xs
xsm
sm
md
lg

"ผยง"แนะ3ทางออก"พลิกวิกฤติเศรษฐกิจไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



'ผยง ศรีวณิช'เปิดมุมมองปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ เผยไทยมีขนาดเศรษฐกิจนอกระบบสูงก่อให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้าง แนะ 3 ทางออกเร่ง "กระตุก-ประคอง-ปฎิรูป" การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้คุ้มค่า ด้วยการ Target ให้ชัดเจน-ไม่เหมารวม พร้อมกับการเร่งยกระดับการสร้างรายได้-เพิ่มโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)(KTB)
กล่าวในงาน iBusiness Forum Decode 2025 : The Mid-Year Signal ถอดสัญญาณเศรษฐกิจโลก พลิกอนาคตเศรษฐกิจไทยว่าในมุมของภาคการเงิน-การธนาคารที่เป็นตัวสะท้อนให้เป็นภาพเศรษฐกิจของประเทศ หรือเป็นแบบจำลองโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะว่าระบบการเงินการธนาคารคือต้วกลางในการส่งผ่านทรัพยากรทางการเงินและสภาพคล่องให้ไปเป็นเลือดในการหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อ หรือเป็นกลไกทางเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่วันนี้ศักยภาพของเรากำลังจะถูกท้าทายด้วยมาตรการภาษีตอบโต้ ซึ่งเราจะพูดถึงตัวเลขไม่ว่า 10% 36% หรือจะตกลงได้ที่ 20%หรือไม่ ก็คือการเจอกับความแน่นอน แล้วเราก็ต้องอยู่กับมัน และบนความไม่แน่นอนนั้นสร้างแรงกระเพื่อมอย่างมีนัยสำคัญให้กับระบบเศรษฐกิจของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

"ภาคการเงิน-การธนาคารเรามีเม็ดเงินที่จะดู 2 ตัวคือกองทุนรวมลงทุนในต่างประเทศ(FIF)จะเห็นว่าวันนี้มีกว่า 1.33 ล้านล้านบาทที่เงินลงทุนออกไป แปลว่าการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย 1 ปีที่ผ่านมาผลตอบแทนกว่า -10% ขณะที่ตลาดสหรัฐฯ +9% กว่า ก็จะเห็นว่าเม็ดเงินสภาพคล่องเหมือนตัวน้ำที่วิ่งไปตามกลไกตลาดโลก เราอยู่ตลาดแบบทุนนิยม เราฝืนกลไกนี้ไปไม่ได้"

ส่วนการลงทุนโดยตรงของบริษัทไทยไปต่างประเทศรวมในปีที่ผ่านมาก็กว่า 7 ล้านล้าน ก็แสดงว่ายังมีสภาพคล่อง แต่ถ้าดูโครงสร้างตลาดทุนในประเทศ ตลาดหลักทรัพย์ฯ Price Book Value ค่าเฉลี่ยทั้งตลาดเพียง 1.1 เท่า ขณะที่ 70%ของบริษัทในตลาดมี Price Book ต่ำกว่า 1เท่า สะท้อนปัญหาทางโครงสร้างของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งถ้าเรา Zoom in ปัญหาในประเทศ คือการมีเศรษฐกิจนอกระบบสูงถึง 48% และได้นำไปสู่ผลข้างเคียงอื่นๆอีกมากมาย

"48% นี่ถือว่าสูงที่สุดในโลกระดับ TOP เลย นำไปสู่แรงงานนอกระบบถึง 51% นำไปสู่ผู้เสียภาษีในระบบเพียง 11-12 ล้านคน ขณะที่มีการเรียกร้องสวัสดิการทางสังคมอีกถึงกว่า 68 ล้านคน บวกกับเอกชนทื่้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลรายเล็กเพียง 26% โดยจากการวิจัยเศรษฐศาสตร์จุฬา 34% ครัวเรือนไทยเป็นหนี้นอกระบบ หนึ่งครัวเรือนมีหนี้นอกระบบ 9.19 หมื่นบาท เป็นหนี้นอกระบบ 13.4% และเป็นหนี้ในระบบ 86.6% รวมแล้วเท่ากับ 104% แต่ถ้าดู Gross debt ตัว Total จะเป็นประมาณ 117% เกิดขึ้นจากอะไร ก็คือคนที่เป็นลูกหนี้นอกระบบเป็นเจ้าหนี้นอกระบบไปพร้อมๆกัน หรือเป็นลูกหนี้ในระบบไปพร้อมๆกัน ภาพนี้บอกอะไร บอกว่ากล้ามเนื้อของประเทศไทยต้องอาศัยกลไกนอกระบบ กลไกในระบบไปไม่ถึง เป็นภาพที่สะท้อนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย"

