xs
xsm
sm
md
lg

"วัดหนัง” มนต์ขลังวัดงามย่านฝั่งธน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
พระปรางค์ตั้งอยู่ระหว่างพระอุโบสถและพระวิหาร
ย่านฝั่งธนบุรี นับว่ามีวัดเก่าแก่ วัดสวยๆงามๆที่ซ่อนกายแฝงเร้นอยู่ตามเรือกสวน ตามชุมชน เป็นจำนวนไม่น้อย

หนึ่งในนั้นก็คือ "วัดหนังราชวรวิหาร" หรือ"วัดหนัง" ที่ฉันได้มีโอกาสเดินทางมาเยือนในทริปนี้

วัดหนัง ถือเป็นวัดสำคัญอีกวัดในฝั่งธนฯ เป็นวัดเก่าแก่ริมคลองด่าน มีประวัติว่าสร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ 9 (พระเจ้าท้ายสระ) ก่อนหน้าที่จะมาเป็นวัดพระอารามหลวงนี้วัดหนังเป็นวัดร้างอยู่กว่า 200 ปี จนมารุ่งเรืองขึ้นเมื่อสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาวัดขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม ด้วยเหตุนี้เองที่วัดหนังไม่ได้เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีนตามแบบพระราชนิยมของรัชกาลที่ 3 แต่เป็นวัดแบบไทยๆ เพราะพระบรมราชชนนีของพระองค์ทรงสถาปนาขึ้น
หุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่เอี่ยมมีคนมากราบไหว้อยู่เสมอ
ต่อมาวัดแห่งนี้ก็ได้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของรัชกาลที่ 3 ซึ่งพระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆขึ้นภายในวัดอีกหลายสิ่งด้วยกันดังที่ได้เห็นกันในปัจจุบัน ซึ่งก็ได้แก่ พระอุโบสถก่ออิฐถือปูนขนาด 5 ห้อง มีเฉลียงโดยรอบ หน้าเป็นประดับกระจกเป็นรูปดอกไม้สวยงาม ส่วนภายในพระอุโบสถประดิษฐาน "พระพุทธปฏิมากร" พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยเป็นพระประธาน ประดิษฐานอยู่บนฐานแว่นฟ้า 2 ชั้น ฐานพระ 1 ชั้น แบบชุกชีในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ แต่ย่อส่วนให้เล็กลง

ส่วนพระวิหารนั้นก็มีลักษณะคล้ายกับพระอุโบสถ แต่ภายในแบ่งเป็นสองห้อง มีประตูทางเข้าคนละด้าน ด้านหนึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยเรียงเป็นแถว 5 องค์ ส่วนอีกด้านหนึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาพอกปูนลงรักปิดทองปางมารวิชัยไว้ พระประธานองค์นี้สันนิษฐานว่าเดิมเป็นพระประธานของวัด รวมทั้งตัวพระวิหารก็สันนิษฐานว่าเป็นพระอุโบสถเก่าก่อนที่จะถูกบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3

สิ่งที่โดดเด่นไม่แพ้พระอุโบสถและพระวิหารนั้นก็คือพระปรางค์องค์สูงใหญ่ที่ตั้งอยู่ระหว่างกลาง เป็นพระปรางค์ที่มีความสูง 22.30 เมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 13.60 เมตร มีลานประทักษิณ 3 ชั้นเป็นรูปแปดเหลี่ยม ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ สามารถมากราบสักการะกันได้ โดยบริเวณหน้าพระปรางค์นั้นมีแท่นหินประกอบเป็นรูปเก้าอี้จีนอยู่ 1แท่น เรือนไฟหิน 1 คู่ ตุ๊กตาหินนักรบจีนโบราณ 1 คู่ โดยของเหล่านี้เป็นของพระราชทานจากรัชกาลที่ 3 นั่นเอง
 พระปรางค์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
และคนที่มาที่วัดหนังนี้หลายๆคนก็มาเพื่อกราบสักการะหลวงปู่เอี่ยม หลวงปู่ฉัตร และหลวงปู่ผล ที่วิหารหลวงปู่ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับศาลาการเปรียญ โดยหลวงปู่ทั้งสามองค์นี้ก็ถือเป็นเกจิชื่อดังแห่งวัดหนัง โดยเฉพาะหลวงปู่เอี่ยม หรือพระภาวนาโกศลเถระนั้น ถือเป็นพระสงฆ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงให้ความเคารพศรัทธาเป็นอย่างสูง เพราะเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จประพาสยุโรปไปที่ประเทศฝรั่งเศส พระองค์จะต้องทรงขึ้นขี่ม้าพยศตัวหนึ่งซึ่งไม่มีใครปราบได้ แต่พระองค์ได้ทรงใช้คาถาของหลวงปู่เอี่ยมเสกหญ้าให้ม้ากินจนม้าเชื่องสงบ และสามารถประทับขี่บนหลังม้าตัวนั้นได้อย่างสง่างาม

