สาดน้ำแรงๆ ประแป้งเบาๆ แลกกับความสนุกสนาน ชุ่มชื่นเย็นกาย ผ่อนคลายจากความเครียด ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นับเป็นช่วงเวลาแห่งความสนุกสนาน ชุ่มฉ่ำ สดชื่น บางแห่งบางสถานที่ ได้ดูจากภาพข่าว ก็ทำให้รู้สึกดีใจที่มีการเล่นสาดน้ำกันอย่างสุภาพถูกต้องตามประเพณี ในบางแห่งบางท้องที่ก็มีการเล่นสงกรานต์กันแบบแผลง ๆ ผิดไปจากประเพณีดั้งเดิม ก็ให้รู้สึกเศร้าใจบ้าง และที่เห็นได้ชัดเจนว่ากำลังเปลี่ยนไป หรือเกิดขึ้นใหม่ในเทศกาลสงกรานต์หลายๆ แห่งก็คือ ชื่อถนนที่มีตัวนำว่า ‘ข้าว’ เช่น ถนนข้าวเหนียว ถนนข้าวหลาม ถนนข้าวเปลือก ถนนข้าวโพด ถนนข้าวต้ม ถนนข้าวเจ้า ถนนข้าวปุ้น (นครพนม) ถนนข้าวยำ(ปัตตานี) ถนนข้าวสุก (อ่างทอง) ถนนข้าวแดง (ทัณฑสถานฯจังหวัดขอนแก่น)
ถนนสายข้าวต่างๆ นี้ เป็นชื่อถนนที่ถูกตั้งชื่อขึ้นมาเพื่อให้เป็นถนนสำหรับรองรับการเล่นสงกรานต์โดยเฉพาะ เพื่อให้เป็นไปตามกระแสการเล่นสงกรานต์ตามแบบอย่าง ‘ถนนข้าวสาร’ ที่เล่นสาดน้ำทั้งกลางวัน กลางคืน จนขึ้นชื่อในเรื่องของความสนุกสนาน
ถนนสงกรานต์ออริจินัล
ณ ถนนข้าวสาร หลายปีที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นถนนยอดฮิตสำหรับเทศกาลสงกรานต์ เพราะผู้คนทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามานับว่าเพิ่มขั้นในทุกๆ ปี อย่างปีก่อนๆ กิจกรรมความบันเทิงก็เต็มไปด้วยปาร์ตี้ฟองโฟม เสียงดนตรีอึกกะทรึก โคโยตี้สาวสวย น้ำเย็นชื่นใจ และในปีนี้เองทางผู้จัดงานเผยให้ฟังด้วยว่า ความมันส์ยังมีเหมือนเดิม แต่จะเพิ่มให้มีสระน้ำอยู่ข้างๆ ถนนโดยมีลูกบอลที่คนสามารถเข้าไปอยู่ในนั้นแล้ววิ่งไปวิ่งมาได้อย่างสนุกสนาน
พิริยะ วิชจิตพันธ์ ประชาสัมพันธ์สมาคมผู้ประกอบธุรกิจ และสมาคมประกอบการค้าของถนนข้าวสาร ซึ่ง 2 สมาคมนี้ทำงานร่วมกันจัดงานในวันสงกรานต์เล่าให้ฟังว่า ถนนข้าวสารเล่นน้ำสงกรานต์แบบนี้มาประมาณ 10 กว่าปีแล้ว ซึ่งแต่ก่อนจะเล่นกันในวงชาวบ้านเล็กๆ แล้วเริ่มเล่นสาดน้ำกันเยอะมากขึ้นในช่วง 5-6 ปีหลัง
“โดยส่วนตัวแล้วรู้ว่ามีถนนที่จัดงานสงกรานต์เหมือนถนนข้าวสารตามต่างจังหวัดด้วย ซึ่งก็รู้สึกดี ที่มีการพูดถึงชื่อถนนอื่นๆ แล้วลึกๆ ก็หมายถึงถนนข้าวสารซึ่งเป็นออริจินัล และภาพลักษณ์ของถนนข้าวสารเองก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร น่าจะเป็นเรื่องที่ดี ถนนข้าวสารค่อนข้างจะอนุรักษ์ในแนวของวัฒนธรรม มันไม่ค่อยเละเท่าไหร่ และยังอยู่ในกรอบระดับหนึ่ง”
หากจะถามถึงเรื่องความหลากหลายในความเหมือนของถนนข้าวสารกับถนนอื่นๆ ส่งผลกระทบดี หรือเสียอย่างไรต่อถนนข้าวสาร พิริยะได้ให้คำตอบว่า
