เป็นที่รู้กันดีว่าเทศกาลสงกรานต์นั้นคือ วันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี ดังนั้นในช่วงสัปดาห์นี้ตามสถานที่ต่างๆจึงพากันจัดงานสงกรานต์กันอย่างคึกคักสนุกสนาน แต่กระนั้นก็ใช่ว่าพองานสงกรานต์ตามประเพณีในวันที่ 13-15 เม.ย.จบสิ้น ประเพณีสงกรานต์ในบ้านเราจะสิ้นสุดลง เพราะยังมีอีกหลายพื้นที่ ที่มีการจัดประเพณีสงกรานต์ขึ้นหลังวันที่ 13-15 เม.ย. เพราะยังมีอีกบางพื้นที่ที่มีการจัดประเพณีสงกรานต์ขึ้นหลังวันที่ 13-15 เม.ย.
เรียกว่าเป็นสงกรานต์หลังสงกรานต์หรือควันหลงวันสงกรานต์ก็ว่าได้ ซึ่งงานสงกรานต์หลังวันที่ 13-15 เม.ย. ที่โดดเด่นดังไปทั่วฟ้าเมืองไทยก็มีอยู่ 2 จังหวัดด้วยกัน คือ สงกรานต์พระประแดง จ.สมุทรปราการ สงกรานต์วันไหล จ.ชลบุรี ซึ่งงานสงกรานต์หลังสงกรานต์ใน 2 จังหวัดต่างก็มีเอกลักษณ์และความน่าสนใจที่ชวนสัมผัสแตกต่างกันออกไป
สงกรานต์มอญ พระประแดง
ในบรรดาสงกรานต์มอญหรือสงกรานต์ไทย-รามัญที่ขึ้นชื่อลือชา เพราะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเป็นหนึ่งในไฮไลท์งานสงกรานต์ที่ทางททท.ชูขึ้นเป็นดาวเด่นในทุกๆปี ก็คืองาน "สงกรานต์พระประแดง" อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
โดยเมื่อถึงช่วงก่อนวันสงกรานต์ ผู้คนแทบทุกบ้านเรือนที่ชุมชนมอญพระประแดงจะเตรียมตัวกันพร้อมสรรพสำหรับงานนี้ โดยเฉพาะบ้านไหนที่มีลูกสาว จะมีการเตรียมตัวเครื่องแต่งกายที่งดงามเป็นพิเศษ ส่วนหนุ่มๆ ก็จะมีการใส่เสื้อลายดอก พาดผ้าบนไหล่ และมีการทาแป้ง เป็นรูปดอกไม้ ที่แก้ม ดูเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น
ส่วนในตอนกลางวัน นอกจากการปล่อยนกปล่อยปลา ชมขบวนแห่อันงดงาม และเล่นสาดน้ำกันตามถนนหนทาง ส่วนในภาคกลางคืน จะมีกิจกรรมบันเทิง และการประกวดนางงามสงกรานต์พระประแดง และยังได้ไปดูการเล่นสะบ้า ตามบ้านต่างๆ ซึ่งการเล่นสะบ้า ถือเป็นการละเล่นที่เปิดโอกาส ให้หนุ่มสาวได้พบปะพูดจากัน
เสน่ห์และสีสันของสงกรานต์พระประแดงที่คึกคักสนุกสนานนี้เอง ที่เป็นจุดดึงดูดผู้ชมจากทุกสารทิศให้มารวมตัวกันเพื่อชมงานยิ่งใหญ่ประจำปีที่ถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน โดยเดิมนั้นงานสงกรานต์พระประแดง จัดเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และสนุกสนานมาก เพราะมีการละเล่นพื้นเมือง มีชาวบ้านจากเขตใกล้เคียง ไปร่วมฉลองกันมาก แต่ต่อมาประเพณีหลายอย่างได้ขาดหายไป เหลือแต่ขบวนแห่นางสงกรานต์ ขบวนสาวงามในชุดการแต่งกายแบบมอญ พร้อมด้วยนกปลาที่จะนำไปปล่อย และการเล่นสะบ้า
กระทั่งในปี พ.ศ. 2524 ได้มีการจัดตั้ง "ศูนย์วัฒนธรรมพื้นเมืองพระประแดง" ขึ้นโดยได้พยายามฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีของชาวพระประแดงดั้งเดิมซึ่งมีเชื้อสายมาจากคนรามัญหรือมอญขึ้นใหม่ โดยจัดตรงกับวันเสาร์และอาทิตย์แรก หลังจากเทศกาลสงกรานต์ทั่วๆไป(13-15 เมษายน)
โดยในปีนี้ งานสงกรานต์พระประแดง มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 18-20 เม.ย. 51 ณ บริเวณเทศบาลเมืองพระประแดง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้
วันที่ 18–19–20 เม.ย. 51 (ตั้งแต่เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป) ชมการละเล่นพื้นบ้าน(สะบ้ารามัญ และสะบ้าทอย) ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้าและหมู่บ้านรามัญ (บ่อนสะบ้า) การแสดงดนตรีไทยของศูนย์เยาวชนเทศบาลเมืองพระประแดง การแสดงทะแยมอญกล่อมบ่อนสะบ้ารามัญ และการสาธิต-จำหน่ายผลิตภัณฑ์ การประดับไฟ-แสง-สี ภาพยนตร์และมหรสพต่าง ๆ ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า และการประกวดนางสงกรานต์(วันที่ 18 เม.ย.51)
วันที่ 20 เม.ย.51 พิธีสรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำขอพรผู้ใหญ่/เล่นน้ำสงกรานต์(ประมาณ 09.30 น.) พิธีเปิดงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ณ บริเวณปะรำพิธี (ประมาณ 13.00 น.) ขบวนแห่นางสงกรานต์ ขบวนสาวงาม และขบวนรถบุปผชาติที่สวยงามตระการตา โดยเริ่มเคลื่อนขบวนจากที่ตั้งขบวนไปตามถนนนครเขื่อนขันธ์ ผ่านหน้าวัดกลางเลี้ยวขวาไปตามถนนพระราชวิริยาภรณ์ เลี้ยวขวาข้ามสะพานคลองลัดหลวง เลี้ยวซ้ายเข้าสู่พระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐาราม (ประมาณ 15.30 น.) ขบวนแห่นก – แห่ปลา และร่วมพิธีปล่อยนก – ปล่อยปลา ณ วัดโปรดเกศเชษฐาราม
ใครที่อยากจะสัมผัสกับบรรยากาศสงกรานต์มอญอันโด่งดังและเป็นเอกลักษณ์ก็น่าที่จะหาโอกาส ไปรู้จักและสัมผัสกับสงกรานต์มอญสักครั้ง(หรือหลายๆครั้ง) ซึ่งผู้ที่สนใจงานสงกรานต์พระประแดง สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ที่ว่าการอำเภอพระประแดง โทร. 0-2463-4891 ต่อ 129-130 หรือที่ สำนักงาน ททท. ภาคกลาง เขต 8 โทร. 0-3842-7667, 0-3842-8750
สงกรานต์วันไหล-กองข้าว ชลบุรี
ในขณะที่จังหวัดอื่นๆทั่วไทยจะจัดงานสงกรานต์กันในช่วงประมาณ วันที่ 13-15 เม.ย. แต่ที่จังหวัดชลบุรีกับแตกต่างออกไป เพราะที่เมืองนี้ในหลายพื้นที่จะนิยมจัดงานสงกรานต์กันช่วงหลังสงกรานต์ ซึ่งแต่ละงานนั้นต่างก็มีเอกลักษณ์และความน่าสนใจไม่น้อยเลย
เริ่มจาก "ประเพณีก่อพระทรายวันไหลบางแสน" ที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 16-17 เมษายน 2551 ณ บริเวณชายหาดบางแสน อ.เมือง จ.ชลบุรี
สำหรับงาน "วันไหล" บางแสนถือเป็นงานประเพณีที่ชาวตำบลแสนสุขได้ถือปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยโบราณ เดิมเรียกว่า "งานทำบุญวันไหล" ซึ่งเกิดจากประชาชนในหมู่บ้านต่างๆ มาทำบุญร่วมกันเนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์ โดยการนิมนต์พระทุกวัดที่อยู่ในเขต ต.แสนสุขมาประกอบพิธีสงฆ์ มีการทำบุญ ตักบาตร
หลายคนอาจสงสัยว่าวันไหลคืออะไร ???
