ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน มิ.ย.67 อยู่ที่ 58.9 ลดลงจาก 60.5 ในเดือน พ.ค.67 โดยปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่เดือน ต.ค.66 เป็นต้นมา
เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมากังวลต่อการเมืองไทยที่เริ่มขาดเสถียรภาพ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ 40 ส.ว. เกี่ยวกับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี และกังวลเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้า เพราะยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน และผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อบานปลาย อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 52.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 56.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 67.9
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน มิ.ย.67 ลดลงต่อเนื่องนั้น มาจาก 3 สาเหตุหลัก คือ
1.ค่าครองชีพที่สูงขึ้น จากสถานการณ์ราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ประปา ในขณะที่รายได้เพิ่มขึ้นไม่ทันกับรายจ่าย
2.กำลังซื้อหดตัว จากผลของรายจ่ายในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้น และภาวะหนี้ครัวเรือนในระดับสูง
3.การเมืองไม่นิ่ง โดยมีความกังวลกับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีสถานภาพของนายกรัฐมนตรี เพราะจะมีผลต่อการดำเนินโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล หากมีการปรับเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต หรือนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจ และระมัดระวังการใช้จ่าย
"ทิศทางความเชื่อมั่นผู้บริโภคในตอนนี้จึงเป็นขาลง และเริ่มลงไปถึงการจับจ่ายใช้สอยสินค้าคงทน เช่น บ้าน รถยนต์ รวมถึงการท่องเที่ยว ซึ่งจะเห็นได้จากดัชนีที่ร่วงลึก และร่วงแรง" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 2 ยังไม่ฟื้นตัว และยังซึมตัวต่อเนื่อง ดังนั้นต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 ที่รัฐบาลจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า จะได้เห็นความชัดเจนของการเริ่มเปิดให้ประชาชนมาลงทะเบียนรับสิทธิได้หรือไม่ รวมทั้งการเริ่มเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ นอกจากนี้ ยังต้องจับตาสถานการณ์การเมืองในประเทศด้วย
อย่างไรก็ดี ยังไม่เห็นสัญญาณความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่จะฟื้นตัวในช่วง 1-2 เดือนนี้
"มองว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3 ยังไม่ฟื้นตัวอย่างโดดเด่น ต้องมีมาตรการกระตุ้นที่ชัดเจน ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินจากทั้งมาตรการของภาครัฐ เรื่องการท่องเที่ยว การเบิกจ่ายงบลงทุน อาจจะได้เห็นการฟื้นตัวอ่อนๆ ในไตรมาส 3 ที่ราว 2-2.5% และน่าจะเริ่มฟื้นตัวได้เข้มแข็งตั้งแต่เดือน ก.ย.เป็นต้นไป ถ้าสถานการณ์การเมืองไม่พลิกผัน" นายธนวรรธน์ กล่าว
ขณะที่เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 มีโอกาสขยายตัวได้ 3-4% ส่งผลให้ช่วงครึ่งหลังปีนี้ เศรษฐกิจขยายตัวได้ราว 3% ซึ่งเมื่อรวมทั้งปีแล้วจะขยายตัวได้ 2.5% ซึ่งในกรณีนี้ยังไม่รวมเม็ดเงินจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่หากรวมเม็ดเงินจากดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 2.8-3%
ส่วนกรณีที่รัฐบาลประเมินว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต อาจใช้วงเงินไม่ถึง 5 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะใช้จริงประมาณ 4.5 แสนล้านบาท เพราะการดำเนินโครงการของรัฐแต่ละโครงการที่ผ่านมา จะมีประชาชนเข้าร่วมใช้สิทธิไม่ถึง 90% นั้น นายธนวรรธน์ มองว่า เม็ดเงินที่ลดลงไป 5 หมื่นล้านบาทนี้ อาจมีผลให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ย่อลงเล็กน้อยแต่ไม่มากนัก เพียงแค่ 0.05-0.10% เท่านั้น ซึ่งไม่ได้เป็นประเด็นที่เป็นอุปสรรคปัญหาแต่อย่างใด ในขณะที่เม็ดเงินจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ลดลงนี้ อาจจะมีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 68 เพียง 0.2-0.3% เท่านั้น
"การลดวงเงิน หรือการที่จะมีประชาชนมาใช้สิทธิน้อยลง ไม่ได้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปีนี้มากนัก รัฐบาลอาจนำเงิน 5 หมื่นล้านบาทนั้น ไปใช้กับการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านอื่นทดแทนได้" นายธนวรรธน์ กล่าว
ส่วนแนวโน้มราคาค่าไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะปรับเพิ่มขึ้นนั้น คาดว่าใน 2 ส่วนนี้ จะทำให้ต้นทุนของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นอีกราว 5-10% ซึ่งผู้ประกอบการอาจยังไม่สามารถผลักภาระนี้ไปสู่การปรับขึ้นราคาสินค้าได้เต็มที่