" …ทุกแห่งที่ตามเสด็จ จะเห็นว่าชาวอีสานนี้นุ่งซิ่นไหมมัดหมี่ ข้าพเจ้าก็บอกว่าขอให้ฉันสักตัวจะได้ไหม เขาบอกว่าเอาไปทำไมของบ้านนอกคอกนา คนรวยๆเขาไม่ใส่กันหรอก ก็บอกกับเขาว่าสวยจริงๆไม่ใช่แกล้งยกยอ เพราะว่าเป็นของสวยงามมาก เขาก็เลยยินดี เขาบอกว่าถ้าจะใส่จริงเขาจึงจะทำให้ บอกว่าทำมาเถอะแล้วจะใส่ เขาก็ช่วยกันทำมา …"
พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 11 สิงหาคม 2523
ด้วยความสนพระทัยและทรงทอดพระเนตรเห็นความงดงามอันเปี่ยมล้น ที่แฝงอยู่ในงานหัตถกรรมพื้นบ้านของไทยเกี่ยวกับ "ผ้าไหม" ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทำให้กว่า 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ผ้าไหมไทยได้รับการพัฒนาและยกย่องจนได้รับสมญานามว่าเป็น "ราชินีแห่งสิ่งทอ" หรือ The Queen of Textile
การพัฒนาหม่อนไหมเริ่มขึ้นอย่างจริงจัง เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2498 นอกจากพระองค์ทรงพบว่าราษฎรที่เดินทางมารับเสด็จทั้งสองพระองค์นั้น ล้วนยากจน ขาดที่ดินทำกิน มีอาชีพทำไร่และและทำนา บ่อยครั้งต้องเผชิญกับปัญหาฟ้าฝนที่ไม่ตกต้องตามฤดูกาล พระองค์ทรงสังเกตเห็นว่าเหล่าสตรีที่มารับเสด็จแต่ละคราว มักแต่งกายด้วยผ้าซิ่นไหม ต่างสี ต่างลาย งดงามแตกต่างกัน
ดังนั้นพระองค์จึงทรงมีพระราชดำริว่า น่าจะหาอาชีพเสริมให้ราษฎรเหล่านี้ เพื่อให้มีรายได้สม่ำเสมอตลอดทั้งปี ด้วยทรงพอพระราชหฤทัยในความงามของผ้าไหม พระองค์จึงทรงเลือกงานผ้าไหมเป็นหนึ่งในอาชีพเสริมให้แก่ราษฎร
ในระยะแรกชาวบ้านไม่ยอมขายให้ เพราะเกรงว่าผ้าของคนบ้านนอกอาจจะไม่สวยถูกใจ แต่เมื่อแจ้งให้ทราบพระราชประสงค์ว่าพระองค์รับสั่งให้ซื้อในราคาที่คุ้มค่า โดยให้ถือเสียว่าเป็นแบบแม่ให้ลูก ชาวบ้านจึงยอมขายผ้าให้
ในด้านการทอผ้าไหมของชาวบ้านถือว่ามีความชำนาญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อๆกันมาจากรุ่นสู่รุ่นอยู่แล้ว อีกทั้งลวดลายของผ้าไหมมีหลากหลายแตกต่างกันไปในหลายๆท้องถิ่น ก่อให้เกิดความงดงามที่แตกต่าง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจัดตั้งหน่วยงานด้านผ้าไหมเป็นมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษขึ้น เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา
โดยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับเป็นองค์ประธานมูลนิธิ พร้อมรับไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และทรงมีพระประสงค์ให้เพิ่มคุณภาพของเส้นไหมและผ้าไหม นอกจากนี้แล้วยังทรงก่อตั้งโครงการสนับสนุนการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหม อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ อีกด้วย
จวบจนปัจจุบันจากสายพระเนตรอันยาวไกล ทำให้ไหมไทยเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายและรู้จักไปทั่วโลก ในนาม "Thai Silk" กลายเป็นส่วนหนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของชาวต่างชาติ และได้มีการส่งออกผ้าไหมไทยไปยังประเทศต่างๆมูลค่านับพันล้านบาทนำรายได้เข้าสู่ประเทศ
และเนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงห่วงใย และทรงตระหนักถึงปัญหาที่มีผู้นำเข้าเส้นไหม และเส้นใยสังเคราะห์อื่นๆจากต่างประเทศ ทั้งที่ถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย เส้นไหมจึงมีทั้งที่ได้คุณภาพ และด้อยคุณภาพ เมื่อนำมาผลิตผ้าไหม จึงทำให้ผ้าไหมด้อยคุณภาพลง แต่ผู้ผลิตยังคงใช้คำว่า "ไหมไทย" หรือ "Thai Silk" เพื่อการค้า ทำให้ผู้ซื้อทั้งในประเทศ และต่างประเทศไม่มั่นใจในคุณภาพของผ้าไหมไทยอีกต่อไป
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญลักษณ์ "นกยูงไทย" ให้เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยอย่างมีมาตรฐาน สำหรับผู้ผลิตผ้าไหมทั้งเกษตรกรรายย่อย และผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยจำแนกแบ่งเป็น 4 ชนิด
