xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้นห้างดูช้างที่ทองผาภูมิ/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
ทองผาภูมิเมืองแห่งขุนเขา
ถ้าจะถามคำถาม(กวน Teen)ว่าจังหวัดอะไรเอ่ย รวยที่สุดในเมืองไทย?? หลายคนคงนึกถึงเพชรบุรี ส่วนบางคนอาจนึกถึง เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร อ่างทอง เป็นต้น

แต่ถ้าจะถามคำถาม(กวน Teen)อีกครั้งว่า อำเภออะไรเอ่ย รวยที่สุดในเมืองไทย?? หลายคนอาจนึกไม่ออก ส่วนผมเท่าที่นึกได้ตอนนี้ก็คือ “อำเภอทองผาภูมิ” จังหวัดกาญจนบุรี เนื่องเพราะชื่ออำเภอนี้มันมี "ทอง"(ผาภูมิ)ประทับอยู่นั่นเอง(ในขณะที่ถ้ายึดถือตามข่าว อ.สังขละบุรีที่อยู่ติดกัน น่าจะเป็นอำเภอที่รวยที่สุด เนื่องจากเคยมีข่าวว่าที่ถ้ำลิเจีย(อาจ)มีสมบัติทหารญี่ปุ่นฝังอยู่ถึงขนาดนายโกโบริน(สส.สากจอมประท้วง) เคยลงทุนไปไล่ล่าขุดหาสมบัติที่นั่นจนเป็นข่าวดังเกรียวกราวไปทั่ว)

ทว่าในความเป็นจริงนั้นทองผาภูมิก็เคยได้ชื่อว่าอำเภอเคยรวย เพราะที่นี่เคยเป็นแหล่งเหมืองแร่ขึ้นชื่อของเมืองไทย(เหมืองปิล๊อก) ครั้นมาวันนี้หากจะถามหาความรุ่มรวยของอำเภอทองผาภูมิ ที่นี่ก็น่าจะได้ชื่อว่าเป็นอำเภอที่รุ่มรวยภูเขามากเป็นอันดับต้นๆของเมืองไทย

สำหรับผมร้างลาจากการไปเยือนทองผาภูมิแบบจริงๆจังๆมาหลายปีดีดัก มีบ้างก็เพียงไปแวะให้อยากแล้วจากไปสู่อำเภอสังขละบุรี แต่ในช่วงปลายฝนต้นหนาวปีนี้ ผมเลือกที่จะกลับไปรำลึกความหลังที่ทองผาภูมิอีกครั้งหนึ่ง

ทองผาภูมิวันนี้กับเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วสมัยผมไปทำค่ายอาสา(ที่บ้านโบอ่อง) ดูจะไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก เป็นอำเภอที่มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพค่อนข้างน้อย ขณะที่มลพิษจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวก็ดูจะกล้ำกรายมาไม่ถึง ทองผาภูมิวันนี้จึงยังคงสงบงามและท่องเที่ยวสำหรับผู้ชื่นชอบในธรรมชาติ ความเรียบง่าย และความสงบงาม ส่วนใครที่อยากสัมผัสกับความพลุกพล่านแสงสีทองผาภูมิไม่มีให้(เชิญไปเที่ยวที่อื่นดีกว่า)

แต่เห็นสงบๆอย่างนี้เถอะ ทองผาภูมิวันนี้กลับมี“ห้าง”อยู่ร่วมๆ 10 ห้างเห็นจะได้ แต่ประทานโทษไม่ใช่ห้างสรรพสินค้านะ แต่เป็นห้างส่องสัตว์ที่ชาวบ้าน“บ้านปากปิล๊อก” (ต.ห้วยเขย่ง) เขาสร้างเอาไว้สำหรับส่อง“ช้างป่า”ที่ลงมากินพืชไร่ของเขาน่ะ
จากเขตหากินของช้างป่าถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่
เหตุที่ช้างป่าลงมากินพืชไร่ของชาวบ้านนั้น แน่นอนว่ามาจากการที่ช้างมัน“หิว”เป็นสำคัญ แต่ว่าทำไมช้างป่ามันถึงต้องเลือกมากินพืชไร่ของชาวบ้านที่นี่ด้วย ซึ่งจากการขุดรากไล่โคนไปหายังต้นเหตุนั้น ผมพบว่านี่เป็นผลพวงอันเกิดมาจากความชุ่ยของภาครัฐอีกหนึ่งโครงการ แถมยังเป็นวิถีทางของการเมืองเก่าเสียด้วยสิ

