xs
xsm
sm
md
lg

อลังการถ้ำดัมบูลลา สักการะพระเขี้ยวแก้วที่“ศรีลังกา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : จุชดานิน

ภายในวัดทองดัมบูลลาตรงเชิงเขามีพระพุทธรูปองค์ใหญ่สวยเด่น
หลังจากชมเมืองโบราณอนุราธปุระ และพระราชวังสีคิริยา ซึ่งมีดีกรีเป็นถึงมรดกของโลกกันไปในตอนที่แล้ว เราจะไปต่อความอลังการงานสร้างกันที่ “วัดถ้ำดัมบูลลา” (Dambulla Cave Temple) ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี พ.ศ.2534 ถือเป็นมรดกโลกแห่งล่าสุดในศรีลังกา

แต่ก่อนที่จะขึ้นไปชมความวิจิตรอลังการที่ถ้ำดัมบูลลา ซึ่งตั้งอยู่บนเชิงภูเขาหินสูงกว่า 500 ฟุต พวกเราได้แวะไปชม "วัดทองดัมบูลลา" (Golden Temple Dambulla) ที่ตั้งอยู่บนพื้นราบเชิงเขากันก่อน ภายในวัดทองดัมบูลลาแห่งนี้ มีจุดดึงดูดอยู่ที่ด้วยพระพุทธรูปสีทององค์ใหญ่ ต้องขอบอกเลยว่าองค์ใหญ่มหึมาจริงๆ ตั้งอยู่อย่างโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ด้านบนอาคารพิพิธภัณฑ์
ภายในถ้ำดัมบูลลาที่ 2 มีเจดีย์ พระพุทธรูปหลายสิบองค์ และภาพเขียนสีอันวิจิตร
และก็เป็นอันรู้กันว่าถ้าเจอสถานที่ที่แปลกตาและโดดเด่นเช่นนี้ พวกเราก็ต้องขอแอ๊คท่าสวยงามแต่สงบเสงี่ยมถ่ายรูปกันยกใหญ่ ก่อนเดินทางจ่อไปยังมรดกของโลกถ้ำดัมบูลลา ซึ่งก็เป็นงานเหนื่อยที่พวกเราต้องเดินจากทางลาดชันขึ้นเขาไปให้ถึงยอด

พวกเราเดิน เดิน และเดินขึ้นเขาอย่างไม่พูดไม่จา เพราะเกรงจะเสียพลังงานจนลมจับ ไม่นานเราก็มาถึงยังด้านบนของเขา วิวทิวทัศน์ตรงนี้สวยงามดูเขียวชอุ่มมองไปได้สุดลูกตา เคลิบเคลิ้มกับบรรยากาศและสายลมจนหายเหนื่อยกันแล้ว พวกเราก็เข้าไปยังด้านในของถ้ำดัมบูลลาแห่งนี้ ที่สร้างโดยพระเจ้าวาลากัมบา (Walagambahu) พระองค์ทรงเคยพำนักในถ้ำที่ดัมบูลลา ช่วงที่พระองค์เสด็จพลัดถิ่นจากเมืองอนุราชปุระ เพื่อเป็นการตั้งหลักก่อนที่จะรวบรวมไพร่พลกลับไปรบกันอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาเมื่อพระองค์ทรงรบชนะ และเสด็จกลับขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงสร้างวิหารศิลาภายในถ้ำ ที่ดัมบูลลานี้ ภายในมีถ้ำทั้งหมด 5 ถ้ำด้วยกันมีขนาดใหญ่เล็กแตกต่างกันออกไป
พระนอนปางปรินิพพานองค์ใหญ่ในถ้ำดัมบูลลาที่ 1
ถ้ำแรก แม้จะมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับถ้ำอื่นๆ แต่ก็ใหญ่พอจะบรรจุพระพุทธรูปนอน หรือพระพุทธรูปปางปรินิพพานที่แกะสลักจากหินอ่อนยาวถึง 49 เมตร ได้อย่างสบายๆ ดูแล้วช่างสวยงามยิ่งนัก ถัดไปคือถ้ำที่ 2 เป็นถ้ำที่มีขนาดใหญ่ ภายในดูสวยงามแปลกตามากด้วยองค์เจดีย์ที่สูงจากพื้นถึงเพดานถ้ำ นอกจากนั้นก็มีพระพุทธไสยาสน์ รวมถึงพระพุทธรูปมากมายทั้งองค์ใหญ่องค์เล็กหลายสิบองค์เรียงรายอยู่รอบๆถ้ำ และรูปปั้นกษัตริย์สิงหล เดินถัดไปตามระเบียงทางเดินเราก็จะเจอกับถ้ำที่ 3 ที่4 และที่ 5 ตามลำดับ

