"ดูแต่หอยซิ ไม่มีมือไม่มีตีน มันยังหากินเองได้ ประสาอะไรกับคน มีมือมีเท้าหากินเองไม่ได้ ก็อายหอย" : ปู่เย็น
คำคมง่ายๆ หากแต่แฝงด้วยปรัชญาการใช้ชีวิต ผ่านสายตาของเฒ่าทระนงผู้มองโลกมานานอย่าง "ปู่เย็น" หรือนายเย็น แก้วมะณี ชายชราที่อาศัยกินอยู่หลับนอนบนเรือแทนบ้าน และยึดอาชีพการหาปลาขายเลี้ยงตนเองตามลำพัง
เป็นที่รู้จักครั้งแรกผ่านทางรายการโทรทัศน์ ที่มีชื่อว่า รายการคนค้นคน ทำให้เรื่องราวชีวิตของปู่เย็น เฒ่าทระนงแห่งลุ่มแม่น้ำเพชรบุรี ออกสู่สายตาคนทั้งประเทศถึงสามตอน จากนั้นเป็นต้นมา ปู่เย็นกลายเป็นที่รู้จักทั่วประเทศในฐานะชายชราผู้มีวิถีชีวิตอันเรียบง่าย ฝากชีวิตไว้กับสายน้ำเพชรบุรี
ปู่เย็น เป็นชาวจังหวัดเพชรบุรีมาโดยกำเนิด มีอาชีพรับจ้างเลี้ยงวัว อาศัยอยู่บ้านเลขที่ตามทะเบียนราษฎร์ 274/4 ถ.มาตยาวงศ์ ต. ท่าราบ อ. เมืองเพชรบุรี ในทะเบียนราษฎร์มีอายุ 86 ปี แต่เจ้าตัวเล่าให้ฟังว่า เกิดปีฉลู ปัจจุบันอายุ108ปี ภรรยาชื่อนางเอิบ สถานภาพ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2536 ปี หลังจากภรรยาเสียชีวิตปู่เย็นจึงใช้ชีวิตอยู่ในเรือมาโดยตลอดนับว่ากว่า 10 ปีแล้ว โดยประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองด้วยการหาปลาแบบการขึงตาข่ายบริเวณแม่น้ำเพชรบุรี ขายปลาได้วันละ 30-70บาท
และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันที่ 23 มีนาคม 2548 เป็นวันที่ปู่เย็น ได้เข้ารับเรือพระราชทานต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เรือพระราชทานของปู่เย็นเป็นฝีมือการออกแบบของวิทยาลัยการต่อเรือพระนครศรีอยุธยา
เป็นเรือกว้าง 1 เมตร ยาว 6 เมตร มีประทุนหลังคากันแดดกันฝน ด้านครึ่งเรือตอนท้ายจะมีผ้ามุ้งสำหรับกันยุงและสิ่งอำนวยความสะดวกในเรืออย่างครบครัน ตัวเรือจะเป็นเนื้อไฟเบอร์กลาสตลอดทั้งลำ มีน้ำหนักเบาสามารถลอยตัวอยู่ในน้ำตื้นได้ ซึ่งปู่เย็นได้อาศัยอยู่ในเรือพระราชทานลำนี้ตราบจนวาระสุดท้าย ก่อนเสียชีวิตด้วยหัวใจวาย ในช่วงเช้าวันที่ 12 ตุลาคม 2551
หลังการเสียชีวิตของปู่เย็น คนเมืองเพชรโดยเฉพาะผู้คนที่สัญจรไปมาแถวช่วงสะพานลำไย คงไม่มีโอกาสได้เห็นชายชราผู้ทระนงออกหาปลามาขายเลี้ยงชีพอีกต่อไปแล้ว
เกียรติศักดิ์ กล่อมสกุล เป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสได้ใกล้ชิดปู่ตอนนี้ยังมีชีวิตได้เล่าให้ฟังถึงการจัดการกับเรือของปู่ว่า ตอนนี้เรื่องเรือ ของปู่เย็นตนเป็นผู้ดูแลอยู่ ตั้งใจจะหาที่เก็บเรือไว้ในแม่น้ำเพชรบุรี เพื่อเก็บไว้ให้เป็นอนุสรณ์ไว้สำหรับปู่เย็น โดยใช้งบประมาณจากทางจังหวัด