“ด้านเสียไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่จะมองไปในด้านดีมากกว่า ไม่ได้มองในด้านเลียนแบบ คนอื่นเห็นว่าถนนข้าวสารดี ดูโอเคแล้วนำไปทำบ้าง ซึ่งมันก็ไม่ได้จดลิขสิทธิ์ว่าต้องมีที่นี้ที่เดียว ถ้าที่อื่นนำไปทำบ้างแล้วมันเวิร์กมันก็น่าจะส่งเสริมให้มีหลายแห่ง
“ถึงแม้ถนนข้าวสารจะดูเละบ้าง เพราะฝูงชนเยอะแต่ผู้ประกอบการบนถนนรวมตัวกันรณรงค์อย่างเต็มที่ เราก็ค่อนข้างเข้มงวด ไม่ได้ชวนเขามาแล้วเล่นอะไรก็ได้ มีการประสานงานกันทางเขตพระนคร สถานีตำรวจชนะสงคราม ซึ่งถนนข้าวสารในเทศกาลสงกรานต์แต่ละพื้นที่แต่ละถนนจะมีการรับผิดชอบในแต่ละสมาคมต่างๆ กันไป”
นอกจากสมาคมต่างๆ ที่จะมาคุยกันผ่านทางสภาวัฒนธรรม ยังมีสถานีตำรวจชนะสงคราม และเขตพระนครมาร่วมมือกันออกมาตรการรักษาความปลอดภัย รักษาวัฒนธรรมในวันสงกรานต์ด้วย
“จุดดึงดูดของการเล่นน้ำสงกรานต์ที่ถนนข้าวสารที่ทำให้คนกลับมาเที่ยว น่าจะมาจากความเป็นมิตร ก็น่าจะเหมือนกับคนไทยเวลาไปต่างประเทศก็ต้องอยากเจอคนไทย ซึ่งเวลามาที่นี่ชาวต่างชาติก็ได้เจอเพื่อนจากชาติอื่นๆ ที่พูดภาษาหรือวัฒนธรรมเดียวกันแล้วก็มาเล่นน้ำด้วยกัน ซึ่งที่นี่คนไทยก็เป็นมิตร คุ้นเคยกับฝรั่ง เพราะเห็นทุกวันไม่เคอะเขิน ยินดีที่จะเล่นน้ำไปผูกสัมพันธไมตรีด้วย เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวต่างชาติประทับใจทั้งจากจากคนไทยและชาวต่างอื่นๆ ที่เที่ยวในงานเดียวกัน
“การเลียนแบบถนนข้าวสารในอนาคตน่าจะเกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ แต่อาจจะไม่เยอะ เพราะถ้ามีใกล้กันมากๆ ที่หนึ่งอาจจะไม่โดดเด่น และที่ใดที่ที่หนึ่งก็อาจจะไม่เติบโต น่าจะมีอีกไม่เกิน10 แห่ง ถ้าเกินจากนี้ไปอาจจะดึงคนไม่ได้ ภาคเหนืออาจจะ 2 แห่ง อีสาน 2-3 แห่ง เพราะจะไม่เป็นศูนย์กลาง อย่างกรุงเทพฯก็อาจจะมีที่ข้าวสาร ถ้ามีเยอะเกินไปก็อาจจะสู้ที่ใหญ่ๆ ไม่ได้ เพราะงานแบบนี้เกี่ยวกับสปอนเซอร์ด้วย เพราะงานที่มีชาวบ้านจัดกันเองส่วนใหญ่จะไม่ใหญ่เท่ากับการมีสปอนเซอร์ แบรนด์เครื่องดื่มยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งไปจัดให้ดูยิ่งใหญ่ขึ้น
“ในส่วนของมาตรการทุกๆปีก็จะเหมือนกัน คือ ก่อนหน้างานจะมีการรณรงค์อย่างห้ามแต่งตัวโป๊ ห้ามเล่นแรงๆ อย่างน้ำแข็งหรือกระบอกปืนฉีดน้ำ ซึ่งการรณรงค์ก็จะมีตั้งแต่วันที่ 1 เมษา เรื่อยๆไป” พิริยะ เล่าให้ฟัง
สุดยอดสงกรานต์แดนอีสาน
การจัดงานสงกรานต์ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดขอนแก่น ในช่วงเดือนเมษายน ของทุกปี มีชื่อว่า ‘เทศกาลดอกคูนเสียงแคนและถนนข้าวเหนียว’ โดยมีการแสดงทางวัฒนธรรมบริเวณบึงแก่นนคร และการเล่นสาดน้ำรวมทั้งกิจกรรมตามสมัยนิยมที่บริเวณ ‘ถนนศรีจันทร์’ หรือ ‘ถนนข้าวเหนียว’ ที่ชาวขอนแก่รู้จักกันเป็นอย่างดี
