นิตยสาร ฟอร์บส์ ไทยแลนด์ (Forbes Thailand) เปิดเผยรายชื่อ 10 อันดับมหาเศรษฐีที่มั่งคั่งที่สุดในไทย ประจำปี 2568
- นายเฉลิม อยู่วิทยา มหาเศรษฐีกระทิงแดง และครอบครัว ยังคงครองอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 มูลค่าทรัพย์สินพุ่งแตะ 4.45 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.44 ล้านล้านบาท
- ตระกูล เจียรวนนท์จากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ยังคงรักษาตำแหน่งมหาเศรษฐีที่มั่งคั่งเป็นอันดับ 2 ของไทย มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของพวกเขาเพิ่มขึ้น 23% เป็น 3.57 หมื่นล้านเหรียญ CP กำลังลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างหนัก โดยได้ร่วมลงทุนมูลค่า 1 พันล้านเหรียญกับ BlackRock เพื่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ ส่วนธุรกิจฟินเทค Ascend Money ของพวกเขาเพิ่งได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งธนาคารดิจิทัลเมื่อเร็วๆ นี้
- นายสารัชถ์ รัตนาวะดี นักธุรกิจใหญ่ด้านพลังงานและโทรคมนาคม ผงาดอันดับ 3 เป็นครั้งแรก โดยมีมูลค่าทรัพย์สิน 1.2 หมื่นล้านเหรียญ การควบรวมกิจการระหว่าง Gulf Energy Development กับ Intouch Holdings ที่เสร็จสิ้นลง และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนเมษายนภายใต้ชื่อ Gulf Development เป็นปัจจัยสำคัญที่ดันให้ขยับขึ้นมา 2 อันดับ
*10 อันดับ มหาเศรษฐีไทยที่มั่งคั่งที่สุด ประจำปี 2568 ได้แก่
- อันดับ 1 นายเฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 4.45 หมื่นล้านเหรียญ / 1.44 ล้านล้านบาท
แหล่งความมั่งคั่ง: อาหารและเครื่องดื่ม
นายเฉลิม เป็นเจ้าของร่วม Red Bull เครื่องดื่มชูกำลังอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งขายได้มากกว่า 1.3 หมื่นล้านกระป๋องทั่วโลกในปี 2567 โดยครอบครัวอยู่วิทยาถือหุ้นอยู่ 51% ซึ่งในจำนวนนี้มีหุ้นจำนวนเล็กน้อยที่เป็นของเฉลิม ลูกชายคนโตของผู้ร่วมก่อตั้งกระทิงแดงผู้ล่วงลับไปแล้วอย่าง "เฉลียว อยู่วิทยา"
นับตั้งแต่ปี 2559 Red Bull Thailand ต้องเผชิญกับคดีละเมิดเครื่องหมายการค้าหลายคดี โดยเฉพาะกรณีพิพาทกับ Red Bull China อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 Red Bull Thailand ชนะการต่อสู้เครื่องหมายการค้าซึ่งเกี่ยวข้องกับ Red Bull ในประเทศจีนมาหลายปีแล้วขณะที่มหาเศรษฐีชาวออสเตรีย Dietrich Mateschitz ผู้ซึ่งร่วมกับพ่อของเฉลิมเป็นผู้สร้างสรรค์ Red Bull เครื่องดื่มอันเป็นเอกลักษณ์นี้ เสียชีวิตในเดือนตุลาคม 2565 ขณะอายุ 78 ปี
- อันดับ 2 พี่น้องเจียรวนนท์
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 3.57 หมื่นล้านเหรียญ / 1.16 ล้านล้านบาท
แหล่งความมั่งคั่ง: อาหารและเครื่องดื่ม
สามพี่น้องตระกูลเจียรวนนท์ และครอบครัวของนายมลตรี เจียรวนนท์ ผู้ล่วงลับ ยังคงสืบทอดความมั่งคั่งจาก เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) หนึ่งในผู้ผลิตอาหารสัตว์และปศุสัตว์รายใหญ่ที่สุดของโลก อาณาจักรธุรกิจนี้มีจุดเริ่มต้นจากนาย เจีย เอ็ก ชอ บิดาของพวกเขา ซึ่งร่วมกับนายชลเจริญ เจียรวนนท์ พี่ชาย ได้เปิดร้านขายเมล็ดพันธุ์นำเข้าจากจีนให้เกษตรกรไทยมาตั้งแต่ปี 2464
