xs
xsm
sm
md
lg

คุ้มวงศ์บุรี เสน่ห์สีชมพูคู่เมืองแพร่/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
บ้านวงศ์บุรี ตั้งตระหง่านโดดเด่นชวนมอง
ใครและใครหลายคนว่าไว้

คนกำลังมีรักมักจะมองโลกเป็นสีชมพูสดใส

แต่รักในที่นี่ย่อมเป็นประเภท รักอันหวานแหวว สดใส ซาบซ่าน

ส่วนถ้าเป็นรักประเภท รักร้าว รักคุด รักกุด รักกร่อน รักหลอน รักขม รักเรือล่ม หรือรักไม่สมประประกอบอื่นๆ โลกคงไม่เป็นสีชมพูด้วยประการทั้งปวง แต่ใครจะเห็นโลกเป็นสีอะไร? เทา ดำ คล้ำ หรือช้ำเลือดช้ำหนอง เรื่องนี้ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ของแต่ละคน

สำหรับผมสภาพการณ์ในทริปนี้ ดู ดู๊ ดู ดู ดู ไป ในแทบทุกฝีก้าวล้วนเต็มไปด้วยสีชมพูดูสดใส แต่ประทานโทษ งานนี้ไม่ใช่เป็นสีชมพูของคนเพิ่งมีรักแรกรุ่น และผมก็ไม่ได้พลัดหลงเข้าไปในกองเชียร์ของฝั่งจุฬาในงานฟุตบอลประเพณี จุฬา-ธรรมศาสตร์(ฝั่งจุฬา) หากแต่เป็นโลกสีชมพู(น้อยๆ)ใน“คุ้มวงศ์บุรี” บ้านเก่าแก่หลังงามคู่เมืองแพร่
วงศ์บุรี บ้านงามสีชมพูคู่เมืองแพร่
คุ้มวงศ์บุรีหรือบ้านวงศ์บุรี บ้านงามหลังนี้ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2440 ตามดำริของแม่เจ้าบัวถา ชายาคนแรกในเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่ โดยมอบหมายให้หลวงพงษ์พิบูล(เจ้าน้อยพรม) และเจ้าสุนันตา วงศ์บุรี ธิดาพระยาบุรีรัตน์น้องชายของเจ้าแม่บัวถา ซึ่งทำสัมปทานป่าไม้ในยุคนั้น จัดหาช่างฝีมือทั้งไทยและจีนมาร่วมกันก่อสร้างเรือนหลังนี้

ปรากฏว่าหลังจากนั้นอีก 3 ปี บ้านวงศ์บุรี ได้สร้างเสร็จสวยงามตามรูปแบบงานสถาปัตยกรรมสมัยนิยมในยุครัชกาลที่ 5

ณ วันนี้บ้านวงศ์บุรีได้ตั้งตระหง่านอย่างสง่างามคู่เมืองแพร่ผ่านร้อน หนาว ฝน มาถึงตอนนี้ก็เป็นเพลา 111 ปีพอดี นับว่าเป็นเลขที่สวยไม่น้อย เพราะเมื่อเร็วๆนี้หวยได้ออก 111 (สามตัวบน)มาชนิดหักคอเซียนหวยกันอย่างไม่น่าเชื่อ ส่วนในทางป๊อกเด้งนั้น หากใครได้ 111(ตอง A ) ก็รับไปแบบเนื้อๆเน้นๆ 5 เด้ง 5 ต่อ แต่ถึงกระนั้นในบางครั้ง 111 ก็ไม่ใช่เลขสวยเสมอไป เพราะอย่างมูลนิธิ 111 ที่เป็นแหล่งรวมซากศพนั้น ใครและใครบางคนต่างบอกว่า นี่ “มันเลขซวยชัดๆ!?!”

เอ้า เรื่องนี้ก็ว่ากันไปตามความรู้สึกของแต่ละคน ส่วนผมขอหลังเถลไถลเฉไฉออกไปนิดหน่อยก็ขอกลับมายังบ้านวงศ์บุรีอีกครั้ง บ้านงามหลังนี้มีสีชมพูงามเด่นทั้งข้างนอกข้างในนั้น ซึ่งทางเจ้าหน้าที่นำชมบ้านบอกว่า เพราะนี่คือสีโปรดของแม่เจ้าบัวถาผู้ดำริให้สร้างบ้านนั่นเอง
ลวดลายประดับหน้าจั่ว
ฉะนั้นบ้านวงศ์บุรีจึงเป็นดังโลกสีชมพูน้อยๆ(ในความรู้สึกของผม)ที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง โดยเสน่ห์แห่งสีชมพูนั้นพุ่งมาจับหมับจับจิตจับใจของผม ตั้งแต่เมื่อแรกเห็นบ้านหลังนี้ตั้งตระหง่านด้วยสีชมพู+ขาวท่ามกลางต้นไม้ใหญ่น้อยที่ขึ้นรายล้อม

