xs
xsm
sm
md
lg

เขาพระวิหารฝั่งไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพสลักนูนต่ำ อันซีนไทยแลนด์ (ภาพ : ททท.)
แม้ศาลโลกจะตัดสินให้กัมพูชาชนะไทยในกรณีเขาพระวิหารในปี พ.ศ.2505 แต่ก็เป็นเพียงเฉพาะส่วนของตัวปราสาทเขาพระวิหารเท่านั้นที่เป็นของเขมร ในขณะที่บันไดทางขึ้นและองค์ประกอบอื่นๆยังเป็นของไทยอยู่

ซึ่งหลังรมว.ต่างประเทศของไทยตกลงเซ็นยินยอมต่อกัมพูชาในการขอขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไม่มีองค์ประกอบอื่นๆที่อยู่ในฝั่งไทยร่วมด้วย ก็เกิดการคัดค้านของประชาชนคนไทยตามมามากมายต่อกรณีนี้

เพราะหากพิจารณาดูจะพบว่าศาสนสถานเขาพระวิหารนั้นจะเป็นมรดกโลกอย่างสมบูรณ์แบบก็ต่อเมื่อมีองค์ประกอบอื่นๆในฝั่งไทยร่วมด้วย ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญของเขาพระวิหารในฝั่งไทยก็มี

บันไดทางขึ้นด้านหน้า เป็นทางเดินขึ้น-ลงขนาดใหญ่กว้าง 8 เมตร ยาว 75.50 เมตร มีจำนวน162 ขั้น ช่วงแรกเป็นบันไดหิน บางชั้นสกัดหินลงไปในพื้นหินของภูเขา สองข้างบันไดมีฐานสี่เหลี่ยมตั้งเป็นกระพัก(กระพักแปลว่า ไหล่เขาเป็นชั้นพอพักได้)ขนาดใหญ่เรียงรายขึ้นไป ใช้สำหรับตั้งรูปสิงห์นั่ง ซึ่งบันไดนี้เป็นจุดแบ่งดินแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ตามคำตัดสินของศาลโลก โดยบันไดเป็นของไทยส่วนปราสาทเป็นของเขมร

ปราสาทโดนตวล เป็นปราสาทขอมโบราณขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ริมหน้าผาสูง บนเทือกเขาพนมดงรัก ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา ประกอบด้วยปรางค์รูปสี่เหลี่ยมย่อมุม ก่อด้วยอิฐ ซุ้มประตูก่อด้วยศิลา และมีรูปสิงโตจำหลักอยู่หน้าปราสาท นับเป็นปราสาทสำคัญอีกหลังหนึ่งที่มีศิลปวัฒนธรรมน่าศึกษาอยู่ไม่น้อยเลย

ผามออีแดง เป็นสถานที่สุดเขตแดนไทยติด-กัมพูชา เป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ที่มีทัศนียภาพสวยงาม นอกจากนี้บนผามออีแดงยังสามารถส่องกล้องมองปราสาทเขาพระวิหารได้ชัดเจนมาก

สถูปคู่ เป็นโบราณวัตถุ 2 องค์ ตั้งคู่อยู่บริเวณทิศตะวันตกของผามออีแดง สถูปคู่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ขนาดหน้ากว้าง 1.93 เมตร สูง 4.20 เมตร ยอดมนคล้ายตะปูหัวเห็ด ข้างในเป็นโพรงบรรจุสิ่งของ ก่อสร้างด้วยหินทรายเป็นท่อนที่ตัดและตกแต่งอีกทีดูแล้วค่อนข้างแปลกออกไปจากศิลปวัฒนธรรมในยุคอื่นๆ

ภาพสลักนูนต่ำ เป็นศิลปแบบโบราณมากอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งแกะสลักนูนต่ำเป็นภาพของ 3 เทพ อยู่บริเวณหน้าผาใต้มออีแดง บางรูปยังสลักไม่เสร็จ สันนิษฐานว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 ระหว่าง พ.ศ. 1465-1490 จากหลักฐานระบุว่านี่รูปสลักหินเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ยกให้เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์
สระตราวหรือห้วยตราว เป็นธารน้ำอยู่ตรงบริเวณลานหินเชิงเขาพระวิหาร มีสายน้ำไหลผ่านถ้ำใต้เพิงหินลงสู่บริเวณที่ลุ่มต่ำที่มีแนวหินวางซ้อนกันเป็นขอบเขื่อนกั้นสายน้ำ ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าที่ลุ่มดังกล่าวคือ บารายหรือแหล่งเก็บน้ำของขอมนั่นเอง

แหล่งตัดหิน เป็นบริเวณที่ทำการตัดหินเป็นท่อนสี่เหลี่ยม เข้าใจว่าคงเตรียมตัดหิน เพื่อใช้ในการก่อสร้างทำนบสระตราวสำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ซึ่งมีทั้งหินที่ตัดเป็นท่อนแล้ว และยังตัดไม่เสร็จอยู่ในลักษณะเตรียมการอยู่ใกล้บริเวณทำนบสระตราวนั้นเอง

และนั่นก็เป็นองค์ประกอบสำคัญของเขาพระวิหาร ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้พยายามยื่นเรื่องให้กัมพูชาเสนอปราสาทเขาพระวิหารและองค์ประกอบในฝั่งไทยเป็นมรดกโลก แต่ได้รับการปฏิเสธจากทางกัมพูชา จนกระทั่งนายนพดล ปัทมะ ได้ทำการเซ็นยินยอมต่อการขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกตามที่ปรากฏเป็นข่าว

อย่างไรก็ตามแม้นายนพดลจะออกมาให้ข่าวว่า จะขอขึ้นทะเบียนองค์ประกอบของศาสนสถานเขาพระวิหารทางฝั่งไทยอย่างสระตราวและบันไดให้เป็นมรดกโลก แต่ดูเหมือนว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นเพียงแค่การลดกระแสคัดค้านของสังคมและการแก้เกมการอภิปรายของฝ่ายค้าน ซึ่ง ศ.ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ประธานคณะกรรมการมรดกโลก กล่าวว่านี่เป็นเพียงการประชาสัมพันธ์และ “ประแป้ง” เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น