โดย : หนุ่มลูกทุ่ง

ในย่านสีลมซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นย่านธุรกิจนั้น ถือเป็นย่านเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ อีกทั้งยังเป็นย่านที่มีชาวต่างชาติมาพักอาศัยและประกอบธุรกิจอยู่จำนวนมากด้วยเช่นกัน
ถนนสีลมนั้นถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 พร้อมๆ กับถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง และถนนเฟื่องนคร เดิมเรียกชื่อว่า "ถนนขวาง" เพราะเป็นคันดินที่เกิดจากการขุดคลองเพื่อเชื่อมคลองบางรักกับคลองถนนตรง คันดินจึงกลายเป็นถนนที่เรียกกันว่าถนนขวาง และต่อมาชาวต่างชาติได้นำเครื่องสีลม หรือกังหันลมซึ่งใช้สำหรับการวิดน้ำมาติดตั้งไว้ จนกลายเป็นสัญลักษณ์และเป็นชื่อเรียกของถนนสีลมมาจนถึงปัจจุบัน

ที่อธิบายถึงย่านสีลมมาเสียยาวก็เพราะวันนี้ฉันได้ติดสอยห้อยตามไปกับ "ชมรมสยามทัศน์" มาเดินเท้าท่องเที่ยวกันในย่านสีลม ย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ ซึ่งในวันธรรมดาก็มักจะได้เห็นหนุ่มสาวออฟฟิศเดินกันอยู่ขวักไขว่ แต่ในเช้าวันเสาร์ที่ฉันและชาวชมรมสยามทัศน์ได้ไปเยือนนี้ ย่านสีลมมีผู้คนเบาบางต่างไปจากวันธรรมดาเป็นอย่างมาก
สำหรับในการสัญจรคราวนี้เขามีหัวเรื่องว่า "การศึกษา ศาสนาและการแพทย์แบบตะวันตกบนถนนสีลม" ฟังหัวข้ออาจจะดูเครียดไปหน่อย แต่รับรองว่าไม่เครียดอย่างที่คิดกัน
เราเริ่มการเดินเท้าสัญจรกันที่ถนนสีลม บริเวณสถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง หน้าโรงแรมดุสิตธานี ที่แม้จะมีชื่อว่า "ศาลาแดง" แต่มองไปทางไหนก็ไม่เห็นจะมีศาลาสีแดง หรือพูดง่ายๆ ว่าไม่เห็นมีศาลาเลยสักหลังในบริเวณนี้เลย แต่ชื่อของศาลาแดงนั้นก็มีที่มาจากว่า บริเวณนี้ในอดีตเคยเป็นทุ่งนากว้างใหญ่ เป็นแหล่งปลูกข้าวของกรุงเทพฯ แห่งหนึ่ง จนมาใน พ.ศ.2436 ชาวเดนมาร์กได้ขอพระราชทานสัมปทานสร้างรถไฟสายสมุทรปราการ หรือเรียกว่าสายปากน้ำ ซึ่ง แล่นผ่านบริเวณทุ่งแห่งนี้ ดังนั้นจึงได้สร้างสถานีรถไฟซึ่งเป็นศาลาสำหรับให้ผู้โดยสารนั่งรอรถไฟ ศาลานั้นมีหลังคาเป็นสีแดงโดดเด่นอยู่กลางทุ่ง ผู้คนจึงเรียกบริเวณนี้ว่าทุ่งศาลาแดง

มาในปัจจุบันนี้ ทุ่งนากว้างใหญ่นั้นแปรสภาพเป็นสวนลุมพินี เป็นตึกแถวและถนนหนทางเสียหมดแล้ว แต่สถานีศาลาแดงก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่อยู่ในชื่อของสถานีรถไฟฟ้าศาลาแดงแทน
ทุ่งศาลาแดงนั้นก็เป็นสถานที่สำคัญ เคยใช้ประกอบกิจกรรมหลายๆ อย่าง ไม่ว่าเป็นพระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ สถานที่แข่งว่าวปักเป้า ว่าจุฬา และบริเวณนั้นก็ยังมี "บ้านศาลาแดง" บ้านของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) แต่ปัจจุบันกลายเป็นที่ตั้งของโรงแรมดุสิตธานีไปแล้ว