นายธนินท์ เจียรวนนท์ น้องคนสุดท้อง เคยดำรงตำแหน่งประธานและซีอีโอของ CP นานถึง 48 ปี ก่อนจะก้าวลงจากตำแหน่งในปี 2560 แต่ยังคงดำรงตำแหน่งประธานอาวุโสของเครือ ขณะที่นายศุภกิจ บุตรชายคนโต และนายศุภชัย บุตรชายคนเล็ก ปัจจุบันรับหน้าที่เป็นประธานและซีอีโอของกลุ่มตามลำดับ
ล่าสุดในปี 2568 หน่วยธุรกิจโทรคมนาคมของเครือ CP ในนาม True คว้าใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank หนึ่งในสามใบที่รัฐบาลออกให้ พร้อมจับมือกับ BlackRock ยักษ์ใหญ่ด้านการลงทุนระดับโลก เพื่อร่วมลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในโครงการศูนย์ข้อมูล (Data Centre) เสริมศักยภาพธุรกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบ
- อันดับ 3 นายสารัชถ์ รัตนาวะดี
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 1.2 หมื่นล้านเหรียญ / 3.90 แสนล้านบาท
แหล่งความมั่งคั่ง: พลังงาน
นายสารัชถ์ ดำรงตำแหน่งซีอีโอของ Gulf Development หนึ่งในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่สุดของไทยที่มีการลงทุนหลากหลาย ตั้งแต่พลังงาน โทรคมนาคม ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล Gulf Development เพิ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2568 จากการควบรวมกิจการระหว่าง Gulf Energy Development ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ และ InTouch Holdings ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคม ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ AIS (Advanced Info Service)
ก่อนหน้านี้ในปี 2564 Gulf Energy ได้ร่วมทุนกับ Binance ยักษ์ใหญ่คริปโตเคอร์เรนซีของโลก เปิดตัวแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทฯ ในประเทศไทย ในเดือนพฤษภาคม 2568 Gulf ได้เข้าซื้อหุ้นในธนาคารกสิกรไทย จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 4 ของธนาคารที่มีสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ
ขณะเดียวกัน โครงการร่วมทุนระหว่าง Gulf, Singtel และ AIS เพื่อจัดตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในไทย ก็เตรียมเปิดดำเนินการภายในปี 2568 นี้เช่นกัน ตอกย้ำกลยุทธ์ขยายธุรกิจสู่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลครบวงจร
- อันดับ 4 นายเจริญ สิริวัฒนภักดี และครอบครัว
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 1.05 หมื่นล้านเหรียญ / 3.41 แสนล้านบาท
แหล่งความมั่งคั่ง: อาหารและเครื่องดื่ม
จากอดีตลูกพ่อค้าริมถนนในกรุงเทพฯ ปัจจุบันนนายเจริญ บริหารบริษัทไทยเบฟเวอเรจ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยมีรายได้หลักมาจากเบียร์ช้าง และสินทรัพย์ขนาดใหญ่อื่นๆ ได้แก่ เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ ยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องดื่มและอสังหาริมทรัพย์ของสิงคโปร์
นอกจากนี้ อาณาจักรค้าปลีกของเจริญยังรวมถึงเครือไฮเปอร์มาร์เก็ตบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ที่เข้าซื้อกิจการในปี 2559 เป็นมูลค่ากว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
นายเจริญ ได้จดทะเบียนในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ส่วนตัว ภายใต้ชื่อ Asset World ในเดือนตุลาคม 2562 และยังคงถือหุ้นส่วนใหญ่อยู่ โดยมีโรงแรมในจุดท่องเที่ยวยอดนิยม เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต กระบี่ และพัทยา ในปี 2568 นี้ นายเจริญ ได้โอนหุ้นในบริษัทสำคัญๆ ให้แก่ลูกทั้ง 5 คนแล้วด้วย
