นาทีนี้หากถามว่า เมืองไทยกระแสอะไรฮอตสุดๆ เชื่อเหลือเกินว่าคำตอบหนึ่งในนั้นต้องมีตุ๊กตาหัวโต ตาโต อย่าง "บลายธ์" รวมอยู่ด้วยแน่นอน
กระแสคลั่งบลายธ์เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายในบ้านเราเมื่อต้นปีที่ผ่านมา สนนราคาของบลายธ์มีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักแสน
กระแสคลั่งบลายธ์กลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะดาวน์ย่อยๆ ชนิดที่เด็กไทยรุ่นใหม่อาจหลงลืมไปว่า เมืองไทยเรานั้นมีตุ๊กตาสวยๆงามๆ ทรงคุณค่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า บลายธ์ แอบแฝงอยู่ เพียงแต่ว่ามีน้อยคนนักที่จะมองเห็นในคุณค่าความงามแบบไทยๆเหล่านั้น
ตุ๊กตาไทย ไฉไลเชิดโฉม
สถานที่ยลโฉมตุ๊กตาแบบไทยๆนั้นมีอยู่หลายแห่งด้วยกัน แต่ละแห่งต่างมีความพิเศษแตกต่างกันออกไป สถานที่แรกที่จะพาไปรู้จักในครั้งนี้ คือ ที่ "พิพิธภัณฑ์และมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต" ถ.สุขุมวิท แขวงคลองตัน
ในอาณาบริเวณซึ่งเป็นบ้านไม้สองชั้น และเป็นที่ทำงานมากว่า 50 ปี ของ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติประจำปี 2543 สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)จิตรกร ผู้ที่ได้รับขนานนามว่า เป็นหนึ่งในนายช่างเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในรอบ 200 ปี
นอกเหนือจากงานภาพเขียน หุ่นกระบอกไทยซึ่งจัดได้ว่าเป็นตุ๊กตาประเภทหนึ่ง ก็เป็นอีกสิ่งที่ อ.จักรพันธุ์ หลงรักไม่แพ้กัน
ตุ๊กตาไทยของ อ.จักรพันธุ์ เป็นตุ๊กตาที่ประดิษฐ์ขึ้นด้วยความประณีตบรรจงสูงมาก เครื่องแต่งตัวหุ่นของ อ.จักรพันธุ์ นั้นปักและประดับเครื่องแต่งตัวที่ทำจากทองและพลอยจริงๆ
ตุ๊กตาไทยของ อ. จักรพันธุ์ ที่เป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยที่รักศิลปะมีอยู่หลายหลาก อาทิ "ตุ๊กตาพราหมณ์เกศสุริยง" ตัวละครจากละครนอกเรื่อง "สุวรรณหงส์" เป็นเรื่องที่จัดแสดงกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ แต่งไว้หลายสำนวน แต่ที่ชอบนำมาเล่นกันมากคือ บทพระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ (พระองค์เจ้าทินกร-ต้นราชสกุลทินกร ณ อยุธยา) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเจ้าจอมมารดาศิลา
นอกจากนี้ยังมี ตุ๊กตาเด็กโกนจุก ตุ๊กตากุมารน้อยจากวรรณคดี ตุ๊กตานางกวัก ได้รับยกย่องว่าเป็นตุ๊กตานางกวักที่สวยที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ ใช้เวลาประดิษฐ์ตัวละประมาณเกือบ 1 ปี จึงจะแล้วเสร็จ
อ.จักรพันธุ์ ได้เล่าถึงจุดริเริ่มของการสานงานศิลป์หุ่นกระบอกว่า ต้องตาต้องใจเมื่อเห็นครั้งแรกตอนอายุ11ขวบ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง4บางขุนพรหม จากหุ่นคณะนายเปียก
"เสน่ห์ของหุ่นกระบอกที่เราทำ เพราะเรามีความรักความชอบในสิ่งที่เราทำ เราจะเห็นว่าหุ่นกระบอกตัวเล็กๆมีความน่ารักน่าเอ็นดู แล้วก็เชิดได้โดยคนคนเดียว จะเคลื่อนไหวรำน่าเอ็นดู"อ.จักรพันธุ์ กล่าวถึงหุ่นกระบอกอย่างแสนรัก
อ.จักรพันธุ์ ได้มีโอกาสซ่อมหุ่นหลวงหรือหุ่นใหญ่และหุ่นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร ที่เชิดชักมาแต่สมัยอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ทำให้ อ.จักรพันธุ์ ได้ศึกษากลไกเรื่องหุ่นเพิ่มมากขึ้น