เรื่องนี้ผมขอนำคำบอกเล่าของชาวบ้านและประสบการณ์ที่เคยสัมผัสมาสรุปพอสังเขปว่า เดิมนั้นชาวบ้านล่าง(คนที่อยู่พื้นที่ต่ำ)ส่วนหนึ่งในทองผาภูมิและสังขละบุรี 2 อำเภอที่มีป่าไม้มากมาย ต่างก็ใช้ชีวิตทำการเกษตร ทำสวน ทำไร่ ทำนา หาของป่า เหมือนชาวบ้านป่าทั่วไป แต่จู่ๆวันหนึ่งรัฐมาประกาศตูม!!! ว่าจะสร้างเขื่อนเขาแหลม การอพยพชาวบ้านในพื้นที่สร้างเขื่อนออกจากพื้นที่จึงเกิดขึ้น พร้อมคำมั่นของรัฐว่า จะจัดสรรที่อยู่ ที่ทำกิน และเงินชดเชยให้ (แต่มีชาวบ้านส่วนหนึ่งยังคงใช้ชีวิตอยู่ในเขื่อนอย่างบ้านโบอ่องที่ผมไปทำค่ายอาสา)

ทว่าสภาพการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหลังสร้างเขื่อนเสร็จภาครัฐที่ปากบอกว่าจะดูแลชาวบ้าน(ผู้เดือดร้อน) กลับปล่อยพวกเขาไปตามยถากรรม หลายบ้านไม่ได้รับค่าเวนคืนและการจัดสรรที่ดินทำกินอย่างเป็นธรรม จนชาวบ้านผู้เดือดร้อนต้องมาประท้วงเรียกร้องหาความชอบธรรมเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว

ชาวบ้านใช้เวลาต่อสู้กับรัฐอยู่หลายปี จนมาวันนี้พวกเขาได้รับการจัดสรรที่อยู่และที่ดินทำกินกันตามอัตภาพในบางพื้นที่ของทองผาภูมิ

เรื่องดูเหมือนจะจบแต่ไม่จบ เพราะปรากฏว่าผืนป่าที่รัฐจัดสรรให้ชาวบ้านทำกินนั้น บางพื้นที่เป็นเขตหากินตามธรรมชาติของช้างป่ามาตั้งแต่ไหนแต่ไร(นี่ไงที่ว่าเป็นความชุ่ยของมัน) ขณะที่ผืนแผ่นดินแถบนั้นก็สามารถเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวได้ไม่กี่ชนิด อาทิ มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด

ครั้นเมื่อชาวบ้าน“คนนอก”มาแผ้วถางทำไร่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว “เจ้าของพื้นที่”อย่างช้างป่านักกินจุ ซึ่งไม่ว่าคนจะบุกรุกแค่ไหนมันก็ยากที่จะเปลี่ยนแนวเขตการออกหากินของมันได้ ยิ่งมาวันหนึ่งมีพืชผลที่ชาวบ้านปลูกอย่าง อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด เดินทางมาเข้าปากช้างถึงที่ก็ยิ่งเข้าทางของเจ้าช้างป่ามากขึ้น

ด้านชาวบ้านนั้น เมื่อมาเจออีแบบนี้ บอกได้หลายคำว่า“งานเข้าสิคร้าบพี่น้อง” เพราะพวกเขาทางหนึ่งต้องเพาะปลูกทำมาหากิน อีกทางหนึ่งก็ต้องคอยขับไล่ช้างป่าออกจากไร่ของตนให้ไปหากินในเขตป่าเขาแทน(เขตว่าที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ) หลายคนต้องเปลี่ยนวิถีจากการนอนปกติ มาเป็นนอนกลางวันตื่นกลางคืนเพื่อล่อเอาเถิดกับการขับไล่ช้างป่า ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นปัญหาคลาสสิคที่เกิดมาช้านานในหลายพื้นที่ ทั้ง กุยบุรี แก่งกระจาน ทับลาน สลักพระ แต่ที่ทองผาภูมินั้นมันมีต้นทางของปัญหามาจากความห่วยแตกของภาครัฐนั่นเอง