"วันไหล" ก็คือวันทำบุญขึ้นปีใหม่ของชาวทะเล โดยกำหนดหลังวันมหาสงกรานต์ประมาณ 5-6 วัน เดิมเรียกว่า ประเพณีก่อพระทรายน้ำไหล วัดใดอยู่ใกล้แม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึงในบริเวณนั้น ก็จะจัดประเพณีขึ้นโดยชาวบ้านจะช่วยกันชนทรายตามชายหาดใกล้ ๆ เข้าวัด ทำให้วัดนั้น ๆ ได้รับประโยชน์ในการใช้ทรายก่อสร้างเสนาสนะและปูชนียสถานในวัด หรือถมบริเวณวัด
จึงอาจกล่าวได้ว่านก่อพระทรายน้ำไหลและเป็นวันที่ชาวบ้านขนทรายมาเข้าวัด เพื่อก่อเป็นรูปกรวยเล็ก ๆ เพื่อให้ครบ 84,000 กอง เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ เจดีย์ทรายตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจงประดับด้วยดอกไม้ และธงต่าง ๆ เพื่อเป็นพุทธบูชา อีกทั้งยังมีการละเล่นพื้นเมืองเพื่อความสามัคคีและสนุกสนานรื่นเริง มีการ ทำบุญเลี้ยงพระเนื่องในเทศกาลตรุษไทย และจัดเลี้ยงผู้คนที่มาร่วมงานด้วย นอกจากนี้ในปีนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การทำบุญตักบาตร พิธีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน การก่อพระเจดีย์ทราย และการเล่นน้ำสงกรานต์ริมชายทะเลบางแสน โดยมีกิจกรรมไฮไลท์คือการ ประกวดก่อพระเจดีย์ทรายในวันที่ 16 เม.ย. 51
ไม่เพียงบางแสนเท่านั้นที่มีงานวันไหล ที่พัทยาก็มีเช่นกัน โดยสงกรานต์ปีนี้ เมืองพัทยาได้จัดงาน "ประเพณีวันไหลและประเพณีกองข้าวเมืองพัทยา" ขึ้นในวันที่ 18-19 เม.ย. 51 ณ บริเวณสวนสาธารณะลานโพธิ์ นาเกลือ จ.ชลบุรี
ในงานนี้มีกิจกรรมเด่นๆอาทิ ขบวนแห่พระพุทธรูปให้ประชาชนสรงน้ำพระ ตลอดชายหาดพัทยา การละเล่นพื้นบ้าน การแสดงศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ประเพณีกองข้าว นาเกลือ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ การประกวดนางสงกรานต์ และการเล่นน้ำสงกรานต์บรรยากาศชายทะเล โดยในวันที่ 19 เม.ย. จะมีกิจกรรมไฮไลท์คือ ขบวนแห่พระพุทธรูปให้ประชาชนสรงน้ำพระ และการเล่นน้ำสงกรานต์บรรยากาศชายทะเล
จะเห็นได้ว่านอกจากงานวันไหลแล้ว ชลบุรียังมีงานช่วงสงกรานต์ที่โดดเด่นอีกงานหนึ่งนั่นก็คือ "ประเพณีกองข้าว" ซึ่งถือเป็นประเพณีท้องถิ่นของจังหวัดชลบุรีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน นิยมจัดกันในหลายพื้นที่ อาทิ อ.เมือง พัทยา เกาะสีชัง ศรีราชา บางละมุง
สำหรับประเพณีกองข้าวนั้นเป็นความเชื่อของคนโบราณที่พอถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปีชาวบ้านจะนัดหมายกันนำสำรับข้าวปลาอาหารทั้งคาวหวานมากองรวมกัน แล้วเชิญภูติผีทั้งหลายมากินปีละครั้ง โดยเชื่อว่าภูติผีจะไม่ทำอันตรายชีวิตครอบครัวหรือทรัพย์สินของตนเอง หลังพิธีเซ่นไหว้ชาวบ้านจะล้อมวงรับประทานอาหารร่วมกัน มีการร้องรำทำเพลง การละเล่นสนุกสนาน มีเกร็ดว่าทุกคนจะไม่นำอาหารที่เหลือกลับบ้านแต่จะทิ้งไว้เพื่อเป็นทานแก่สัตว์