จากหัวมุมถนนสีลม เราเดินลึกเข้ามาในซอยคอนแวนต์ ผ่านโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ โรงเรียนในเครือของคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตส์ (Soeurs De Saint Paul De Chartres) กลุ่มคณะนักบวชสตรีในคริสตศาสนาที่เดินทางมาจากฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2441 เข้ามาเผยแผ่ศาสนาและช่วยส่งเสริมด้านการศึกษาและการรักษาพยาบาลในประเทศไทย
ในวันเสาร์อย่างนี้โรงเรียนดูเงียบสงบเพราะไม่มีนักเรียนมาโรงเรียน แต่หากหันไปมองยังฝั่งตรงข้ามของโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ก็จะเห็นความเงียบสงบยิ่งกว่า เพราะทางฝั่งตรงข้ามนั้นเป็นที่ตั้งของ "อารามคาร์แมล" หรือ "อารามชีมืด" เชื่อว่าหลายคนคงจะงงกับคำว่า "ชีมืด" เหมือนกับฉันในตอนแรก แต่พอได้รับคำอธิบายว่า "ชีมืด" หรือ "ชีลับ" นี้ ก็คือแม่ชีในศาสนาคริสต์ หรือนักบวชหญิงในคณะคาเมลไรท์ ที่ปวารณาตัวรับใช้พระเจ้าโดยอุทิศทั้งชีวิตให้แก่การภาวนา ตัดขาดจากโลกภายนอก ตัดขาดจากญาติมิตรและเพื่อนฝูงสังคมภายนอก อาศัยอยู่เฉพาะในเขตอาราม จะออกมาได้ก็เฉพาะยามจำเป็นเช่นเมื่อเจ็บป่วย จึงเรียกกันว่าชีมืดหรือชีลับนั่นเอง

อารามชีมืดในถนนคอนแวนต์นี้ มีอายุกว่า 80 ปีแล้ว ซึ่งถือว่าเก่าแก่มาก ฉันได้แต่มองอารามคาร์แมลนี้อยู่แค่ภายนอก จึงได้เห็นเพียงกำแพงสีฟ้าอ่อนสูงท่วมหัว ทำให้มีบรรยากาศที่เงียบสงบร่มรื่นสมชื่อชีลับจริงๆ
เราเดินผ่านอารามชีมืดไปยัง "โรงพยาบาลบีเอ็นเอช" (BNH) หรือ Bangkok Nursing Home สถานรักษาพยาบาลบางกอกเนอสซิ่งโฮม โรงพยาบาลเอกชนเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่เกิดขึ้นมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีสถานรักษาพยาบาลสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
สถานรักษาพยาบาลแห่งนี้เมื่อก่อนเป็นเรือนไม้สองชั้น แต่ปัจจุบันเป็นตึกสูงเจ็ดชั้นหน้าตาทันสมัย แต่หากอยากเห็นบรรยากาศแบบเก่าๆ ก็ต้องลองมาดูด้านหลังโรงพยาบาลก็จะเห็นเรือนไม้สองชั้นหลังคามุงกระเบื้องว่าวดูย้อนยุค แต่อาคารหลังนั้นปัจจุบันก็คือโรงเรียนนานาชาตินั่นเอง

และติดๆ กับโรงพยาบาลบีเอ็นเอชนั้น ก็คือ "โบสถ์ไคร้สเชิช" หรือคริสตจักรไคร้สเชิชกรุงเทพ โบสถ์ในนิกายแองกลิกัน มีความเก่าแก่มาตั้งแต่ พ.