เมื่อกาลเปลี่ยน วันผ่าน เรื่องราวระหว่างคนกับช้างป่าที่นี่ยังไม่จบ แต่มันได้เริ่มวิถีใหม่ขึ้นมาเมื่อมีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลมาให้คำแนะนำว่า คนกับช้างป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยในแนวเขตไร่ที่ช้างป่าลงมาหากินนั้นก็ให้จัดเป็นจุดท่องเที่ยว(แอบ)ซุมชมช้างป่าออกหากินเสียเลย
ห้างดูช้างที่สร้างอย่างกลมกลืนบนต้นไม้
แล้ววิกฤตก็พลิกเป็นโอกาส เมื่อชาวบ้านบ้านปากปิล๊อกกลุ่มหนึ่งได้ร่วมมือกับหลายองค์กรจัด กิจกรรม“นั่งห้างดูช้าง”ขึ้นมา ซึ่งเท่าที่มีโอกาสไปร่วมโฉบๆนั่งห้างดูช้างในช่วงเวลาสั้นๆนั้น ผมพบว่ามันให้อารมณ์ที่แตกต่างจากการ“นั่งช้างดูห้าง”อย่างสิ้นเชิงเลยทีเดียว

เรื่องนี้มาจากคืนที่ผมไปพักค้างที่ ภูไอรยา รีสอร์ท ช่วงหัวค่ำวันนั้นหลังหม่ำอาหารเย็นเสร็จ พี่ผู้จัดการรีสอร์ทเดินมาบอกกับผมและเพื่อนๆร่วมทริปว่า มีว.(วิทยุสื่อสาร)แจ้งว่าคืนนี้มีช้างป่าออกมาหากิน ใครสนใจไปดูช้างป่าก็ให้รีบขึ้นรถด่วน

“ไปครับ ไปค่ะ ไปด้วย ไปจิ ไปด่วน ฯลฯ” เป็นสรรพสำเนียงเสียงขานรับที่เกิดขึ้นจากหลายๆคนโดยมิได้นัดหมาย แล้วพี่ผู้จัดการก็บรรทุกพวกเราขึ้นกระบะฝ่าสายลมเย็นๆไปนั่งห้างดูช้างในทันที

ณ บริเวณพื้นที่ดูช้าง พี่ผู้จัดการส่งไม้ต่อให้กับ“ลุงบุญ” ประธานชมรมช้าง ซึ่งได้จัดทำกิจกรรมนี้มาประมาณ 1 ปีเห็นจะได้

ลุงบุญเล่าว่า ชาวบ้านที่นี่ได้สร้างห้างดูช้างป่าขึ้นมาบนต้นไม้เกือบ 10 ห้าง มีทั้งเล็ก-ใหญ่ ใหญ่สุดจุได้ถึงราว 15 คน ห้างเล็กก็ประมาณ 3-5 คน บนห้างสามารถพักค้างหลับนอนได้ ชาวชมรมที่นี่มีการจัดแพ็คเกจนั่งห้างดูช่างขั้นพร้อมอาหารในสนนราคา 300 บาท กินนอนกันบนห้างนั่นแหละ(แหมฟังดูหรูนะลุง)หรือลงมากินข้างล่างก็ได้ ส่วนปลดทุกข์ข้างล่างสถานเดียว

ระหว่างคุยกับลุงบุญอยู่นั้น ผมได้ยินเสียงโห่ร้องดังมาจากที่มุมหนึ่งของไล่ ประทานโทษ ตอนแรกผมนึกว่าใครโห่ไล่นายกเสียอีก