ซึ่งผลข้างเคียงที่ตามมาจากที่ธนาคารโลกทำไว้ก็คือ 1.รายได้ต่ำ 2.ความยากจนและความเหลื่อมล้ำสูง ทำให้รับแรงกระแทกจากปัจจัยต่างๆได้ต่ำ 3. การกำกับดูแลและธรรมาภิบาลด้อยกว่า 4.ผลิตภาพอยู่ในระดับต่ำ 5. Resilience ต่ำ และ 6.มีการพัฒนาด้านความยั่งยืนที่ช้า ดังจะเห็นได้เวลาที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ ก็ต้องมีการชดเชยเยียวยา ทั้งหมดเป็นการเอาทรัพยากรสาธารณะไปสู่การเยียวยา อย่างมาก ต่อเนื่อง และเป็นระยะเวลานาน เพราะประชากรของเราส่วนหนึ่งไม่มีความสามารถที่ยืดหยุ่น ทนทานกับภัยธรรมชาติและความเปราะบางทางสังคม-เศรษฐกิจ ขณะเดียวอัตราการคอรัปชั่นก็จะสูงล้อไปกับเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งจะถูกเปลี่ยนไปเป็นคริปโต และทองคำ ซึ่งมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน ถือเป็นอีกเรื่องที่คณะกรรมการร่วม3สถาบัน(กกร.)ก็มีความกังวลและเป็นอีกความท้าทายที่นอกเหนือจากภาษีตอบโต้ เพราะกิจกรรมดังกล่าวไม่ได้ส่งผ่านไปสู่การผลิตหรือระบบเศรษฐกิจจริงที่จับต้องได้ และไปกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงคือภาคส่งออกจากเงินบาทที่แข็งค่า

ดังนั้น ในสภาวะที่เราติดกับดักแบบนี้ต้องเดิน 3 ส่วนไปพร้อมกัน ท้้งมาตรการกระตุก โดยเฉพาะในเรื่องของหนี้ครัวเรือน หรือหนี้ SME แล้วก็ประคองกลุ่มที่ยังไปได้แต่ได้รับผลกระทบเฉียบพลันจากภาษีตอบโต้ และสามที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ปฏิรูป ต้องแยกแยะกลุ่มให้ชัดเจน เพราะว่าทรัพยากรไม่ได้อย่างไม่มีวันหมด แต่ละกลุ่มมีความต้องการทรัพยากรที่ต่างกัน อย่าเหมาเข่ง เหมารวม หรือใช้ทรัพยากรสาธารณะที่มีอยู่จำกัดอย่างไม่คุ้มค่า อุตสาหกรรมที่เราควรสนับสนุน ทักษะที่ประเทศหรือแรงงานที่ต้องการต้องมี และการจ้างงานที่มีรายได้ก็จะนำสู่รายได้รัฐมีให้รายได้เช่น ตอบโจทย์เรื่องทิศทางเศรษฐกิจในอนาคต ก็คือต้องสามารถเป็นสิ่งที่จะช่วยคนที่กำลังจะจมน้ำ คนที่ต้องการการประคอง และเร่งสร้างกล้ามเนื้อใหม่ให้กับระบบเศรษฐกิจไปพร้อมๆกัน

"กับดักเศรษฐกิจที่ผ่านมา ทำใหเราโตในศักยภาพต่ำอยู่แล้ว ยังโดนกดด้วยโควิดฯ แล้วตอนนี้เรากำลังโดนกดด้วยภาษีตอบโต้จากสหรัฐณฯ ทุกครั้งที่โดนกด มันจะสูญเสียทรัพยากรไปเยอะมาก แล้วถ้าเราใช้อย่างไม่ระมัดระวังและไม่ได้ประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ ก็จะเสียไปอย่างน่าเสียดาย ในส่วนมาตรการกระตุก ระบบธนาคารพาณิชย์-ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีมาตรการคุณสู้ เราช่วย หวังว่าจำนวนลูกหนี้จะสามารถเข้ามาเร่งใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่ท้าทายคือโครงสร้างทรัพยากรที่ออกแบบมาเน้นไปที่คนที่มีหนี้อยู่ในระบบ ไม่รวมแม้กระทั่งนอนแบงก์ที่อยู่นอกระบบ แต่ประเทศมีหนี้นอกระบบอยู่จำนวนมาก เพราะฉะนั้น การมีข้อมูลที่เชื่อมโยงและเป็นข้อเท็จจริงที่เราสามารถมาขบคิดออกนโยบายสาธารณะได้อย่างเชื่อมโยงถูกจุด ไม่ระยะสั้น ประคับประคอง เยียวยา เร่งสร้างในสิ่งที่ต้องปฏิรูปด้วยเป็นสิ่งสำคัญ"

