นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพนโยบาย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงถึงมุมมองของ ธปท.ที่เห็นว่าผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจไทยจะไม่รุนแรงเท่ากับผลกระทบจากช่วงวิกฤติการเงินโลก (Global Financial Crisis : GFC) หรือช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า แม้ว่าผลกระทบจากแต่ละเหตุการณ์เป็นช็อกใหญ่ของโลกเหมือนกัน แต่มีมิติของระยะเวลาความรุนแรงแตกต่างกัน กล่าวคือ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากนโยบายภาษีสินค้านำเข้า (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ จะมีนัยระยะยาวต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมาก
หากพิจารณามิติความรุนแรงและมิติระยะเวลาจะเห็นว่าช็อกจาก Tariffs แตกต่างกันกับช็อกในรอบการระบาดของโควิด-19 และวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 ที่มีความรุนแรงระยะสั้น และเป็นหลุมดิ่งลง ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจทุกอย่างชะงักงั้น แต่ช็อกจากเรื่องภาษีสหรัฐฯ ครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทันที เพราะมีการพูดถึงและรับรู้มาสักระยะแล้ว แต่ช็อกนี้จะมีระยะเวลาทอดยาวไปถึงปี 2569
นายปิติ กล่าวว่า เมื่อมองไปข้างหน้าภายใต้สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง และอาจจะเกิดช็อกได้ ดังนั้น จุดยืนนโยบายการเงินผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง สามารถรองรับความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง แต่มองไปข้างหน้า ธปท.พร้อมจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งพื้นที่การทำนโยบาย (Policy Space) เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้เศรษฐกิจมีความยืดหยุ่นและทดท้าน (Resilience) สามารถรองรับช็อกที่จะเกิดขึ้นยาวนานได้
"กนง.ได้ประเมินฉากทัศน์ไว้หลากหลายมาก ซึ่งตัวเลข Tariffs จะออกมาเท่าไรนัน ไม่สำคัญมาก หรือเศรษฐกิจรายไตรมาสจะขยายตัว -0.1% หรือ +0.1% เท่ากับทิศทางเศรษฐกิจโดยรวม เพราะเรามองเศรษฐกิจครึ่งปีหลังไม่ดี และแผ่วลง ซึ่งจีดีพีปี 69 เรามองที่ 1.7% ชะลอลงพอสมควร และขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ เพราะมีช็อกที่ทอดยาวเข้ามากระทบ เราไม่ตกเหวปีนี้ แต่ตกปีหน้า ดังนั้นการลดดอกเบี้ย อาจจะช่วยลดภาระหนี้ได้บ้าง แต่ไม่ได้เกิดการขอสินเชื่อใหม่ เพราะอุปสงค์ลดลง จึงต้องชั่งน้ำหนัก เพราะพื้นที่การทำนโยบายเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากเศรษฐกิจเข้าสู่ช็อกที่มีเยอะขึ้น การทำให้เศรษฐกิจมีความทนทานและยืดหยุ่น น่าจะดีกว่า" นายปิติ ระบุ
นายปิติ ยังกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยที่อยู่ในระดับต่ำในปัจจุบัน ไม่ได้สะท้อนว่าจะเกิดภาวะเงินฝืด เพราะปัจจัยหลักเป็นผลสะท้อนมาจากราคาพลังงานโลกปรับตัวลดลง รวมถึงราคาสินค้าอาหารสด แต่ยังไม่มีสถานการณ์ที่ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายเพื่อรอไปบริโภคในวันข้างหน้าจากความคาดหวังที่ว่าราคาสินค้าในอนาคตจะลดลง
"เงินเฟ้อต่ำในประเทศไทย ไม่ได้สะท้อนว่าคนรีรอที่จะไปบริโภคในวันข้างหน้าเพื่อหวังว่าราคาสินค้าจะต่ำลง ซึ่งไม่ได้เป็นแบบนั้น อัตราเงินเฟ้อไทย สะท้อนราคาพลังงานโลก อาหารสด 2 หมวดนี้ไม่ได้แพร่กระจายไปสินค้าในส่วนอื่น ๆ ไม่มีทัศนคติในเชิงที่ว่าไทยจะมีภาวะเงินฝืด แต่ตรงกันข้าม เงินเฟ้อต่ำที่สะท้อนจากราคาพลังงานที่ถูกลงนั้น อาจจะช่วยเรื่องต้นทุนภาคการผลิตได้มากกว่า ช่วยรองรับกับเรื่อง tariff สหรัฐฯ" นายปิติ ระบุ
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า โอกาสที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอย คือ เศรษฐกิจต้องติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส ในอดีตเคยเกิดขึ้น 4 ครั้ง คือ ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ช่วงวิกฤติการเงินโลก ช่วงการชุมนุมประท้วงใหญ่ปี 53 และช่วงสถานการณ์ระบาดของโควิด ซึ่งการจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิคได้นั้น จะต้องเกิดแรงกระแทกใหญ่จากปัจจัยภายนอก เป็น crisis หรือจากปัจจัยในประเทศที่รุนแรงมาก ๆ จะทำให้เศรษฐกิจหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส
"ถ้าดูจากประมาณการในปี 68 และทอดยาวไปปี 69 การขยายตัวเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสที่ 0.1% อยู่แล้ว โตค่อนข้างต่ำ โอกาสที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิคได้หรือไม่นั้น มี แต่เราไม่ได้เอาเข้าไว้ใน base line เพราะโอกาสจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยจะต้องเป็นช็อกที่รุนแรงและมีขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะจากข้างนอก เช่น วิกฤติการเงิน ซึ่ง base line ที่เรามอง และ house ต่าง ๆ ที่มองก็ไม่ได้คิดว่าจะมี Global recession" นายสักกะภพ ระบุ
ส่วนการให้น้ำหนักของการทำนโยบายภายใต้ความไม่แน่นอนนั้น กรรมการ กนง.ได้ชั่งน้ำหนักประสิทธิผลการทำนโยบาย ซึ่งในการประชุม กนง.รอบล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.68 กรรมการส่วนใหญ่ขอรอดูความชัดเจนของพัฒนาการเศรษฐกิจ และข้อมูลจริงที่จะเข้ามาก่อนว่าจะมีแนวโน้มอย่างไร
"กรรมการได้ชั่งน้ำหนักเรื่องประสิทธิผลของการทำนโยบาย เทียบกับว่า ถ้าเรามีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้นในแง่ของการทำนโยบายแล้ว ประสิทธิผลจะเพิ่มมากน้อยขนาดไหน กรรมการส่วนใหญ่จึงขอรอข้อมูลจริงก่อน...เป็นการประเมิน cost and benefit ภายใต้ภาวะที่ขีดความสามารถ policy space ที่อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว" นายสักกะภพ ระบุ
ส่วนประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองนั้น นายสักกะภพ กล่าวว่า ธปท.ติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะที่ผ่านมาปัจจัยทางการเมืองมีผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า ซึ่งจะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ จึงเป็นหนึ่งในความเสี่ยง
"แรงกระแทก Tariffs ไม่กระทบรุนแรง และตกแรง ๆ เหมือนวิกฤตโควิด-19 แต่แรงกระแทกนี้ จะทอดยาวไปยังภาคที่ส่งออกไปสหรัฐฯ และผลจะทอดยาวไป เราจะไม่เห็นช็อกแบบสั้น ๆ ซึ่งเราได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการ 700-800 ราย พบว่าอุปสรรคการทำธุรกิจ คือ ต้นทุน ความสามารถในการแข่งขัน และความไม่แน่นอนเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เขาจะชะลอลงทุนมากกว่า" นายสักกะภพ ระบุ