xs
xsm
sm
md
lg

ปลาน้ำจืดก็มีโอเมก้า 3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โอเมก้า 3 (Omega-3 fatty acids) เป็นกรดไขมันชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์หลายอย่างต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ป้องกันโรคความจำเสื่อมในผู้สูงอายุ และกระตุ้นการสร้างสารเคมีซีโรโทนินในสมอง มีฤทธิ์ต้านการซึมเศร้า ทั้งยังเป็นสารอาหารสำคัญในการสร้างเซลล์ประสาทในเด็กและทารกในครรภ์มารดาอีกด้วย

เจ้าโอเมก้า 3 นี้จะพบมากในปลาทะเลเขตน้ำเย็นชนิดต่างๆ เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาแฮร์ริ่ง ปลาแม็คคาเรล ปลาแซลมอน ปลาทูน่า เป็นต้น ส่วนในปลาทะเลของไทย เช่น ปลาทู ปลารัง ปลากะพง ปลาเก๋า ปลาสำลี ปลาอินทรีย์ ปลาโอ ฯลฯ มีกรดไขมันโอเมกา 3 ในปริมาณที่เหมาะสมเช่นกัน

คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าปลาทะเลเท่านั้นที่มีโอเมก้า 3 แต่ข้อมูลงานวิจัยด้านอาหารของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า คนไทยมีความเข้าใจผิดว่ากรดไขมันโอเมก้า 3 มีเฉพาะในปลาทะเล แต่ในความเป็นจริงแล้วปลาน้ำจืดก็มีโอเมก้า 3 สูงเช่นกัน โดยปลาน้ำจืดบางชนิดมีโอเมก้า 3 สูงกว่าปลาทะเลเสียอีก หากเปรียบเทียบปลาที่มีน้ำหนัก 100 กรัม จะพบว่าปลาสวายเนื้อขาวมีโอเมก้า 3 สูงถึง 2,570 มิลลิกรัม ปลาช่อนมีโอเมก้า 3 ถึง 870 มิลลิกรัม ขณะที่ปลาแซลมอนมีโอเมก้า 3 ประมาณ 1,000-1,700 มิลลิกรัม ปลากะพงขาวมีโอเมก้า 3 ประมาณ 310 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 100 กรัม

ปลาไทยๆไม่ว่าจะน้ำจืดหรือน้ำเค็มก็มีประโยชน์มากมายในราคาที่ถูกกว่าปลาจากต่างประเทศมากทีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น