ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาใหญ่และเป็น 1 ในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะเมื่อคนเป็นหนี้ต้องนำเงินส่วนหนึ่งมาชำระหนี้สิน ส่งผลให้เหลือเงินเพื่อการใช้จ่ายในเรื่องอื่นๆ ลดลง และหากกลายเป็นหนี้เสีย หรือ NPL จะยิ่งส่งผลเสียและมีผลกระทบต่อหลายภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ยังมีผลต่อระบบธนาคารที่ต้องตั้งสำรองหนี้เสียที่กลายเป็นค่าใช้จ่ายและภาระของธนาคารอีกด้วย ดังนั้น รัฐบาลจึงมีการพูดถึงการแก้ปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด และพยายามหาทางออกมาได้ระยะหนึ่งแล้ว และในที่สุด รัฐบาลมีการประกาศ โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปดำเนินการร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อจัดทำโครงการแก้หนี้ให้เกิดขึ้น
สำหรับ โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” จะครอบคลุมลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจ Nonbank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์จำนวนกว่า 2.1 ล้านบัญชี โดยเป็นลูกหนี้ 1.9 ล้านราย และมียอดหนี้รวมประมาณ 8.9 แสนล้านบาท ซึ่งรูปแบบการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้จะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน โดยลูกหนี้จะชำระหนี้บางส่วน เพื่อให้สามารถจ่ายและปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.67-28 ก.พ.68
นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จรัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาจะส่งผลให้ลูกค้ากลุ่มสินเชื่อบ้านมีภาระในการผ่อนชำระหนี้ลดลง ซึ่งจะส่งผลโดยรวมต่อสัดส่วนหนี้เสียในระบบให้ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ธอส. ได้จัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้อยู่แล้ว ประกอบด้วย มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ปี 67 ดูแลลูกค้ากลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ (SM) และลูกค้าสถานะ NPL ให้ได้รับความช่วยเหลือนาน 1 ปี ทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และลดเงินงวด
ปัจจุบันมีลูกค้าลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการรวม 74,933 บัญชี คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ 91,563.72 ล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ SM ลูกค้าสถานะ NPL และลูกหนี้สถานะมีโจทก์นอกที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ให้ได้รับความช่วยเหลือปรับลดดอกเบี้ย และลดเงินงวด ปัจจุบันมีลูกค้าลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการรวม 39,531 บัญชีคิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ 42,175.34 ล้านบาท จากการจัดทำมาตรการดังกล่าว ส่งผลให้ลูกค้ากลับมามีความสามารถในการผ่อนชำระได้ตามปกติมากกว่า 60% ของลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการทั้งหมด
ทั้งนี้ ธอส. มีโครงการปล่อยสินเชื่อพิเศษ ซึ่งจัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำที่หลากหลาย เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า โดยมีสินเชื่อเด่นๆ ประกอบด้วย โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน ปี 67 กรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท
สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 หรือ 40 ที่ยื่นขอสินเชื่อเพื่อซื้อ หรือปลูกสร้างที่อยู่อาศัย วงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อหลักประกัน อัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1-5 = 1.59% ต่อปี ปีที่ 6-8 = MRR -2.00% ต่อปี (4.545% ต่อปี) ปีที่ 9-ตลอดอายุสัญญา = MRR -0.50% ต่อปี (6.045% ต่อปี) (อัตราดอกเบี้ย MRR ของ ธอส. ปัจจุบันเท่ากับ 6.545% ต่อปี) กรณีกู้ 1 ล้านบาท ผ่อน 40 ปี ผ่อนเริ่มต้น 3,400 บาท/เดือน
