จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า "ปราสาทหินพิมาย"ถูกขัดล้างด้วยผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำตราเป็ด...
"ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์"ที่ ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ถูกชำระทำความสะอาดทันทีที่กลับจากชิคาโก ด้วยผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำวิซซอลพิงค์ ( vixol pink)
บ่อยครั้งที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของโบราณสถาน ผู้มีหน้าที่ร่วมพิทักษ์ทรัพย์แผ่นดิน มองข้ามสิ่งที่เกิดขึ้นกับโบราณสถานที่ควรอนุรักษ์เหล่านี้ อาจจะเพราะในเมืองไทยมีโบราณสถานมากมาย อย่าง ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ปราสาทหินศรีขรภูมิ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ฯลฯมากเสียจนเราไม่สนใจ
แม้จะเห็นอยู่เป็นประจำว่านโยบายของรัฐที่ผ่านๆมา มักจะทำให้โบราณสถานต่างๆกลายเป็นสวนสนุกเข้าไปทุกที อาทิ เอาโรงแรมเข้ามาใกล้ชิดจนโบราณสถานกลายเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรม หรือดัดแปลงส่วนต่างๆของโบราณสถานอันทรงคุณค่าตามอำเพลินใจ ซึ่งทำให้โบราณสถานที่มีอารยะธรรมเป็นร้อยพันปีหมดสิ้นความงดงาม
ปัญหาวิกฤตโบราณสถานไทย
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ ห้องลาดพร้าว โรงแรงแรมโซฟิเทล เซนทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ ได้มีการจัดงานเสวนาในหัวข้อเรื่อง "ในรอบ 20 ปีนี้...ใครเป็นคนทำลายโบราณสถานไทยกันแน่?" นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัวหนังสือ "เนะขแมร์อินไทยแลนด์"ที่จะสะท้อนอีกหนึ่งแง่มุมที่มีต่อปราสาทเขมรในไทย ทั้งส่วนที่ดีและส่วนที่เลวร้ายจนยากจะปิดบัง ผ่านสายตาของ 3 นักวิชาการอย่าง รศ.วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ อ.วรณัย พงศาชลากร และ อ.เทพมนตรี ลิมปพะยอม
รศ.วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ ประธานชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและเป็นกรรมการโครงการพัฒนาองค์กรชุมชนเมืองบุรีรัมย์ ได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นการทำลายโบราณสถานในไทยว่า เรื่องการทำลายโบราณสถานนั้น นักท่องเที่ยวมีส่วนน้อยมาก แต่คนที่จัดการระบบการท่องเที่ยวในเมืองไทยต่างหากที่ส่วนใหญ่คือผู้ทำลาย
"เดือนเมษายนที่จะถึงนี้ทางยูเนสโกจะมาตรวจมรดกโลกที่อยุธยา และในที่สุดเราก็อาจจะผ่าน เพราะฝรั่งไม่รู้ หรอกว่า ตรงไหนถูกทำลาย คือ เรามีระบบเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดี จนกระทั่งฝรั่งเขามองข้ามได้ แต่ถามว่าอยุธยามันหมดสภาพไหม มันหมดสภาพหมดแล้ว ตอนนี้เป็นเมืองที่เลอะเทอะรกรุงรังมาก"รศ.วิสุทธ์กล่าว
กฎหมายของกรมศิลปากรห้ามสร้างอาคารในเขตโบราณสถานเกินสองชั้น แต่อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาสร้างที่ทำการตัวเอง 3 ชั้น กฎหมายตัวเองยังปฏิบัติไม่ได้
