xs
xsm
sm
md
lg

ฟิทช์ปรับลดอันดับเครดิต FNS Holdings เป็น CCC-(tha) เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของบริษัท เอฟเอ็นเอส โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (บริษัท หรือ FNS) เป็น CCC-(tha) จาก B-(tha) และลดอันดับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) เป็น C(tha) จาก B(tha) ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตทั้งหมดของบริษัทถูกนำออกจากเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ (Rating Watch Negative)

การปรับลดอันดับเครดิตสู่ระดับ CCC-(tha) สะท้อนถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการจัดหาเงินกู้ใหม่เพื่อใช้ชำระคืนหนี้เดิม (Refinance) ที่จะถึงกำหนดชำระในระยะเวลาอันใกล้ และความยืดหยุ่นทางการเงินที่อ่อนแอในการชำระคืนหุ้นกู้ของบริษัทลูกที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนกันยายน และเดือนตุลาคม ปี 2567 การขายสินทรัพย์ที่ล่าช้าทำให้ความเสี่ยงในการ Refinance ของบริษัทเพิ่มขึ้น ฟิทช์คาดว่าบริษัทจะต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนอื่นๆ เพื่อชำระคืนหนี้ที่จะครบกำหนดในระยะสั้น ซึ่งบริษัทได้มีการดำเนินการและศึกษาทางเลือกของแหล่งเงิน แต่ยังคงไม่มีข้อสรุป

ทั้งนี้ ความเสี่ยงในการ Refinance ที่เพิ่มสูงขึ้น ยังสะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA Interest Coverage) ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 1 เท่าในช่วง 2 ปีข้างหน้า สถานการณ์ดังกล่าวจะจำกัดความสามารถของบริษัทในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ตามปกติ ฟิทช์มองว่าการที่ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงมาก และมีกระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) ติดลบอย่างต่อเนื่อง จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันกับสภาพคล่องของบริษัท

โดยฟิทช์เชื่อว่า FNS มีสภาพคล่องในระยะสั้นที่อ่อนแอมาก จากภาระในการชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนจำนวน 500 ล้านบาทในเดือนกันยายน 2567 และ 600 ล้านบาทในเดือนตุลาคม 2567 ของบริษัท มั่นคงเคหะการ จํากัด (มหาชน) หรือ MK ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ FNS หนี้ที่ใกล้ครบกำหนดชำระดังกล่าว และกระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) ที่ติดลบจะกดดันสภาพคล่องในระยะสั้นของ FNS

ขณะที่ FNS มีทางเลือกในการ Refinance ที่จำกัดหลังจากที่บริษัทไม่สามารถดำเนินการขายสินทรัพย์ภายในกรอบเวลาที่เคยวางแผนไว้ ฟิทช์เชื่อว่าบริษัทจะต้องการแหล่งเงินทุนอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการเรียกเก็บเงินจากตั๋วสัญญาใช้เงินจากการขายคอนโดมิเนียม การขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมจากธนาคารบนหลักประกันที่มีอยู่เดิมกับธนาคาร และการเสนอขายหุ้นกู้ โดยความสำเร็จในการจัดหาแหล่งเงินทุนใหม่ดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของ FNS และสภาวะตลาดที่เอื้ออำนวย การที่บริษัทไม่สามารถจัดหาแหล่งเงินทุนใหม่ได้ทันเวลาอาจเพิ่มความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้

การขายสินทรัพย์ล่าช้าถึงปี 2568 FNS คาดว่าจะมีการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน (Investment property) ที่ถือโดย MK ให้แก่ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ พรอสเพค โลจิสติกส์และอินดัสเทรียล (Prospect REIT) เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องในปี 2568 โดย FNS คาดว่าจะนำเงินที่ได้จากการขายสินทรัพย์ดังกล่าวไปชำระคืนหุ้นกู้ของ MK ที่จะครบกำหนด จำนวน 523 ล้านบาทในเดือน กุมภาพันธ์ 2568 และจำนวน 1,189 ล้านบาทในเดือนมีนาคม 2568 โดยการจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหน่วยลงทุนของ Prospect REIT ในการเข้าซื้อ รวมถึงต้องมีการเพิ่มทุนใน Prospect REIT ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดหลักทรัพย์ และมีความเสี่ยงในการดำเนินการด้วย ความเสี่ยงในการดำเนินการดังกล่าวได้เคยเกิดขึ้นในอตีตจากแผนการจำหน่ายสินทรัพย์ที่ล่าช้า เนื่องจากสภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย

ส่วนธุรกิจบริการด้านสุขภาพจำกัดความช่วยเหลือของ FNS จากธุรกิจบริการด้านสุขภาพที่คาดว่าจะยังคงมีกระแสเงินสดสุทธิติดลบในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะจำกัดความสามารถของ FNS ในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ MK โดย FNS ได้มีการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัท นีโอ คอร์ปอเรท จำกัด (มหาชน) หรือ Neo และได้รับเงินจำนวน 370 ล้านบาทในเดือนเมษายน 2567 หลังจาก Neo มีการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering, IPO) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ฟิทช์คาดว่า FNS จะมีการจำหน่ายเงินลงทุนใน Neo ส่วนที่เหลือภายในเดือนตุลาคม 2568 โดยเงินที่ได้รับจากการขายจะถูกนำไปชำระหนี้ที่ครบกำหนดของ FNS และสบับสนุนธุรกิจบริการด้านสุขภาพที่ยังมีกระแสเงินสดสุทธิติดลบ

