xs
xsm
sm
md
lg

ปลูกปะการังด้วยพีวีซี เรื่องดีๆที่เกาะหวาย/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
อ่าวเกาะหวายบริเวณที่มีการปลูกปะการัง
“ปะการัง”กับ“ท่อพีวีซี”

หนึ่งมีชีวิต หนึ่งไร้ชีวิต

ในการรับรู้ของคนส่วนใหญ่ ทั้ง 2 ดูยังไงก็ไม่เข้ากัน

แต่กับชายชื่อประสาน แสงไพบูลย์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยรำไพพรรณี จ.จันทบุรี กลับสามารถค้นคว้าทดลอง จนสามารถปลูกปะการังด้วยท่อพีวีซีได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ในปี พ.ศ. 2538 ณ บริเวณหาดแสมสาร ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

ผมเคยแต่“ปลูกต้นไม้” เคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับการ“ปลูกอวัยวะ” เคยเห็นโฆษณาเกี่ยวกับการ“ปลูกหนวด-เครา-ผม” เคยฟังเพลง“ปลูกรัก”ของคีรีบูน

แต่หากพูดถึงการ“ปลูกปะการัง”ด้วยท่อพีวีซีฝีมือคนไทย สำหรับผมแล้วถือว่านี่เป็นภูมิปัญญาไทยในระดับโลกที่น่าทึ่งไม่น้อยเลย

“เมื่อมนุษย์สามารถขยายพันธุ์ต้นไม้ด้วยการปลูกป่าได้ ก็น่าที่จะขยายพันธุ์ปะการังด้วยการปลูกปะการังได้”

อ.ประสาน บอกกับผมในครั้งแรกที่เราได้พบกันและคุยกันแบบจริงๆจังๆ ก่อนเล่าให้ฟังต่อว่า ก่อนหน้านั้น(ก่อนปี 38) อาจารย์ได้ลองคิดค้นหาวิธีปลูกปะการังจากวัสดุอื่นแต่ไม่มีอะไรดีเท่าพีวีซี
อ.ประสาน แสงไพบูลย์
“ไม้ไผ่ปลูกแล้วผุกร่อนง่าย ดินเผาปลูกแล้วแตกหักง่าย ส่วนพีวีซีจากการทดลองพบว่ามีคุณสมบัติที่ดีที่สุด ปลอดภัย คงทน อยู่ได้นาน ประหยัด ทำง่าย และสามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ นอกจากนี้พีวีซียังมีความเสถียรในตัวมันเอง ทำให้ปะการัง หอย ฟองน้ำ และตัวอ่อนต่างๆ เติบโตได้เป็นอย่างดี หากเทียบกับวัสดุอื่นๆ”

ส่วนกรณีที่มีหลายๆคนมองพีวีซีเป็นสิ่งแปลกปลอมนั้น อ.ประสานบอกว่า

“ถ้าจะถามถึงสิ่งแปลกปลอมในทะเล ผมว่าขยะในทะเลที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์นี่แหละสิ่งแปลกปลอมตัวจริง เวลาพาลูกศิษย์ทำกิจกรรมเกี่ยวกับทะเล เราจะเก็บขยะขึ้นมาได้จำนวนมากๆอยู่บ่อยครั้ง”

และนั่นคือข้อดีของพีวีซีต่อการเติบโตของปะการังในมุมมองของ อ.ประสาน ที่เกิดมาจากการทดลอง ค้นคว้า ลองผิดลองถูกมาหลายปี

ส่วนข้อที่หลายๆคนสงสัยว่า...ไอเดียการปลูกปะการังนี้ท่านได้แต่ใดมา???

อ.ประสานเล่าว่า “ได้ไอเดียมาจากวิธีการรักษารากฟันของคนนั่นแหละ”

สำหรับวิธีการแรกเริ่มนั้น อ.ประสาน ทดลองใช้เหล็กข้ออ้อยตรงปลายต่อด้วยท่อพีวีซี พยายามทำให้คล้ายกับรากฟันที่ฝังลงไปในกระดูกกราม แล้วเก็บปะการังที่ชำรุด แตกหัก เสียหาย มาเสียบไว้ ปรากฏว่าช่วงแรก มีรอดแค่ 58 กิ่ง จาก 130 กว่ากิ่ง

แต่...อ.ประสานกับทีมงานก็ไม่ได้ย่นย่อท้อเดินหน้าทดลองต่อไป โดยทำเป็นห้องเรียนธรรมชาติใต้ทะเลให้ลูกศิษย์ลูกหานักเรียนโรงเรียนพลูตาหลวง และชาวบ้านในละแวกนั้น ได้เรียนรู้การอนุรักษ์ปะการัง และทดลอง พัฒนาการปลูกปะการังในท่อพีวีซี จนสามารถขยายพันธุ์ได้มากขึ้นถึง 10,000 ต้น ในปี 2546 ซึ่งส่วนหนึ่งเก็บไว้เป็นแม่พันธุ์ อีกส่วนหนึ่งเตรียมไว้เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป

แต่...เมื่อเส้นทางชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ฉันใดก็ฉันเพล ที่เส้นทางการปลูกปะการังของ อ.ประสานก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเช่นกัน เพราะขณะที่การทดลองปลูกปะการังด้วยพีวีซีของ อ.ประสานและทีมงานดำเนินไปด้วยดี สามารถขยายพันธุ์ได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังได้รับการตอบรับจากสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่...ในอีกฟากหนึ่งของสังคมก็มีนักวิชาการ นักอนุรักษ์ทางทะเลกลุ่มหนึ่ง ได้ออกมาแสดงความเห็นต่างและคัดค้านในการปลูกปะการังด้วยท่อพีวีซี จนเกิดเป็นข่าว“วิวาทะปะการัง”ขึ้นเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว
ต้นปะการังเขากวางปลูกด้วยพีวีซีที่แตกกิ่งก้านเจริญงอกงามอย่างดีที่เกาะหวาย
“มนุษย์ไม่ควรคิดแทนธรรมชาติ แต่ควรปล่อยให้ธรรมชาติเป็นไปตามกระบวนการของมัน”

นั่นเป็นใจความหลักที่กลุ่มคัดค้านนำเสนอ

ในขณะที่กลุ่มสนับสนุนการปลูกปะการังก็ให้ทัศนะว่า

"เพื่อต้องการช่วยชีวิตปะการัง ขืนรอธรรมชาติฟื้นฟูตัวมันเองคงไม่ทันการณ์ เพราะทุกวันนี้การทำลายสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ถือว่ารวดเร็วและรุนแรงมาก”

และนั่นก็เป็นความเห็นต่างจาก 2 แนวทาง 2 แนวคิด ซึ่งตามความคิดของผม หากพบว่าแมวตัวหนึ่งประสบเคราะห์กรรมหรือถูกมนุษย์ทำร้ายจนบาดเจ็บเจียนตาย ถ้าผมสามารถช่วยเหลือหรือสามารถพาไปหาหมอสัตว์ให้รักษาได้ ก็จะไม่รีรอ รีบลงมือทำในทันที ผมจะไม่ปล่อยให้แมวนอนพะงาบๆ รอให้มันหายเองตามธรรมชาติเด็ดขาด(เพราะบางทีมันอาจจะไม่หายแต่อาจจะตายซะก่อนนะสิ)

เช่นเดียวกัน เมื่อปะการังจำนวนหนึ่งต้องประสบชะตากรรมถูกมนุษย์ทำร้ายทำลาย ถ้าเราสามารถช่วยเหลือเยียวยาได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็จะรีบทำในทันที ยิ่งเมื่อมีคนสามารถฟื้นชีวิตปะการังขยายพันธุ์ปะการังได้ นี่ไยไม่ใช่เรื่องน่ายินดีที่ควรส่งเสริมและสนับสนุน ให้คนไทยเห็นความสำคัญในการปลูกปะการังและอนุรักษ์ปะการังกันมากยิ่งขึ้น

สำหรับเรื่องความคิดต่างของคน 2 กลุ่มที่ต่างก็มีธง“รักทะเล”ชูนำด้วยกันทั้งคู่นั้น ณ วันนี้ยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ แต่นั่นดูจะไม่ได้ทำให้พลังในการทำงานเพื่อฟื้นฟูขยายพันธ์ปะการังด้วยพีวีซีของอาจารย์ประสาน ลูกศิษย์ ทีมงาน และแนวร่วมลดน้อยถอยลง หากแต่กลับมีคนตอบรับเพิ่มมากขึ้น จนเกิดเป็นการเพาะปลูกปะการังด้วยพีวีซีในพื้นที่จริงขึ้นครั้งแรกในเมืองไทยในปี 2549 ที่ เกาะหวาย แห่งหมู่เกาะช้าง จ.ตราด ณ บริเวณ อ่าวหน้าเกาะหวาย ปะการัง รีสอร์ท

โครงการนี้เป็นการร่วมมือกันของหลายหน่วยงาน อาทิ มูลนิธิวัฒนธรรมและการศึกษานานาชาติ หรือ ICEF องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน(อพท.) กรมประมง อุทยานฯเกาะช้าง และหน่วยงานอื่นๆ

หลังจากนั้นอีก 2 ปีต่อมา(ปี 51) ในปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปดูพัฒนาการของปะการังเขากวางรุ่นแรก และร่วมปลูกปะการังเขากวางในรุ่นต่อไป