และบริเวณริมคลองด่านก็ยังมีพระมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาท โดยจำลองแบบมาจากพระพุทธบาทสระบุรีนั่นเอง

แต่เมื่อมาเยี่ยมเยือนวัดหนัง แล้วก็ต้องไม่พลาดชม "พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาวัดหนังราชวรวิหาร" พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภายในวัดหนังที่มีข้าวของที่น่าสนใจหลากหลายอย่าง และยังเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เป็นความร่วมมือระหว่างบ้านกับวัดอีกด้วย
วัดงามริมคลองด่าน
จุดกำเนิดของพิพิธภัณฑ์นี้ก็เนื่องมาจากว่า อาคารพิพิธภัณฑ์เดิมเป็นกุฏิของหลวงปู่ผล หรือพระครูภาวนาภิรัตน์ ก่อนที่ท่านจะได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นพระสุนทรศีลสมาจาร เจ้าอาวาสองค์ที่ 7 ของวัดหนังฯ โดยท่านเป็นศิษย์ของหลวงปู่เอี่ยม ท่านจึงมีความเชี่ยวชาญทางด้านวิปัสสนาธุระ ทำให้มีคนนับถือมากมาย ต่อมาลูกศิษย์ของท่านคือพระครูวิบูลศีลวัตร (หลวงปู่ช้วน) เป็นผู้รับดูแลต่อมา และมีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เก็บไว้มากมาย หลังจากที่หลวงปู่ช้วนมรณภาพลงก็ได้มีการจัดทำความสะอาดกุฏิ จึงพบว่ามีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆเป็นจำนวนมากที่ผู้คนนำมาถวาย พระครูสังฆรักษ์ไพฑูรย์ สุภาทโรจึงคิดจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นแทนที่จะเก็บไว้เฉยๆให้เก่าเสื่อมโทรมแถมยังจะถูกขโมยไปอีกต่างหาก

ประโยชน์ที่ได้รับจากพิพิธภัณฑ์นอกจากจะเป็นการเก็บรักษาสิ่งของมีค่าแล้ว ก็ยังถือเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนรุ่นหลังอีกด้วย เพราะชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ทราบข่าวการจัดทำพิพิธภัณฑ์ ก็ได้บริจาคเครื่องมือเครื่องใช้เก่าแก่ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตในอดีตของคนในแถบนี้ ทำให้พิพิธภัณฑ์นี้แบ่งเป็นสองส่วนด้วยกัน คือส่วนหนึ่งเก็บรวบรวมของมีค่าเก่าแก่ของวัด อีกส่วนหนึ่งเก็บข้าวของเครื่องมือของชาวชุมชนในอดีต
ภายในชั้นสองของพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์นี้จัดทำขึ้นในเรือนไทยโบราณ ซึ่งเคยใช้เป็นกุฏิพระมาก่อน เมื่อเดินเข้าไปชมที่ชั้นล่างจะจัดแสดงประวัติศาสตร์ของพื้นที่เขตจอมทองในแถบวัดหนังแห่งนี้ บริเวณนี้มีระฆังเก่าแก่ใบหนึ่งซึ่งเป็นของชิ้นสำคัญเพราะจารึกบนตัวระฆังทำให้เราทราบถึงช่วงเวลาในการเริ่มสร้างวัด ทั้งยังมีก้อนอิฐโบราณที่เป็นฐานรากของวัดมาแต่เดิม รวมไปถึงเครื่องปั้นดินเผาต่างๆที่ขุดพบเมื่อปฏิสังขรณ์วัดอีกด้วย

ชาวบ้านในแถบวัดหนังนี้ในอดีตส่วนใหญ่ก็ประกอบอาชีพทำไร่ทำสวน ทำเกษตรกรรมต่างๆ จึงมีการจัดแสดงเครื่องไม้เครื่องมือเกี่ยวกับการเกษตร มีเรือชนิดและขนาดต่างๆ ที่ชาวบ้านใช้เป็นพาหนะเดินทาง และมีการจำลองเอาสภาพบ้านเรือนของคนในแถบนี้ให้ดูกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นห้องนอน ซึ่งมีมุมแต่งตัว มีโต๊ะเครื่องแป้งตัวเล็กๆน่ารัก มีเครื่องเล่นแผ่นเสียงหน้าตาโบราณแต่ยังใช้ได้จริง และมีเตียงเก่าหลังหนึ่งมาจัดแสดงไว้ แถมบอกว่าเตียงนี้ใช้ไม้จากฝาโลงศพมาทำ คิดแล้วก็ บรื๋อออ.... กลัวนอนไม่หลับแทนเจ้าของเตียง