เนื่องจากแต่เดิมจังหวัดขอนแก่นไม่ค่อยมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และแหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็อยู่ห่างจากตัวเมือง ทำให้เมื่อมีการจัดงานประเพณีต่างๆ จึงไม่มีผู้มาเยือนมากมายนัก เทศบาลนครขอนแก่นมีความคิดที่จะผลักดันให้จังหวัดขอนแก่นให้เป็นสุดยอดงานสงกรานต์อีสาน จึงได้เสนอถนนสายหลักที่เล่นน้ำสงกรานต์ได้สนุกสนาน เช่นเดียวกับถนนข้าวสารที่กรุงเทพฯ จึงใช้ชื่อสถานที่เล่นสงกรานต์ที่ขอนแก่นว่า ‘ถนนข้าวเหนียว’ เพื่อรองรับการเล่นสงกรานต์ของคนขอนแก่น คนภาคอีสานและคนจากที่อื่น ๆ
เทศบาลเมืองขอนแก่นจึงได้ปรับรูปแบบการจัดงานเป็นสุดยอดสงกรานต์อีสาน เทศกาลดอกคูนเสียงแคน และถนนข้าวเหนียว โดยแบ่งการจัดกิจกรรมเป็น 2 โซนคือ บริเวณบึงแก่นนคร เป็นโซนของวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ส่วนที่ถนนข้าวเหนียว (ถนนศรีจันทร์) เป็นโซนกิจกรรมตามสมัยนิยม ทำให้งานสงกรานต์ที่จังหวัดขอนแก่นได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศหลั่งไหลมาเที่ยวสงกรานต์เพิ่มขึ้นทุกปี จนได้รับการบรรจุให้เป็นหนึ่งในกิจกรรมสุดยอดประเพณีสงกรานต์ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศที่ประชาชนให้ความสนใจมาเที่ยวเป็นจำนวนมาก
ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ เทศมนตรีฝ่ายการคลัง เทศบาลนครขอนแก่น บอกว่า คณะกรรมการจัดงานต้องการจัดงานเทศกาลดอกคูนเสียงแคน และถนนข้าวเหนียว ให้มีความยิ่งใหญ่เมื่อประชาชนหรือนักท่องเที่ยวคิดว่าจะมาเล่นน้ำสงกรานต์ หรือมาเที่ยวงานสงกรานต์ แต่ก่อนจะนึกถึงแต่จังหวัดเชียงใหม่ ต่อไปในอนาคตต้องนึกถึงจังหวัดขอนแก่นด้วย
“โดยกิจกรรมเพิ่มเติมคือ ‘ถนนข้าวเหนียว’ ซึ่งเลียนแบบการจัดงานในกรุงเทพฯ ที่จัดให้มี ‘ถนนข้าวสาร’ โดยเฉพาะกิจการ ‘ถนนข้าวเหนียว’ ทางเราต้องการใช้งบเพิ่มเติมขึ้นจำนวน 2 ล้านบาท เพื่อให้ ‘ถนนข้าวเหนียว’ แสดงวิถีชีวิตความเป็น อยู่ของคนอีสานทั้งในอดีตและปัจจุบันว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร มีประเพณีการละเล่นต่าง ๆ ทั้งในอดีต และปัจจุบัน จัดให้อยู่ในถนนข้าวเหนียว และจะจัดให้มีการเล่นน้ำสงกรานต์ได้ทั้งกลางวันและกลางคืน”
วัฒนธรรมเลือนหาย
สงกรานต์เชียงใหม่เวลานี้ก็เปลี่ยนไปเยอะเช่นกันมีทั้งแบบวัฒนธรรมดังเดิม และแบบสมัยนิยมประเภทเน้นเล่นสาดน้ำและเมาอย่างเดียวอย่างอื่นไม่สนใจใคร ทุกวันนี้การจัดงานสงกรานต์แบบลานนา โดยยึดหลักศิลปวัฒนธรรมดั่งเดิมแทบไม่เหลือให้เห็น
รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง นักวิชาการภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มองว่าเหตุการณ์ในอดีต เมื่อราวปี 2503 ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นปีเริ่มต้นของการเปลี่ยนของเมืองเชียงใหม่ มีนักท่องเที่ยวจากเมืองกรุงหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวงานประเพณีสงกรานต์ที่เชียงใหม่ เป็นประเพณีแบบแบบล้านนาที่คนกรุงไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้ประเพณีสงกรานต์ของเชียงใหม่กลายเป็นจุดขายหนึ่งในเรื่องของการท่องเที่ยวนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
แต่การทะลักเข้ามาของนักท่องเที่ยวจากเมืองกรุง ได้ส่งผลให้ประเพณีสงกรานต์ของเชียงใหม่เปลี่ยนไปและเริ่มแย่ลงเป็นลำดับ จากประเพณีที่สวยงาม การสาดน้ำจะเดินเล่นกันเฉพาะคนที่รู้จักหรือยินดีให้สาดเท่านั้น กลับกลายพัฒนาไปสู่การสาดน้ำใครก็ได้ที่อยากจะสาด ทั้งๆ ที่คนที่ถูกสาดไม่ปรารถนาที่จะโดนสาดแต่อย่างใด
และจากการเดินเล่นน้ำสงกรานต์อย่างสนุกสนานในเขตคูเมืองหรือตามวัดวาอารามในอดีต ตรงกันข้ามกับวันนี้อย่างสิ้นเชิง เพราะทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์กลับเบียดเสียดกันเข้ามาเต็มสี่เหลี่ยมคูเมือง การแต่งกายของวัยรุ่นมีทั้งเกาะอก สายเดี่ยว กางเกงขาสั้น โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่กระทำกันอยู่มิใช่ประเพณีล้านนาที่ดีงามที่เคยมีมาในอดีตนับหลายร้อยปี
"ตัวอย่างของประเพณีสงกรานต์แค่เพียงเรื่องเดียว เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึงวัฒนธรรมล้านนาที่ได้เลือนหายไปแล้วในวันนี้ สะท้อนถึงการจัดการที่หน่วยงานรับผิดชอบปล่อยปละละเลยมาโดยตลอด ทำไมเราไม่บอกให้เขารู้ว่า ประเพณีสงกรานต์ล้านนาที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร ประเพณีวัฒนธรรมที่งดงามของล้านนาในอดีตควรค่าได้รับการอนุรักษ์ไว้ เพราะสงกรานต์ไม่ใช่แค่การเล่นสาดน้ำกันไปมาเพื่อความสนุก มันเป็นความละเลยของผู้บริหารบ้านเมืองตั้งแต่ยุคอดีต"
สงกรานต์บ้านเฮา
นิรัติศักดิ์ พิบูรศักดิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของ ‘ถนนข้าวโพด’ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่จัดตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจช่วงสงกรานต์ว่า มีมานานกว่า 8 ปีแล้ว ซึ่งชื่อเดิมของถนนนี้คือ ‘ถนนเสดียง’
ถนนข้าวโพดเป็นการตั้งชื่อเลียนแบบถนนข้าวสารในกรุงเทพฯ วัยรุ่นประจำถิ่นบอกว่า น่าจะเป็นเพราะ การตั้งชื่อเลียนแบบจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว และดึงดูดคนทั้งในจังหวัด และนักท่องเที่ยวอื่นๆ ให้สนใจมากกว่า ไม่ได้มีเจตนาอื่น เพราะในเรื่องของจุดดึงดูด และเอกลักษณ์ที่สามารถสร้างความสนุกสนานให้กับวัยรุ่นท้องถิ่น และนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
