ในบรรดาหมู่เมืองเก่าอันสงบงามของบ้านเรา ที่ควรค่าแก่การศึกษาถึงรากเหง้านั้น แน่นอนว่าหากเอ่ยชื่อ หนึ่งในนั้นต้องมีนามของ"เวียงเชียงแสน"อ.เชียงแสน จ.เชียงราย รวมอยู่ด้วย
เชียงแสนถือเป็นเมืองเก่าแก่มากที่สุดแห่งหนึ่งของล้านนา คนมาเชียงแสนครั้งแรก หากไม่รู้จะตั้งต้นตรงไหน ไม่ต้องหันรีหันขวางให้เสียเวลา มุ่งหน้าเดินทางไปสู่ "สำนักงานเทศบาลตำบล (ทต.) เวียงเชียงแสน" ได้เลย ที่นี้มีข้อมูลดีๆเกี่ยวกับเส้นทางการท่องเที่ยวของเวียงเชียงแสน มอบให้แก่นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชมได้เอง
แต่สำหรับเราที่เป็นพวกเมื่อยง่ายแกมขี้เกียจ เลยขอลองใช้บริการใหม่ชมเวียงเชียงแสนด้วยรถไฟฟ้าขนาด 12 ที่นั่ง ที่มีไว้รองรับนักท่องเที่ยวจำนวน 2 คัน
เจ้ารถไฟฟ้านี้ไม่เหมือนรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯหรอกนะต่างกันลิบลับ เพราะเป็นการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ที่ชอบใจเป็นพิเศษ ก็ตรงที่เขาเปิดให้นักท่องเที่ยวนั่งฟรี มีคนขับพร้อมมัคคุเทศก์บรรยายเสร็จสรรพ ทำให้ได้ความรู้เพิ่มมากขึ้นเป็นกระบุงเกวียน
เมื่อคนขับพร้อม มัคคุเทศก์พร้อม ผู้โดยสารพร้อม รถไฟฟ้าคันน้อยเริ่มพาเราขับเคลื่อน ทำหน้าที่ประดุจไทม์แมชชีน พาเราเข้าสู่บรรยากาศของเมืองเก่ากันทันที
รอบเวียงเชียงแสนเต็มไปด้วยวัดและซากโบราณสถานมากมาย เสียงแว่วหวานจากมัคคุเทศก์สุดสวยบอกว่า แค่ในเขตเทศบาลก็มีวัดเก่าแก่ ทั้งที่ร้างและไม่ร้างอยู่กว่า 76 วัดด้วยกัน
มาเที่ยวเมืองเก่ากันทั้งที สมองจะกลวงโบ๋กันได้อย่างไร อย่างน้อยก็ต้องศึกษาประวัติความเป็นมาของเมืองกันก่อน จะได้เพิ่มอรรถรสการท่องเที่ยวของเราให้สนุกมากยิ่งขึ้น สำหรับเวียงเชียงแสนนั้น เราอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างในชื่อของ "อาณาจักรโยนกนาคพันธุ์" หรือ "เวียงปรึกษา" ที่คุ้นชินกันที่สุดอีกชื่อ อย่าง "เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน"
ที่นี่เคยมีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาถึง 24 พระองค์จนถึงยุคเปลี่ยนผ่าน คือ ช่วงสมัยของพระยามังราย ที่ได้ย้ายศูนย์กลางของเมืองมาที่เวียงเชียงราย ก่อนที่ภายหลังจะมีการสร้างบ้านแปงเมืองเชียงใหม่ขึ้นมา ให้กลายเป็นศูนย์กลางอาณาจักรล้านนา ดังปรากฏมาจนทุกวันนี้
ดังนั้นเวียงเชียงแสนแห่งนี้จึงมีความเก่าแก่และคงความสำคัญไม่น้อยด้านประวัติศาสตร์
จากความรุ่มรวยเข้าสู่ความร่วงโรย ปัจจุบันเชียงแสนถูกผนวกรวมเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย
แดดร่ม ลมดี ดูจะเป็นใจให้ "ตะลอนเที่ยว"ได้ "ผ่อ" (มองดู) ความเป็นไปของเวียงเชียงแสนยิ่งนัก เชียงแสนกาลก่อนเป็นฉันใดไม่อาจล่วงรู้ แต่เชียงแสน ณ เวลาที่เห็น ยามรถไฟฟ้าเคลื่อนผ่านบ้านเรือนผู้คนจะใช้ชีวิตกันเรื่อยๆไม่รีบร้อน หรือ เพราะคนที่นี่ยังผูกพันกับศาสนา หรือ เพราะคนที่นี่ยังอยู่กันได้อย่างกลมกลืนกันของเก่าและของใหม่ หรือ เพราะคนที่นี่อิงแอบแนบชิดกับน้ำโขงที่ไหลเอื่อยก็สุดจะเดา ใครอยากรู้คงต้องตามไปเที่ยวดูเอง