ยกตัวอย่างว่า เรามักเห็นรีสอร์ทส่วนตัวของบุคคลสำคัญตั้งอยู่ในป่าใกล้โบราณสถาน หรือ มีการสร้างโรงแรมขึ้นมาข้างวัดที่เป็นโบราณสถานสำคัญ โดยอ้างเป็นเหตุผลว่า เพื่อเป็นที่พักของนักท่องเที่ยว หรือ เมื่อกระแสการท่องเที่ยวตื่นตัวขึ้นมา เราก็มีการเร่งบูรณะโบราณสถานแม้แต่เจดีย์เล็กๆหรือซากเนินเล็กๆเราก็รีบทำลายโดยการเปิดหน้าดินแล้วก็รีบเอาปูนสมัยใหม่ไปโปะๆ ซึ่งบางที่ลงทุนไปเป็นล้าน แต่ไม่มีนักท่องเที่ยวไปเลย
ดูอย่างวัดไชยวัฒนารามซึ่งอยู่ที่อยุธยา มีชื่อเสียงมากลงทุนไปเกือบ 200 ล้านจัดภูมิทัศน์ต่างๆ ผ่านมา 15 ปี ตอนนี้เก็บค่าเข้าชมไม่ถึง 20 ล้าน แสดงให้เห็นว่าทางการตลาดเราล้มเหลว แม้ในภาครวมมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเราทำรายได้มากขึ้น ซึ่งมันเป็นเรื่องการบริการมากกว่า มันไม่ใช่เรื่องของการที่นักท่องเที่ยวมาดูโบราณสถานจริงๆ
เช่นเดียวกับความคิดเห็นของ อ.เทพมนตรี ลิมปพะยอม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ที่กล่าวว่า ระบบการจัดการท่องเที่ยวในโบราณสถานไทย ไม่สามารถที่จะจัดการให้สอดคล้องกับต้นทุนซึ่งมันไม่คุ้ม เพราะสิ่งที่เสียก็คือ โบราณสถานพัง
"ผมยกตัวอย่าง "พระอจนะ"ที่วัดศรีชุมในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ยุคสมัยหนึ่งเราเห็นท่านองค์ดำๆ พอมาอีกสมัยหนึ่งขาวๆ เป็นเพราะกรมศิลปากรเขาเห็นว่าท่านดำ ก็เลยเอาแปรงลวดไปขัด เอาน้ำยาไปขัด แล้วบอกว่าน้ำยาจะช่วยเคลือบองค์พระเพื่อต่อไปจะได้ไม่ดำ สุดท้ายปัจจุบันท่านก็ดำเหมือนเดิม"อ.เทพมนตรี ยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นกับโบราณสถานไทย
อีกหนึ่งปัญหาคือ โบราณวัตถุของไทยที่ถูกลักลอบไปโดยไม่ถูกกฎหมาย ที่เห็นอยู่เยอะก็คือ "สวนจตุจักร" ณ วันนี้เดินไปเราซื้อเทวรูปหรือพระพุทธรูปได้ 2 เมตรกว่า เอาออกอย่างไร ก็แค่บอกที่อยู่ให้ไปส่งเขาจัดการเรียบร้อย ถามกรมศิลป์เขาบอกว่าไม่มีหรอก แต่ทางร้านกลับบอกว่าถ้าไม่ใช่ของแท้คืนเงินให้สองเท่า
“ขณะนี้มีภัณฑลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์ในอเมริกามาอยู่ที่จตุจักร ผมถามว่าทำมั้ยถึงขายโบราณวัตถุของบ้านเราได้ เขาก็บอกว่าไม่เห็นแปลกเลย ประเทศคุณเงินมันง้างได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นกฎหมายกรมศิลป์มีไว้เฉพาะจับคนที่มีความเห็นขัดแย้ง”อ.เทพมนตรีกล่าวถึงวิกฤตโบราณสถานและโบราณวัตถุที่เกิดขึ้นให้ไทย
สิ่งที่ถูกทำลาย
ด้าน อ.วรณัย พงศาชลากร ผู้ซึ่งให้คำจำกัดความตนเองว่าเป็นนักมานุษยวิทยานอกกรอบ หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ "เนะขแมร์อินไทยแลนด์"ได้ยกตัวอย่างของโบราณสถานในไทยที่ถูกบูรณะผิดแบบ ซึ่งถือเป็นการทำลายโบราณสถานอีกรูปแบบหนึ่งให้เห็นเป็นตัวอย่าง
"ปราสาทเมืองสิงห์"เป็นหนึ่งในนั้น ในส่วนของรูปหน้าบันประตูโค้ง ซึ่งควรจะเป็นศิลปะแบบเขมร แต่กลับซ่อมแซมเป็นแบบศิลปะโรมันและอิสลาม ซึ่งสิ่งนี้ได้สร้างความอัปยศให้ปราสาทเมืองสิงห์มาแล้ว 30 ปี ปราสาทลักษณะนี้มันไม่เคยมีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าในโลก อยู่ดีๆมันโผล่ขึ้นมา หมายถึงอะไรเป็นการทำลายโบราณสถานหรือเปล่า
