xs
xsm
sm
md
lg

“เต่าสิมิลัน”อย่าให้ถึงวันเป็น“เต่านินจา”/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
เต่าทะเล เกาะสี่
...เกาะสี่ (เมียง)

คืนแรกแห่งสิมิลัน

เมื่อคืนเกาะสี่ฝนตกหนัก แต่เช้าวันรุ่งขึ้นท้องฟ้าสดใส คลื่นลมสงบ น้ำทะเลหน้าเกาะสวยใสปิ๊ง สะท้อนแสงแดดระยิบระยับ

ผมยืนอยู่บนเรือนำเที่ยวรอเวลาออกลำไปดำน้ำดูปะการัง บนเรือมองลงไปเห็นปะการังและฝูงปลาแหวกว่ายเพลินตา ระหว่างผมดูปลาอยู่เพลินๆ จู่ๆใต้น้ำมีเงาดำกลมๆวูบไหวลอยมา ก่อนจะเคลื่อนไม่ช้าไม่เร็วเข้าใกล้ๆเรือจนเห็นได้ชัดว่า นั่นมันคือ“เต่าทะเล”ตัวเขื่องหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู

เต่าทะเลตัวนั้นมันแหวกว่ายโชว์ตัวให้พวกเราชมกันอยู่พักใหญ่ ก่อนจะว่ายหายลับไป

เจ้าหน้าที่เรือบอกว่า การได้เจอเต่าตัวเป็นๆใกล้ๆอย่างนี้นับเป็นโชคดีของผมไม่น้อยเลย

อืม...ผมก็คิดอย่างนั้น ว่านี่เป็นความโชคดีมากของผม ผิดกับโชคชะตาชีวิตของเต่าทะเลในบ้านเราหลายๆแห่งที่ออกแนวตรงกันข้าม คือจัดอยู่ในขั้น“โชคร้าย” เพราะพวกมันกำลังอยู่ในสถานการณ์วิกฤตที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไม่น้อยเลย

แต่สำหรับเต่าทะเลที่สิมิลันในวันนี้ ดูพอจะมีโชคบ้าง เพราะที่นี่เขาได้จัดทำโครงการอนุรักษ์เต่าทะเลขึ้นมาที่เกาะหนึ่ง เพื่อร่วมฟื้นฟูปริมาณเต่าทะเลให้กลับมาอยู่คู่กับทะเลไทยในปริมาณที่เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง...

...เกาะหนึ่ง(หูยง)

ในจำนวนเกาะทั้ง 9 ของหมู่เกาะสิมิลันนั้น เกาะหนึ่งหรือเกาะหูยงถือเป็นพื้นที่หวงห้าม เพราะเป็นพื้นที่เต่าทะเลวางไข่ นั่นจึงทำให้ประมาณปี 2538 ทางกองทัพเรือได้ร่วมมือกับกรมอุทยานฯ(สมัยนั้นยังเป็นกรมป่าไม้อยู่)จัดตั้งโครงการอนุรักษ์เต่าทะเลขึ้นบนเกาะแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่(ทหารเรือ) 3 คน ผลัดเปลี่ยนมาปฏิบัติการบนเกาะเป็นกะ ทุกๆ 15 วัน

พวกเขาเหล่านั้น จะคอยดูแล ฟูมฟักไข่เต่าอย่างใกล้ชิดทะนุถนอม เรียกว่าเป็นดัง“แม่นม(ของ)เต่า”ก็ว่าได้

ฉะนั้นเกาะหนึ่งจึงไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปเที่ยวบนเกาะ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ไปรบกวนสถานที่วางไข่เต่าทะเลอันเป็นพื้นที่ละเอียดอ่อนมาก ซึ่งพลเรือตรีธราธร ขจิตสุวรรณ ผู้บัญชาการฐานทัพเรือพังงา ได้เปิดเผยว่า เกาะหนึ่ง ปัจจุบันเป็นแหล่งวางไข่เต่าทะเลที่ใหญ่ที่สุดในทะเลอันดามัน
เต่าทะเล 2 ตัวมาเล่นน้ำที่เกาะแปด
แม่เต่าที่มาวางไข่บนเกาะหนึ่งส่วนใหญ่มาจากน่านน้ำในทะเลอินเดีย เมื่อมาวางไข่แล้วก็จะว่ายน้ำกลับไปหากินแถวเกาะอันดามันเหนือและเกาะนิโคบาร์ แต่กระนั้นก็มีเต่าส่วนหนึ่งติดใจทะเลไทย เลือกหากินอยู่แถบนี้ อย่างแม่เต่าชื่อ“แม่ศรีนวล” ที่จากการฝังชิปติดตามพบว่ามันชอบหากินอยู่แถวทะเลในเขตคุระบุรี จ.พังงา

