข่" อันทรงเสน่ห์

เกาะไข่ ในอดีตมีเต่าทะเลมาวางไข่เป็นจำนวนมาก เกาะนี้ขาเที่ยวทั้งหลายมองปุ๊บก็รู้ปั๊บว่านี้คือตะรุเตา เพราะบนเกาะโดดเด่นไปด้วยเอกลักษณ์ของประติมากรรมธรรมชาติอย่าง ซุ้มประตูหินที่ยื่นทอดยาวมาจากตัวเกาะโค้งตัวลงบนชายหาด มีช่องขนาดย่อมให้เดินลอด ซึ่งสอดรับกับหาดทรายขาวนวลเนียนและน้ำทะเลเขียวใสสะท้อนแดนวับวาวราวมรกต

ว่ากันว่าใครที่ควงคู่มาเดินลอดซุ้มประตูแห่งนี้ ความรักจะสมหวังยั่งยืน เรื่องนี้ "ตะลอนเที่ยว" ยังไม่เคยลอง เพราะไม่มีสาวคนไหนยอมให้เราเคียงคู่เดินจูงมือลอดซุ้มประตู มีแต่เดินคนเดียวโดดๆเข้าไปในในซุ้มประตูหิน แล้วมองย้อนศรสวนขึ้นไปซึ่งก็ได้รับมุมมองที่แปลกตาน่ายลออกไปจากมุมถ่ายรูปมหาชนหน้าซุ้มประตู ที่“ตะลอนเที่ยว”เห็นนักท่องเที่ยวชายหลายๆคนพอไปถึงเกาะนี้ พวกเขาจะมีท่าถ่ายรูประจำตัว นั่นก็คู่“ยืนกุ้มเป้า”ถ่ายรูปแบบกลัวคนไม่รู้ว่ามาถ่ายรูปคู่กับเกาะไข่
ซุ้มประตูหิน เกาะไข่
จากเกาะไข่เราไปต่อกันที่ "เกาะหินงาม"ที่ไม่มีชายหาดขาวเนียนให้เดินเล่น มีแต่ก้อนหินน้อยใหญ่กลม มน รี แบน สีดำ สีเข้ม จำนวนมากมายมหาศาลให้ยลกัน

ปกติก้อนหินจะดูแข็งกระด้าง แต่น่าแปลกที่บรรดาหินทั้งหลายบนเกาะหินงามกลับดูนวลตา โดยเฉพาะยามถูกคลื่นซัดสาดสะท้อนเงาเป็นประกาย

บนเกาะหินงามนอกจากการสัมผัสกับหินสวยๆงามๆและการนวดเท้าด้วยหินสวยๆงามๆแล้ว การสร้างคอนโดหินหรือการเรียงหินให้ได้ 12 ชั้น ก็นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมยอดนิยม เพราะมีตำนานเล่าต่อๆกันมาว่า ถ้าใครสามารถเรียงก้อนหินต่อกันได้ 12 ก้อน(12 ชั้น)แล้วอธิฐานก็จะสมมาดปรารถนา เรื่องนี้หนึ่งจริงเท็จไม่มีใครพิสูจน์ได้
เกาะหินงาม
เช่นเดียวกับอีกเรื่องหนึ่งที่พิสูจน์ไม่ได้เช่นกันนั่นก็คือ เรื่องเล่าที่กันว่า หินทุกก้อนที่เกาะหินงามต้องคำสาปของจำพ่อตะรุเตา(รูปเคารพเจ้าพ่อประดิษฐานอยู่ที่ทำการอุทยานฯเกาะตะรุเตา) หากใครนำหินออกไปจากเกาะจะต้องมีอันเป็นไป ดังคำสาปที่ว่า "...ผู้ใดบังอาจเก็บหินจากเกาะนี้ไป ผู้นั้นจะพบแต่ความหายนะ นานาประการจะกลับไม่ถึงบ้าน จะประสบอุบัติเหตุ จะหลุดพ้นจากหน้าที่การงาน จะพบภัยพิบัติไม่มีที่สิ้นสุด..."