"อย่างยอดปราสาทเขาพนมรุ้งใครที่เคยไปแล้ว ให้สังเกตดูว่ามันชะลูดมาก ซึ่งเป็นแบบเดียวของโลก ทั้งที่ต้นแบบตอนขุดเจอก็ไม่ใช่ ปราสาทเขาพนมรุ้งก็เลยกลายเป็นการบูรณะแบบผิดแบบเยอะมาก ที่นั้นมี ดอกบัว 8 กลีบที่แกะสลักลวดลายไว้อย่างงดงาม เป็นความเจริญรุ่งเรืองเป็นสัญลักษณ์แห่งความงอกงามแห่งปัญญา แต่มาสร้างห้องน้าไว้ด้านหน้า ก็ไม่ต้องแปลแสดงว่าเรามีปัญญาตอนเราเข้าห้องน้ำ"อ.วรนัยกล่าว
การบูรณะปราสาทหินในเมืองไทยที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ 80% มันคือปูนซีเมนต์ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเอาสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช่อดีตออกจากตรงนั้น เอาอดีตให้อยู่ตรงนั้นมากที่สุด ส่วนห้องน้ำ จุดจัดนิทรรศการแผนกต้อนรับ ให้อยู่ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริเวณนั้น นักท่องเที่ยวต้องเสียสละด้วยการเดินเข้าไปหรือขี่จักรยานเข้าไป
ทางด้าน อ.เทพมนตรี ก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการทำลายโบราณสถานที่ "ปราสาทหินพิมาย"ที่มีการใช้น้ำยาล้างห้องน้ำยี่ห้อเป็ด เป็นน้ำยาที่เคยใช้ในการขัดล้างปราสาทพิมาย ปราสาทหินที่กำลังจะเป็นมรดกโลก มาเล่าให้ฟังเช่นกันว่า
"สมัยก่อนปราสาทพิมายจะเป็นสีดำๆแต่ตอนนี้ขาวหมดแล้วและลายก็หลุดหินทรายซึ่งเป็นหินที่ใช้ก่อสร้างก็กร่อนเพราะน้ำยาเป็ดที่จนป่านนี้กรมศิลปากรก็ยังหาคำตอบมาให้สาธารณะชนไม่ได้"อ.เทพมนตรียกตัวอย่างให้เห็น
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องที่เก่าแก่มาก แต่คนส่วนใหญ่ในประเทศยังไม่รู้ คือ "นารายณ์บรรธมสินธุ์"ที่ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง เมื่อได้มาจากพิพิธภัณฑ์ชิคาโก ตอนที่กลับมาดำแล้วทำไมกลายเป็นสีชมพูในข้ามวัน ก็เพราะว่าใช้ "วิซซอลพิงค์"ไปชโลมและคนที่ใช้ก็คือเจ้าหน้าที่กรมศิลป์ เจ้าหน้าที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง พอเขาใช้เสร็จเขาก็เล่าให้ฟังว่าเขาใช้ ฉะนั้นสีจึงไม่เหมือนกับ "ศิวนาฏราช" ซึ่งเป็นหน้าบันอยู่ข้างบนใคร ไม่ทราบว่าทำไมต้องใช้น้ำยาล้างห้องน้ำที่เป็นกรดอ่อนมาใช้ล้างโบราณสถาน โบราณวัตถุ แต่เขาใช้น้ำยาล้างห้องน้ำไปล้างเทพเจ้ามันก็ไม่เหมาะ
ปราสาทที่เสียรูปไปแล้วก็คือ "ปราสาทพนมวัน" ซึ่งเขากำหนดระยะเวลาประมาณปีครึ่งในการบูรณะ พอบูรณะไปประมาณปีหนึ่ง ที่ฐานใต้ปราสาทพนมวัน ขุดเจอโครงกระดูกของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ แต่มันจะหมดเวลาถ้าทำไม่เสร็จจะต้องถูกปรับตามระบบราชการแล้ว เลยต้องรีบทำลายซากทิ้งหมด เอาซีเมนต์ทำฐานล่างก่อนก่อแบบ "อนัสติโลซิส"(รื้อของเดิมลงมาโดยทำรหัสไว้ จากนั้นทำฐานใหม่ให้แข็งแรง แล้วนำชิ้นส่วนที่รื้อรวมทั้งที่พังลงมากลับไปก่อใหม่ที่เดิม โดยใช้วิธีการสมัยใหม่ช่วย ) คนไทยทั่วไปก็เลยไม่รู้ว่าข้างใต้พนมวันมีซากสมัยก่อนประวัติศาสตร์อยู่
"เป็นแบบนี้เพราะเราใช้ระบบบูรณะแบบจ้างเหมาจากบริษัทเอกชน ในต่างประเทศไม่มีการจ้างเหมา มีแต่ประเทศเรานี่แหละ เขมรเองทำไมเขาไม่อยากให้เราไปยุ่งกับเขาพระวิหาร เพราะเขามองว่าถ้าให้เราไปบูรณะเขาพระวิหารจะต้องเสียหายแน่นอน เขากลัวบริษัทไทยมาก และการที่เขาพยายามจะประกาศให้เป็นมรดกโลก เขาไม่สนใจว่าเราจะรู้สึกยังไง เพราะเขามองว่าเป็นศิลปะที่บรรพบุรุษเขาสร้าง"อ.เทพมนตรีกล่าว
ส่วนทาง รศ.วิสุทธิ์ ก็ได้เอ่ยถึงตัวอย่างการทำลายโบราณสถานอีกรูปแบบหนึ่งให้ฟังเช่นกันว่า เมื่อปี 2540 ทางกรมศิลปากรได้อนุญาตให้ภาพยนตร์เรื่อง มอทัล คอมแบต (Mortal Kombat) เข้ามาถ่ายที่ "วัดพระศรีสรรเพชญ์" ในอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา ก็มีการถ่ายฉากเปลือยที่บนฐานของพระศรีสรรพเพชญ์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สมัยอยุธยา
"โบราณสถานจะพังไม่พังไม่สำคัญหรอก ณ เวลานั้น แต่นี่คือวัดคุณจะเข้าไปทำโรงถ่ายในวัดไม่ได้ ไปถ่ายหนังโป๊ในวัดไม่ได้"รศ.วิสุทธิ์กล่าว
ความคาดหวัง
อย่างไรก็ตามแม้สิ่งที่สูญเสียไปจะเรียกร้องคืนลำบาก แต่ทว่าก็ยังคงหวังให้สิ่งที่เหลืออยู่ จะไม่ถูกปล่อยปละละเลย
รศ.วิสุทธิ์ ปรารถนาที่จะเห็น การคืนโบราณสถานให้กับชุมชนและเลิกเก็บค่าผ่านประตูคนไทย คนอยุธยาเขาบอกว่าสมัยเป็นเด็กไม่เคยต้องเสียเงิน วันหนึ่งมีคนกั้นรั้วความรู้สึกเป็นเจ้าของไปไหน ขอให้คืนโบราณสถานให้กับชุมชน อาคารต่างๆก็เอาออกไปเสีย ไม่ต้องบริการนักท่องเที่ยวมากเกินความจำเป็น
"อีกอันหนึ่งที่ผมต่อสู้ตลอดเวลา คือ การใช้โบราณสถานไม่ควร อย่างเช่นวิหารก็ดี โบสถ์ก็ดี ทำธุรกิจในนั้นทั้งพระ ฆราวาส ขายพระกันในนั้นมันดูแย่ ทำให้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านจะเกิดความหวงแหนมาเอง ไม่ต้องกลัวชาวบ้านไม่ขโมยหรอกครับ เห็นของศักดิ์สิทธิ์ก็รีบเอาธูปไปกราบไหว้ พวกที่มีความรู้นี่แหละน่ากลัว"รศ.วิสุทธิ์กล่าว
ซึ่งด้าน อ.วรนัย ก็เห็นตรงกันในเรื่องของการคืนโบราณสถานให้กับชุมชน กระจายให้ท้องถิ่นรักและหวงแหนของในท้องถิ่น อย่างปราสาทเขมรก็ไม่ต้องสนใจว่าใครสร้าง แม้ไม่ใช่บรรพบุรุษสร้าง แต่ขณะนี้มันเป็นชองชุมชน
อย่างตอนนี้มีการพบ "รอยพระพุทธบาท"ใหม่อยู่บนเขาศาลาที่ จ.สุรินทร์ เป็นอรัญวสีสวยงาม สวยกว่าพุทธบาทสระบุรีด้านธรรมชาติ แต่ไปครั้งล่าสุด มีพระพุทธรูปมีโต๊ะหมู่บูชามาตั้งแล้ว ก็คงต้องรีบไปดูก่อนทีเสียไปเหมือนที่อื่นๆ
ซึ่งทางด้าน อ.เทพมนตรี ก็เห็นคล้อยตามเช่นกันในเรื่องนี้ โดยกล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้มีโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นที่ "พิพิธภัณฑ์พระนคร"มีการซ่อมพระพิฆเนศองค์ที่เก่าที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ระหว่างการซ่อมได้ล่มลงมาด้วยการเคลื่อนย้ายของเจ้าหน้าที่ พอหักก็เอาอิฐบล็อกซี่ไปก่อ ประเด็นน่าสนใจก็คือ พิพิธภัณฑ์พระนครเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวมของทั้งประเทศเขาปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้อย่างไร
"ศิวลึงค์ทองคำ ของปราสาทบ้านฝ้าย มงกุฎมาลาศิราภรณ์ ที่อยู่ต่างประเทศ หรือทับหลังตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆเป็นไปได้ไหมที่จะนำโบราณวัตถุ ทั้งหมดกลับบ้าน แล้วไปเสริมความเข้มแข็งขององค์กรท้องถิ่น กรมศิลป์อย่าอ้างว่าทำไม่ได้กลัวหาย เพราะที่ปราสาทหินพนมรุ้งยังนำทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของจริงติดไว้ได้ แล้วที่อื่นทำไหมทำไม่ได้"อ.เทพมนตรีกล่าว
*มาถึงตอนนี้พอจะมองออกกันบ้างหรือยังว่า...ใคร?... คือ ตัวการทำลายโบราณสถานที่แท้จริง...*