ได้แก่ ตรานกยูงสีทอง สำหรับRoyal Thai Silkผู้ผลิตจะต้องใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านเป็นทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน เส้นไหมต้องสาวด้วยมือผ่านพวงสาวลงภาชนะ ทอด้วยกี่ทอมือแบบพื้นบ้านชนิดพุ่งกระสวยด้วยมือ ย้อมด้วยสีธรรมชาติหรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ต้องผลิตในประเทศไทยเท่านั้น เป็นตราสัญลักษณ์ที่มอบแก่ผ้าไหมที่ผลิตโดยใช้เส้นไหมและวัตถุดิบ ตลอดจนกระบวนการผลิตที่เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยอย่างแท้จริง
ตรานกยูงสีเงิน สำหรับClassic Thai Silk ผู้ผลิตจะต้องใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านหรือพันธุ์ไทยปรับปรุงเป็นเส้นพุ่งและเส้นยืน เส้นไหมต้องสาวด้วยมือหรือสาวด้วยอุปกรณ์ที่ใช้มอเตอร์ไม่เกิน 5 แรงม้า ทอด้วยกี่ทอมือ ย้อมด้วยสีธรรมชาติ หรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ต้องผลิตในประเทศไทยเท่านั้น เป็นตราสัญลักษณ์ที่มอบให้กับผ้าไหมที่ผลิตขึ้นโดยยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญา พื้นบ้านผสมผสานกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือและกระบวนการผลิตในบางขั้นตอน
ตรานกยูงสีน้ำเงิน สำหรับThai Silk ผู้ผลิตจะต้องใช้เส้นไหมแท้เป็นทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน ทอด้วยกี่แบบใดก็ได้ ย้อมด้วยสีธรรมชาติ หรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ต้องผลิตในประเทศไทยเท่านั้น ตราสัญลักษณ์นี้มอบให้กับผ้าไหมไทยที่ผลิตด้วยภูมิปัญญาของไทยในแบบประยุกต์ ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เข้ากับสมัยนิยมและเชิงธุรกิจ
และตรานกยูงสีเขียว สำหรับThai Silk Blend ใช้เส้นไหมแท้เป็นส่วนประกอบหลัก มีเส้นใยอื่นเป็นส่วนประกอบรอง ต้องระบุส่วนประกอบของเส้นใยอื่นให้ชัดเจน ทอด้วยกี่แบบใดก็ได้ ย้อมด้วยสีธรรมชาติ หรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ต้องผลิตในประเทศไทยเท่านั้น
เป็นตราสัญลักษณ์ที่มอบให้กับผ้าไหมที่ผลิตด้วยกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ผสมผสานกับภูมิปัญญาไทย ได้ลวดลายและสีสันที่มีการผสมผสานระหว่างเส้นใยไหมแท้กับเส้นใยอื่นที่มาจากธรรมชาติ หรือเส้นใยสังเคราะห์รูปแบบต่างๆ ตามวัตถุประสงค์การใช้งานหรือตามความต้องการของผู้บริโภค
ตราสัญลักษณ์ทั้ง 4 ชนิด จะปรากฏอยู่บนผืนผ้าอันงดงามที่มีกระบวนการผลิตที่แตกต่างกันทั้ง ชนิดของไหม การสาวไหม เส้นไหม การทอ การย้อม และกระบวนการผลิต ตามข้อบังคับในการขอใช้เครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ไหมไทย ของสถาบันหม่อมไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ์ฯ สำนักงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งปัจจุบันได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรอง"นกยูง" ไปแล้วทั้งสิ้น 32 ประเทศ
นับเป็นการแก้ปัญหาด้านมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย อีกทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคว่าจะได้เลือกซื้อผ้าไหมไทยได้ตรงตามความต้องการ โดยตราสัญลักษณ์นกยูงพระราชทาน จะติดลงบนผ้าไหมไทยที่ได้รับการรับรองแล้วทุกๆ 1 เมตร
และด้วยเพราะผ้าไหมผืนงามเกิดจากการถักทอของราษฎรในภาคต่างๆของประเทศ นับได้ว่ามีความงดงามเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกัน อีกทั้งอุปนิสัยของราษฎรในแต่ละภูมิภาคยังแตกต่างกันออกไป เช่น ในภาคเหนือชาวบ้านจะไม่นิยมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมด้วยตนเอง แต่จะซื้อเส้นไหมจากแหล่งอื่นมาใช้สำหรับทอผ้าไหม