- อันดับ 5 ครอบครัวจิราธิวัฒน์
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 8.6 พันล้านเหรียญ / 2.79 แสนล้านบาท
แหล่งความมั่งคั่ง: ค้าปลีก อสังหาฯ โรงแรม ศูนย์การค้า
ตระกูลจิราธิวัฒน์ที่ขับเคลื่อนอาณาจักร Central Group ถือเป็นผู้พัฒนาศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในแง่ของพื้นที่ให้เช่าสุทธิ ในปี 2564 ครอบครัวได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Central Retail ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกส่วนตัว โดยระดมทุนได้ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรก (IPO) ครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
ถัดมาในเดือนเมษายนปี 2567 Central Group ได้เข้าซื้ออาคารห้างสรรพสินค้า KaDeWe อันโด่งดังจาก Signa บริษัทสัญชาติออสเตรียที่ล้มละลายด้วยมูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญ และในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน ทาง Public Investment Fund ของซาอุดีอาระเบียได้เข้าซื้อหุ้น 40% ในกลุ่ม Selfridges อันโด่งดังของสหราชอาณาจักรจาก Signa ในขณะที่ Central Group ยังคงถือหุ้นมากสุดถึง 60%
- อันดับ 6 ครอบครัวไชยวรรณ
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 4.2 พันล้านเหรียญ / 1.36 แสนล้านบาท
แหล่งความมั่งคั่ง: การเงินและการลงทุน
ครอบครัวไชยวรรณ ประกอบด้วยทายาทของนายวานิช ไชยวรรณ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ของไทยประกันชีวิต บริษัทประกันชีวิตรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทยตามรายได้จากเบี้ยประกันภัยรวม ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในเดือนมิถุนายน 2568 ด้วยวัย 93 ปี
บริษัทนี้บริหารโดยนายไชย บุตรชาย ซึ่งเป็นประธานและซีอีโอของไทยประกันชีวิตนางวรางค์ ลูกสาว และนายวินยู บุตรชายเป็นรองประธานซีอีโอและเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารไทยประกันชีวิตขายผ่านตัวแทนเป็นส่วนใหญ่และเป็นที่รู้จักจากโฆษณาทางทีวีที่กระตุ้นอารมณ์ให้คนดูต่างจดจำได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ บริษัท Meiji Yasuda Life ของญี่ปุ่นได้ถือหุ้น 17% ในไทยประกันชีวิต ซึ่งจดทะเบียนในปี 2022 และระดมทุนได้มากถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ อีกทั้งครอบครัวไชยวรรณยังถือหุ้นส่วนใหญ่ในธนาคารไทยเครดิต จำกัด มหาชน ซึ่งจดทะเบียนในปี 2024"
- อันดับ 7 นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา และครอบครัว
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 3.5 พันล้านเหรียญ / 1.14 แสนล้านบาท
แหล่งความมั่งคั่ง: แฟชั่นและค้าปลีก
นายอัยยวัฒน์ เป็นบุตรชายของนายวิชัย ศรีวัฒนประภา ผู้ก่อตั้งคิงเพาเวอร์ ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินชั้นนำของประเทศไทย นายอัยยวัฒน์ (หรือที่รู้จักกันดีในนาม ท็อป) เป็นประธานบริหารของคิงเพาเวอร์ และแบ่งปันทรัพย์สินกับนางเอมอร มารดา (ซึ่งเป็นประธานอาวุโสของบริษัท) และพี่น้องอีก 3 คน
นอกจากนี้ นายอัยยวัฒน์ ยังเป็นประธานสโมสรเลสเตอร์ซิตี้ สโมสรทีมฟุตบอลของอังกฤษที่ครอบครัวของเขาซื้อกิจการ รวมถึงครอบครัวของเขายังเป็นเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่ในโครงการมหานคร ซึ่งเป็นตึกระฟ้าที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