รถไฟฟ้าเคลื่อนผ่านกำแพงเมืองเก่าทางด้านทิศเหนือ ที่ตอนนี้มองเห็นเป็นเพียงก้อนอิฐบนเนินสูงพอท่วมหัว มาหยุดนิ่งอยู่ที่ "วัดเสาเคียน" วัดร้างกลางชุมชม ที่มีซากฐานพระวิหารสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่และพระพุทธรูปปางมารวิชัยปูนปั้นที่เหลือเพียงพระอุระ
เยื้องๆกันเพียงถนนกั้นเป็น"วัดร้อยข้อ" วัดร้างที่ได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2544 มีเจดีย์แปดเหลี่ยมแบบล้านนา โดดเด่นด้วยพระพุทธรูปสีขาวองค์ใหญ่ศิลปะเชียงแสน ตระหง่านงามอยู่
เดินเที่ยวชมวัดที่อยู่ใกล้กันจนหนำใจ ก็ย้ายมาพักเหนื่อยด้วยนั่งบนรถไฟฟ้า เพื่อเดินทางสู่เป้าหมายต่อไป ขับมาไม่ทันไรรถก็หยุดนิ่งสนิท เพื่อให้เราได้เดินชมโบราณสถานกันต่อ ครั้งนี้มาหยุดอยู่ที่ "วัดอาทิต้นแก้ว" ซึ่งตามประวัติระบุว่าสร้างโดยพระเมืองแก้ว เมื่อ พ.ศ. 2058 ที่นี่มีเจดีย์ก่ออิฐแบบล้านนาองค์ใหญ่ หุ้มทับเจดีย์ทรงปราสาทขนาดเล็กซึ่งอยู่ภายใน สามารถมองเห็นเจดีย์ภายในสีขาวได้อย่างชัดเจน
จากวัดอาทิต้นแก้วนั่งรถไฟฟ้าคันน้อยมาไหว้พระและยลโบราณสถานกันต่อที่ "วัดพระธาตุเจดีย์หลวง" ซึ่งเป็นเจดีย์ที่ใหญ่โตที่สุดของเมืองเชียงแสน สร้างโดยพระเจ้าแสนภู เจดีย์ประธานเป็นทรงระฆังแบบล้านนา ถือได้ว่าเป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่งของเชียงแสน
และสถานหนึ่งที่อยู่ติดกับวัดแห่งนี้ก็มาแวะเวียนไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ "พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเชียงแสน"สถานที่หนึ่งมีจะช่วยให้เราได้รู้จักมากยิ่งขึ้น จากวัดพระธาตุเจดีย์หลวงมีทางเดินเชื่อมต่อจากในวัดลัดเลาะไปสู่พิพิธภัณฑ์ฯได้
ของเก่า ของดี ล่อสายตานักค้าของเก่า มีตั้งแต่ปากทางเข้าหน้าพิพิธภัณฑ์ ทั้งเสาสะดือเมืองเชียงราย เศียรพระนอนองค์ใหญ่ ส่วนภายในก็ได้จัดเก็บรวบรวมศิลปะโบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจขุดแต่ง และบูรณะโบราณสถานในเมืองโบราณเชียงแสนและบริเวณใกล้เคียงเอาไว้
นาทีนี้เริ่มรู้สึกราวกับเป็นคนหลงยุคก็มิปาน หลงมาสู่อดีตวันวารของเชียงแสน และก็ยังต้องหลงต่อไป เมื่อการเดินทางยังไม่สิ้นสุด รถไฟฟ้านำเรามาวัดอีกแห่งหนึ่ง "วัดป่าสัก"วัดร้างอันแช่มช้อย ด้วยสถาปัตยกรรมแนวผสมผสานจากอิทธิพลของหลากหลายที่
วัดป่าสักสร้างขึ้นในสมัยพญาแสนภู เนื่องจากมีพระมหาเถระเจ้าองค์หนึ่งนำพระบรมธาตุมาถวายพญาแสนภู จึงโปรดให้สร้างมหาเจดีย์นอกเมือง โดยสร้างให้เป็นวัดขึ้นเอาต้นสักมาปลูกทำกำแพง 300 ต้น จึงเรียกว่า วัดป่าสัก แต่ปัจจุบันไม่มีต้นสักให้เห็นแล้ว
สำหรับไฮไลต์ของที่นี้อยู่ที่ "เจดีย์วัดป่าสัก" ที่จัดได้ว่าเป็นโบราณสถานที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบมากทีเดียว รูปแบบสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลมาจากหริภุญไชย รูปแบบฐานคล้ายกับองค์เจดีย์กู่กุด จ.ลำพูน มีศิลปกรรมผสมผสานทั้ง พุกาม ขอม สุโขทัย มีลายปูนปั้นที่อยู่เหนือกาลเวลาเนิ่นนานหลายร้อยปีแลดูงดงาม
วัดป่าสักเป็นแหล่งสุดท้ายของการนั่งรถไฟฟ้าชมเวียงเชียงแสน รถพาเราวนกลับมาส่งยังจุดเดิมคือ "สำนักงานเทศบาลตำบล (ทต.) เวียงเชียงแสน" จากนั้นใครสนใจจะเที่ยวต่อรอบเมืองหรือนกเมืองก็สุดแท้แต่ความต้องการของแต่ละคน