แล้วก็ยังมีครัวไฟ ส่วนสำคัญที่เป็นปากท้องของบ้าน มีเตาไฟหน้าตาโบราณ หม้อไหที่ทำจากดินเผา ตู้กับข้าวหน้าตาคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยมีที่บ้าน รวมทั้งกระบุงกระจาดเครื่องใช้อีกมากมายจัดแสดงไว้ให้รำลึกถึงอดีต และมีตะเกียงน้ำมันหลายขนาด ที่เป็นของใช้สำคัญก่อนที่ไฟฟ้าจะเข้ามาถึง
พระอุโบสถวัดหนังฯ
คราวนี้เดินขึ้นมาดูบนชั้นสองบ้าง ที่ชั้นบนนี้จะเป็นข้าวของที่เกี่ยวข้องกับวัดหนังล้วนๆ เริ่มตั้งแต่แผ่นไม้เก่าแก่ที่เป็นป้ายชื่อวัดหนัง ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นอำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรีอยู่เลย ใกล้ๆกันนั้นจัดแสดงเรื่องของตำรายาไทย ซึ่งพระสุนทรศีลสมาจาร หรือหลวงปู่ผล เจ้าอาวาสองค์ที่ 7 ของวัดหนัง นั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ และต่อมาหลวงปู่ช้วนก็ได้รับถ่ายทอดวิชาแพทย์แผนโบราณจากหลวงปู่ผล ซึ่งท่านก็ได้ปรุงยาและรักษาคนป่วยต่อมาที่กุฏิหลังนี้ ดังนั้นจึงมีการจัดแสดงข้าวของที่เกี่ยวข้องอย่างหม้อต้มยา และเครื่องต้มยาต่างๆ

ถัดเข้าไปด้านใน เป็นที่จัดแสดงคัมภีร์ใบลานของวัด และตู้เก็บคัมภีร์ รวมไปถึงหนังสือเรียนเล่มเก่าๆที่ปัจจุบันหาดูได้ยากแล้ว นอกจากนั้นก็ยังจัดแสดงเครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ต่างๆ และพระพุทธรูปหลายปางต่างยุคสมัยกัน พระเครื่องวัตถุมงคลที่ทางวัดจัดทำ อีกทั้งยังมีเครื่องอัฐบริขารของพระสงฆ์ สำรับอาหารสำหรับพระสงฆ์ ตาลปัตรพัดยศที่พระผู้ใหญ่ในวัดได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์จัดแสดงให้ชมอีกด้วย
เรือชนิดต่างๆจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ชั้นล่าง
มาถึงห้องสุดท้ายในชั้นสองซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญพลาดไม่ได้ นั่นก็คือห้องด้านในสุดที่ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งของหลวงปู่เอี่ยม พระเกจิที่เป็นที่เคารพเลื่อมใสของพระมหากษัตริย์คือรัชกาลที่ 5 และของชาวบ้านในแถบนี้ดังที่เล่าให้ฟังไปตอนต้นแล้ว ภายในห้องนี้นอกจากจะมีหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าองค์จริงของท่านแล้ว ก็ยังมีพัดยศทำด้วยงาช้างที่เป็นของจำลอง ส่วนของจริงนั้นเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มีกรอบรูปไม้พระราชทานจากรัชกาลที่ 3 และลับแลหรือฉากกั้น ที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 อีกด้วย
เครื่องถ้วยเบญจรงค์ต่างๆ ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
ภายในห้องนี้ยังเก็บรักษาข้าวของเครื่องใช้ประจำตัวของหลวงปู่เอี่ยม และภาพถ่ายเก่าๆ รวมไปถึงภาพถ่ายหลวงปู่เอี่ยม ซึ่งเป็นภาพฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงถ่ายไว้เมื่อคราวเสด็จมาทอดพระเนตรการบูรณะวัดหนัง

มาวัดหนังที่เดียวได้เที่ยวทั้งวัดทั้งพิพิธภัณฑ์ ถือว่าคุ้มจริงๆ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

"วัดหนังราชวรวิหาร" ตั้งอยู่บนถนนวุฒากาศ แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร 10150 สำหรับ "พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาวัดหนังราชวรวิหาร" นั้น เปิดให้เข้าชมเฉพาะในวันเสาร์-อาทิตย์ ในเวลา 13.00-16.00 น. ควรติดต่อมาล่วงหน้าก่อนเข้าชม สำหรับการเดินทางมายังวัด มีรถประจำทางสาย 43, 111 ผ่าน สอบถามรายละเอียดโทร.0-2875-4405
กำลังโหลดความคิดเห็น