เรื่องนี้แม้จะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่ใครไม่เชื่อก็ไม่ควรลบหลู่เป็นดีที่สุด เพราะการที่นักท่องเที่ยวนำหินกลับฝั่งไปเพียงแค่คนละก้อนสองก้อน นานๆเข้าหินย่อมร่อยหรอไปจากเกาะ จนท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นเกาะหินหายงาม เพราะฉะนั้นการที่ท่านเจ้าพ่อตะรุเตาสาปไว้(ถ้าเป็นความจริง)จึงเป็นการช่วยเก็บรักษาก้อนหินให้คงอยู่คู่เกาะหินงามตลอดไป
ความเชื่อเรียงหินที่เกาะหินงาม
เที่ยวเกาะในตะรุเตามาแล้ว 3 เกาะ ยังไม่ได้ลงเล่นน้ำเกลือกลิ้งหาดทรายแบบเต็มๆเลย ฉะนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่เราจะทบต้นและดอกในจุดต่อไปนั่นก็คือ “เกาะอาดัง-ราวี” ที่น่าสนใจทั้งหาดทรายขาวนุ่ม น้ำทะเลใสแจ๋ว และโลกใต้ทะเลอันงดงาม ที่แม้เพียงแต่ดำน้ำตื้น(snockelling) เราก็อดหลงใหลในความงามของปะการังและหมู่ปลาน้อยใหญ่ของที่นี่ไม่ได้ จนอยากจะเล่นน้ำและนั่งทอดหุ่ยตามชายหาดแช่อยู่แถวนี้ให้นานๆ

แต่พอดีว่าเรามีนัดกับปะการังที่ร่องน้ำจาบังที่ขึ้นชื่อว่าปะการังสวยงามนัก แต่ด้วยความที่คลื่นใต้น้ำแรงมาก งานนี้จึงทำได้แค่เพียงลงไปแย็บๆแตะพื้นน้ำพอเป็นกระษัย แล้วจึงรีบขึ้นมานั่งให้อาหารปลาสวยๆงามที่แหวกว่ายในแถบนั้นแทน
มุมเก๋ๆที่เกาะอาดัง-ราวี
แม้จะพลาดหวังกับร่องน้ำจาบัง แต่ว่า เย็นนี้ที่"เกาะหลีเป๊ะ" จุดพักค้างกลางคืนนั้น ไม่สร้างความผิดหวังให้กับเราแต่อย่างใด

เกาะหลีเป๊ะ เกาะนี้เรียกตามภาษาถิ่นชาวเล(อูรักลาโว้ย) หมายถึงเกาะที่มีลักษณะแบนราบคล้ายกระดาษ ในขณะที่ฉายาในวงการท่องเที่ยวนั้นยกให้เป็น "มัลดีฟเมืองไทย" เพราะเป็นเกาะที่มีความสวยงามในอันดับต้นๆของเมืองไทย

เกาะหลีเป๊ะ มี"หาดพัทยา 2"(บันดาหยา) หรือหาดหน้าเป็นไฮไลท์ ซึ่งเราเลือกพักในพื้นที่แถบนี้
หาดพัทยา 2 เกาะหลีเป๊ะ
หาดพัทยา 2 ให้บรรยากาศคนละอารมณ์กับหาดพัทยาต้นฉบับที่ชลบุรี เพราะหาดที่นี่ดูสงบไม่พลุกพล่าน มีหาดทรายยาวขาวละเอียด น้ำสวยใส มีเรือจอดเทียบอยู่ประปราย ตลอดแนวชายหาดดูมีชีวิตชีวาด้วยกิจกรรมสารพัดสารพันของนักท่องเที่ยว บ้างดำผุดดำว่ายอยู่ริมชายหาด บ้างนอนอาบแดด บ้างนอนเอกเขนกรับแสงแดด บ้างจูงมือกันเดินกระหนุงกระหนิง บ้างเล่นกีฬา ฟุตบอล วอลเล่ย์บอล กันอย่างสนุกสนาน