ทั้งนี้หากพูดถึงประเพณีกองข้าวแล้ว ที่ อ.ศรีราชา ถือว่ายังคงอนุรักษ์ประเพณีนี้ไว้อย่างต่อเนื่องและเหนียวแน่น จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของอำเภอศรีราชาไปโดยปริยาย
ในปีนี้ทางเทศบาลเมืองศรีราชาและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ได้ร่วมกันจัดงานกองข้าวศรีราชาขึ้นในชื่อ "งานประเพณีสงกรานต์ศรีมหาราชาและประเพณีกองข้าว" โดยจัดขึ้นในวันที่ 19-21 เม.ย. 51 ณ บริเวณสวนสาธารณะเกาะลอย อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ พิธีกรรมกองข้าวบวงสรวง ขบวนแห่สรงน้ำพระ ขบวนแห่และตกแต่ง รถประเพณีกองข้าว การแสดงและกีฬาพื้นบ้านต่าง ๆ การประกวด ก่อพระทราย และการเล่นน้ำสงกรานต์
อีกหนึ่งงานสงกรานต์ในจังหวัดชลบุรีที่มีชื่อเสียง และมีความน่าสนใจไม่เป็นรองงานไหนก็คือ "ประเพณีสงกรานต์เกาะสีชัง" ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะมีสภาพเป็นเกาะจึงมีลักษณะเฉพาะของประเพณีนี้นั่นก็คือ "การอุ้มสาวลงน้ำ" หรือ "การจูงมือลงทะเล" ที่ถือเป็นกิจกรรมไฮไลท์ ซึ่งจัดขึ้นบริเวณเกาะขามใหญ่ที่อยู่ตอนเหนือของเกาะสีชัง กิจกรรมนี้นับเป็นที่สนุกสนานของชาวเกาะสีชังมาก
นอกจากนี้งานสงกรานต์เกาะสีชังในช่วงวันท้ายๆยังมีการก่อพระทรายเป็นรูปคน 2 คน ชื่อไอ้เมฆและได้หมอก ซึ่งมีตำนานเล่าว่าได้มีชาวบ้านพบศพชาย 2 คนลอยมาติดเกาะบริเวณท่าวังใกล้ๆกับศาลศรีชโลธรเทพทั้งที่ในอดีตไม่เคยปรากฏเหตุการณ์อย่างนี้มาก่อน จึงคิดว่าการเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อาจนำภัยพิบัติมาให้ จึงได้มีการแก้เคล็ดโดยการนำคนเฒ่าคนแก่มาทำการเสี่ยงทายที่ตุ๊กตา ไอ้เมฆและได้หมอก เพื่อขอให้ฝนในโลกมนุษย์ตก 100 ห่าและให้ตกในทะเล 50 ห่าเพราะเห็นว่าแล้งมาก
อีกทั้งยังมีการเลี้ยงอาหารให้ผีกินโดยการเซ่นไหว้ จากนั้นให้ผีป่าลงมากินของที่เซ่นไหว้แล้วไล่ผีน้ำลงทะเล ซึ่งเปรียบเสมือนการไล่สิ่งที่ไม่ดีออกจากเกาะ เสร็จแล้วจะมีการทำพิธีประทับทรง ณ ศาลศรีชโลธรเทพเพื่อถามไถ่ถึงความเป็นอยู่ทั่วไปในปีนั้นๆของชาวเกาะและเรื่องอื่นๆตามแต่เจ้าที่มาประทับทรงในครั้งนั้นจะบอก
และเมื่อเสร็จพิธีเมฆหมอกและก็จะมีกิจกรรม กองข้าว ขึ้นที่บริเวณชายหาดท่าวัง โดยประชาชนตลอดจนนักท่องเที่ยวที่มาร่วมพิธีต่างก็จะนำอาหารของแต่ละคนมาร่วมกันรับประทานด้วยกันและร่วมร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนานบริเวณชายหาด
สำหรับประเพณีสงกรานต์เกาะสีชังนั้น ตามปกติจะจัดขึ้นในช่วงหลังวันสงกรานต์ ประมาณ วันที่ 17-19 ของทุกปี แต่ในปีนี้มีความพิเศษตรงที่ “ประเพณีสงกรานต์เกาะสีชัง”จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13-19 เม.ย. 51 เรียกว่าจัดกันตั้งแต่วันสงกรานต์ยาวไปเลย