“อ๋อ เขากำลังไล่ช้างกันอยู่นะ ที่นี่มีช้างป่าเท่าที่สำรวจได้ประมาณ 45 ตัว มักจะมากันประมาณ 3-5 ถึง 10 ตัว มีไอ้ช้างสีดอตัวแสบ 3 ตัว คือไอ้แสบ ซ่า ดื้อ พวกนี้ถือเป็นหัวโจกเลยล่ะ คนที่นี่เขาไม่ทำร้ายช้างแต่จะใช้วิธีไล่ให้มันพ้นไปจากไร่ของเรา เพราะถ้าวันไหนไม่ไล่ไป มันกินพืชผลเราเรียบ”

“แล้วอุปกรณ์ไล่ช้างมีอะไรบ้างล่ะลุง”ผมถาม

“อย่างเบาๆก็ส่องไฟไล่ ตะโกนโห่ไล่ หนักหน่อยก็จุดประทัดยักษ์ไล่ ถ้ามันยังไม่ไปก็ใช่หนังสติ๊กยิง แต่ถ้ามันยังไม่ไปอีกก็ไม่รู้จะทำยังไง”

“ลุงลองใช้“มือตบ”ไล่มันดูสิ อุปกรณ์ตัวนี้มันกำลังฮอตฮิตทีเดียวเลยล่ะลุง”

ผมแหย่ ระหว่างทางที่ลุงบุญพาเดินทางไปยังบ้านพักไล่ช้างริมไร่ของแก ที่นั่นเราเจอ“พี่ทิด” แกเข้ามาบอกว่าเจอ“ไอ้ดื้อ”(1 ในช้างตัวแสบ) ลงมาหากินอยู่แถวบ่อน้ำ แกจึงชวนอาสาสมัคร 3 คนไปเฝ้าดู

ด้วยความอยากเจอไอ้ดื้อ ผมจึงขอร่วมทีมไปกับเขา ซึ่งการขึ้นห้างนั้นไม่ยาก(แม้ต้องเสียวตอนปีนป่ายนิดหน่อย) แต่ว่าการอยู่บนห้างนี่สิยากเอาเรื่อง เพราะต้องใช้ความอดทนสูง ปิดไฟมืดสนิท ใครดูดุหรี่ต้องงดเดี๋ยวช้างได้กลิ่นจะหนี งดการส่งเสียงเท่าที่จะทำได้ถ้าจะพูดคุยควรกระซิบกัน เพราะยิ่งเงียบสงัดโอกาสเจอช้างยิ่งสูง ส่วนเรื่องการผายลมนั้นก็ต้องระวังไว้ด้วย เพราะมันไม่ได้ทำให้ช้างหนีหรอก แต่มันจะทำให้เพื่อนสมาชิกบนห้างหนีกระเจิงนะสิ...โอ้ปลาร้าไหแดก ปลาแดกไหระเบิด ไอ้กลิ่นนี้ของผู้ใดมันเหม็นจนขี้ช้างชิดซ้ายไปเลย

ในคืนวันนั้นผมไม่เห็นเดือนดาวเพราะฝนตกพรำๆ และก็ไม่เห็นไอ้ดื้อตัวเป็นๆ มีแต่เสียงของมันขยับตัวในไร่มันสำปะหลังแกรกกราก เสียงกระพือหูพรึบพรับหากินแถมหนองน้ำ ประสานกับเสียงหริ่งเรไรระงมและยุงที่บินหึ่งๆ

“ฝนตกอย่างนี้ไอ้ดื้อมันคงไม่ออกมาให้เห็น วันนี้เรากลับก่อนดีกว่า เอาไว้วันหลังมาใหม่” พี่ทิดบอกอย่างนั้น ผมไม่ปฏิเสธเพราะคืนนั้นผมก็ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจมาดูช้างป่าแบบเต็มร้อยจึงปีนตามพี่ทิดจากห้างลงมา พร้อมความรู้สึกเสียดายเล็กๆที่ไม่ได้เห็นไอ้ดื้อตัวเป็นๆ แต่อย่างไรก็ตามการนั่งห้างในครั้งนี้ แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆก็ตาม(ประมาณ 1 ชั่วโมง) แต่“ห้างช้าง”นั้นกลับสอนให้ผมอดทน อดกลั้น มีสมาธิ มีจิตใจมุ่งมั่นแน่วแน่ ซึ่งบรรยากาศแบบนี้ผมไม่สามารถหาได้จาก“ห้างสรรพสินค้า”ใดๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น