IAM บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด ปรับโฉมใหม่ บริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) และการจำหน่ายทรัพย์สินรอขาย (NPA) ทั้งกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ รายย่อย และนักลงทุนด้วยประสิทธิภาพการดำเนินงานผ่านระบบงาน DMS (Dept Management System) ในการเจรจาชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ หรือปิดบัญชี พร้อมให้การช่วยเหลือลูกหนี้ของ IAM ให้ได้มากที่สุด สอดคล้องตามนโยบายการแก้หนี้ของภาครัฐ
นายเจนวิทย์ ยกบัตร รักษาการผู้จัดการบริษัท กล่าวว่า นับตั้งแต่ IAM ได้รับโอนหนี้จากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 มูลค่ากว่า 48,000 ล้านบาท โดยเป็นลูกค้าในส่วนลูกค้าที่ไม่ใช่มุสลิม ปัจจุบัน IAM สามารถแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและช่วยเหลือลูกค้าในการไกล่เกลี่ยชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ หรือปิดบัญชี โดยในช่วงที่ผ่านมา IAM เดินสายไกล่เกลี่ยหนี้ทั่วประเทศ ได้เข้าร่วมโครงการแก้หนี้ต่างๆ ของรัฐบาล สามารถช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยรวมถึงลูกค้ารายใหญ่ภาคธุรกิจให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้งกว่า 11,300 ราย เป็นจำนวนเงินรวมกว่า 12,700 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2567)
"ในฐานะที่ผมได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้จัดการบริษัท ซึ่งในตอนนี้ IAM ดำเนินภารกิจก้าวสู่ปีที่ 8 โดยมีภารกิจที่ต้องดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามแผนยุทธศาสตร์ขององค์กรในแต่ละปี ซึ่งการปรับภาพลักษณ์ของ IAM ในปี 2567 ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี และเป็นยุทธศาสตร์ ที่สำคัญเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าของ IAM ได้อย่างทั่วถึง ตอบโจทย์ด้วยภาพลักษณ์การดำเนินงานด้วยความจริงใจ พร้อมช่วยเหลือลูกค้า อีกทั้งยังสร้างความสุขให้คนที่ต้องการบ้านเพื่ออยู่อาศัย หรือมองหาโอกาสในการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการบริหารงานที่ทันสมัย รวดเร็ว และเป็นธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อกลุ่มเป้าหมาย ในการเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่พร้อมให้บริการอย่างจริงใจเพื่อคนไทย” นายเจนวิทย์ ยกบัตร รักษาการผู้จัดการบริษัท กล่าวย้ำถึงการปรับโฉมของ IAM ในครั้งนี้
ส่วนทรัพย์มือสอง ปัจจุบัน IAM มีทรัพย์สินรอการขาย มูลค่ารวมกว่า 1,600 ล้านบาท ได้แก่ บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ อาคารพาณิชย์ ห้องชุด ที่ดินเปล่า โรงงาน และโรงแรม เป็นต้น กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ รายงานจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) คาดการณ์ว่าในปี 2567 ตลาดบ้านมือสองมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 5-10% ตามภาพรวมของตลาดที่อยู่อาศัย เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล และทิศทางดอกเบี้ยที่อาจมีการปรับตัวลดลง 0.25-0.50%