ศ.2407 โดยโบสถ์หลังเก่านั้นตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่อีก 40 ปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ก็ได้ทรงพระราชทานที่ดินอีกผืนหนึ่งให้สร้างเป็นโบสถ์คริสตจักรไคร้สเชิชอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ดูจากภายนอกโบสถ์แล้วให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเดินเข้าไปในปราสาทของฝรั่ง เพราะด้านหน้าเป็นหอคอยสูงเชื่อมกับตัวโบสถ์ ส่วนภายในนั้นก็งดงาม แม้จะอยู่ในระหว่างการซ่อมแซม ด้านในนั้นมีกระจกสีเก่าแก่เป็นรูปพระเยซูและนักบุญต่างๆ สวยงามมาก และมีออร์แกนเก่าแก่ที่ยังคงใช้การได้ดี และที่พิเศษก็คือพัดลมเพดานซึ่งเป็นของเก่าแก่ที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 ตัวใบพัดเป็นไม้สัก และดุมพัดลมนั้นมีตรา จปร.ประทับไว้ด้วย
คราวนี้ย้ายตัวเองจากซอยคอนแวนต์มายังถนนสุรวงศ์กันบ้าง ที่ข้ามมาถนนเส้นนี้ก็เพราะฉันกำลังจะมุ่งหน้าไปที่ "ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส" ห้องสมุดเล็กๆ แต่ร่มรื่นริมถนนสุรวงศ์ ห้องสมุดแห่งนี้ ฟังจากชื่อดูก็รู้แล้วว่าต้องเป็นห้องสมุดของฝรั่ง และแน่นอนว่าเป็นหนังสือฝรั่งด้วยเช่นกัน

ความน่าสนใจของห้องสมุดแห่งนี้อยู่ตรงที่ประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่ ตั้งแต่พ.ศ. 2411 ภรรยาของหมอบรัดเลย์และหมอสมิธ ได้ก่อตั้ง "The Bangkok Ladies Library Association" สำหรับแลกเปลี่ยนหนังสือกันอ่านในหมู่ชาวต่างชาติ นางเจนนี่ เนียลสัน เฮย์ส ภรรยาของหมอ ที เฮวาร์ด เฮย์ แพทย์ใหญ่ประจำการในกรมการแพทย์ทหารเรือไทย ก็ได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นกรรมการดำเนินงานเกี่ยวกับห้องสมุดอยู่ถึง 25 ปี นางเจนนี่เป็นคนรักการอ่านและดูแลหนังสือต่างๆ เป็นอย่างดี ภายหลังการเสียชีวิตของเธอในพ.ศ.2464 หมอที เฮวาร์ด จึงได้สร้างห้องสมุดขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ภรรยา ห้องสมุดนี้จึงถือเป็นอนุสรณ์แห่งความรักก็ได้ด้วยเช่นกัน
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของห้องสมุดนี้ก็คือ ได้รับการออกแบบจากสถาปนิกชาวอิตาเลียนชื่อมาริโอ ตามานโยผู้ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นอาคารชั้นเดียวแบบนีโอ คลาสิค หลังคาเป็นทรงโดม ที่หัวเสาทุกต้นสลักลวดลายสวยงาม ใต้ตัวตึกเป็นบ่อน้ำเพื่อให้ความเย็นภายในอาคาร แต่ปัจจุบันใช้วิธีติดแอร์สร้างความเย็นแทนแล้ว

หนังสือต่างๆ ภายในห้องสมุดนี้มีหลายพันเล่ม ให้บริการสำหรับสมาชิกไม่จำกัดชาติ ภาษา อายุ และในช่วงเช้าวันเสาร์ก็ยังมีกิจกรรมเล่านิทานสำหรับเด็กอีกด้วย อีกทั้งภายในยังมี "โรทันดา แกลเลอรี่" แกลอรี่เล็กๆ ที่เอาไว้จัดแสดงผลงานศิลปะจากศิลปินหมุนเวียนกันไป
จากถนนสุรวงศ์ เราเดินลัดเลาะซอกซอยกลับมายังถนนสีลมอีกครั้ง เดินผ่านวัดแขกสีลมข้ามไปยังถนนประมวญ ผ่านวังประมวญ วังที่ประทับของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ต้นสกุลรัชนี พระโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ แต่ปัจจุบันเปิดเป็นร้านอาหารกัลปพฤกษ์ ให้บริการมา 30 กว่าปีแล้ว
เราเดินแยกออกจากถนนประมวญเข้าสู่ถนนเล็กๆ ที่ชื่อว่าถนนศรีเวียง เพื่อจะมายังจุดมุ่งหมายสุดท้ายของการเดินเท้าสัญจรในวันนี้ นั่นก็คือที่ "คริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์" โบสถ์เก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2445 โดย ศจ.ต๋วน บุญอิต ผู้ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคอหิวาต์ ไปก่อนที่โบสถ์จะสร้างเสร็จ

โบสถ์เก่าแก่หลังนี้ได้รับการบูรณะต่อมาอีกหลายๆ ครั้งด้วยกัน โดยในครั้งล่าสุดอีกก็คือการบูรณะพระวิหารและหอระฆังเมื่อปีที่แล้วนี้เอง จนในขณะนี้ คริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์ก็ดูงดงามเป็นที่ชื่นชมแก่ผู้พบเห็น และเมื่อได้เข้ามาด้านใน ก็พบความงามไปอีกแบบ เป็นความงามที่สงบของศาสนสถานที่ควรค่าแก่การเคารพ
และนี่ก็เป็นเส้นทางเดินเท้าท่องเที่ยวของฉันและชมรมสยามทัศน์ในวันนี้ แหม... เดินเสียทั่วสีลมอย่างนี้ก็ต้องเหนื่อยเป็นธรรมดา แต่เมื่อได้เห็นความรู้ใหม่ๆ ได้เห็นสิ่งสวยๆ งามๆ และสถานที่เก่าแก่ต่างๆ ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างนี้แล้ว ฉันก็ยอมเหนื่อยมาเดินอย่างนี้อีกบ่อยๆ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สอบถามรายละเอียดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์กับชมรมสยามทัศน์ได้ที่ โทร.08-1343-4261
ในย่านสีลมซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นย่านธุรกิจนั้น ถือเป็นย่านเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ อีกทั้งยังเป็นย่านที่มีชาวต่างชาติมาพักอาศัยและประกอบธุรกิจอยู่จำนวนมากด้วยเช่นกัน
ถนนสีลมนั้นถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 พร้อมๆ กับถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง และถนนเฟื่องนคร เดิมเรียกชื่อว่า "ถนนขวาง" เพราะเป็นคันดินที่เกิดจากการขุดคลองเพื่อเชื่อมคลองบางรักกับคลองถนนตรง คันดินจึงกลายเป็นถนนที่เรียกกันว่าถนนขวาง และต่อมาชาวต่างชาติได้นำเครื่องสีลม หรือกังหันลมซึ่งใช้สำหรับการวิดน้ำมาติดตั้งไว้ จนกลายเป็นสัญลักษณ์และเป็นชื่อเรียกของถนนสีลมมาจนถึงปัจจุบัน
ที่อธิบายถึงย่านสีลมมาเสียยาวก็เพราะวันนี้ฉันได้ติดสอยห้อยตามไปกับ "ชมรมสยามทัศน์" มาเดินเท้าท่องเที่ยวกันในย่านสีลม ย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ ซึ่งในวันธรรมดาก็มักจะได้เห็นหนุ่มสาวออฟฟิศเดินกันอยู่ขวักไขว่ แต่ในเช้าวันเสาร์ที่ฉันและชาวชมรมสยามทัศน์ได้ไปเยือนนี้ ย่านสีลมมีผู้คนเบาบางต่างไปจากวันธรรมดาเป็นอย่างมาก
สำหรับในการสัญจรคราวนี้เขามีหัวเรื่องว่า "การศึกษา ศาสนาและการแพทย์แบบตะวันตกบนถนนสีลม" ฟังหัวข้ออาจจะดูเครียดไปหน่อย แต่รับรองว่าไม่เครียดอย่างที่คิดกัน
เราเริ่มการเดินเท้าสัญจรกันที่ถนนสีลม บริเวณสถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง หน้าโรงแรมดุสิตธานี ที่แม้จะมีชื่อว่า "ศาลาแดง" แต่มองไปทางไหนก็ไม่เห็นจะมีศาลาสีแดง หรือพูดง่ายๆ ว่าไม่เห็นมีศาลาเลยสักหลังในบริเวณนี้เลย แต่ชื่อของศาลาแดงนั้นก็มีที่มาจากว่า บริเวณนี้ในอดีตเคยเป็นทุ่งนากว้างใหญ่ เป็นแหล่งปลูกข้าวของกรุงเทพฯ แห่งหนึ่ง จนมาใน พ.ศ.2436 ชาวเดนมาร์กได้ขอพระราชทานสัมปทานสร้างรถไฟสายสมุทรปราการ หรือเรียกว่าสายปากน้ำ ซึ่ง แล่นผ่านบริเวณทุ่งแห่งนี้ ดังนั้นจึงได้สร้างสถานีรถไฟซึ่งเป็นศาลาสำหรับให้ผู้โดยสารนั่งรอรถไฟ ศาลานั้นมีหลังคาเป็นสีแดงโดดเด่นอยู่กลางทุ่ง ผู้คนจึงเรียกบริเวณนี้ว่าทุ่งศาลาแดง
มาในปัจจุบันนี้ ทุ่งนากว้างใหญ่นั้นแปรสภาพเป็นสวนลุมพินี เป็นตึกแถวและถนนหนทางเสียหมดแล้ว แต่สถานีศาลาแดงก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่อยู่ในชื่อของสถานีรถไฟฟ้าศาลาแดงแทน
ทุ่งศาลาแดงนั้นก็เป็นสถานที่สำคัญ เคยใช้ประกอบกิจกรรมหลายๆ อย่าง ไม่ว่าเป็นพระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ สถานที่แข่งว่าวปักเป้า ว่าจุฬา และบริเวณนั้นก็ยังมี "บ้านศาลาแดง" บ้านของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) แต่ปัจจุบันกลายเป็นที่ตั้งของโรงแรมดุสิตธานีไปแล้ว
จากหัวมุมถนนสีลม เราเดินลึกเข้ามาในซอยคอนแวนต์ ผ่านโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ โรงเรียนในเครือของคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตส์ (Soeurs De Saint Paul De Chartres) กลุ่มคณะนักบวชสตรีในคริสตศาสนาที่เดินทางมาจากฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2441 เข้ามาเผยแผ่ศาสนาและช่วยส่งเสริมด้านการศึกษาและการรักษาพยาบาลในประเทศไทย
ในวันเสาร์อย่างนี้โรงเรียนดูเงียบสงบเพราะไม่มีนักเรียนมาโรงเรียน แต่หากหันไปมองยังฝั่งตรงข้ามของโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ก็จะเห็นความเงียบสงบยิ่งกว่า เพราะทางฝั่งตรงข้ามนั้นเป็นที่ตั้งของ "อารามคาร์แมล" หรือ "อารามชีมืด" เชื่อว่าหลายคนคงจะงงกับคำว่า "ชีมืด" เหมือนกับฉันในตอนแรก แต่พอได้รับคำอธิบายว่า "ชีมืด" หรือ "ชีลับ" นี้ ก็คือแม่ชีในศาสนาคริสต์ หรือนักบวชหญิงในคณะคาเมลไรท์ ที่ปวารณาตัวรับใช้พระเจ้าโดยอุทิศทั้งชีวิตให้แก่การภาวนา ตัดขาดจากโลกภายนอก ตัดขาดจากญาติมิตรและเพื่อนฝูงสังคมภายนอก อาศัยอยู่เฉพาะในเขตอาราม จะออกมาได้ก็เฉพาะยามจำเป็นเช่นเมื่อเจ็บป่วย จึงเรียกกันว่าชีมืดหรือชีลับนั่นเอง
อารามชีมืดในถนนคอนแวนต์นี้ มีอายุกว่า 80 ปีแล้ว ซึ่งถือว่าเก่าแก่มาก ฉันได้แต่มองอารามคาร์แมลนี้อยู่แค่ภายนอก จึงได้เห็นเพียงกำแพงสีฟ้าอ่อนสูงท่วมหัว ทำให้มีบรรยากาศที่เงียบสงบร่มรื่นสมชื่อชีลับจริงๆ
เราเดินผ่านอารามชีมืดไปยัง "โรงพยาบาลบีเอ็นเอช" (BNH) หรือ Bangkok Nursing Home สถานรักษาพยาบาลบางกอกเนอสซิ่งโฮม โรงพยาบาลเอกชนเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่เกิดขึ้นมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีสถานรักษาพยาบาลสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
สถานรักษาพยาบาลแห่งนี้เมื่อก่อนเป็นเรือนไม้สองชั้น แต่ปัจจุบันเป็นตึกสูงเจ็ดชั้นหน้าตาทันสมัย แต่หากอยากเห็นบรรยากาศแบบเก่าๆ ก็ต้องลองมาดูด้านหลังโรงพยาบาลก็จะเห็นเรือนไม้สองชั้นหลังคามุงกระเบื้องว่าวดูย้อนยุค แต่อาคารหลังนั้นปัจจุบันก็คือโรงเรียนนานาชาตินั่นเอง
และติดๆ กับโรงพยาบาลบีเอ็นเอชนั้น ก็คือ "โบสถ์ไคร้สเชิช" หรือคริสตจักรไคร้สเชิชกรุงเทพ โบสถ์ในนิกายแองกลิกัน มีความเก่าแก่มาตั้งแต่ พ.ศ.2407 โดยโบสถ์หลังเก่านั้นตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่อีก 40 ปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ก็ได้ทรงพระราชทานที่ดินอีกผืนหนึ่งให้สร้างเป็นโบสถ์คริสตจักรไคร้สเชิชอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ดูจากภายนอกโบสถ์แล้วให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเดินเข้าไปในปราสาทของฝรั่ง เพราะด้านหน้าเป็นหอคอยสูงเชื่อมกับตัวโบสถ์ ส่วนภายในนั้นก็งดงาม แม้จะอยู่ในระหว่างการซ่อมแซม ด้านในนั้นมีกระจกสีเก่าแก่เป็นรูปพระเยซูและนักบุญต่างๆ สวยงามมาก และมีออร์แกนเก่าแก่ที่ยังคงใช้การได้ดี และที่พิเศษก็คือพัดลมเพดานซึ่งเป็นของเก่าแก่ที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 ตัวใบพัดเป็นไม้สัก และดุมพัดลมนั้นมีตรา จปร.ประทับไว้ด้วย
คราวนี้ย้ายตัวเองจากซอยคอนแวนต์มายังถนนสุรวงศ์กันบ้าง ที่ข้ามมาถนนเส้นนี้ก็เพราะฉันกำลังจะมุ่งหน้าไปที่ "ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส" ห้องสมุดเล็กๆ แต่ร่มรื่นริมถนนสุรวงศ์ ห้องสมุดแห่งนี้ ฟังจากชื่อดูก็รู้แล้วว่าต้องเป็นห้องสมุดของฝรั่ง และแน่นอนว่าเป็นหนังสือฝรั่งด้วยเช่นกัน
ความน่าสนใจของห้องสมุดแห่งนี้อยู่ตรงที่ประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่ ตั้งแต่พ.ศ. 2411 ภรรยาของหมอบรัดเลย์และหมอสมิธ ได้ก่อตั้ง "The Bangkok Ladies Library Association" สำหรับแลกเปลี่ยนหนังสือกันอ่านในหมู่ชาวต่างชาติ นางเจนนี่ เนียลสัน เฮย์ส ภรรยาของหมอ ที เฮวาร์ด เฮย์ แพทย์ใหญ่ประจำการในกรมการแพทย์ทหารเรือไทย ก็ได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นกรรมการดำเนินงานเกี่ยวกับห้องสมุดอยู่ถึง 25 ปี นางเจนนี่เป็นคนรักการอ่านและดูแลหนังสือต่างๆ เป็นอย่างดี ภายหลังการเสียชีวิตของเธอในพ.ศ.2464 หมอที เฮวาร์ด จึงได้สร้างห้องสมุดขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ภรรยา ห้องสมุดนี้จึงถือเป็นอนุสรณ์แห่งความรักก็ได้ด้วยเช่นกัน
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของห้องสมุดนี้ก็คือ ได้รับการออกแบบจากสถาปนิกชาวอิตาเลียนชื่อมาริโอ ตามานโยผู้ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นอาคารชั้นเดียวแบบนีโอ คลาสิค หลังคาเป็นทรงโดม ที่หัวเสาทุกต้นสลักลวดลายสวยงาม ใต้ตัวตึกเป็นบ่อน้ำเพื่อให้ความเย็นภายในอาคาร แต่ปัจจุบันใช้วิธีติดแอร์สร้างความเย็นแทนแล้ว
หนังสือต่างๆ ภายในห้องสมุดนี้มีหลายพันเล่ม ให้บริการสำหรับสมาชิกไม่จำกัดชาติ ภาษา อายุ และในช่วงเช้าวันเสาร์ก็ยังมีกิจกรรมเล่านิทานสำหรับเด็กอีกด้วย อีกทั้งภายในยังมี "โรทันดา แกลเลอรี่" แกลอรี่เล็กๆ ที่เอาไว้จัดแสดงผลงานศิลปะจากศิลปินหมุนเวียนกันไป
จากถนนสุรวงศ์ เราเดินลัดเลาะซอกซอยกลับมายังถนนสีลมอีกครั้ง เดินผ่านวัดแขกสีลมข้ามไปยังถนนประมวญ ผ่านวังประมวญ วังที่ประทับของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ต้นสกุลรัชนี พระโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ แต่ปัจจุบันเปิดเป็นร้านอาหารกัลปพฤกษ์ ให้บริการมา 30 กว่าปีแล้ว
เราเดินแยกออกจากถนนประมวญเข้าสู่ถนนเล็กๆ ที่ชื่อว่าถนนศรีเวียง เพื่อจะมายังจุดมุ่งหมายสุดท้ายของการเดินเท้าสัญจรในวันนี้ นั่นก็คือที่ "คริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์" โบสถ์เก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2445 โดย ศจ.ต๋วน บุญอิต ผู้ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคอหิวาต์ ไปก่อนที่โบสถ์จะสร้างเสร็จ
โบสถ์เก่าแก่หลังนี้ได้รับการบูรณะต่อมาอีกหลายๆ ครั้งด้วยกัน โดยในครั้งล่าสุดอีกก็คือการบูรณะพระวิหารและหอระฆังเมื่อปีที่แล้วนี้เอง จนในขณะนี้ คริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์ก็ดูงดงามเป็นที่ชื่นชมแก่ผู้พบเห็น และเมื่อได้เข้ามาด้านใน ก็พบความงามไปอีกแบบ เป็นความงามที่สงบของศาสนสถานที่ควรค่าแก่การเคารพ
และนี่ก็เป็นเส้นทางเดินเท้าท่องเที่ยวของฉันและชมรมสยามทัศน์ในวันนี้ แหม... เดินเสียทั่วสีลมอย่างนี้ก็ต้องเหนื่อยเป็นธรรมดา แต่เมื่อได้เห็นความรู้ใหม่ๆ ได้เห็นสิ่งสวยๆ งามๆ และสถานที่เก่าแก่ต่างๆ ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างนี้แล้ว ฉันก็ยอมเหนื่อยมาเดินอย่างนี้อีกบ่อยๆ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สอบถามรายละเอียดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์กับชมรมสยามทัศน์ได้ที่ โทร.08-1343-4261