สธ.เผยสถานการณ์โรคชิคุนกุนยา ล่าสุด ควบคุมโรคได้แล้ว พบผู้ป่วยทั้งหมด 208 รายใน 2 จังหวัดเดิม คือ นราธิวาส และ ปัตตานี และทำหนังสือขอความร่วมมือคลินิก ร้านขายยา และโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง เฝ้าระวังผู้ป่วยรายใหม่ หากพบรายใดมีไข้ ปวดข้อ มีผื่นแดง ให้แจ้ง สสจ.
นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมป้องกันโรคเขต 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึงความคืบหน้าของการควบคุมโรคชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อ ว่า สถานการณ์ล่าสุด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถควบคุมโรคได้แล้ว ตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 จนถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2551 พบผู้ป่วยทั้งหมด 208 ราย ประกอบด้วย ที่จังหวัดนราธิวาส 184 ราย พบใน 3 อำเภอเดิม ได้แก่ อำเภอยี่งอ 100 ราย อำเภอแว้ง 71 ราย อำเภอเจาะไอร้อง 13 ราย และจังหวัดปัตตานี 24 ราย พบที่อำเภอไม้แก่นแห่งเดียว ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ ไม่มีผู้เสียชีวิต
ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยที่พบเพิ่มขึ้นนี้ ไม่ใช่จากสาเหตุโรคแพร่ระบาด แต่เป็นผลมาจากการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ชาวบ้านอย่างแพร่หลาย เกี่ยวกับอาการป่วยของโรคนี้ ซึ่งมีลักษณะเด่นต่างจากโรคอื่นๆ คือมีอาการไข้สูงฉับพลัน ปวดตามข้อต่างๆ ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 98 และมีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย ไม่คัน ทำให้ประชาชนรู้จักโรคดีขึ้น และเข้ารับการรักษามากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด และเข้มข้นขึ้น นอกจากจะเน้นการควบคุมป้องกันในสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่แล้ว สำนักงานควบคุมป้องกันโรคเขต 12 ได้ขอความร่วมมือโรงพยาบาลเอกชน คลินิก และร้านขายยาใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล พัทลุง และ ตรัง ร่วมเฝ้าระวังผู้ป่วยรายใหม่ หากพบรายใดมีไข้ มีผื่นแดงขึ้น และปวดข้อ ขอให้นึกถึงโรคไข้ปวดข้อ และแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ทันที เพื่อควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาดอย่างทันท่วงที
นพ.สุวิช กล่าวต่ออีกว่า โรคไข้ปวดข้อนี้ ไม่ใช่โรคใหม่ เคยพบในประเทศไทยมาแล้ว เกิดจากยุงลายสวนกัด เมื่อป่วยแล้วจะมีภูมิต้านทานโรคตลอดชีวิต ไม่ป่วยซ้ำอีก ไม่ทำให้เสียชีวิต ไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง โดยอาการไข้จะหายภายใน 3-7 วัน แต่อาการปวดข้อ จะยังอยู่เป็นสัปดาห์หรืออาจถึงเดือน แต่อาการจะหายได้เอง ไม่ต้องกังวลใจ
“สำหรับการป้องกันโรค ประชาชนต้องป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยนอนในมุ้งขณะนอนกลางวัน ช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายทั้งในบ้าน และนอกบริเวณบ้านในรัศมีประมาณ 10 เมตร เพื่อลดปริมาณยุงลาย” นพ.สุวิช กล่าว