และนั่นก็คือเสน่ห์ของงานสงกรานต์จังหวัดชลบุรี ที่ใครอยากสัมผัสงานไหนหรืออยากสัมผัสหลายๆงานก็สามารถเดินทางไปเที่ยวงาน เล่นน้ำ และร่วมกิจกรรมอื่นๆกันได้ตามวันเวลาที่กล่าวมา โดยผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ ททท. ภาคกลาง เขต 3 โทร. 0-3842-7667, 0-3842-8750
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ควันหลงหลังสงกรานต์
นอกจากงานสงกรานต์หลังสงกรานต์ใน อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ และส่วนหนึ่งของ จ.ชลบุรี ตามที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมีอีกหลายพื้นที่ ที่จัดงานสงกรานต์ขึ้นหลังงานสงกรานต์ตามประเพณี(13-15 เม.ย.) ซึ่งใครที่อยู่ใกล้ๆก็สามารถเดินทางไปเล่นสาดน้ำร่วมประเพณีกันได้ตามสะดวก โดยควันหลงงานสงกรานต์ที่น่าสนใจมีดังนี้
"ประเพณีสงกรานต์ วันไหล รวมใจ ประจันตคาม" จ.ปราจีนบุรี จัดขึ้นในวันที่ 19 เม.ย.51 ณ หน้าที่ว่าการอำเภอประจันตคาม จ. ปราจีนบุรี ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ พิธีสักการะอนุสาวรีย์พระภักดีเดชะ, พิธีสรงน้ำพระ และรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ, ขบวนแห่นางสงกรานต์, การประกวดนางสงกรานต์, การแสดงดนตรีอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้าน, การจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ และการเล่นน้ำสงกรานต์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ที่ว่าการอำเภอประจันตคาม โทร. 0-3729-1402
"ประเพณีแห่น้ำหวาน" เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี จัดขึ้นในวันที่ 22 เม.ย.51 ณ วัดปรมัยยิกาวาส วัดไผ่ล้อม วัดเสาธงทอง วัดฉิมพลีสุทธาวาสและวัดอื่นๆ ที่อยู่บนเกาะเกร็ด ในงานจะได้สัมผัสกับประเพณีแห่น้ำหวาน ที่ชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้านบนเกาะเกร็ดจะแห่น้ำหวานนำไปถวายยังวัดต่าง ๆ บนเกาะเกร็ด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเกร็ด
โทร. 0-2583-9544 , 0-2960-9063
"แห่พญายมสงกรานต์บางพระ" จ.ชลบุรี จัดขึ้นในวันที่ 16-18 เม.ย. 51 ณ ชายทะเลบางพระ จ.ชลบุรี ในงานมีกิจกรรมน่าสนใจ อาทิ ขบวนแห่ประเพณีสงกรานต์ (พญายมบางพระ), การรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ, การละเล่นพื้นบ้าน, การประกวดวาดภาพ, ประกวดร้องเพลง และการแข่งขันพายเรือยาว 5 ฝีพาย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ เทศบาลบางพระ โทร. 0-3835-7999 ต่อ 128