“ชื่อถนน และกิจกรรมต่างๆ มันดึงดูดให้คนมาเล่นน้ำมั้งครับ จะเห็นได้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่จะรู้จักเทศกาลสงกรานต์ผ่านปากต่อปาก แล้วส่วนมากมักสนใจถนนข้าวสารเป็นพิเศษ เรียกได้ว่าเป็นกระแสแรงทีเดียว แม้แต่วัยรุ่นไทยเองย่อมรู้จักชื่อเสียงของถนนข้าวสารเป็นอย่างดี
“การที่ลอกเลียนแบบชื่อถนนให้คล้ายถนนข้าวสาร ผมมองว่าก็เป็นเรื่องที่ช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดได้มาก เพราะสามารถดึงนักท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้นได้ อีกทั้งทางการยังมีการรณรงค์เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวไปเล่นน้ำที่ถนนดังกล่าวด้วยในช่วงสงกรานต์”
ส่วนของมาตรการควบคุมการเล่นน้ำสงกรานต์ของถนนข้าวโพดจะคล้ายๆ กับถนนข้าวสารที่ห้ามเล่นแป้ง น้ำแข็ง รวมถึงกระบอกฉีดน้ำที่รุนแรง
ถึงแม้ว่าจะมีการตั้งถนนเพื่อการเล่นน้ำเฉพาะกิจในช่วงสงกรานต์แต่ไม่ได้หมายความว่าวัยรุ่นของจังหวัดเพชรบูรณ์จะหลงลืมประเพณีที่สืบต่อมายาวนาน เพราะประเพณีดั้งเดิมของจังหวัดเพชรบูรณ์ก็ยังคงมีความสำคัญ และเป็นที่สนใจของคนในจังหวัดเช่นเดิม
“ประเพณีดั้งเดิมของจังหวัดเพชรบูรณ์ก็มีเยอะนะครับ ซึ่งที่น่าสนใจ และเป็นที่รู้จักก็คือ ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ เป็นประเพณีที่ศักดิ์สิทธิ์มากๆของคนเพชรบูรณ์ก็ว่าได้ช่วงสงกรานต์ก็มีการเชิญ พระพุธทมหาธรรมราชามาสรงน้ำด้วย และประเพณีนี้ก็ยังมีให้เห็นทุกปี ไม่ได้เลือนหายไป” นิรัติศักดิ์ เล่าให้ฟัง
ทางด้าน พรเพ็ญ ทองสวัสดิ์ เล่าถึงประเพณีสงกรานต์ที่บ้านเกิดของเค้าให้ฟังว่า ที่สมุทรสาครเทศกาลสงกรานต์ไม่มีถนนข้าวสาร ไม่มีถนนข้าวปุ้น ถนนข้าวเหนียวก็ไม่มีเช่นกัน แต่ก็สนุกไม่แพ้จังหวัดอื่น
“เทศกาลสงกรานต์ถือเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่วัยรุ่นเฝ้ารอที่จะสาดน้ำ ประแป้ง จนหลายคนคงลืมไปแล้วว่ามันคือปีใหม่ไทย แต่ที่จำได้แม่นก็คือ ใกล้จะได้เล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งหลายคนก็คงมีความรู้สึกอยากให้ถึงสงกรานต์เร็วๆ อย่างน้อยก็ได้กลับบ้านพักผ่อนจากความวุ่นวายในเมืองใหญ่และปีนี้หลายคนคงได้หยุดงาน กันหลายวัน
“แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรลืมก็คือ เข้าวัดทำบุญ ซึ่งเป็นประเพณีที่ควรสืบสานไว้อย่าให้หายไปจากบ้านเรา” พรเพ็ญ กล่าว
ถือเป็นกระแสสังคม ที่บางทีจะไปบังคบให้คนแสนคนใส่ชุดไทยมาเล่นน้ำมันเป็นไปไม่ได้ เพราะเปลี่ยนไปตามยุค ทุกๆ ปี และอย่างนี้สงกรานต์ ในปีต่อ ๆ ไป จะมีชื่อ ถนนข้าว....อะไรออกมาให้ได้ยินอีกต้องคอยติดตาม
***************
เรื่อง – ทีมข่าวปริทรรศน์