"ตอนนี้อยู่ในระหว่างพูดคุยกันกับทางจังหวัด โดยร่วมกันหลายฝ่ายปรึกษากับผู้ว่า และเห็นตรงกันว่า ตรงท่าเรือสะพานลำไยที่ปู่เย็นเคยอยู่ จะทำเป็นแพแล้วตั้งเรือปู่เย็นไว้ จากนั้นทำประวัติเกี่ยวกับชีวิตพอเพียงของปู่เย็นคำคมของปู่เย็นไว้ในนักท่องเที่ยวเดินลงมาดู"เกียรติศักดิ์กล่าว
แม้ว่าปู่ไม่อยู่แล้วแต่เรือยังอยู่นักท่องเที่ยวสามารถถ่ายรูปคู่กับเรือปู่เย็นได้ คาดว่าจะเป็นรูปเป็นร่างประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน แม้ไม่มีปู่เย็นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีอีกต่อไปแล้ว แต่ก็ยังมีแม่น้ำเพชร เราก็ยังรณรงค์รักษาแม่น้ำเหมือนตอนที่ปู่เย็นยังอยู่ มีการเพาะเลี้ยงปลาเค้ากลับคืนสู่แม่น้ำเพชร เพราะปลาเค้าที่เป็นปลาคู่แม่น้ำเพชรได้สูญไปจากแม่น้ำเพชรแล้ว
"ปู่ไม่อยู่แต่แม่น้ำยังอยู่ ยังมีคนหลายกลุ่มหลายองค์กรที่ให้ความสนใจแม่น้ำ ปู่ตอนมีชีวิตอยู่แกก็คอยดูปู่จะมองว่าถ้าในแม่น้ำมีปลาอยู่แสดงว่าน้ำดีอยู่ ปู่จะมีแนวคิดว่าต้องอยู่กับแม่น้ำให้ได้ ในเมื่อยังมีปลาให้แกหากินแสดงว่ายังดีอยู่ บ้านของแก คือ เรืออยู่ในแม่น้ำ แม่น้ำเพชร ก็คือ บ้านของแก ปู่เย็นอยู่ในแม่น้ำแล้วมีความสุข ปรับตัวแกให้เข้ากับแม่น้ำ เราต้องเอาความรู้ของคนรุ่นเก่าอย่างปู่เย็นมาประยุกต์ใช้กับเราคนรุ่นใหม่ให้ได้"เกียรติศักดิ์กล่าว
เกียรติศักดิ์ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ถ้าหากเราเอาเรือปู่ไปตั้งที่สะพานลำไยแล้วทำให้มันดี ต่อไปแม่น้ำเพชรช่วงนั้นจะต้องสะอาด มันเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่จะช่วยดูแลแม่น้ำเพชรได้ เพราะถ้าเอามาตั้งแม่น้ำก็ต้องสะอาด ถึงปู่ตายไปแต่เรือปู่ก็ยังอยู่ยังทำให้แม่น้ำสะอาดได้ เพราะเป็นหน้าเป็นตาของจังหวัด เป็นเรือพระราชทานด้วย
ทางด้านของ สุพรรณวดี ภิญโญ หนึ่งในพยาบาลโรงพยาบาลบาลพระจอมเกล้า เพชรบุรี พยาบาลที่มีโอกาสดูแลปู่เย็นกว่า 3 ปี หนึ่งในพยาบาลชุดฉุกเฉินที่ใกล้ชิดกับปู่จนเป็นเหมือนญาติที่ต้องเจอทุกวัน ได้พูดถึงปู่เย็นว่า ตลอดช่วงเวลา 3 ปีที่ดูแลปู่เย็นเหล่าพยาบาลห้องฉุกเฉินจะผูกพันกับปู่ทุกคน
"เราจะไปดูแลปู่เช้า เย็น ทุกวัน ตอนนี้ไม่มีปู่ให้ดูแลแล้ว เราก็มานั่งคุยกันว่ามันเหมือนขาดๆอะไรไป ตื่นเช้ามาไม่มีใครไปหาปู่แล้ว อย่างดิฉันมีหน้าที่ประเมินภาพรวมว่าปู่เป็นอย่างไร อย่างปู่มีปัญหาเรื่องกระดูกก็จะต้องประสานว่าแผลเป็นไง นัดหมอให้ประสานรถพยาบาล ประสานงานด้านกายภาพเรียกได้ว่าเป็นเหมือนเลขาของปู่เย็นก็ได้ แต่วันนี้ไม่มีปู่แล้วมันก็เหงาๆไป เราก็รู้กันอยู่ว่าปู่ต้องมีวันนี้ แต่ก็ไวจนพวกเราตั้งตัวไม่ทัน"
