บัญชีม้าไม่ใช่แค่ในธนาคารอีกต่อไป มิจฉาชีพยุคใหม่พัฒนาวิธีฟอกเงินผ่านคริปโตฯ หลีกหนีการตรวจสอบ พร้อมสร้างเครือข่ายบัญชีม้ารูปแบบใหม่ที่ลึกลับยิ่งขึ้น ข้อมูลจากตำรวจเผยคนไทยตกเป็นเหยื่อกว่า 3.7 หมื่นล้านในปีเดียว
2-3 ปีที่ผ่านมา คำว่า “บัญชีม้า” กลายเป็นคำคุ้นหูของคนไทย โดยเฉพาะในข่าวอาชญากรรมและมิจฉาชีพออนไลน์ บัญชีม้าเป็นช่องทางสำคัญที่ใช้ซุกซ่อนเส้นทางการเงินผิดกฎหมาย และเชื่อมโยงไปถึงตัวการใหญ่เบื้องหลัง จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปี 2567 คนไทยตกเป็นเหยื่อถูกหลอกโอนเงินรวมกว่า 37,582 ล้านบาท หรือเฉลี่ยวันละ 103 ล้านบาท นี่จึงเป็นตัวเลขที่ไม่อาจมองข้ามได้
ที่ผ่านมา ภาครัฐและเอกชนมีความร่วมมือกันอย่างจริงจังในการจัดการบัญชีม้า จนนำไปสู่มาตรการเข้มข้นโดยเฉพาะจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งในเดือนมิถุนายน 2567 ได้ปรับเป้าจาก “บัญชี” เป็น “บุคคล” พร้อมยกระดับการตรวจสอบในต้นปี 2568 ส่งผลให้สมาคมธนาคารไทยสามารถอายัดบัญชีม้าได้มากกว่า 2 ล้านบัญชี จากกว่า 150,000 รายชื่อ (ยอดสะสมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568)
แต่เมื่อตรึงเกมไว้ด้านหนึ่ง มิจฉาชีพก็หาช่องทางใหม่ด้านอื่น “บัญชีม้าคริปโตฯ” คือวิวัฒนาการล่าสุดที่กำลังระบาด
ม้าแปลงร่าง จากบัญชีบุคคล สู่บัญชีนิติบุคคล
หนึ่งในพฤติกรรมที่พบได้ถี่ขึ้นในช่วงหลัง คือ การใช้บัญชีนิติบุคคลแทนบัญชีบุคคล เนื่องจากสามารถโอนเงินได้ในวงเงินที่สูงกว่า และดูน่าเชื่อถือมากกว่าเวลานำไปใช้หลอกเหยื่อ เช่น อ้างว่าเป็นบริษัทลงทุน หรือผู้ให้บริการทางการเงิน
อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลง คือ เส้นทางการโอนเงินที่เคยซับซ้อนหลายทอด ก็หดสั้นลงจาก 4-5 ทอด เหลือเพียง 1-2 ทอด ก่อนถูกแปลงจากเงินบาทเป็น “คริปโตเคอร์เรนซี” ซึ่งนับว่าอันตราย เพราะเป็นช่องทางที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ยากและรวดเร็วอย่างยิ่ง
คริปโตฯ ตัวแปรใหม่ ฟอกเงินใน 20 นาที
ข้อมูลจากระบบ Central Fraud Registry (CFR) เผยว่า ในช่วงตุลาคม-ธันวาคม 2567 มีมูลค่าความเสียหายที่แปลงจากเงินบาทเป็นคริปโตฯ สูงถึง 6,700 ล้านบาท คิดเป็น 75% ของความเสียหายทั้งหมด และการโอนย้ายเงินเหล่านี้ใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที ก่อนจะเปลี่ยนกลับเป็นเงินสดอีกครั้ง กระบวนการฟอกเงินจึงจบภายในวันเดียวอย่างไร้ร่องรอย
การโอนเงินไปยังคริปโตฯ ทำได้ผ่าน 2 ช่องทางหลัก คือ
1. บัญชีกลางแบบ Exchange – ผ่านแพลตฟอร์มที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต. และ ปปง. ซึ่งมีการทำ KYC/CDD ตามกฎหมาย
2. บัญชีแบบ Peer to Peer (P2P) – ซื้อขายกันโดยตรงระหว่างบุคคล โดยไม่ผ่านตัวกลาง ไม่มีการ KYC หรือ CDD ทำให้มีความเสี่ยงสูง และที่ผ่านมา “ยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลโดยตรง”
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2568 ได้มีการประกาศพระราชกำหนด 2 ฉบับที่ครอบคลุมธุรกรรมแบบ P2P ซึ่งดำเนินการโดยผู้ประกอบการนอกประเทศแต่ให้บริการในไทย ถือเป็นก้าวสำคัญในการอุดช่องโหว่
โปร่งใสแต่ตามไม่ทัน : บล็อกเชนไม่ใช่ทางสว่างเสมอไป
แม้เทคโนโลยีบล็อกเชนจะเปิดเผยข้อมูลธุรกรรมแบบสาธารณะ แต่หากเป็นการซื้อขาย P2P ที่ไม่ผ่าน KYC/CDD จะรู้เพียงแค่ว่า “เงินถูกส่งจากกระเป๋าหนึ่งไปอีกกระเป๋าหนึ่ง” แต่ไม่รู้ว่าเจ้าของกระเป๋าเป็นใคร นี่คืออุปสรรคใหญ่ของการตามรอยเงินกลับคืนเหยื่อ
KYC / CDD สำคัญแค่ไหน?
KYC (Know Your Customer) และ CDD (Customer Due Diligence) เป็นกระบวนการที่ใช้พิสูจน์ตัวตนผู้ใช้บริการ ป้องกันการใช้บัญชีหรือข้อมูลผู้อื่นมาทำผิดกฎหมาย โดยจะตรวจสอบข้อมูลส่วนตัว เช่น บัตรประชาชน รายได้ หรือเครดิตบูโร ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ทั้งธนาคารและผู้ให้บริการคริปโตฯ ต้องปฏิบัติตาม
ม้าเปลี่ยนเกม แต่รัฐไม่ถอย
ภาครัฐร่วมมือกับหน่วยงานหลายภาคส่วน ออกมาตรการและกฎหมายรับมืออย่างต่อเนื่อง รวมถึงพัฒนาฐานข้อมูลร่วมเพื่ออายัดบัญชีม้าให้รวดเร็วที่สุด พร้อมเดินหน้าปรับปรุงกฎหมายให้ครอบคลุมทุกช่องทาง รวมถึงแพลตฟอร์ม P2P ต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดให้ “ผู้เกี่ยวข้อง” ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการหลอกลวงของมิจฉาชีพด้วย
แต่สุดท้ายแล้ว การสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนยังคงเป็นปราการสำคัญที่ต้องทำต่อเนื่อง ทั้งผ่านการให้ความรู้ เตือนภัยกลโกง และสร้างวินัยในการตรวจสอบธุรกรรมและผู้ให้บริการทางการเงินที่ตนใช้งาน
จงอย่าหลงเชื่อการลงทุนที่ฟังดูดีเกินจริง จงอย่าเป็นเหยื่อ และจงอย่าเผลอกลายเป็นเครื่องมือให้มิจฉาชีพ
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย