xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าทั่วประเทศเตรียมแถลงค้านขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ชี้เป็นดาบสองคม ทำรายย่อยอยู่ไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตนคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศอย่างแน่นอน เนื่องจากมองว่าเป็นดาบสองคมของภาคธุรกิจ บางธุรกิจสามารถปรับขึ้นได้ แต่บางธุรกิจอาจได้รับผลกระทบในเชิงผลเสียมากกว่าผลดี และจะเกิดปัญหากับหลายจังหวัด เพราะยังไม่มีความพร้อม เช่น แพร่ น่าน แทบไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรมที่พักมีน้อย หากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท เชื่อว่าจะเกิดปัญหา

ทั้งนี้ ตนมองว่านโยบายการปรับขึ้นค่าแรง ควรขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเหมาะสม และมีแรงงานคนไทยในสัดส่วนที่มากกว่าแรงงานต่างชาติ ไม่เช่นนั้นเงินจะไหลออกนอกประเทศ ขณะที่ผู้ประกอบการคนไทยแบกรับภาระต้นทุนสูงขึ้น เป็นเรื่องใหญ่ที่จะขอหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ ทางหอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น จะร่วมแถลงข่าวคัดค้านนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ โดยมีนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เป็นผู้แถลง

ขณะที่นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า สมาพันธ์ฯ เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง แต่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง 400 บาททั้งประเทศ อยากตั้งข้อสังเกตกับการขึ้นค่าแรง ที่ผ่านมามีผลสำรวจหรืองานวิจัยหรือไม่ว่า แรงงานขั้นต่ำปัจจุบันมีจำนวนเท่าไร และอยู่ที่ไหนบ้าง จากข้อมูลในมาตรา 33 อยู่ที่ 11-12 ล้านคน และมาตรา 39 และมาตรา 40 อยู่ที่ 24.5 ล้านคน และแรงงานต่างด้าวจำนวนหลายล้านคน จึงอยากจะชี้ประเด็นให้เห็นว่า การขึ้นค่าแรง 400 บาท ใครได้ประโยชน์มากที่สุด โดยส่วนแรกกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรที่จะรับฟังความคิดเห็นว่าจริงๆ แล้ว การขึ้นค่าแรง มีกลุ่มเปราะบางที่ได้รับค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม หรือที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมีสัดส่วนเท่าไร ดังนั้นต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ที่เป็นคนไทยและได้ค่าแรงต่ำกว่าในปัจจุบันอยู่ตรงไหนบ้าง

ส่วนที่ 2 คือ ทำอย่างไรให้พี่น้องแรงงานเหล่านี้เข้ามาในระบบประกันสังคม มีสวัสดิการ ได้รับการดูแล ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรม เเละได้รับการพัฒนา เพื่อเพิ่มทักษะขีดความสามารถและเพิ่มมูลค่าให้กับตัวเอง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ เพราะไม่เช่นนั้น การขึ้นค่าแรงจะเป็นวาทกรรม เป็นพิธีกรรม บอกสังคมไทยการปรับขึ้นค่าแรงเพื่อที่จะช่วยยกระดับ ไม่ลืมใครไว้ข้างหลัง แต่สามารถบอกได้หรือไม่มีจำนวนเท่าไร พื้นที่หรือจังหวัดไหน หากช่วยกันทำตรงนี้ การขึ้นค่าแรงจะมีประสิทธิมากขึ้น

นอกจากนี้ กระบวนการที่สำคัญของการขึ้นค่าแรง ต้องทำเป็นยุทธศาสตร์ ว่าขึ้นค่าแรง จะต้องพัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะทุกวันนี้ธุรกิจเอสเอ็มอียังไม่ฟื้น และเราเห็นต่างกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลายประเด็นในเรื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จะหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในเรื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต พลังงานน้ำมัน ราคาไฟฟ้า ล้วนมีปัจจัยสำคัญ ส่งผลต่อการประกอบอาชีพต่อค่าครองชีพของพี่น้องแรงงานและผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของดอกเบี้ย ที่ภาคแรงงานและภาคเอสเอ็มอีเผชิญสภาวะรุนแรง  ภาวะหนี้ครัวเรือน รายได้ไม่พอรายจ่าย

ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการทำได้​ คือการควบคุมต้นทุน อาจจะให้ค่าล่วงเวลาน้อยลง ลดจำนวนการผลิตลง หรือใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อที่จะลดจำนวนคน ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย หรือ เอสเอ็มอีรายย่อยในประเทศไทยและมีสัดส่วนสูงสุดถึง 85% ของผู้ประกอบการ อยู่ 2.7 ล้านราย จ้างงานอยู่ 5.5 ล้านคน หากค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้น เอสเอ็มอีรายย่อยที่หาเช้ากินค่ำ จะสามารถไปต่อได้หรือไม่