ซึ่งแต่ละถ้ำมีพระพุทธรูปใหญ่เล็กประดิษฐานอยู่เป็นจำนวนมากกว่าร้อยองค์ และที่เสริมให้ถ้ำทั้ง 5 มีความวิจิตรสวยงามนั้นก็คือ ภาพเขียนสีจิตกรรมฝาผนังและเพดานจนแทบจะเต็มพื้นที่อายุราว 800 ปีมาแล้ว โดยภาพเขียนสีเหล่านี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระพุทธศาสนา พระพุทธประวัติ เหล่ามวลเทวดาประจำแคว้น รวมถึงลวดลายทางพุทธศิลป์ เช่น ลายดอกบัว ดอกพิกุล ลงสีสันสวยงามน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
ด้านนอกของถ้ำดัมบูลลา มองเห็นระเบียงเดินเชื่อมจากถ้ำหนึ่งสู่อีกถ้ำหนึ่ง
จากวัดถ้ำดัมบูลลา พวกเราเดินทางต่อไปยังเมืองแคนดี้ แต่ระหว่างทางเราแวะไปที่สวนสมุนไพร “Ranwali Spice Garden” ในเมือง “มาตาเล” (Matale) โดยจะมีชาวท้องถิ่นผู้เชี่ยวชาญมาพาชมต้นสมุนไพรต่างๆที่เขาปลูกไว้ อาทิ ต้นอบเชย ต้นกระวาน ต้นกานพลู ต้นจันทน์ ต้นโกโก้ ต้นวานิลลา พร้อมบอกสรรพคุณ และยังมีผลิตภัณฑ์ต่างๆจากสมุนไพรจำหน่ายอีกด้วย

พอได้ใช้เงินในกระเป๋าบ้างเป็นอันสบายใจ พวกเราก็มุ่งตรงสู่ "นครศักดิ์สิทธิ์แคนดี้" (Kandy) ซึ่งเป็นนครหลวงแห่งสุดท้ายของของราชอาณาจักรสิงหลก่อนที่จะตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ภูมิประเทศเมืองนี้มีภูเขาล้อมรอบมองลงมาเห็นทะเลสาบที่สวยงาม รวมถึงวัดอันศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่นับถือของชาวพุทธทั่วโลก
บรรยากาศที่สวยงามสดชื่นด้านบนเขาดัมบูลลา
ที่เมืองชื่อน่ารักน่ากินแห่งนี้ มีสถานที่สำคัญได้แก่ “วัดดาลามา มาลิกาวะ” (Dalada Maligawa) ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว วัดนี้จึงมีอีกชื่อว่า “วัดพระเขี้ยวแก้ว” หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Temple of the Tooth”

