ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย เปิดตัวสินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน (Sustainable Supply Chain Finance) สนับสนุนบริษัทคู่ค้า หรือซัปพลายเออร์ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของลูกค้าองค์กรของเอชเอสบีซี ด้วยการจัดสรรแหล่งเงินทุนทางเลือกและมอบการเข้าถึงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า เพื่อเป็นแรงจูงใจให้บริษัทคู่ค้าของภาคธุรกิจซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) นำเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กรที่พวกเขาทำงานร่วมด้วยในห่วงโซ่อุปทานไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ
นายจอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย เปิดเผยว่า เอชเอสบีซีมีความมุ่งมั่นในการรังสรรค์โซลูชันทางการเงินเพื่อความยั่งยืนในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน โดยสินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราในการขับเคลื่อนด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนและสนับสนุนให้ลูกค้าของเราบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนไปพร้อมกับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในการค้าระหว่างประเทศและห่วงโซ่อุปทาน
นายกฤษฎา แพทย์เจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า เป้าหมายของเรา คือ การเป็นพันธมิตรด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนที่ลูกค้าให้ความสำคัญกับโซลูชันด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนและการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ให้ความไว้วางใจ โดยปัจจุบันธนาคารเอชเอสบีซีมีโซลูชันทางการเงินด้าน ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) และความยั่งยืนในหลากหลายรูปแบบ เพื่อช่วยให้ลูกค้าเชื่อมโยงเป้าหมายด้านความยั่งยืนเข้ากับเป้าหมายทางการเงินในการทำธุรกิจได้อย่างลงตัว ตลอดจนยังมีโซลูชันและทีมผู้เชี่ยวชาญด้าน ESG โดยเฉพาะ ที่พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแผนการเปลี่ยนผ่านและลดการปล่อยคาร์บอนในแต่ละอุตสาหกรรม รวมถึงสามารถแนะนำผลิตภัณฑ์และโซลูชันทางการเงินที่เหมาะสมและครอบคลุมไปถึงห่วงโซ่อุปทานของลูกค้าด้วย
"เราเลือกทำผลิตภัณฑ์นี้เพราะอย่างที่รู้กันว่า ในประเทศไทยประมาณ 89% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนขององค์กรต่างๆ มาจากห่วงโซ่อุปทานหรือซัปพลายเชน และกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ยังเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้น้อยโดยเฉพาะในส่วนของการเปลี่ยนถ่ายสู่ความยั่งยืน โดยซัปพลายเออร์ที่มาเข้าโครงการจะได้รับการคัดเลือกมาจากบริษัทขนาดใหญที่จะพิจารณาภารกิจด้าน ESG ซึ่งจะมีการจัดชั้นที่ต่างกัน รวมถึงต้นทุนเงินทุนที่จะได้รับจะต่างกันในแต่ละ Tier โดยฟีเจอร์หลักคือการให้สินเชื่อ เมื่อบริษัททำ KPI ด้านความยั่งยืนได้ตามพันธสัญญา ในต้นทุนที่ต่ำกว่าทำให้คุณสามารถแข่งขันได้เพิ่มขึ้น"
นายกฤษดา กล่าวอีกว่า ผลิตภัณฑ์นี้แม้ว่าเราเพิ่งจะเปิดตัวในไทยมาประมาณ 1 เดือน แต่เราได้ใช้กับประเทศอื่นๆ มาแล้ว ซึ่งมีลูกค้าให้ความสนใจร่วมโครงการและหลากหลายทั้งในธุรกิจค้าปลีก หรือ Foots were ซึ่งคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จเช่นกัน เพราะฐานลูกค้ารายใหญ่ถือว่าเป็นลูกค้ากลุ่มหลักของเราและเป็นกลุ่มที่เราให้ความสำคัญ รวมทั้งครอบคลุมทั้งในส่วนของลูกค้าที่เข้ามาลงทุนในไทย และลูกค้าไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศด้วย จึงมีความมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า ขณะที่แนวทางการปล่อยสินเชื่อของธนาคารนั้นมีเกณฑ์การพิจารณาที่เข้มข้นอยู่แล้ว นอกจากนี้ กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักของธนาคารยังถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจหรือปัจจัยแวดล้อมน้อยอีกด้วย
นางทุย โง้ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริการการค้าระหว่างประเทศ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า ฝ่ายบริการการค้าระหว่างประเทศ (HSBC Trade Solutions: GTS) มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ เติบโตในระดับสากล สร้างเครือข่ายใหม่ ขยายการค้าไปประเทศต่างๆ และมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับภูมิทัศน์ทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ในปีที่ผ่านมา ธนาคารได้อำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศให้ลูกค้าคิดเป็นมูลค่าถึง 8.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 30.7 ล้านล้านบาท โดยลูกค้ายังได้รับประโยชน์จากเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจของธนาคารกว่า 1.3 ล้านรายทั่วโลก นอกจากนั้น การที่ธนาคารมีความสัมพันธ์อันยาวนานทั้งกับบริษัทคู่ค้าและผู้ซื้อ ยังสามารถช่วยเชื่อมโยงลูกค้าเข้ากับพันธมิตรที่เหมาะสม ช่วยบริหารจัดการความเสี่ยง และสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอีกด้วย
ทั้งนี้ ธนาคารเอชเอสบีซีคาดว่าสินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนนี้อาจสามารถมีส่วนช่วยให้บริษัทต่างๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภทที่ 3 จากห่วงโซ่อุปทานได้ ตลอดจนยังอาจผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดห่วงโซ่อุปทานด้วย นอกจากนั้น ยังพบว่าความท้าทายสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้ห่วงโซ่อุปทาน คือ การขาดเงินทุนและการขาดความรู้ความเข้าใจ ดังนั้น สินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนจึงอาจมีส่วนช่วยคู่ค้าของลูกค้าองค์กรของธนาคารให้เข้าถึงเงินทุนหมุนเวียน ที่มักอยู่ในรูปแบบเงื่อนไขการชำระเงินล่วงหน้าหรือการลดอัตราดอกเบี้ยได้ เพื่อสนับสนุนให้คู่ค้าเหล่านี้สามารถนำเงินทุนไปใช้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับใช้กับโครงการด้านความยั่งยืนอื่นๆ ได้ในวงกว้างมากขึ้น