"ประเพณีวันไหลสงกรานต์สัตหีบ" จ.ชลบุรี จัดขึ้นในวันที่ 15-17 เม.ย. 51 ณ วัดหลวงพ่ออี๋ จ.ชลบุรี ในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การประกวดก่อเจดีย์ทราย, ประกวดขบวนรถแห่นางสงกรานต์, การละเล่นพื้นบ้าน, การสรงน้ำพระพุทธรูป, การรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ, ขบวนแห่รถนางสงกรานต์และการแสดงต่างๆ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ เทศบาลสัตหีบ โทร. 0-3843- 8490 ต่อ 271
"ประเพณีสงกรานต์เทศบาลตำบลเกาะจันทร์" จ.ชลบุรี จัดขึ้นในวันที่ 17-18 เม.ย. 51 ลานวัดเกาะจันทร์ จ.ชลบุรี ในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ, การแข่งขันก่อเจดีย์ทราย, การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ เทศบาลเกาะจันทร์ โทร. 0-3816- 6252
"แห่สรงน้ำเจ้าพ่อพระปรง" จ.สระแก้ว จัดขึ้นในวันที่ 19 เม.ย. 51 ณ บริเวณศาลพระปรง อ.เมือง จ.สระแก้ว ในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ ขบวนแห่เจ้าพ่อพระปรง, ขบวนแห่ประเพณีสงกรานต์ ถวายผ้าป่าและถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์, การละเล่นพื้นบ้าน และการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสระแก้ว โทร. 0-3742-5029-30
"ประเพณีสงกรานต์กับงานสรงน้ำพระอาบน้ำแม่นางตะเคียน" จ.สระบุรี จัดขึ้นในวันที่ 22 - 23 เม.ย.51 ณ วัดสูง อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การทำบุญตักบาตร ปล่อยนก ปล่อยปลา จากนั้นร่วมพิธีสรงน้ำพระสงฆ์ และแม่นางตะเคียน ต่อด้วยการรดน้ำดำหัว พร้อมรับพรจากผู้สูงอายุกว่าร้อยท่าน สนุกสนานกับการเล่นน้ำสงกรานต์ พร้อมสัมผัสกับวิถีชีวิตชาวไทยวน การออกร้านสินค้าผลิตภัณฑ์ OTOP กลางคืนมีมหรสพให้ชมฟรีตลอดงาน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ สำนักงาน ททท. ภาคกลาง เขต 7 โทร. 0 3642 2768-9
"ประเพณีสงกรานต์น้ำอ่าง" จ.อุตรดิตถ์ จัดขึ้นในวันที่ 16-18 เม.ย. 51 ณ วัดหลวงป่ายาง ตำบลน้ำอ่าง จ.อุตรดิตถ์ ในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การทำบุญตักบาตร การสรงน้ำพระเวียนไปตามวัดต่างๆ การอาบน้ำผู้สูงอายุ ขบวนแห่ทางวัฒนธรรมน้ำอ่าง การประกวดนางสงกรานต์น้ำอ่าง และการเล่นน้ำสงกรานต์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ที่ว่าการอำเภอตรอน โทร. 0- 5549-1114
"ประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮง" จ.สุโขทัย จัดขึ้นในวันที่ 19 เม.ย. 51 ณ อนุสาวรีย์เจ้าพ่อเมืองด้ง อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การแห่น้ำรดน้ำดำหัวเจ้าพ่อเมืองด้ง การแสดงพื้นบ้าน การละเล่นพื้นบ้าน และการจำหน่ายอาหารพื้นเมือง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ที่ว่าการอำเภอศรีสัชนาลัย โทร. 0-5567-1466