ส่วนการที่จะยกระดับรายได้ และเพิ่มโอกาสในการเติบโตของเศรษฐกิจ อันแรกคือจะต้องเร่งเสริมสร้างทักษะ ดึงคนเข้าสู่ระบบการศึกษาที่สามารถนำไปสู่การจ้างงาน การขับเคลื่อนด้วยกลไกกยศ.สามารถทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในวัยทำงานหรือไม่ นโยบายสนับสนุนการลงทุนต้องปกป้องผู้ประกอบการในประเทศให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างเท่าเทียม ถูกจุด ,การเร่งให้ตัวช่วยกับผู้ประกอบการในประเทศใช้ทรัพยากรในประเทศใช้การจ้างงานในประเทศเป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำ การผลักดันการมีส่วนร่้วมของภาครัฐ-เอกชนหรือในการตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาด้านนวัตกรรม เพื่อนำมาใช้ด้านเทคโนโลยีและข้อมูลที่จำเป็น

"ประเทศเรายังต้องมีการลงทุนอีกมาก เพดานหนี้สาธาณะที่ 70%คงต้องปรับ แต่จะใช้ทรัพยากรเหล่านั้นไปทำอะไร เป็นสิ่งที่เราต้องมาช่วยกันทบทวน อย่างที่ว่าในวิกฤติมีโอกาส ตอนนี้ในช่วงที่ประเทศไทยเจอหลายปัญหาถาโถมแต่ก็เป็นโอกาสที่จะเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ แต่ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้ใช้โอกาสนี้เลย"

ทั้งนี้ เร่งผลักดันเศรษฐกิจนอกระบบให้เข้าสู่ระบบนั้น มองว่าในโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ-ตลาดทุนต้องมีสิ่งจูงใจ แล้วก็ทำให้กลไกภาครัฐเอื้อให้เข้าถึงได้สะดวกและรวดเร็วและเป็น one stop Service และต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างทางภาษีเพื่อเป็นกลไกในการแปรผันทรัพยากรให้ไปสู่จุดที่ควรจะเป็น เร่งสร้างกล้ามเนื้อและวิธีการสนับสนุนควรจะเร่งมองในลักษณะห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้ได้ประโยชน์กับทรัพยากรในประเทศและบุคลากรในประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และสุดท้ายการบังคับใช้กฎหมายต้องอยู่บนหลักนิติธรรม ซึ่ง OECD มองว่าประเทศไทยการออกกฎหมายก็ไม่ได้แย่ แต่ที่ท้าทายคือการบังคับใช้ที่ไม่เป็นไปตามความมุ่งหวัง ลดดุลยพินิจของภาครัฐ เร่งการใช้เดต้าและนำเทคโนโลยีมาใช้แทน

"โดยสรุปก็คือมาตรการต้องTarget มากๆ เชื่อมโยงในเชิงห่วงโซ่อุปทาน และมาตรการเหล่านั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใช้เงิน ต้องกลับไปทบทวนงบประมาณปี 69 หรือไม่ในเรื่องของการใช้ และหนี้สาธารณะต้องถูกเพิ่มเพดาน แต่จะนำมาใช้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาเราใช้เงินส่วนนี้ไปมากกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จนทำให้ทรัพยากรมีเหลือน้อยในการนำมาปฏิรูปเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ขึ้นอยู่กับทุกภาคส่วน ภาคเอกชน ภาคประชาชน ก็ต้องมาร่วมเติมเต็มในสิ่งที่เราเห็นภาพ สร้างองค์ความรู้ความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้ก็จะเป็นการมองวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาส"

**พร้อมหนุนนโยบายแก้หนี้ผู้ว่าคนใหม่** 
สำหรับการสานต่อนโยบายการเงินของผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่นั้น นายผยงกล่าวว่า อาจจะต้องรอผูัว่าคนใหม่แถลงนโยบายก่อน แต่เชื่อว่าทุกท่านมีประสบการณ์ และในภาคการเงิน-ระบบสถาบันการเงินพร้อมสนับสนุนนโยบายที่ช่วยแก้ปัญหา โดยเฉพาะนโยบายการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง และนโยบายแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยเฉพาะภารกิจนโยบายการแก้หนี้ เชื่อว่าเป็นนโยบายอันดับแรกๆของทั้งรัฐบาล ธปท. และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งเห็นชัดว่าทุกคนพยายามทำ แต่มีปัญหาซับซ้อนในเชิงโครงสร้าง และยังมองข้ามปัญหาในเชิงโครงสร้าง เช่น การเอื้อให้คนอยู่นอกระบบ และมาแชร์ข้อมูลในระบบ จะเป็นการสร้างระบบนิเวศก่อให้เกิดการเอื้อประโยชน์ให้คนอยู่นอกระบบ จึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย โดยระบบจะต้องทำให้ทุกคนเห็นเท่ากัน 

"เขื่อว่าผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อมีความรู้ความสามารถ ส่วนการดำเนินนโยบายก็ต้องรอฟังอีกที"
กำลังโหลดความคิดเห็น