"เรียนรู้และเราเอามาปรุงอยู่ในหุ่นกระบอกด้วย ปัจจุบันนี้เรามีการจัดซ้อมเรื่อง "ตะเลงพ่าย" เล่นอยู่เรื่องเดียวไม่ได้เล่นเรื่องอื่นเลย ทุกวันอาทิตย์ปลายเดือน เรื่องตะเลงพ่าย มี วัลลภิศร์ สดประเสริฐ ทั้งแต่งเรื่องและแสดงกับเรามานานกว่า 20 ปี"อ.จักรพันธ์กล่าวถึงการจัดซ้อมการแสดงเป็นประจำซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้ารับชมได้ฟรี
เมื่อถามถึงเรื่องกระแสความนิยมของตุ๊กตาต่างชาติที่เข้ามามีบทบาทในสังคมไทย อ.จักรพันธุ์มองว่า เป็นเรื่องส่วนบุคคลขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัว เปรียบกันไม่ได้เพราะเป็นคนละเรื่องกัน
"หุ่นของจักรพันธุ์ ถ้าจะเทียบราคาก็ไม่ทราบจะเทียบอย่างไร เพราะเราไม่ขาย ไม่ได้ทำเป็นสินค้าสำหรับขาย เราทำเพื่อความปรารถนาของเราเองที่จะทำ ฉะนั้นถึงจะมีบลายธ์เกิดขึ้นมาเราก็ไม่ได้เดือดร้อน จนทุกวันนี้ยังไม่รู้จัก ยังไม่เห็นเลยว่าหน้าตามันเป็นอย่างไร แต่ถามว่าทำอย่างไรจะให้คนมานิยม เราก็ทำตามกำลังของเรานี่แหละ ซ้อม แทนที่จะปิดซ้อมกันเองอยู่ในบ้าน ก็เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาดู แล้วเขาจะนิยมหรือเปล่า ถ้าเกิดเขาไม่นิยมก็ช่างเขา เราไม่มีโฆษณา ก็อยู่กันแบบนี้ รู้บ้างไม่รู้บ้าง ถ้าเล่นประทับใจเขาก็เล่ากันต่อไป"อ.จักรพันธุ์กล่าว
ตุ๊กตาไทย...ไม่แพง
จากคลองตันย้ายมาอีกแห่งหนึ่งย่าน ซ.หมอเหล็ง ถ. ราชปรารภ พบกับพิพิธภัณฑ์ "บางกอกดอลล์"ที่มีทั้งโรงงานผลิตตุ๊กตา และมีตุ๊กตานานาชาติ จัดแสดงให้ชมเช่นกัน
สำหรับประวัติความเป็นมาของ บางกอกดอลล์ ก่อตั้งขึ้นโดยคุณหญิงทองก้อน จันทวิมล เมื่อปี พ.ศ. 2499 หลังจากกลับมาจากการเรียนประดิษฐ์ตุ๊กตาที่โรงเรียนโอซาวาดอลล์ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
รศ.อาภัสสร์ จันทวิมล ลูกชายของคุณหญิงทองก้อน จันทวิมล ได้เล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้น ก่อนจะมาเป็น บางกอกดอลล์ ว่า คุณหญิงทองก้อนมีจุดประสงค์ เพื่อประดิษฐ์ตุ๊กตาของไทยออกเผยแพร่ ตุ๊กตาของที่นี่เป็นที่รู้จักของนานาชาติ ตลอดจนนักสะสมตุ๊กตาทั้งหลาย เนื่องมาจากความสวยงามของตุ๊กตาที่ประดิษฐ์ออกมา มีความเป็นเอกลักษณ์แบบไทย และเคยได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดตุ๊กตาพื้นเมืองนานาชาติครั้งที่ 3 ประจำปี 2521 ที่ประเทศโปแลนด์อีกด้วย
"จากวันนั้นจวบถึงวันนี้บางกอกดอลล์อายุ 53 ปีแล้ว คุณหญิงทองก้อน ตอนนี้อายุ 93 ปี ในช่วง 10ปีนี้ ก็ไม่ได้ทำตุ๊กตาตัวใหม่ออกมา นอกจากจะมีคนมาสั่งทำเราก็ทำให้ เอกลักษณ์ของตุ๊กตาเราโดดเด่นตรงที่เป็นเรื่องราวแต่งกายสวยงาม ถ้าเป็นแบบไทยก็แต่งตัวถูกต้องตามหลักของวรรณคดีไทย ดูแล้วมีชีวิตชีวา ทำด้วยมือ จึงเพิ่มคุณค่า"รศ.อาภัสสร์กล่าว
ตุ๊กตาบางกอกดอลล์มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ตุ๊กตาโขน ละครรำ วรรณคดี ชีวิตชาวไทยในชนบท และชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ราคาก็มีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน ใครชอบแบบไหนจะสั่งทำเป็นพิเศษก็ย่อมได้
ทั้งนี้ รศ.อาภัสสร์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า บ้านตุ๊กตาบางกอกดอลล์ เริ่มจากการสะสมตุ๊กตา ก่อนที่จะขยับมาเป็นพิพิธภัณฑ์อย่างที่เห็นกัน สิ่งที่ทำให้ยืนหยัดอยู่ได้ คงจะเป็นคำชื่นชมของคนที่เข้ามาสัมผัส คนที่เขาชอบก็ชอบจริงๆ มาดูเป็นเวลานานก็ไม่เบื่อ จากตุ๊กตาตัวแรก พ.ศ.2498 ในช่วง53ปี ก็มีตุ๊กตานับร้อยรุ่น