เมื่อพวกเราเข้าประตูผ่านการตรวจค้นอาวุธโยการลูบไล้ไปทั่วตัวแล้ว ก็เดินตรงมาตามทางเดินไปยังเบื้องหน้าสู่วิหารพระเขี้ยวแก้ว แต่ก่อนที่ทุกคนจะเข้าสู่ด้านในวิหารพระเขี้ยวแก้วพวกเราก็ต้องจัดแจงฝากสัมภาระ สัมภารก รวมถึงรองเท้าไว้กับเจ้าหน้าที่ เพราะโดยปกติแล้วเขาไม่อนุญาตให้นำสิ่งของใดติดตัวเข้าไป ยกเว้นแต่ดอกไม้บูชาเท่านั้น และแล้วพวกเราก็ผ่านการลูบไล้อีกครั้งหนึ่งก่อนจะเดินข้ามสะพานเล็กๆข้ามคูน้ำเข้าไปยังตัววิหาร
ภายในถ้ำต่างๆมากมายด้วยพระพุทธรูปน้อยใหญ่ เจดีย์ และภาพเขียนสีที่สวยงาม
พุทธศาสนิกชนที่หลั่งไหลมามากมาย ณ ที่นี้ ในมือล้วนแต่มีดอกไม้ทั้งดอกบัว ดอกสาละ ดอกพุด เพื่อนำไปบูชาพระเขี้ยวแก้วซึ่งประดิษฐานอยู่บนชั้นที่สอง ตามประวัติแล้ว หลังถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า มีพระบรมสารีริกาตุเหลืออยู่ 7 ส่วนที่ไม่ไหม้ไฟ คือ พระเขี้ยวแก้ว 4, พระรากขวัญ(ไหปลาร้า) 2 แลพะพระนลาฏ(หน้าผาก) 1

กษัตริย์อินเดียจาก 7 แคว้นต้องการพระบรมสารีริกธาตุจึงได้ต่อสู้กัน เดือดร้อนถึงโทณพราหมณ์ นักปราชญ์แห่งกุสินาราต้องนำตุมพะทองคำมาตวงแบ่งเป็น 8 ส่วนเท่าๆกัน โดยโทณพราหมณ์ได้แอบเอาพระเขี้ยวแก้วองค์ที่ 1 เบื้องบนขวา ไป พระอินทร์ทรงรู้จึงได้นำเอาไปประดิษฐานในเจดีย์จุฬาโลกมณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ รวมอยู่กับเกศาของพระพุทธเจ้าตอนที่ปลงเสด็จออกบวช

พระเขี้ยวแก้วองค์ที่ 2 เบื้องล่างซ้าย อยู่กับพญานาคในโลกบาดาล พระเขี้ยวแก้วองค์ที่ 3 เบื้องบนซ้าย ประดิษฐานอยู่ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และพระเขี้ยวแก้วองค์ที่ 4 เบื้องล่างขวา ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี้แห่งนี้เอง
วิหารพระเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี้
โดยก่อนที่พระเขี้ยวแก้วองค์ที่ 4 เบื้องล่างขวาจะมาอยู่ที่ศรีลังกานั้น เคยประดิษฐานอยู่ที่แค้วนโอริสสา ประเทศอินเดีย ครั้นเมื่อเกิดภัยสงคราม เจ้าชายทันตกุมารและเจ้าหญิงเหมมาลา แห่งแคว้นกลิงคราษฎร์ ได้อัญเชิญมาโดยซ่อนไว้ในมวยผมของเจ้าหญิง แล้วเดินทางข้ามายังเกาะลังกา มาประดิษฐานไว้ ณ วัดอภัยคีรี กรุงอนุราธปุระ แต่ในเวลาศึกสงครามกษัตริย์กรุงอนุราธปุระจะเสด็จหนีไปอยู่ที่ใดก็จะอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วเสด็จคุ้มครองไปด้วยทุกแห่ง