แม่ศรีนวล เต่าตัวนี้พี่จ่าเจ้าหน้าที่บนเกาะหนึ่ง บอกว่า มันตัวใหญ่มากและเพิ่งขึ้นมาวางไข่ครั้งล่าสุดบนเกาะหนึ่งก่อนผมไปเที่ยวสิมิลันเพียงวันเดียว

ซึ่งกระบวนการฟูมฟักดูแลไข่เต่านั้น พี่จ่าผู้เป็นดังแม่นมเต่า อธิบายคร่าวๆให้ผมฟังว่า แม่เต่าจะมีรอบการวางไข่ประมาณ 3-5 ปี โดยจากสถิติที่เก็บบนเกาะหนึ่ง มีแม่เต่าสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นมาวางไข่เฉลี่ยทุกๆ 12 วัน(ต่อครั้ง) แม่เต่าที่ขึ้นมาวางไข่เท่าที่สำรวจพบเป็นเต่าตนุ(สถานภาพปัจจุบันสุมเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ หากไม่ช่วยกันอนุรักษ์ไว้)แม่เต่าหนึ่งท้อง จะวางไข่ราว 4-8 ครั้ง ครั้งละประมาณ 100-150 ฟอง ปี 51 ที่ผ่านมา มี 8 แม่เต่าขึ้นมาวางไข่ เต่าที่ขึ้นมาวางไข่ทางเจ้าหน้าที่จะทำการฝังชิปและตั้งชื่อไว้เพื่อติดตามผล

“หากรอให้ไข่เต่าฟักตัวเองตามธรรมชาติ เปอร์เซ็นต์รอดจะมีแค่ประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เราจึงต้องช่วยเหลือเต่า นำไข่มาเก็บรักษาไว้ในบ่อทรายลึกประมาณ 1 เมตร เพื่อรอวันฟักเป็นตัว ประมาณ 55-65 วัน เมื่อฟักเป็นตัวแล้วจะเลี้ยงไว้สักพัก แล้วค่อยส่งต่อไปยังฐานทับเรือทับละมุเพื่ออนุบาลเลี้ยงดูมันอีกที”

พี่จ่าเล่าขั้นตอน ซึ่งหลังจากนั้นทางทับละมุจะเป็นผู้ดูแล จนมีอายุประมาณ 6-7 เดือน มีขนาดตัวพอเหมาะ จึงนำเต่ากลับไปปล่อยให้มันเผชิญโลกกว้างในท้องทะเลต่อไป ส่วนพวกแม่นมเต่าอย่างทีมพี่จ่าก็หันไปดูฟูมฟักไข่เต่าในรุ่นต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดหน้าที่ เพราะตราบใดที่เกาะหนึ่งยังคงสภาพบริสุทธิ์เช่นนี้ไว้ได้ แม่เต่าก็จะขึ้นมาวางไข่อยู่ไม่ได้ขาดเนื่องจากที่นี่มีน้ำทะเลบริสุทธิ์สะอาด ทรายสะอาด หาดทรายยาว ที่สำคัญคือไม่มี“คน”มาคอยรบกวน

พูดถึงคนแล้ว ผมอดนึกถึงตอนดูสารคดีเรื่องการฟักของลูกเต่าทะเล ที่พอมันฟักตัวออกมาแล้ว พอจะเดินลงทะเล ก็ถูกนก ถูกปู เข้ามาจับกินมากมาย เหลือรอดลงทะเลไม่เท่าไหร่ ครั้นลงทะเลก็ถูกปลาใหญ่ไล่ฮุบกินจนแทบจะไม่เหลือรอด แต่นั่นยังไม่เลวร้ายเท่ากับเมื่อไข่เต่าถูกคนใจบาปมาเจอแล้วนำไข่กลับไปกินหรือไปขายเรียบวุธไม่เหลือหรอ

เรื่องนี้โทษคนขายอย่างเดียวก็คงไม่ได้ เพราะซับพลายด์กับดีมานด์เป็นของคู่กัน เพราะในเมื่อยังมีคนส่วนหนึ่งเชื่ออย่างฝังใจว่าไข่เต่าเป็นยาอายุวัฒนะเมื่อกินแล้วจะอายุยืน นั่นจึงทำให้มีผู้พยายามลักลอบเก็บไข่เต่ามาขายอยู่ไม่ได้ขาดจนประชากรเต่าในบ้านเราร่อยหรอลงทุกที ซึ่งหากถามว่าศัตรูที่น่ากลัวที่สุดของเต่าทะเลคือสิ่งมีชีวิตประเภทไหน

งานนี้ตอบไม่ยากว่ามันคือสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า“คน”นั่นเอง

...เกาะแปด(สิมิลัน)

