xs
xsm
sm
md
lg

สสส. สานพลัง ก.มหาดไทย-ก.สาธารณสุข และภาคี ขับเคลื่อน “ชุมชนล้อมรักษ์” ป้องกันยาเสพติด พื้นที่ภาคใต้ ดึงคนรุ่นใหม่ร่วมสร้างพื้นที่ “ปลอดภัย-ปลอดยาเสพติด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันที่ 10 มิ.ย. 2567 ที่ห้องประชุมคริสตัล โรงแรมคริสตัล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา  สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที “สานพลังชุมชนล้อมรักษ์” พื้นที่เป็นฐานประชาชนเป็นศูนย์กลาง ร่วมป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดพื้นที่ภาคใต้ เพื่อร่วมขับเคลื่อนกลไก พชอ. และถอดบทเรียนความสำเร็จเพื่อขยายผลต่อเนื่องไปทั่วประเทศ
 


นายพิทยา จินาวัฒน์ คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า สถานการณ์ยาเสพติดในเด็กและเยาวชนพื้นที่ภาคใต้ ทั้งในระดับหมู่บ้าน ชนบท ชุมชนเมือง และพื้นที่ชายแดน พบเด็กและเยาวชนมีความสุ่มเสี่ยงต่อการเข้าถึงสารเสพติดหลากชนิดมากขึ้น สังคมไทยควรจะหันมาป้องกันปัญหายาเสพติดในเชิงรุกโดยใช้วิธีการที่สร้างสรรค์เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กเยาวชน จึงได้ดึงกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ภาคใต้เข้าร่วมเพื่อสร้างเครือข่ายที่ครอบคลุมทุกวัย สสส. จึงหนุนเสริมกระบวนการทำงาน “ชุมชนล้อมรักษ์” (CBTx) การมีส่วนร่วมของชุมชน มุ่งเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด รวมถึงการสนับสนุนผู้ที่ต้องการการดูแล โดยชุมชนมีบทบาทในการตัดสินใจและช่วยเหลือผู้ที่ต้องการการเข้าถึงที่ง่ายและสะดวกต่อการรักษาและฟื้นฟู

“กลุ่มต้นกล้าพันธุ์ใหม่ชายแดนใต้ อ.ยะหา จ.ยะลา เกิดการรวมกลุ่มกันของเยาวชนในพื้นที่ มีเป้าหมายแก้ไขปัญหาพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การดูแลให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง สสส. มั่นใจว่าการจับมือกันกับผู้ที่ทำงานในท้องถิ่นของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย โดยใช้ พชอ. จะช่วยให้คนเหล่านั้นไม่กลับคืนมาเป็นผู้ติดยาเสพติดอีกต่อไป หรือสามารถทำให้ผู้ใช้/ผู้เสพสารเสพติดมีความปลอดภัยในสังคมร่วมกับชุมชนได้ในระหว่างที่เข้ารับการบำบัด ซึ่งหลายพื้นที่สถานการณ์ดีขึ้น” นายพิทยา กล่าว


นายวรินทร ทองขาว นายอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พลังการมีส่วนร่วมสร้างชุมชนเข้มแข็งป้องกันยาเสพติด โดยกลไก พชอ. ที่สนับสนุนการบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งทหาร ตำรวจ นายอำเภอ นายก อบต. และสาธารณสุขอำเภอ เกิดการมีส่วนร่วมอย่างจริงใจในการดูแลและฟื้นฟูผู้บำบัด ส่งผลให้การฟื้นฟูมีประสิทธิภาพและยั่งยืน และยังสามารถดำเนินการสร้างเครือข่ายชุมชนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด นำไปสู่การติดตามและให้การช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัด และป้องกันไม่ให้กลับเป็นซ้ำ คืนคนดีสู่สังคม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ปัญหายาเสพติดต้องช่วยกันทุกคน ประชาคมหมู่บ้าน จะช่วยนำไปสู่การคัดกรอง ค้นหา คนเสพ กลุ่มเสี่ยง และเชิญชวนคนเหล่านั้นเข้าสู่กิจกรรมบำบัด ถือเป็นโครงการที่ดีโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเยาวชนที่เข้ารับการบำบัด ทำให้เด็กๆ ในหมู่บ้านได้กล้าออกมาอยู่ในสังคมปกติมากขึ้น


นางลัดดาวัลย์ ธีรภาพชัยศรี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ปี 2566 มีผลการวิจัยและการสำรวจเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้ใช้ ผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดในไทย มีประมาณ 1.9 ล้านคน โดยคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยที่ใช้ยาและสารเสพติดเพื่อรับการบำบัดรักษา 3 กลุ่ม ได้แก่ คือ 1.ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง อาการรุนแรง หรือผู้ติดยาเสพติดมีประมาณ 2% หรือ 38,000 คน 2.ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง หรือผู้เสพมีประมาณ 24% หรือ4.56 แสนคน และ 3.ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว หรือผู้ใช้ยาเสพติด มีประมาณ 74% หรือ 1.4 ล้านคน จะบำบัดยาโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน มีประมาณ 10,000 แห่ง และเมื่อทุกกลุ่มอาการดีขึ้น จะมีศูนย์ฟื้นฟูสถานภาพทางสังคม กระทรวงมหาดไทย 3,258 แห่ง ดูแลเพื่อคืนคนดีสู่สังคม ดังนั้นการบำบัดรักษาจึงต้องอาศัยภาคีเครือข่ายในการดูแลร่วมกัน ทั้งในเรื่องการรับประทานยา การรักษาต่อเนื่อง เฝ้าระวังติดตามการใช้สารเสพติดซ้ำ เฝ้าระวังอาการความรุนแรง

“หลายๆ พื้นที่ดำเนินการขับเคลื่อนโดยกลไก พชอ. จนสามารถทำให้มีผู้ติดยาเสพติดในระดับสีแดง ลดสู่ระดับสีเขียว หรือเฝ้าระวังไม่ให้ขึ้นสู่ระกับสีแดงได้เป็นอย่างดี เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมในความสามัคคีรวมพลังกัน และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไข้ยาเสพติดรู้สึกอยากเข้าสู่กระบวนการบำบัดที่ไม่รู้สึกว่าถูกตีตราหรือเป็นตราบาป คนเหล่านี้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่ง พชอ. ถือว่ามีส่วนสำคัญในการคัดกรองผู้ใช้เสพติดได้อย่างละเอียดในแต่ละพื้นที่ โดยมีสัญญาใจในชุมชนที่เราดูแลร่วมกันที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าการ มี พชอ. ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาจะปลอดภัยมากพอ” นางลัดดาวัลย์ กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น