- อันดับ 8 นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 3.4 พันล้านเหรียญ / 1.10 แสนล้านบาท
แหล่งความมั่งคั่ง: Healthcare
นพ.ปราเสริฐ อดีตศัลยแพทย์ผู้ร่วมก่อตั้ง บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ในปี 2515 ซึ่งได้เติบโตมาเป็นผู้ให้บริการโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในไทย ครอบครอง Movenpick รีสอร์ตศูนย์รวมบริการสุขภาพหรูมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทในกรุงเทพฯ โดยมีจำนวนห้องมากถึง 211 ห้อง นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลในเครือรวม 58 แห่ง ซึ่งรวมถึงโรงพยาบาลด้านมะเร็งโดยเฉพาะที่เพิ่งเปิดไปเมื่อปี 2566
นอกจากนี้ นพ.ปราเสริฐ ยังเป็นเจ้าของและดำเนินกิจการสายการบินระดับภูมิภาคอย่างบางกอกแอร์เวย์ส (Bangkok Airways) ที่เปิดตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2557
ปัจจุบัน น.ส.ปรมาภรณ์ บุตรสาว ดำรงตำแหน่งประธามกรรมการบริหาร กรุงเทพดุสิตเวชการ ส่วนบุตรชายนายพุฒิพงศ์ ก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริษัท
- อันดับ 9 นายเสถียร เสถียรธรรมะ
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 2.6 พันล้านเหรียญ / 8.44 หมื่นล้านบาท
แหล่งความมั่งคั่ง: อาหารและเครื่องดื่ม
นายเสถียร เสถียรธรรมะ หรือชื่อเดิมคือ เสถียร เศรษฐสิทธิ์ คือ รองประธานกรรมการแห่งคาราบาวกรุ๊ป ผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลังยอดนิยมในไทยอย่างคาราบาวแดง โดยเขาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทขึ้นในปี 2545 ร่วมกับ แอ๊ด คาราบาว นักร้องเพลงเพื่อชีวิตชื่อดัง ก่อนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2557
นายเสถียร ยังก้าวเข้าสู่ธุรกิจเบียร์ที่มีผู้เล่นรายใหญ่ครองตลาดอย่างไม่หวาดหวั่นด้วยการลงทุนในโรงงานผลิตเบียร์สูงถึง 4,000 ล้านบาท นอกจากนี้คาราบาวกรุ๊ปยังมีบริษัทย่อยที่ผลิตบรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะ และมีการร่วมทุนกับคู่ค้าจากญี่ปุ่นในการผลิตกระป๋อง
นายร่มธรรม ลูกชายคนเล็ก ดำรงตำแหน่งกรรมการที่เป็นผู้บริหารของคาราบาวกรุ๊ป ในขณะที่นายวีรธรรม ลูกชายคนโต ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจค้าปลีก CJ Express
- อันดับ 10 นายพรเทพ พรประภา และครอบครัว
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 2.2 พันล้านเหรียญ / 7.14 หมื่นล้านบาท
แหล่งความมั่งคั่ง: ยานยนต์
นายพรเทพ เป็นประธานกรรมการกลุ่มสยามกลการ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ Nissan ในไทย นอกจากนี้เขายังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ ซึ่งอยู่ภายใต้ตระกูลโสภณพนิช โดยก่อนหน้านี้เขามีที่นั่งในบอร์ดบริหารมาตลอด 16 ปี
สำหรับกลุ่มสยามกลการ ในปี 2566 นายประกาสิทธิ์ ลูกชายของนายพรเทพได้รับแต่งตั้งให้มาสานต่อภารกิจในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีการให้ทุนสนับสนุนอาคารปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์ คณะวิศวกรรมยานยนต์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา
ครอบครัวพรประภา ยังได้มีการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากยานยนต์ ได้แก่ อะไหล่ยนต์ โลจิสติกส์ อุปกรณ์ก่อสร้าง และโรงแรม