xs
xsm
sm
md
lg

“รองเท้าพ่อ” ต้นแบบแห่งความพอเพียง/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
รูปหล่อทองแดงนูนต่ำภาพพระราชกรณียกิจในหลวงที่ด้านหน้าทางเข้าอาคารนิทรรศการ
“... การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน ใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานที่มั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญยกเศรษฐกิจให้รวดเร็วแต่ประการเดียวโดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด ดังเห็นได้ที่อารยะประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในเวลานี้...”

พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2517

เป็นที่ซาบซึ้งกันดีว่า พระราชกรณียกิจของในหลวงที่ทรงทำเพื่อประชาชนนั้น มีมากมายเพียงใด เฉพาะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น ก็มีถึงกว่า 3,000 โครงการ ซึ่งแต่ละโครงการถือกำเนิดมาจากพระอัจฉริยภาพ พระเมตตาคุณ พระกรุณาธิคุณ ที่พระองค์ท่านได้พระราชทานเพื่อเป็นแนวทางในการบำบัดปัดเป่าความเดือดร้อนของพสกนิกรชาวไทยในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

ด้วยเหตุนี้โครงการ"ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ" อ.ท่าด่าน จ.นครนายก จึงถือกำเนิดขึ้น เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 (เปิดเป็นทางการ 3 มิ.ย. 51) เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมข้อมูลและกิจกรรมที่แสดงให้เห็นโครงการอันเนื่องอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นแหล่งเรียนรู้ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวในแนวคิด ”พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติมีชีวิต”

ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมุ่งการพัฒนาด้วยการแก้ไขปรับปรุงคุณภาพของ คน ดิน น้ำ ป่า อย่างเป็นระบบ โดยให้คน คือ เกษตรกร ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นแกน ตามแนวทางคนต้องอยู่ พึ่งพา และ ดูแลป่า ดิน น้ำ

ในศูนย์ภูมิรักษ์ แบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน

ส่วนแรกเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงเกี่ยวกับแนวพระราชดำริและพระราชกรณียกิจต่างๆ เป็นการสรุปภาพรวมทั้งหมดของพระราชกรณียกิจ ที่ในหลวงทรงบำเพ็ญตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
สระสาธิตการใช้ใช้อธรรมปราบอธรรม
ส่วนที่ 2 เป็นอาคารนิทรรศการ จัดแสดงกึ่งพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ผู้เข้าชมเข้าใจแนวพระราชดำริได้อย่างชัดเจน อาทิ แปลงสาธิตกลางแจ้งตามแนวพระราชดำริ การใช้หญ้าแฝกยึดหน้าดิน การใช้พลังงานทดแทน ทฤษฎีแก้มลิง ที่ใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมอันเปรียบจากเหมือนลิงเวลากินกล้วยที่จะเก็บกล้วยพักไว้ที่แก้มแล้วจึงนำมาเคี้ยวกินภายหลัง

และส่วนที่ 3 เป็นการจัดแสดงในพื้นที่ภายนอกอาคาร มีการจำลองป่า และภูมิประเทศของประเทศไทยทั้ง 4 ภาค ในทางการพัฒนา “ดิน น้ำ ป่า” ภายใต้แนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ และวิถีพิเพียงแบบไทย ในรูปแบบที่เน้นให้ผู้เข้าเยี่ยมชม “Play and Learn” ได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินกลับไป

นอกจากนี้ในศูนย์ยังมีการนำเสนอวิถีชีวิต และภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งจะจัดแสดงเป็นลักษณะ "อาศรมปัญญา" โดยทำการรวบรวมเอา "108 เซียน" ผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา ที่ถือว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ได้หมุนเวียนมาช่วยคิด และช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับผู้สนใจที่เข้ามาเยี่ยมชม

สำหรับผมถือว่านี่คือแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ที่นอกจากกายสัมผัส ตาดูแล้ว หูยังต้องฟัง ปากต้องถามต่อเจ้าหน้าที่ภายในศูนย์ ซึ่งก็จะได้ข้อมูลเรื่องราวเบื้องลึกในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มาเสริมส่งปัญญาเราให้กว้างและลึกมากขึ้น

หลายจุดมีปรัชญาแอบแฝงอยู่ อย่างบ่อบำบัดน้ำเสีย ที่นำมาจากพระราชดำรัสของพระองค์ท่านที่ว่า “ใช้อธรรมปราบอธรรม” อันหมายถึงการใช้ผักตบชวาที่มีตามธรรมชาติ วัชพืชที่ดูเป็นสวะลอยน้ำในสายตาของใครหลายคน มาช่วยดูดซึมสิ่งสกปรก สิ่งปนเปื้อนในน้ำให้สะอาดขึ้น

ในขณะที่อาคารนิทรรศการ(ส่วนที่ 2 ) ภายในก็มีข้อคิดสอนใจอยู่หลายจุด อาทิ ในโซนการปลูกป่า ที่มีข้อความพระราชดำรัสว่าของพระองค์ท่านเมื่อครั้งพระราชทานเมื่อเสด็จฯไปหน่วยงานพัฒนาต้นน้ำทุ่งจ๊อ จ.เชียงใหม่ พ.ศ. 2519 ดังความว่า

“...เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดิน และรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...”