สุพรรณวดีกล่าวด้วยน้ำเสียงเศร้าๆ ก่อนเล่าเพิ่มเติมว่า ปู่เย็นจะมีความน่ารักตามประสาคนแก่อยู่มาก เป็นขวัญใจของพยาบาลฉุกเฉินทุกคน ปู่มีความสำคัญต่อคนเพชรบุรีตอนนี้ไม่มีปู่เย็นแล้ว แต่เรายังมีเรือที่เป็นตัวแทนของปู่อยู่แล้วอีกอย่างเรือเป็นเรือพระราชทาน ปู่ก็เป็นบุคคลสาธารณะตนก็หวังว่าภาครัฐและคนที่เกี่ยวข้องสะสามารถรักษาเรือพระราชทานลำนี้ถ่ายทอดออกมาให้สมกับเป็นเรือของปู่เย็นเฒ่าทระนงแห่งลุ่มน้ำเพชรบุรี
สำหรับเสียงเรียกร้องต่อการจัดการกับเรือของปู่เย็นอย่างเหมาะสมนั้น ดูเหมือนพ่อเมืองเพชรบุรีก็ยินดีรับไว้พิจารณาเช่นกันโดย สยุมพร ลิ่มไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้กล่าวเช่นกันว่า ขณะนี้เรื่องของเรือพระราชทานเราได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงทราบเพื่อขอพระบรมราชานุญาต ขอเรือพระราชทานของปู่เย็น มาตั้งเพื่อเป็นอนุสรณ์ที่เชิงบริเวณสะพานลำไย แต่จะมีการปรับเติมภูมิทัศน์โดยรอบ ส่วนที่บริเวณที่จอดเรือริมแม่น้ำเพชร จะมีประวัติย่อๆเป็นแท่งสี่เหลี่ยมสามารถติดประวัติได้
โดยจะของบสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพชรบุรี และเทศบาลเมืองเพชรบุรี ปรับปรุงสถานที่ จากนั้นจะประสานให้วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือพระนครศรีอยุธยา ก่อสร้างแพซีเมนต์ลอยน้ำแล้วนำเรือพระราชทานขึ้นไปตั้งไว้บนแพ สร้างหลังคาคลุมเรืออีกชั้นหนึ่ง เป็นอนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงปู่เย็นที่เป็นสัญลักษณ์ของคนเมืองเพชรว่าผูกพันกับสายน้ำในเชิงอนุรักษ์และมีปรัชญาการใช้ชีวิตที่สมถะไม่เบียดเบียนใคร
ส่วนสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี ไว้ในหอแสดงศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดเพชรบุรี จะนำเรือมาดเก่าซึ่งเป็นเรือไม้ลำแรกของปู่เย็น ไปไว้ที่ห้องแสดงศิลปะบนสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรีพร้อมแสดงชีวประวัติส่วนตัว รวมทั้งเครื่องมือ เครื่องใช้ของปู่เย็น เช่น หม้อข้าว แหที่ใช้ทอดปลา เตาไฟ เป็นต้น
"เรื่องของปู่เย็นเป็นแรงบันดาลใจไม่ท้อถอยในชีวิตง่ายๆความเป็นสัญลักษณ์ยังอยู่เพียงแต่ตัวตนของปู่เท่านั้นที่ไม่อยู่มันต้องไปตามอายุไข"ผู้ว่าเมืองเพชรกล่าวทิ้งท้าย
แม้ว่าขณะนี้เรือของปู่เย็นจะไม่ได้ลอยลำออกไปกว่าสะพานลำไยอีกต่อไปแล้วแต่เรือของปู่ก็ยังมีค่ามากมายสำหรับคนที่ระลึกถึงวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของ "ปู่เย็น เฒ่าทระนงแห่งลุ่มน้ำเพชร" ชีวิตของปู่เย็นก็คงเหมือนคำคมข้อคิดข้อหนึ่งที่ปู่เคยพูดไว้ว่า
"ชีวิตคนเหมือนสะพาน มีขึ้น มีลง มีสูง มีต่ำ พอสุดท้ายก็ตาย"