บริเวณชั้น 2 นี้คาคั่งไปด้วยผู้มีจิตศรัทธาทั้งชาวศรีลังกาและต่างชาติมากมาย รวมทั้งชาวไทยแลนด์ของเราด้วย ซึ่งองค์พระเขี้ยวแก้วได้ประดิษฐานอยู่ภายในตู้กระจกนิรภัย มองเห็นสถูปทองคำซึ่งซ้อนกันถึง 7 ชั้น ประดับด้วยเพชรนิลจินดา สายสร้อยสังวาล และอัญมณีล้ำค่าต่างๆมากมายอันได้มากจากประมุขของประเทศต่างๆ นำมาถวาย ในสถูป 7 ชั้นมีซองห่อหุ้มอีก 6 ชั้น ชั้นสุดท้ายเป็นงาช้างห่อหุ้มพระเขี้ยวแก้วไว้ภายใน
ดอกไม้กองโตที่พุทธศาสนิกชนนำมาบูชาพระเขี้ยวแก้วที่ห้องด้านนอก
โดยปกติแล้วผู้ที่มาบูชาพระเขี้ยวแก้วจะถวายดอกไม้และบูชาอยู่เพียงชั้นนอกเท่านั้น จะมีเพียงแขกบ้านแขกเมืองและขอเป็นกรณีพิเศษเท่านั้นที่จะได้เข้าไปบูชาพระเขี้ยวแก้วในห้องชั้นใน และเมื่อพวกเราได้กราบไหว้บูชาและขอพรกันจนอิ่มเอมใจกันแล้ว ก็แอบแว้บไปเดินเตร็ดเตร่ในเมืองแคนดี้ซึ่งอยู่ตรงบริเวณวัดพระเขี้ยวแก้วนี้เองก่อนที่จะกลับที่พัก

เช้าวันรุ่งขึ้น เรามุ่งหน้ากลับมายังสนามบินในกรุงโคลอมโบ เพราะคืนนี้พวกเราจะจากลาเมืองพุทธศาสนาศรีลังกากันแล้ว แต่ระหว่างทางเราผ่าน “เมืองนูวาระ เอลิยะ” เมืองแห่งไร่ชา เซอร์เอ็ดเวิร์ด เป็นผู้ค้นพบที่ราบสูงนูวาระ เอลิยะ แห่งนี้ว่ามีอากาศดี บริสุทธิ์ จึงเลือกเป็นที่พักตากอากาศของชาวอังกฤษในยุคที่อังกฤษเข้ามาปกครองศรีลังกา จนเมืองนี้ได้รับสมญานามว่า “Little England”

เมืองนูวาระ เอลิยะ เมืองแห่งไร่ชา
ต่อมา เจมส์ เทย์เลอร์ ชาวสก็อตแลนด์ได้นำชาเข้ามทดลองปลูกที่นี่และได้ผลดีมากจึงปลูกอย่างจริงจังในเวลาต่อมา จนมีชื่อเสียงในด้านคุณภาพ กลายเป็นแหล่งผลิตชาชั้นยอดของโลก สำหรับนักดื่มชาจะทราบกันดีว่า “ชาซีลอน” ชาดำรสชาติเข้มขน ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก

ซึ่งก็เป็นธรรมเนียมของชาวคณะเราที่ต้องแวะไปเยี่ยมชมไร่ชาและโรงงานผลิตชากันสักหน่อย และที่สำคัญชาวคณะของเราต้องจับจ่ายใช้สอยหาซื้อของฝากติดมือติดกระเป๋ากลับบ้านเป็นแน่แท้ เพื่อความสุขในการช้อปปิ้งของบรรดาชาวคณะ รสบัสคันเดิมจึงพาเราแวะยังไร่ชา 2-3 แห่ง ให้จับจ่ายกันอย่างเมามัน

และแล้วการเดินทางเยือนแดนพระพุทธศาสนาศรีลังกาของฉันก็จบลงอย่างอิ่มบุญและสุขใจ และเมื่อสบายในแล้วพวกเราก็นั่งเครื่องบินของสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิคอย่างสบายกาย บินตรงกลับมายังกรุงเทพฯแบบแฮบปี้เอนดิ้งด้วยประการฉะนี้แล

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา เป็นประเทศเกาะในมหาสมุทรอินเดีย ใช้เงินสกุล รูปีศรีลังกา อัตราแลกโดยประมาณ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 110 รูปีศรีลังกา เวลาช้ากว่าประเทศไทยประมาณ 1.30 ชม. การเดินทางสามารถเดินทางโดยสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค บินตรงจากกรุงเทพฯ-โคลอมโบ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2246-5659 และ 0-2762-9009

กำลังโหลดความคิดเห็น