"อย่างตอนนี้เขานิยมบลายธ์กัน ผมก็เคยได้ยินชื่อ แต่ยังไม่รู้จักว่าหน้าตาเป็นยังไง ข้อเสียเปรียบอย่างหนึ่งของตุ๊กตาเรา คือ ตุ๊กตาของเราทำแบบอนุรักษ์นิยมเป็นแบบของเก่า ทำเหมือนโขนละครที่เล่น แต่มันเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวไม่ได้ ส่วนตุ๊กตาต่างชาติมันเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวได้"รศ.อาภัสสร์แสดงความคิดเห็น
อมตะตุ๊กตาชาววัง
ยกเรื่องตุ๊กตาไทยมาเล่าอีกแห่งหนึ่งจะลืมที่นี่ไม่ได้ เพราะที่นี่คือแหล่ง "ตุ๊กตาชาววัง" ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย คือที่ "หมู่บ้านบางเสด็จ" ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ เป็นเรือนไทยทรงสูง อยู่ด้านหลังวัดท่าสุทธาวาส
รุจี วิจิตรานุรักษ์ ประธานกลุ่มตุ๊กตาชาววังหมู่บ้านบางเสด็จ กล่าวถึงเรื่องราวการเดินทางของตุ๊กตาชาววังให้ฟังว่า เพียงชื่อก็น่าจะบ่งบอกได้พอสมควรว่าเป็นตุ๊กตาที่ทำกันในวัง เดิมนั้นเป็นตุ๊กตาที่ทำเล่นกันเฉพาะเจ้านายในพระบรมมหาราชวังสมัยรัชกาลที่5
ในพื้นที่ ต.บ้านบางเสด็จ เดิมชื่อบ้านวัดตาล ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อบ้านบางเสด็จ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทาน ความช่วยเหลือแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในปี พ.ศ.2518 ซึ่งสร้างความปลื้มปิติให้แก่ราษฎรเป็นอันมาก เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ จึงได้เปลี่ยนชื่อบ้านวัดตาลเป็น บ้านบางเสด็จ
โครงการตุ๊กตาชาววังที่บ้านบางเสด็จ จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2519 เพื่อเป็นอาชีพเสริมเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ราษฎร
"ตุ๊กตาชาววังของเราเป็นดินเหนียว ราคามีตั้งแต่ 5บาท ไปจนถึงเป็นพัน"รุจีกล่าว
สำหรับกระแสบลายธ์ที่ฮอตฮิตในขณะนี้ ในสายตาของรุจี เธอมองว่าเป็นที่สื่อกระตุ้นมากกว่า ของไทยๆนั้นดี แต่ถ้าไม่มีคนแนะนำว่าดีแบบไหนคนก็ไม่รู้
"ที่เราทำตุ๊กตาโบราณออกมา ก็เพราะอยากให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นว่าวิถีชีวิตแบบเดิมของคนสมัยก่อนเป็นอย่างไร คนไทยต้องช่วยกันอุดหนุนของไทย อย่างน้อยเงินทองก็ไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ ตุ๊กตาต่างชาติส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเป็นเรื่อง ต่างจากของเราที่สะท้อนขนบหลายหลาก"รุจีแสดงความคิดเห็นในฐานะช่างทำตุ๊กตาชาววัง
ถึงบรรทัดนี้พอจะทำให้ใครหลายๆคน กลายเป็นคนรวนเรเหหัน เปลี่ยนใจมานิยมตุ๊กตาแบบไทยๆกันบ้างหรือยัง.
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
พิพิธภัณฑ์และมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต 63 49/1 ถ.สุขุมวิท 63 แขวงคลองตัน เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110 โทร. 0-2392-7754 เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมการซ้อมหุ่นกระบอกเรื่อง "ตะเลงพ่าย"ทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน ผู้ที่สนใจเข้าชม ต้องติดต่อจองบัตรเข้าชมก่อน ไม่เสียค่าเข้าชม
พิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาบางกอกดอลล์ 85 ซ. รัชฏภัณฑ์ (หมอเหล็ง) ถ. ราชปรารถ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทร. 0-2245-3008 เปิดตั้งแต่ จันทร์ - เสาร์ เวลา 08.30-17.00 น. หยุดทุกวันอาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ ไม่เสียค่าเข้าชม
ตุ๊กตาชาววังหมู่บ้านบางเสด็จ ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง 14130 โทร.08-1946-5457, 08-1255-5654,0-3566-1950-1