ด้านโครงสร้างเงินทุน FNS มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงเมื่อเทียบกับความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานอย่างมาก การปรับลดอัตราส่วนหนี้สินอย่างมีนัยสำคัญขึ้นอยู่กับการขายสินทรัพย์ โดยหนี้สุทธิอาจปรับตัวลดลงในปี 2568 หากบริษัทสามารถขายสินทรัพย์เข้ากองทุน Prospect REIT ได้ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Net Leverage) น่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงมากในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านี้

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากผลกระทบต่อเนื่องจากบริษัทลูก เพราะฟิทช์เชื่อว่า MK มีความสำคัญต่อกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของ FNS ในการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทคลังสินค้าและอาคารโรงงานให้เช่า บริษัททั้ง 2 มีการจัดหาเงินทุนที่แยกจากกัน แต่ฟิทช์เชื่อว่า ความเสี่ยงจากผลกระทบต่อเนื่องทางการเงิน (Financial Contagion) จากบริษัทลูกอยู่ในระดับสูง เนื่องจากผู้ให้กู้อาจจะพิจารณาความเสี่ยงทางการเงินของ FNS โดยรวมเป็นหนึ่งเดียวกันกับ MK หลังจาก FNS เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน MK นอกจากนี้ FNS มีการพึ่งพาเงินปันผลรับและการขายสินทรัพย์ของ MK ในระดับหนึ่งเพื่อทำให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ระดับของ FNS เองมีความยั่งยืน

ความไม่แน่นอนที่เกี่ยวกับการดำเนินงานต่อเนื่อง ผู้สอบบัญชีของ FNS ได้ให้ข้อสังเกตถึงความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของ FNS ในรายงานของผู้สอบบัญชีสำหรับงบการเงินปี 2566 เนื่องจากบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนรวมสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนรวมประมาณ 1.6 พันล้านบาท ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องบริษัท

ดังนั้น อันดับเครดิตของ FNS อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของบริษัทที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งสะท้อนถึงสภาพคล่องที่อ่อนแอและความเสี่ยงในการ Refinance ที่สูง
สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- FNS โดยผ่าน MK มีแผนที่จะลดการดำเนินงานในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย โดยจะขายโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยที่เหลืออยู่ให้หมดภายในปี 2570
- Free Cash Flow ของงบการเงินรวมจะยังคงติดลบประมาณ 1.1 พันล้านบาทในปี 2567 และติดลบ 0.5 พันล้านบาทในปี 2568
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน 1.0 พันล้านบาทในปี 2567 โดยส่วนใหญ่สำหรับการพัฒนาคลังสินค้าให้เช่าซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างเป็นหลัก ซึ่งใช้วงเงินกู้ที่สัญญาไว้ (Committed) เป็นแหล่งเงินทุน

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก
- บริษัทสามารถชำระหนี้หุ้นกู้ได้ตามกำหนด
- บริษัทสามารถขายสินทรัพย์ได้ ซึ่งทำให้สภาพคล่องของบริษัทดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจัยลบ
- บริษัทไม่สามารถชำระหนี้หุ้นกู้ที่ใกล้ครบกำหนดชำระได้
- มีความเป็นไปได้ที่บริษัทจะผิดนัดชำระหนี้ หรืออยู่ในสถานะที่ใกล้เคียง

สภาพคล่อง
สภาพคล่องอ่อนแอ FNS มีเงินสดและวงเงินกู้ที่ไม่สามารถเพิกถอนได้ (Committed) ที่ยังไม่ได้เบิก ไม่เพียงพอสำหรับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้า จาก ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 จำนวนประมาณ 2.8 พันล้านบาท โดยหนี้ที่จะครบกำหนดชำระทั้งหมดเป็นของ MK การชำระคืนหนี้ดังกล่าวขึ้นอยู่กับการขายทรัพย์สิน การเรียกชำระเงินจากตั๋วสัญญาใช้เงิน การขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมจากธนาคาร และการเสนอขายหุ้นกู้ ซึ่งโอกาสในการได้รับแหล่งเงินทุนดังกล่าวนี้จะขึ้นอยู่กับสภาวะตลาด และยังคงมีความเสี่ยงในการดำเนินการ

อนึ่ง FNS เป็นบริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทอื่นเพื่อการลงทุน (Investment Holding Company) โดยเงินลงทุนที่สูงที่สุดของ FNS ได้แก่เงินลงทุนใน MK ในสัดส่วนร้อยละ 49.5 เงินลงทุนอื่นๆ ได้แก่เงินลงทุนในธุรกิจสินค้าอุปโภคในครัวเรือนและสินค้าเพื่อดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ธุรกิจเครือข่ายร้านเบเกอรี่ และธุรกิจขนาดเล็กอื่นๆ ที่เป็นช่วงเริ่มต้นดำเนินธุรกิจ MK เป็นบริษัทชั้นนำในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทคลังสินค้าและอาคารโรงงานให้เช่า ในเขตปลอดภาษีอากร (Free Trade Zone) ในประเทศไทย และมีแนวโน้มที่จะเป็นธุรกิจที่ FNS จะขยายในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น