งานนี้ แปลงปะการังในท่อพีวีซีอายุราว 2 ขวบที่เกาะหวายนั้น ถือว่าเติบโตดีเกินคาด คือมันแตกกิ่งก้านสาขาโตเฉลี่ยถึงต้นละประมาณ 1 ฟุตเลยทีเดียว
ปะการังที่ปลูกในแปลงพีวีซี
“ที่ปะการังเติบโตดีเกินคาด คงเป็นเพราะ เกาะหวายมีน้ำใสสะอาด มีอุณหภูมิเหมาะสม คลื่นลมไม่แรง สำหรับหน่วยงานที่อยากทดลองปลูกปะการัง ไม่ใช่ว่าทำแค่ติดต่อขอปะการังจากเราไป แล้วนำไปปลูกได้เลย เพราะการจะปลูกปะการังนั้นจะต้องมีการศึกษาสภาพแวดล้อมของพื้นที่เสียก่อน บางทีทะเลแถบอันดามัน อาจจะใช้กิ่งพันธุ์ของเราปลูกปะการังไม่ขึ้น หรืออาจปลูกขึ้นดีกว่าที่แสมสารก็ได้”

ส่วนเหตุที่เลือกปลูกแต่ปะการังเขากวาง อ.ประสานอธิบายว่า นี่คือปะการังนำร่องที่สามารถขยายพันธุ์ได้ดีในท่อพีวีซี และสามารถเติบโตขยายพันธุ์ด้วยตัวของมันเองได้ แถมยังช่วยกระตุ้นให้ปะการังอื่นๆในพื้นที่เติบโตตามอีกด้วย

เห็นปะการังโตชูช่อสวยงามอย่างนี้แล้ว มันยิ่งกระตุ้นให้ผมอยากไปร่วมปลูกปะการังกับทีมงานเร็วๆ สำหรับขั้นตอนการปลูกปะการังในท่อพีวีซีนั้นก็สามารถทำได้ง่ายๆ เริ่มจากการนำปะการังขึ้นมาจากแปลงอนุบาล แล้วตัดหรือหักกิ่งปะการัง(กิ่งเล็กๆ)ที่จะใช้ขยายพันธุ์ ทำรหัสประจำปะการัง(เพื่อใช้ในการสืบค้นในอนาคต) จากนั้นจึงปักกิ่งปะการังในท่อพีวีซีแล้วทำการยึดด้วยน้อต ก่อนนำไปยึดในแปลงพีวีซี แล้วจึงให้นักดำน้ำนำไปจัดเรียงและปลูกใต้ท้องทะเลต่อไป

แต่ในระหว่างที่รอความพร้อมและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ผมกับ อ.ประสาน จึงถือโอกาสคุยเพิ่มเติม

“อาจารย์ครับ จากการศึกษา ทดลอง และทำจริง การปลูกปะการังให้อะไรบ้างครับ” ผมถาม อ.ประสานแบบโต้งๆ
อาสาสมัครนักท่องเที่ยว ร่วมด้วยช่วยกันปลูกปะการัง
“แน่นอนว่าสิ่งแรกคือทะเลในจุดที่ปลูกได้ปะการังกลับคืนมา ส่วนที่ตามมาก็คือ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ อย่าง กุ้ง หอย ปู ปลา ก็จะตามมาอาศัยอยู่ในหมู่แปลงปะการัง แต่สิ่งสำคัญจากการปลูกปะการังสำหรับผมก็คือ ผมได้แนวร่วมในอุดมการณ์ที่เป็นห่วงเป็นใยในท้องทะเลกลับมามากมาย ทำให้เราสามารถปลูกสร้างขยายบุคลากรในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและท้องทะเลได้มากขึ้น”

อ.ประสานทิ้งช่วงหยุดคิดนิดหนึ่ง ก่อนพูดสั้นๆว่า

“เขาเหล่านั้นถือเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งการอนุรักษ์ที่เกิดจากผลพวงของการปลูกปะการังอย่างแท้จริง”

เรียกว่าเป็นการ“ปลูกปะการังที่ได้มากกว่าปะการัง” ซึ่ง ณ วันนี้ อ.ประสาน ทีมงาน และแนวร่วมปลูกปะการัง ตามพากันเฝ้าติดตามการกำเนิดเกิดก่อของหมู่ปะการังในพื้นที่ที่ตัวเองปลูกอย่างมีความหวังว่า

ในอนาคตแปลงปะการังใต้ท้องทะเลเหล่านี้ จะกลับมาสวยงามเป็นแนวปะการังที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของสรรพสัตว์ใต้ท้องทะเลเหมือนในอดีต

แม้ว่าจะต้องใช้เวลายาวนานหลายปีก็ตาม แต่เมื่อคนเรามีความหวัง แล้ววิ่งไล่ตะครุบจับความหวัง ไม่ปล่อยให้ความหวังหลุดลอยไปกลายเป็นหวังลมๆแล้งๆ สักวันหนึ่งย่อมถึงจุดหมาย

ส่วนถ้าใครที่มีแต่ความหวัง หวัง หวัง แล้วรอให้ความหวังวิ่งโฉบไป โฉบมา โดยไม่พยายามไขว่คว้าไว้ ต่อให้รอถึงชาติหน้าตอนบ่ายๆก็คงยากที่จะสมหวัง

กำลังโหลดความคิดเห็น