ส่วนตัวเราเองนั้นไหนๆก็ได้มาเมืองเก่าทั้งที ไม่อยากจบแค่นี้ขอเที่ยวต่ออันสักที ที่ "พระธาตุจอมกิตติ" ปูชนียสถานที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองเชียงแสน สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าพังคราช เพื่อใช้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และได้รับการบูรณะในสมัยของหมื่นเชียงสง
โดยการสร้างเจดีย์ครอบทับองค์เดิมเมื่อปี พ.ศ.2030 เป็นศิลปกรรมร่วมสมัยระหว่างล้านนากับศิลปะอยุธยาตอนปลาย ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2550 จนฉัตรบนยอดเจดีย์หักตกลงมา ก็ได้รับการบูรณะและได้รับบริจาคอัญมณีที่หายไปกลับคืนมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว
ทัวร์เวียงเก่าที่เชียงแสนของเราขอจบลงที่ "วัดพระธาตุผาเงา" ที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำโขงทางด้านทิศตะวันตก ตรงกันข้ามกับประเทศลาว อยู่ในหมู่บ้านสบคำ ต.เวียง อ.เชียงแสน อยู่ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำประมาณ 15 กม.
ที่มาของชื่อวัดเนื่องจากพระธาตุตั้งอยู่บนยอดหินก้อนใหญ่ คำว่าผาเงาก็คือ เงาของก้อนผา (ก้อนหิน) หินก้อนนี้มีลักษณะสูงใหญ่คล้ายรูปทรงเจดีย์และทำให้ร่มเงาได้ดีมาก ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า "พระธาตุผาเงา"
ที่นี้ได้ค้นพบ "พระพุทธรูปหลวงพ่อผาเงา" ที่ขุดค้นพบแห่งนี้ถูกสร้างและฝังอยู่ใต้ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ (พระประธาน)ในเดือนกุมภาพันธ์ 2519 คาดว่าเป็นการปิดบังซ่อนเร้นจากการถูกโจรกรรม จากการวิเคราะห์พระพุทธรูปองค์นี้มีอายุระหว่าง 700-1,300 ปี บนเนินเขาที่ตั้งในปัจจุบัน
ที่วัดพระธาตุผาเงา ยังมี"พระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์สีขาว"เด่น โดยบริเวณนี้สามารถมองเห็นทัศนียภาพฝั่งโขง และแนวสันทรายของ"สามเหลี่ยมทองคำ" หรือ Golden triangle triangle พื้นที่รอยต่อระหว่างสามประเทศ ได้แก่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ประเทศไทย, แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว และ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ที่มีลักษณะเป็นพื้นที่สามเหลี่ยมบรรจบกัน
โดยมีเพียงแม่น้ำโขงตัดผ่านกางกั้นได้อย่างชัดเจน ถือเป็นการปิดท้ายทัวร์ "เวียงเชียงแสน" ในครั้งนี้ที่นอกจากได้ความรู้และซึมซับวิถีของผู้คนทั้งในอดีตและปัจจุบัน จิตใจยังปลอดโปร่งสงบมากยิ่งขึ้น ยิ่งยามตะวันคล้อยต่ำ อากาศหนาวกำลังพัดมาใกล้ ยิ่งช่วยให้การเยือนชียงแสนครานี้ช่างตราตรึงใจ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สำนักงานเทศบาลตำบล (ทต.) เวียงเชียงแสน เปิดให้บริการรถไฟฟ้าฟรี ตั้งแต่เวลา 08.00 -17.00 น. เป็นประจำทุกวัน โทร. 0-5377-7081 โทรสาร 0-53 77-7002 ได้ทุกวันในวันเวลาราชการ หรือติดต่อ ททท.เชียงราย โทร 0-5374-4674-5
ที่พักในจ.เชียงราย
การเดินทางไปเชียงราย
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
"ดอยตุง" ดินแดนดอกไม้งาม
งามวิจิตรอดีตล้านนาที่ "พิพิธภัณฑ์อูบคำ"
ยลงานศิลป์ของ 2 ยอดศิลปินแห่งเชียงราย..."ถวัลย์-เฉลิมชัย"
“รอยพระบาทในหลวง”หนึ่งเดียวในเมืองไทยที่ จ.เชียงราย
แอ่วเชียงราย ดินแดนเหนือสุดแดนสยาม