ไนซ์ คอล มุ่งพัฒนาโซลูชันสุดแข็งแกร่งเพื่อตอบโจทย์ตลาด E-Commerce ให้เติบโต พร้อมต่อยอดธุรกิจ Telesales ด้วยการเปิดตัว 2 บริการใหม่ Upselling Service และ Dedicated Telesale Outsourcing Service ซึ่งเป็น Business Model ใหม่ที่จะทำให้ NCP เติบโตไปกับโลกดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว โดยให้ความสำคัญกับมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล PDPA พร้อมสร้างมาตรฐานใหม่ด้านกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ด้วยการสร้างงานให้ผู้ต้องขังในเรือนจำอย่างเป็นระบบ ทั้งเดินหน้าระดมทุนในตลาด mai เพื่อขยายธุรกิจของบริษัทให้มีความแข็งแกร่ง
นายศรัณย์ เวชสุภาพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไนซ์ คอล จำกัด (มหาชน) หรือ NCP เปิดเผยว่า NCP คือผู้ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้า และให้บริการทำการตลาดแบบตรง (Direct Marketing) ผ่านช่องทางการขายสินค้าทางโทรศัพท์ (Telesales) ที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ความสวยความงาม และสินค้าเวชสำอางแบบครบวงจร ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง (House Brand) และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์คู่ค้าพันธมิตรผ่านช่องทางการขายของบริษัทมามากกว่า 10 ปี
ปัจจุบัน NCP มุ่งเน้นบทบาทการเป็น Telesales ที่สามารถตอบโจทย์ในทุกธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบซื้อขายสินค้าและบริการผ่าน E-Commerce มากขึ้น โดยมีทีมมืออาชีพในการช่วยเหลือพาร์ตเนอร์กระตุ้นยอดขายเพื่อช่วยให้มีกำไรและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีฐานข้อมูลลูกค้าเป้าหมายมากกว่า 5 ล้านรายชื่อ และมีคู่ค้าพันธมิตรที่ขายสินค้าผ่านช่องทางการขายของบริษัทมากกว่า 67 ราย มีผลิตภัณฑ์สินค้าที่จัดจำหน่ายมากกว่า 90 แบรนด์ 446 รายการ โดยใช้โซลูชันการบริหารจัดการระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (Customer Relationship Management) หรือ CRM จัดเก็บข้อมูลลูกค้าสำหรับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจ SME ธุรกิจ B2B และธุรกิจ B2C อย่างเป็นระบบ จึงสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการขายสินค้าทางโทรศัพท์ ทั้งแบบเชิงรุก (Outbound Telemarketing) และเชิงรับ (Inbound Telemarketing) ได้อย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด NCP ได้เปิดตัว 2 บริการใหม่ คือ Upselling Service บริการเพิ่มยอดขายสินค้าจากการขายครั้งแรก เพื่อติดต่อลูกค้าและนำเสนอการขายสินค้าเพิ่มเติม ติดตามการขาย และผลักดันยอดการสั่งซื้อ ผ่านการนำเสนอโปรโมชันต่างๆ ที่ได้วางกลยุทธ์ร่วมกับคู่ค้าพันธมิตร และ Dedicated Telesale Outsourcing Service บริการบริหารพนักงานขาย ซึ่งเป็นการจัดหาทีมขายผ่านโทรศัพท์ (Telesales) เฉพาะเจาะจงให้เจ้าของสินค้ารายต่างๆ รวมถึงการให้บริการแบบครบวงจร ครอบคลุมไปถึงการจัดการระบบคลังสินค้า การจัดส่ง การเก็บเงิน การวางแผนแนวทางนโยบายการขายสินค้าผ่านการวิเคราะห์การสั่งในอดีตของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการซื้อซ้ำร่วมกับการนำเสนอสินค้าใหม่ๆ ที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอาจมีความสนใจ ซึ่งทั้ง 2 บริการนี้ถูกนำมาใช้เป็น Business Model ใหม่ และเป็นการต่อยอดธุรกิจ Telesales ที่จะทำให้ NCP เติบโตไปกับโลกดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว
“ธุรกิจ Telesales ของบริษัทเปิดมา 11 ปีมีผลขาดทุนเพียง 2 ปี คือปีแรกที่เริ่มดำเนินการ และปี 60 ที่บริษัทมีการปรับโครงสร้างองค์กร ส่วนในปีต่อๆ มาจะพบว่าธุรกิจ Telesales สามารถเติบโตและทำกำไรได้ถึงแม้จะมีวิกฤตเศรษฐกิจก็ตาม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจนี้มีความเสถียร ไม่อิงกับกระแสโลกหรือเศรษฐกิจมหภาคเลย แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารภายใน ทีมบริหารที่มีประสบการณ์และแข็งแกร่งมากกว่า นั่นจึงส่งผลให้ผลการดำเนินงานของ NCP ในช่วงปี 2564-2566 บริษัทฯ มีรายได้รวม 191.23 ล้านบาท 181.03 ล้านบาท และ 173.11 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิเท่ากับ 25.56 ล้านบาท 20.22 ล้านบาท และ 12.53 ล้านบาท ตามลำดับ โดยคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิได้เท่ากับร้อยละ 13.25 ร้อยละ 11.11 และร้อยละ 7.24 ตามลำดับ”
นอกจากเป้าหมายสร้างยอดขายและกำไรให้องค์กรแล้ว NCP ยังให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) อย่างเข้มงวดตามมาตรฐานสากล โดยพนักงานขายทางโทรศัพท์จะถูกฝึกอบรมขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎหมาย พร้อมทั้งมีทีมตรวจสอบการทำงานอย่างครอบคลุม เพื่อให้มั่นใจว่าทุกการสนทนาถูกต้องตามกฎหมายและตอบสนองความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้า รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของกลุ่มลูกค้า การออกแบบแผนธุรกิจให้บริการขายสินค้าทางโทรศัพท์ และการบริการคลังสินค้าพร้อมจัดส่ง (Fulfillment) ด้วยการให้บริการรับฝาก เก็บ แพก ส่ง รวมไว้ในที่เดียวอย่างครบวงจร
อีกทั้งยังมุ่งเน้นสร้างมาตรฐานใหม่ให้การดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านโครงการ “คืนคนดีสู่สังคมกับกรมราชทัณฑ์” ด้วยการฝึกอาชีพและส่งเสริมทักษะการทำงานประเภทการขายทางโทรศัพท์ (Telesales) ให้ผู้ต้องขังหญิงที่มีความประพฤติดี 3 แห่ง ได้แก่ เรือนจำกลางสมุทรปราการ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ และทัณฑสถานหญิงชลบุรี โดย NCP มีค่าตอบแทนในการทำงานของผู้ต้องขังอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม เพื่อให้ผู้ต้องขังยังสามารถเป็นผู้ดูแลจุนเจือค่าใช้จ่ายให้ครอบครัว รวมทั้งสะสมเป็นทุนเอาไว้หลังพ้นโทษอีกด้วย เพื่อจะไม่หวนกลับไปทำผิดซ้ำอีก ซึ่งปัจจุบันมีผู้ต้องขังทำหน้าที่เป็น Telesales ให้บริการลูกค้ากว่า 170 คน และอนาคตเตรียมขยายโอกาสไปยังทัณฑสถานอีก 5 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเป็นพื้นที่สร้างโอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังได้รับอิสรภาพ
นายศรัณย์ กล่าวต่อว่า ในปีนี้ NCP พร้อมแล้วที่จะสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมุ่งระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งแรกต่อประชาชน (IPO) จำนวน 50 ล้านหุ้น สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุน NCP โดยจะนำไปก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่มูลค่า 30 ล้านบาท ภายในไตรมาส 1 ปี 2568 ก่อสร้างสถานที่ทำงานในเรือนจำ 10 ล้านบาท ภายในปี 2569 พัฒนาระบบเทคโนโลยีซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจใหม่และพัฒนาระบบเครือข่ายเพื่อรองรับการเพิ่มจำนวนพนักงาน 5 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2568 และใช้สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ 55 ล้านบาท ซึ่งการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ของ NCP นับเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจของบริษัทให้มีความแข็งแกร่ง เพิ่มโอกาสในการเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะการลงทุนโครงการในอนาคต รวมถึงมีเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ รองรับการขยายธุรกิจ Telesales ให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว