xs
xsm
sm
md
lg

แอลเอชแบงก์คงเป้าสินเชื่อโตทั้งปีที่ 7-8%-มุ่งเพิ่มรายได้ค่าฟี-บริหารต้นทุนเงินทุน-รับแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์(LHFG)แจงกำไรสุทธิ 1,121 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.8 และมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 361,287 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ผลการดำเนินงานของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ครึ่งแรกของปี 2568 มีกำไรสุทธิ 1,103 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สินเชื่อเติบโตร้อยละ 3.4 จากสิ้นปี 2567 หลักๆ เป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อรายย่อยร้อยละ 9.3 และสินเชื่อธุรกิจร้อยละ 1.8 และธนาคารได้ขยายสินเชื่อ SME ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม (Product Program) ส่งผลให้สินเชื่อ SME เติบโตอย่างมีนัยสำคัญจากสิ้นปีก่อน

นายฉี ชิง-ฟู ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)(LH Bank)
กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารในช่วงครึ่งปีแรกถือว่าน่าพอใจ สินเชื่อเติบโตได้ดีที่ 3.4% ซึ่งสูงกว่าอุตสาหกรรม โดยการขับเคลื่อนจากทุกกลุ่ม อาทิ สินเชื่อรายย่อยเติบโต 9% สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่โต 6% สินเชื่อธุรกิจระหว่างประเทศเติบโต 9.9% ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2568 อยู่ที่ระดับ 261,000 ล้านบาท จากสิ้นปี 2567 ที่ 252,000 ล้านบาท สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)อยู่ที่ 2.5%ซึ่งอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้และยังอยู่ภายใต้กรอบที่ตั้งไว้ 3% ขณะที่ NIM ลดลงมาที่ 2.04% จากระดับ 2.32% เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินโดยรวม และคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 1-2 ครั้ง ดังนั้น ธนาคารจึงให้ความสำคัญกับการเพิ่มรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย และการบริหาร Cost of Fund เพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว ขณะเดียวกัน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยก็ส่งผลในทางที่จะสนับสนุนความต้องการลงทุน และบรรเทาภาระของผู้กู้ด้วย

"ส่วนการที่นายวิทัย รัตนากรจะเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.)นั้น มองว่าประเด็นที่ต้องติดตามเป็นเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเรามองว่าจะลด 2 ครั้งในปีนี้ถึงต้นปีหน้า ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าปัจจัยดังกล่าวจะช่วยลดภาระลูกหนี้ แต่ก็กระทบกับ NIM ของธนาคารเช่นกัน จึงมองว่าจะต้องดูแลในเรื่องของการเพิ่มรายได้ และบริหารต้นทุนเงินทุนควบคู่กันไปด้วย"

นอกจากนี้ ธนาคารยังคงเป้าหมายสินเชื่อทั้งปีที่ตั้งเป้าหมายไว้ 7-8% โดยหากประเมินจากการเติบโตของสินเชื่อในครึ่งปีแรกแล้วก็มีความเป็นไปที่จะเติบโตตามเป้าหมาย ขณะที่การตั้งสำรองนั้นไม่น่าจะเพิ่มจากครึ่งปีแรก เนื่องจากได้มีการตั้งสำรองไว้สูงแล้วนับจากช่วงโควิคฯที้ผ่านมา

"ในระยะต่อไปเราจะโฟกัสไปที่กลุ่ม High yield ไม่ว่าจะเป็น Home for cash ,รีไฟแนนซ์บ้านมือสอง หรือสินเชื่อบุคคล ไปพร้อมๆกับการเร่งช่วยเหลือลูกค้าผ่านโครงการคุณสู้ เราช่วยอย่างต่อเนื่อง และยังให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้า FDI ที่มองว่าตัวเลขการเข้ามาลงทุนน่าจะเติบโตได้ 5% ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารได้เปิดสาขาอมตะนครเพื่อรองรับการลงทุนส่วนนี้"

สำหรับกลยุทธของธนาคารระหว่างปี 2568-2572 โดยมุ่งเน้นเพิ่มความสามารถในการหารายได้ทั้งในส่วนของได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย และการบริหาร Cost of Fund ไปพร้อมๆกับการขยายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธนาคาร รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อให้เกิดการ Cross sale เพิ่มขึ้น และการนำ Digital & AI มาใช้มากขึ้น โดยในเดือนสิงหาคมก็จะมีการเปิดตัวแพลตฟอร์มที่จะมาให้บริการกับกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ด้วย และยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนลูกค้าในการเปลี่ยนผ่านทางด้าน Sustainable อีกด้วย

นายมนรัฐ ผดุงสิทธิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด หรือ LH Fund กล่าวว่า กลยุทธ์ช่วงครึ่งหลังของปี 2568 บริษัทยังคงขับเคลื่อนกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อเสริมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยปรับบทบาทของทีมงานให้สามารถบริหารผลิตภัณฑ์การลงทุนทุกประเภทได้อย่างคล่องตัวและครอบคลุมยิ่งขึ้น และปรับแนวทางการเติบโตของสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาวกับกลุ่มลูกค้า High Net Worth สถาบัน และองค์กร ด้วยการนำเสนอโซลูชันที่ตอบโจทย์ลูกค้านอกเหนือจากการลงทุน สำหรับกลุ่มลูกค้ากองทุนส่วนบุคคล บริษัทได้พัฒนาโซลูชันการลงทุนและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเร่งขยายธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยเจาะกลุ่มบริษัทที่ยังไม่มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น

นายกานต์ อรรถธรรมสุนทร กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ (LH Securities) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2568 มีรายได้ค่านายหน้าจำนวน 40.2 ล้านบาท ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2567 สาเหตุหลักมาจากการหดตัวลงของปริมาณการซื้อขายของตลาดหุ้นไทย โดยกลยุทธ์ของบริษัทยังคงมุ่งเน้นการเติบโตอย่างระมัดระวัง เน้นสร้าง Passive Income เช่น รายได้เงินปันผล รายได้ค่าธรรมเนียมการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และที่ปรึกษาทางการเงิน รวมทั้งเพิ่มและพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น การให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศ การพัฒนาระบบเทคโนโลยี เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า เพิ่มการมีส่วนร่วม (Engagement) ของลูกค้าเดิมด้วยบริการที่สะดวกรวดเร็วและปลอดภัย พร้อมบริหารต้นทุนอย่างเหมาะสม
กำลังโหลดความคิดเห็น