บ้านหลังนี้เป็นเรือนไม้สักทอง 2 ชั้น สถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรป แบบ“เรือนขนมปังขิง” ที่สร้างอย่างประณีต อ่อนช้อย งดงามสมส่วน และแฝงเส้นสายแสงเงาอยู่ในที

ขนมปังขิง (Ginger Bread) ชื่อนี้ไม่ใช่ของกินอย่าง ไก่ผัดขิง ผัดพริกขิง หรือน้ำขิง หากแต่เป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งใช้เรียกลวดลายประดับตกแต่งทางสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะหงิกงอคล้ายขิง ส่วนใหญ่เป็นลายฉลุไม้ รูปแบบเรือนขนมปังขิงมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียที่ 2 แห่งอังกฤษ ก่อนแพร่หลายไปทั่วยุโรป จากนั้นจึงเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมายังสยามประเทศในรัชสมัยรัชกาลที่ 5

จะว่าไปขนมปังขิงนั้นเป็นดังลวดลายประดับ เหมือนลายไทยอย่าง ลายกระหนก ลายประจำยาม แต่เมื่อมาผสมกับอาคารบ้านเรือนแล้วก็เกิดเป็นอาคารแบบขนมปังขิงขึ้นมา ซึ่งลวดลายขนมปังขิงที่บ้านวงศ์บุรีนั้นมีประดับตกแต่งอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นตามเชิงชาย สันหลังคา ช่องลม ช่องแสง ราวระเบียง ส่วนที่เด่นและโดนใจผมมากก็เห็นจะเป็นลวดลายประดับหน้าจั่วที่ฉลุอย่างสวยงามมีชั้นเชิง

หลังดูลวดลาย ดูทรวดทรง องค์ประกอบที่ด้านนอกอย่างจุใจ ต่อไปก็เป็นทีของการเข้าไปชมเสน่ห์ภายในบ้านวงศ์บุรีกันบ้าง

ในนี้ดูอบอวลไปด้วยสีชมพู+ขาว อยู่ทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักด้วยๆกัน คือ ส่วนหน้ากับส่วนหลัง ส่วนหลังเป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าของบ้าน ซึ่งเดิมเป็นเรือนไม้ใต้ถุนโล่งแบบพื้นบ้าน เป็นเรือนพักของแม่เจ้าบัวถา โดยระหว่างอาคารจะมีชานเชื่อมเข้าหากัน มีการยกพื้นหรือ“เติ๋น” ใช้เป็นส่วนนั่งเล่น พักผ่อน และรับประทานอาหาร และมี “ข่ม” หรือพื้นในระดับต่ำลงมา เป็นทางขึ้น-ลง และเป็นที่พักผ่อนทั่วไป
ช่องแสง ลวดลายสวยงาม
ในขณะที่ส่วนด้านหน้าที่มีห้องมากมายประมาณ 20 ห้องนั้น ปรับแต่งเป็น“พิพิธภัณฑ์” จัดแสดงให้เห็นถึง วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของเจ้านายในอดีต มีห้องที่เด่นๆอย่าง ห้องของแม่เจ้าบัวถา ห้องรับแขก ห้องนอน ซึ่งแต่ละห้องเพียบพร้อมไปด้วย ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อาทิ ตู้ เตียงนอน โต๊ะ โต๊ะเครื่องแป้ง เก้าอี้ ถ้วยโถโอชาม เครื่องเงิน กำปั่นเหล็ก แหย่งช้าง อาวุธโบราณ พระพุทธรูปโบราณสมัยเชียงแสน อู่ทอง รวมถึงรูปภาพเก่าแก่ต่างๆที่ประดับบอกเรื่องราวของบ้านหลังนี้

ส่วนที่ถือเป็นของสำคัญ เป็นเอกสารทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่หาดูได้ยากก็คือ เอกสารการขอสัมปทานป่าไม้ในอดีต ตั๋ว รูปพรรณช้าง โค สัญญาบัตรที่ได้รับการโปรดเกล้าจากรัชกาลที่ 5 รวมถึงเอกสารการซื้อ-ขาย ทาสที่เรียกความสนใจผมได้เป็นอย่างดี

เอกสารนี้ทางบ้านวงศ์บุรีได้ทำข้อมูลให้ความรู้ไว้ว่า เป็นเอกสารซื้อทาส(ซื้อคนมาเป็นทาสรับใช้) ที่พบในบ้านวงศ์บุรี มีแม่เจ้าบัวถา และเจ้าน้อยพรม(หลวงพงษ์พิบูล) เป็นนายเงิน(ผู้ซื้อ) โดยมีการซื้อตั้งแต่ ร.ศ.119 (พ.ศ. 2443) ถึง ร.ศ.124 (พ.ศ.2448) รวม 49 ฉบับ คิดเป็นจำนวนทาสและทาสในเรือนเบี้ย(ลูกที่ติดมากับทาส) 69 คน และคิดเป็นเงินที่ซื้อ 3,142.75 บาท