บ่ายวันนั้น"ตะลอนเที่ยว" เพลิดเพลินอยู่ที่หาดพัทยา 2 จนเย็นย่ำ กระทั่งเห็นว่าแดดร่มลมตกดีแล้ว จึงเดินตัดไปหลังเกาะเพื่อรอชมดวงตะวันลาลับท้องทะเล

ระหว่างทางเราเดินผ่านหมู่บ้าน"ชาวอูรักลาโว้ย" ชุมชนดั้งเดิมที่มาอยู่อาศัยบนเกาะหลีเป๊ะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งบ้านเรือนที่นี่ส่วนใหญ่เป็นบ้านสังกะสีทั้งฝาและหลังคา แต่ก็มีบางบ้านที่ยังคงไว้ซึ่งลักษณะแบบเดิมๆ เป็นบ้านไม้ไผ่หลังคามุงใบไม้ใบหญ้า
บ้านเรือนของชาวอูรักลาโว้ย
ในหมู่บ้านยามเย็น พวกผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งนั่งตั้งวงดื่มกินหลังเลิกงาน ส่วนเด็กๆก็วิ่งเล่นกันตามประสา

พ้นจากหมู่บ้านไปเป็นหาดท้ายเกาะที่มีเรือประมงของชาวอูรักลาโว้ยจอดอยู่เรียงราย จากนั้นเราเดินย้ำเท้าไปบนหาดทรายอีกราวๆ 500 เมตรก็ถึงยังจุดชมอาทิตย์อัสดง ซึ่งวันนั้นดูค่อนข้างโชคดีที่ท้องฟ้าเป็นใจ ทำให้แสงสีของภาพดวงตะวันตกน้ำทะเลป๋อมแป๋มออกมาสวยงาม ทั้งแสงสีของดวงอาทิตย์ ปุยเมฆ และท้องฟ้าสีแดงอมทองอันเรื่อเรืองสอดรับกลับโขดหิน โค้งหาด และผืนแผ่นน้ำเบื้องหน้า นับเป็นความงามที่ธรรมชาติจัดให้ชนิดที่มนุษย์มิอาจกำหนด

หลังแสงสุดท้ายผ่านพ้น รัตติกาลคืบคลานเข้าครอบคลุม เราเดินกลับมาที่หาดพัทยา 2 อีกครั้ง
เรือประมงจอดเรียงรายยามเย็นที่หลังเกาะหลีเป๊ะ
หาดพัทยา 2 ยามนี้ดูคึกคักคึกครื้นไม่น้อย ทั้งแสงสีอันวูบไหวจากรีสอร์ท ร้านอาหาร บาร์เบียร์ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆที่ทยอยผุดขึ้นตามชื่อเสียงของเกาะหลีเป๊ะที่โด่งดังขึ้นเรื่อยๆ

สวนทางกับทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อยๆหดหายไปเรื่อยๆ ซึ่ง ณ วันนี้ การจัดความสมดุลทางการท่องเที่ยวระหว่าง ภาคธุรกิจ-สิ่งก่อสร้าง กับ งานด้านสิ่งแวดล้อม-วิถีวัฒนธรรมชุมชน ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายๆพื้นที่ยังแก้ไม่ตก

สำหรับที่เกาะหลีเป๊ะนั้น คงต้องติดตามดูกันต่อไป...
 ดำน้ำดูปะการัง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.ละงู จ.สตูล โดยสามารถไปขึ้นเรือได้ที่ท่าเรือปากบารา ซึ่งมีเรือเดินทางสู่เกาะตะรุเตา และเกาะอาดัง ทุกวัน เวลา 10.00 น. และ 15.00 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที สำหรับฤดูท่องเที่ยวตะรุเตาเริ่มตั้งแต่เดือนกลางพฤศจิกายนถึงสิ้นเดือนเมษายน โดยผู้ที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา โทร. 0-7472-9002-3 ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่ 3 (ปากบารา) โทร.0-7478-3485 ททท. สำนักงานตรัง (ตรัง,สตูล) โทร. 0-7521-5867-8
กำลังโหลดความคิดเห็น