โดยใช้ไหมเส้นยืนจากต่างประเทศ ส่วนเส้นไหมพุ่งใช้ไหมพันธุ์พื้นเมือง จึงโปรดเกล้าฯ ให้หาเส้นไหมให้ราษฎรใช้ทอผ้าพร้อมส่งครูผู้สอนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือสอนวิธีฟอกและปั่นเส้นไหม จนสามารถทอลวดลายยกดอกพิกุลและยกเป็นจกทั้งตัว
จงจรูญ มะโนคำ ช่างทอผ้าไหมจาก อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ บอกว่า เขาทอผ้าไหมออกมาในรูปแบบของผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน ลับแล ซึ่งเป็นการทอแบบพื้นเมืองทางเหนือประเภทหนึ่ง การทอมีความยากลำบากมาก อย่าง ผ้าซิ่นตีนจกเคี๊ยะไหมย้อมสีธรรมชาติ กว่าจะได้แต่ละผืนต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจในการผลิตกันมาก แต่ทุกครั้งที่ท้อจะนึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเสมอ ลวดลายทอจะเป็นลวดลายแบบโบราณดั้งเดิมบางก็ผสมผสานกับลายยกดอกได้อย่างกลมกลืน
"ผ้าไหมของเราได้มาตรฐาน เพราะพระราชินีทรงพระราชทานตราสัญลักษณ์นกยูงมาให้ ซึ่งถือว่าเป็นการดีเพราะมีส่วนช่วยให้ต้องรักษาคุณคุณภาพของผ้าไหมไว้ตราบนานเท่านาน ถ้าไม่มีพระองค์ท่านช่วยไว้บางทีเราอาจจะไม่เล็งเห็นความสำคัญของสิ่งที่ดีที่สุดที่มีอยู่ใกล้ตัวอย่างผ้าไหมก็เป็นได้"จงจรูญกล่าว
ในส่วนของภาคใต้ ทรงมีพระราชดำริให้ราษฎรเรียนทอผ้า โดยพระราชทานอุปกรณ์และครูฝึกสอนไปให้เพื่อส่งเสริมการย้อมสีทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม อีกทั้งทรงพระราชทานค่าใช้จ่ายประจำวันให้กับผู้เข้ารับการฝึกอบรมตลอดหลักสูตร
นัชฎาภรณ์ พรหมสุข จากศูนย์ฝึกอาชีพตำบลทรายขาว ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กล่าวถึงผ้าไหมของเมืองใต้ว่าลายผ้าไหมของเป็น ผ้าไหมมัดหมี่ลายจวนตานี เป็นผ้าไหมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะจะปรากฏบนผืนผ้าซึ่งกั้นอยู่ระหว่างตัวผ้าและหัวผ้า ผ้าจวนตานีแต่ละผืนจะมี 5 สีลวดลายบนผ้าได้รับอิทธิพลจากเขมรมีลวดลายคล้ายกับผ้าทางภาคอีสาน
"ความภูมิใจของกลุ่มศูนย์ฝึกอาชีพบ้านทรายขาว คือ เราได้รับเครื่องหมายตรานกยูงพระราชทานถึง 3 แบบ คือนกยูงสีทอง นกยูงสีน้ำเงิน และนกยูงสีเงิน การทำผ้าไหมช่วยให้เรามีรายได้เสริมและดีใจที่ได้มีส่วนร่วมอนุรักษ์ผ้าไหมสิ่งสวยงามไว้"นัชฎาภรณ์กล่าว
ส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันเป็นภาคที่ทรงริเริ่มเล็งเห็นความงดงามของไหมไทยนั้น พระองค์ได้มีการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตให้ได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น
อำนวย คูศิริเจริญพานิช ประธานเครือข่ายผู้ผลิตและจำหน่ายผ้าไหม จ.สุรินทร์ กล่าวว่า คนสุรินทร์นิยมนำเส้นไหมขั้นหนึ่งหรือไหมน้อย มาใช้ในการทอผ้า ไหมน้อยจะมีลักษณะเป็นผ้าไหมเส้นเล็ก เรียบ นิ่ม เวลาสวมใส่จะรู้สึกเย็นสบาย
กรรมวิธีการทอก็จะสลับซับซ้อน และเป็นกรรมวิธีที่ยาก ซึ่งต้องใช้ความสามารถและความชำนาญจริง เช่น การทอผ้ามัดหมี่พร้อมยกดอกไปในตัว ซึ่งทำให้ผ้าไหมที่ได้เป็นผ้าเนื้อแน่นมีคุณค่า เรียกได้ว่ามีการทอที่เดียวใบประเทศไทย คือที่ จ.สุรินทร์
"ผ้าไหมสุรินทร์เป็นที่สนพระทัยและเป็นที่ชื่นชอบของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงรับสั่งว่า ใส่แล้วเย็นสบาย อีกทั้งยังใช้ฝีมือในการทออีกด้วย อย่างในการ ประชุม APEC ในเดือน ตุลาคม ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพก็ใช้ผ้าไหมบ้านท่าสว่าง จาก จ.สุรินทร์ เป็นอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าผ้าไหมไทยงดงามจนนานาชาติก็ยอมรับ"อำนวยกล่าว
นับได้ว่าคุณค่าความงดงามของผ้าไหมไทยที่พัฒนาฝีมือและชื่อเสียงจนโด่งดังไปไกลทั่วโลกนั้น เกิดขึ้นภายใต้พระมหากรุณาธิคุณของแม่ของแผ่นดินโดยแท้จริง
สำหรับวันแม่ปีนี้หากบรรดาลูกๆอยากมอบของขวัญล้ำค่าแสนพิเศษสักชิ้นให้แก่แม่ "ผ้าไหมไทย"สักผืนอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่คู่ควรกับคนที่คุณรัก