ส่วนวงเงินกู้ส่วนที่เกิน 2 ล้านบาทสามารถใช้อัตราดอกเบี้ยผลิตภัณฑ์อื่นที่ธนาคารมีให้บริการปัจจุบันมีผู้ประกันตนยื่นกู้แล้วกว่า 1,430 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อแล้ว 1,190 ล้านบาท มาตรการสินเชื่อซื้อ-สร้าง กรอบวงเงิน 50,000 ล้านบาท สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อ หรือปลูกสร้างที่อยู่อาศัยในระดับราคาซื้อขายหรือปลูกสร้างไม่เกิน 3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-5 = 3.00% ต่อปี ปีที่ 6-7 = MRR-2% ต่อปี (4.545% ต่อปี) ปีที่ 8-9 = MRR -1.50% ต่อปี (5.045% ต่อปี) ปีที่ 10 จนถึงตลอดอายุสัญญา กรณีลูกค้ารายย่อย เท่ากับ MRR -0.75% ต่อปี กรณีลูกค้าสวัสดิการ เท่ากับ MRR -1.00% ต่อปี พิเศษ! ฟรีค่าประเมินราคาหลักประกัน 1,900-2,300 บาท โดยลูกค้าที่สนใจสามารถรับรหัสเข้าร่วมโครงการ ผ่าน Mobile Application : GHB ALL GEN พร้อมสมัคร Line GHB Buddy เพื่อรับรหัส 6 หลัก ก่อนนำมาประกอบการยื่นกู้ โดยยื่นขอสินเชื่อได้ตั้งแต่วันนี้และทำนิติกรรมภายในวันที่ 30 ธ.ค.68 โดยปัจจุบันมีผู้รับรหัสเข้าร่วมโครงการวงเงินรวมกว่า 4,000 ล้านบาท
มาตรการสินเชื่อซ่อม-แต่ง กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่มีการทำนิติกรรมสัญญาและผ่อนชำระเงินกู้กับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยวงเงินกู้เดิมภายใต้หลักประกันสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีประวัติการผ่อนชำระสม่ำเสมอทุกเดือนไม่น้อยกว่า 1 ปี ที่ต้องการกู้เพิ่มเพื่อต่อเติม ซ่อมแซม หรือซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัย วงเงินให้กู้รายละ 100,000 บาท โดยไม่ต้องจดทะเบียนการจำนองเพิ่มที่สำนักงานที่ดิน อัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1-3 = 1.00% ต่อปี ผ่อนชำระเงินงวดเพียง 2,900 บาท ระยะเวลาการกู้สูงสุดนาน 3 ปี ยื่นขอสินเชื่อได้ตั้งแต่วันนี้และสิ้นสุดโครงการเมื่อธนาคารให้สินเชื่อเต็มกรอบวงเงินของโครงการแล้ว ยื่นกู้แล้วกว่า 100 ล้านบาท และสินเชื่อบ้าน 71 ปี ธอส. กรอบวงเงิน 100,000 ล้านบาท
สำหรับผู้ที่ต้องการสินเชื่อเพื่อซื้อ ปลูกสร้าง ต่อเติม ซ่อมแซม และรีไฟแนนซ์ อัตราดอกเบี้ย เดือนที่ 1-6 = 0.71% ต่อปี เดือนที่ 7-24 = 2.71% ต่อปี ปีที่ 3 = 3.71% ต่อปี เฉลี่ยอัตราดอกเบี้ย 3 ปีแรก = 2.71% ผ่อนชำระนานสูงสุด 40 ปี กรณีกู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระเริ่มต้นเพียง 2,400 บาท/เดือน ยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่วันนี้และทำนิติกรรมภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2567
“คุณสู้ เราช่วย” สกัดหนี้ครัวเรือน
ด้าน นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด กล่าวว่า โครงการ “คุณสู้-เราช่วย” ที่รัฐบาลประกาศเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมาเป็น 1 ในนโยบายที่ต้องการผลักดันออกมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนและมีปัญหาเรื่องหนี้สิน และยังเป็นการช่วยลดเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่เป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบันของประเทศไทย โดนนโยบายนี้รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ว่าอาจะสามารถช่วยเหลือประชาชนที่เป็นหนี้เสีย หรือ NPL ได้กว่า 2 ล้านราย ซึ่งนโยบายนี้นั้นเกี่ยวข้องกับการแก้หนี้ครัวเรือนโดยเฉพาะ ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ พักดอกเบี้ยหนี้ ซึ่งครอบคลุมทั้งหนี้ที่อยู่อาศัย รถยนต์ และรวมไปถึงกลุ่มเอสเอ็มอี และยังรวมไปถึงกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้กับกลุ่มที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน อาจจะเป็นกลุ่มที่ให้สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อให้ทั้ง 3 กลุ่มที่กลายเป็น NPL ไปแล้วสามารถอยู่ในระบบ หรือไม่โดนตัดออกจากระบบสินเชื่อของสถาบันการเงิน และยังช่วยให้กลุ่มนี้ยังใช้ชีวิตต่อไปได้ อีกทั้งยังช่วยลดภาระหนี้สินต่างๆ ผ่านการพักชำระดอกเบี้ยและลดภาระยอดชำระต่อเดือน รวมไปถึงการจ่ายชำระแต่เงินต้นไม่มีดอกเบี้ยในระยะเวลาที่นโยบายกำหนด
สำหรับนโยบายนี้จะช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ที่มีหนี้ที่ค้างชำระอายุไม่เกิน 1 ปี ที่มีการทำสัญญาสินเชื่อก่อนวันที่ 1 ม.ค.67 และกลายเป็นหนี้เสียหรือ NPL ก่อนวันที่ 31 ต.ค.67 ถ้าเป็นหนี้เสียหลังจากนี้จะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าจะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้กว่า 1.9 ล้านราย และวงเงินของหนี้ทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 890,000 ล้านบาทนโยบายนี้ไม่ใช่การตัดหนี้หรือลดหนี้ของผู้ที่เป็นหนี้สินโดยตรง แต่เป็นการพักการชำระหนี้รายเดือนโดยการไม่เก็บดอกเบี้ยเลย 3 ปีและลดยอดชำนะรายเดือนลงโดยเริ่มจาก 50% ในปีแรกจากนั้นเป็น 70% และ 90% ในปีที่ 2 และ 3 ตามลำดับ จากนั้นกลับเข้าสู่กระบวนการปกติทั่วไป ซึ่งการลดภาระรายเดือนของผู้ที่เป็นหนี้สินจนถึงขั้นไม่จ่ายหนี้และกลายเป็น NPL นั้นจะช่วยให้พวกเขามีเงินเหลือต่อเดือนมากขึ้น และกลับมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น รวมไปถึงลดการก่อหนี้สินใหม่เพื่อนำเงินมาหมุนเวียนและลดปัญหาอื่นๆ ที่อาจจะตามมา เช่น อาชญากรรมปัญหาครอบครัว เป็นต้น
นโยบายนี้อาจจะไม่ใช่การกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อโดยตรงในระบบทั้งในตลาดสินค้าทั่วไปและตลาดที่อยู่อาศัย แต่อย่างน้อยการที่คนกลุ่มนี้มีเงินเหลือมากขึ้นสามารถใช้เงินได้มากขึ้นแม้เพียงแค่ 1-3ปี แต่อาจจะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการลดปัญหาเรื่องของหนี้ครัวเรือน ณไตรมาสที่ 2 ปี 67 มีสัดส่วนต่อ GDP สูงถึง 89.6% ซึ่งลดลงและอยู่ในอัตราต่ำที่สุดในรอบ 4 ปีของประเทศไทย นอกจากนี้ ช่วงไตรมาสที่ 1-2ที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนมีการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 4 ปีเช่นกัน และช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 67 มีแนวโน้มที่จะลดลงอีกเช่นกัน ซึ่งถ้านโยบายนี้ของรัฐบาลเริ่มดำเนินการในปี 68 จะเป็นการช่วยให้หนี้ครัวเรือน รวมไปถึงหนี้เสียหรือ NPL ในระบบลดลงด้วยเช่นกัน
การที่นโยบายนี้กำหนดให้เพดานของหนี้สินที่จะเข้าร่วมโครงการนี้อยู่ในช่วงไม่เกิน 5 ล้านบาท สำหรับที่อยู่อาศัยวงเงินไม่เกิน 800,000 บาท สำหรับรถยนต์ และไม่เกิน 5 ล้านบาทสำหรับหนี้กลุ่มเอสเอ็มอี และอีกมาตรการคือไม่เกิน 5,000 บาทสำหรับกลุ่มที่เป็นหนี้สินรายย่อยหรือหนี้จากสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งถือว่ากลุ่มของวงเงินที่กำหนดน่าจะครอบคลุมกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มของที่อยู่อาศัยที่ส่วนใหญ่ของกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยไม่เกิน 5 ล้านบาท มีปัญหาในการขอสินเชื่อธนาคารและมีปัญหาในเรื่องของการเป็นหนี้เสียเยอะที่สุดเช่นกัน
เนื่องจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยและส่วนอื่นๆ ของโลกไม่แน่นอน มีการเลิกจ้าง ลดเงินเดือน และปัญหามากมายจนอาจจะส่งผลให้กลุ่มของผู้ที่มีสินเชื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย รถยนต์มีปัญหาในการผ่อนชำระรายเดือน ซึ่งก่อนหน้านี้กลายเป็น NPL ไปแล้ว และกลายเป็นกลุ่มที่ติดปัญหากลายเป็นมีชื่อในระบบของเครดิตบูโรจนอาจจะไม่สามารถกลับเข้ามาสู่ระบบของสินเชื่อสถาบันการเงินได้อีกอย่างน้อย 3 ปี แม้ว่าจะจัดการเรื่องของหนี้สินได้แล้วก็ตาม
การเข้าช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีปัญหาเรื่องของหนี้สินตั้งแต่ช่วงปีแรกของพวกเขาถือว่าเป็นการเข้าไปในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดเพราะปัญหาของหนี้สินยังไม่ได้ลุกลามเนื่องจากบางรายเมื่อไม่ต้องการเป็นหนี้เสียอาจจะไปก่อหนี้สินอื่นๆ หรือหนี้สินนอกระบบเพื่อนำเงินมาชำระค่าผ่อนบ้าน หรือรถยนต์หรือสินเชื่อส่วนบุคคล รวมไปถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อาจจะหมุนเงินด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้องแต่เพื่อรักษากิจการเอาไว้หรือเพื่อดำเนินกิจการไปให้ถึงกำหนดส่งงาน กำหนดรับเงินหรืออะไรบางอย่าง
เมื่อปัญหาของหนี้สินยังไม่ลุกลามหรือไม่ได้กลายเป็นเรื่องใหญ่จนถึงขั้นฟ้องร้องหรือยึดทรัพย์กันยังพอเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขได้ และส่งผลให้กลุ่มคนที่เป็นหนี้สามารถใช้ชีวิตไปได้จนกว่าจะมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้น จริงอยู่ที่คนกลุ่มนี้จะยังไม่สามารถสร้างหนี้สินหรือกลับมาซื้อที่อยู่อาศัย รถยนต์ได้อีกในช่วงที่อยู่ในโครงการ 3 ปี แต่ยังดีกว่าปล่อยให้เป็นปัญหาลุกลามใหญ่โต และมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งถ้าโครงการนี้ผ่านไปได้ด้วยดี หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยและหนี้เสียในระบบจะลดลง สถาบันการเงินต่างๆ อาจจะลดความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อลงมากกว่าที่ผ่านมา