นั่นเป็นราคาของทาสเมื่อราว 100 ปีที่แล้ว ซึ่งในยุคนี้ พ.ศ.นี้ เมืองไทยเลิกทาสไปนานแล้ว แต่ประทานโทษ เท่าที่ติดตามข่าวสารมา ผมพบว่าพรรคการเมืองบางพรรคในบ้านเรายังมีการซื้อ-ขายทาสอยู่นะ เท่านั้นยังไม่พอดูเหมือนว่าพักหลังการซื้อ-ขายทาสยังลามระบาดไปในหมู่ข้าราชการขี้ฉ้อ และนักวิชาการขายตัวอีกด้วย ดู ดู๊ ดู ดู ดู ไป มันช่างแปลกจริงๆเลย พับผ่าสิ
ห้องหนึ่งในบ้านวงศ์บุรี
ส่วนเรื่องที่น่าแปลกอีกเรื่องหนึ่งก็คือ บรรดาข้าวของเครื่องใช้มีค่าต่างๆในบ้านวงศ์บุรีนั้นเคยมีบางคนพยายามจิ๊ก ขโมย ออกไป แต่ทว่าคนที่เอาของไปก็เก็บของไว้ได้ไม่นาน เพราะคุณสหยศ วงศ์บุรี ผู้ดูแลบ้านวงศ์บุรีรุ่นปัจจุบัน บอกกับผมว่า ทุกคนที่เอาของไปไม่กี่วันก็ต้องนำของมาคืน แถมยังมีข่าวว่าผู้ต้องสงสัยบางคนอยู่ไม่เป็นสุขเหมือนมีอะไรมากวนอยู่ตลอดอีกต่างหาก

เรื่องนี้จริง-เท็จ อย่างไรไม่มีใครรู้ได้นอกจากผู้ขโมยของไป แต่ความจริงก็คือใครที่ขโมยของถ้าถูกจับได้แล้ว มีโทษตามกฎหมายแน่นอน ส่วนใครที่ไปเที่ยวบ้านงามหลังนี้ก็ควรดูแต่ตามืออย่าต้อง เพราะหากไปจับสัมผัสอาจจะทำให้ข้าวของชำรุดแตกหักเสียหายได้

ด้วยความสวยงามโดดเด่นทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทำให้บ้านวงศ์บุรีได้รับการยกย่องให้เป็น“อาคารอนุรักษ์ดีเด่น” ประจำปี 2536 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
อีกหนึ่งบรรยากาศในบ้านวงศ์บุรี
ใครที่ว่าสีชมพูดูหวานแหววไร้พลังนั้น ผมว่าไม่จริง เพราะนี่คือสีอันเป็นดังพลังแห่งความรัก พลังแห่งความหวาน แถมยังเป็นพลังแห่งความงามที่หากใช้เป็นแล้วก็จะออกมาสวยงามอย่างบ้านวงศ์บุรีหลังนี้

...................................

     “วงศ์บุรี”นามนี้บ้าน               ร้อยปี
ก่อกำเนิดเกิดมี                         มาได้
“บุรีรัตน์” พระยาเจ้า                   ดำริ
“พงษ์สุนันท์”ผู้สร้าง                   สืบมา
     ลูกหลาน เหลน โหลน ล้วน     ภูมิใจ
อนุชนรุ่นใหม่                            ได้ศึกษา
ร่วมอนุรักษ์ สืบสาน                   ภูมิปัญญา
คนเก่าแก่สร้างมา                      น่าภาคภูมิ

     มีของเก่าควรค่าน่าเรียนรู้
สืบทอดสู่ปัจจุบันน่าฉงน
เอกสารมากมาย”ซื้อขายคน”
ค้าขายขนไม้ข้าวเหล่าช้างม้า
     อีกตู้เตียงเครื่องใช้ทั้งหลายไซร้
ทั้งของนอกของในงามหนักหนา
“สัญญาบัตร” ที่ ร.5 พระราชทานมา
เคียงคู่ค่า “วงศ์บุรี” แห่งนี้เอย

ประพันธ์โดย...ขรรค์ชัย วงศ์บุรี
พ.ศ.2542

*****************************************

คุ้มวงศ์บุรีหรือบ้านวงศ์บุรี ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 50 ถ.คำลือ ต.ในเวียง อ.เมือง จ.แพร่ เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 9.00-17.00 น. สอบถามเพิ่มเติมที่ โทร. 0-5462-0153
กำลังโหลดความคิดเห็น