ส่วนที่ผมประทับใจมากก็คือที่ด้านหน้าทางเข้าอาคารนิทรรศการ ที่เป็นรูปหล่อทองแดงนูนต่ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่สาวที่นำชมอาคารเล่าว่า
ภาพสลักนูนต่ำฉลองพระบาทสินค้าไทย
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาขอได้พระราชทานอนุญาตหล่อขึ้นมา โดย ดร.สุเมธ มีความประสงค์อยากให้ผู้มาเยือนศูนย์ภูมิรักษ์ “มอง” ในหลวงอย่างลึกซึ้ง เป็นการมองไม่ใช่การ“เห็น” โดย ดร.สุเมธ อยากให้ประชาชนมองถึงสิ่งที่พระองค์ท่านทำ

สำหรับภาพนี้เป็นภาพพระราชกรณียกิจของในหลวง พระองค์ท่านนั้นมีสายพระเนตรที่เฝ้ามองพสกนิกรชาวไทยอยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่สาวยังให้สังเกตสิ่งน่าสนใจ 3 จุด ในภาพหล่อในหลวง

จุดแรกคือในกระเป๋าพระองค์ท่านมีดินสอเหน็บอยู่

“ที่ในหลวงทรงใช้ดินสอ พระองค์ท่านตรัสว่า ดินสอมีราคาถูก ผลิตได้ในเมืองไทย และดินสอเขียนผิดสามารถลบได้ พระองค์ท่านทรงใช้ดินสอ 1 ปี ประมาณ 12 แท่ง”

เจ้าหน้าที่สาวอธิบาย ก่อนให้สังเกตจุดที่สอง คือ แผนที่ในพระหัตถ์ซ้ายและสะพายกล้อง

“พระองค์ท่านก่อนเสด็จฯ จะศึกษาภูมิประเทศจากแผนที่ก่อน ศึกษาเรื่องของดิน น้ำ ประชาชน สภาพสังคม ศาสนา อาชีพ ส่วนกล้องถ่ายรูปนั้น ถือเป็นการบันทึกข้อมูลอย่างหนึ่ง และเป็นภาพที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี”

เจ้าหน้าที่สาวเล่าต่อว่า จุดสุดท้ายให้มองที่ฉลองพระบาท

“พระองค์ท่านสวมฉลองพระบาทเป็นรองเท้าผ้าใบ ยี่ห้อ“นันยาง” โดยพระองค์ท่านให้เหตุผลว่า มีราคาถูก เป็นสินค้าที่คนไทยผลิตได้เอง สวมใส่นุ่มเท้า มีความคงทน เวลาเสด็จฯออกตามภูมิประเทศทุรกันดาร สวมฉลองพระบาทรองเท้าผ้าใบยี่ห้อนี้จะเดินสะดวกสบาย คล่องแคล่ว”

หลังฟังคุณเจ้าหน้าที่สาวเล่า ผมอดนึกถึงสมัยเด็กๆไม่ได้ ตอนเด็กผมประถม มัธยม ก็ใส่รองเท้าผ้าใบยี่ห้อนี้ แต่พออยู่มหา’ ลัย กลับเห่อไปตามกระแสสังคม ทิ้งนันยางไปเสียตังค์ซื้อรองเท้าคู่แพงๆจากเมืองนอก เพราะรู้สึกอายในการสวมรองเท้าแบรนด์คนไทย

ครั้นพอได้รับรู้ว่าในหลวงท่านสวมฉลองพระบาทยามเสด็จออกที่ทุรกันดารด้วยรองเท้าผ้าใบยี่ห้อนี้ ทำให้ผมอดซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและความเป็นต้นแบบแห่งความพอเพียงของพระองค์ท่านไม่ได้ ซึ่งบ้านเรานั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวคิด“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ให้กับคนไทยมาหลายสิบปีแล้ว แต่ก็มีกลุ่มคนเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่นำแนวคิดนี้ไปปฏิบัติตามหรือนำไปประยุกต์ใช้

สำหรับปีหน้า(52)ปีเผาจริงทางเศรษฐกิจ หากผู้ใดนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต อาจช่วยผ่อนหนักเป็นเบาในปัญหาด้านเศรษฐกิจการเงินได้
กำลังโหลดความคิดเห็น