วันที่ 3 แห่งสิมิลัน ช่วงเที่ยงๆ หลังเที่ยวชมเกาะแปดจนหนำใจทั้ง เล่นน้ำทะเล ขึ้นหินเรือใบไปชมวิว ขณะอยู่บนเรือเพื่อจะเดินทางไปทำดำน้ำในเกาะใกล้เคียง ระหว่างนั้นในน้ำทะเลที่ใสแจ๋วแหววมองลงไปเห็นฝูงปลาแหวกว่าย จู่ๆก็มีเงาดำๆวูบไหวแหวกว่ายมากินอาหารที่พรรคพวกผมโยนให้ปลากิน

อา...นั่นมันเต่าทะเลอีกแล้ว คนละตัวกับเมื่อวานเสียด้วยเพราะขนาดตัวมันเล็กกว่า เห็นอย่างนี้ผมรู้สึกว่าวันนี้เป็นโชคดีอีกครั้งที่ได้เห็นเต่าตัวเป็นๆ

แต่เอ๊ะ!!! นั่นมันอะไรดำๆวูบไหวตามมาอีก เมื่อเพ่งสายตาไปดู นั่นมันเต่าทะเลอีกตัวนี่หว่า แถมตัวใหญ่กว่าตัวนี้เสียด้วย พวกมันทั้ง 2 ตัวพากันแหวกว่ายอวดโฉมให้พวกเราชมกันอย่างจุใจ นับเป็นโชคสองชั้นอันน่าทึ่งที่สิมิลันมอบให้ชนิดที่จะคงความประทับใจไปอีกนานเท่านาน...
เต่าทะเล(เกาะแปด) สัตว์ที่ต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้
...เกาะสี่(อีกครั้ง)

คืนที่สามคืนสุดท้ายแห่งสิมิลัน

เรื่องราวการพบเจอเต่าถึง 3 ตัว ใน 3 วัน ถูกนำไปถ่ายทอดให้พี่ไหว เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอาวุโสแห่งสิมิลันในระหว่างที่ผมกับพรรคพวกนั่งร่ำสุรากับแก

พี่ไหวอธิบายให้ฟังว่า เต่าทะเลในเมืองไทยจากข้อมูลของกรมอุทยานฯ ตอนนี้พบว่ามี 4 ชนิดด้วยกัน คือ เต่าตนุ เต่ากระ เต่าสังกะสีหรือเต่าหญ้า และเต่ามะเฟือง(บางข้อมูลระบุว่าเมืองไทยพบเต่าทะเล 5 ชนิด คือนอกจากเต่าทะเลทั้ง 4 ชนิดแล้วก็ยังมีเต่าหัวค้อนเพิ่มมาอีกหนึ่งชนิด)

“เต่าที่นี่ที่พี่เจอบ่อยๆเป็นเต่าตนุ ส่วนเต่ากระนานๆเจอที ส่วนเต่าสังกะสีกับเต่ามะเฟืองนี่พี่ก็เจอบ่อยเหมือนกัน แต่มันโผล่ให้เห็นแค่บางจุดเท่านั้น”

พี่ไหวเล่าด้วยสำเนียงทองแดงแท้ๆ ก่อนหยุดเว้นวรรคไปชั่วขณะ จนผมอดรนทนไม่ไหวไม่ได้ต้องถามด้วยความสงสัยว่า “แล้วเต่าสังกะสีกับเต่ามะเฟืองนี่มันโผล่มาให้เห็นที่ไหนล่ะพี่ ผมจะมีโอกาสได้เห็นมันมั้ย”

“โอ๊ย!?! หาไม่ยากหรอก มันโผล่ให้เห็นที่ข้างฝาเป็นประจำเลย จนพี่เรียกมันว่าเต่าข้างฝา” พี่ไหวตอบชัดถ้อยชัดคำ

“หา อะไรนะเต่าขึ้นข้างฝา มันโผล่ขึ้นฝาบ้านพี่รึ”ผมถามต่อ

“เปล่า มันโผล่ขึ้นข้างฝาห้องนิทรรศการที่เราจัดให้นักท่องเที่ยวดู เพราะเต่าทั้ง 2 ชนิด มันไม่โผล่ที่สิมิลันมานานแล้ว”

อืม...ผมฟังพี่ไหวเล่าแล้วในใจก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ถ้าปัจจุบันไม่ช่วยกันดูแลอนุรักษ์เต่าทะเล เต่าอีก 2 ชนิดที่ยังคงพบเห็นที่สิมิลัน อาจทำตัวเป็น”เต่านินจา“ (นินจาเต่า)

นั่นก็คือหายสูญไปแบบไร้ร่องรอย ชนิดที่เราไม่มีวันตามหามันให้กลับคืนสู่ท้องทะเลได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น