นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ธนาคารยังคงประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 67 ไว้ที่ 2.3% และคาดว่าปี 68 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.2% โดยหากรวมโครงการ Digital Wallet 10,000 บาท จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสขยายตัวได้ 2.5%
ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะมาจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 35.6 ล้านคนในปีนี้ และเพิ่มขึ้นเป็น 39.1 ล้านคน ในปี 68 โดยการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวนี้จะช่วยกระตุ้นภาคบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร การขนส่ง และค้าปลีก เป็นต้น
ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังนี้ยังได้รับปัจจัยหนุนจากการบริโภคภาคเอกชน จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายของครัวเรือน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาล เช่น การอุดหนุนค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค และการแจกเงินสดแก่กลุ่มเป้าหมาย และแผนโครงการ Digital Wallet หากทำได้จริงในปีนี้ จะมีผลบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอีก 0.2%
อย่างไรก็ตาม การบริโภคโดยรวมน่าจะยังไม่สามารถเติบโตได้แรง เป็นผลจากการลดลงของการซื้อรถยนต์ และสินค้าคงทนอื่นๆ ขณะที่สินค้ากลุ่มบริการยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง
ด้านการลงทุน คาดว่าการลงทุนเอกชนจะเติบโตได้ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคการผลิตเพื่อการส่งออก ส่วนการลงทุนภาครัฐน่าจะกลับมาขยายตัวได้ดี หลังมีงบประมาณเบิกจ่ายออกมาเต็มที่ โดยเฉพาะการลงทุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะฟื้นตัวได้ดี โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการค้าโลก และความต้องการสินค้าของไทย ทำให้คาดว่าการส่งออกในปี 67 จะขยายตัวได้ 1.6% และปี 68 ขยายตัว 2.7%
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งน่าจะมีผลให้ไทยได้ประโยชน์จากการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคการผลิตและการจ้างงาน โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และอาหารแปรรูป
* เศรษฐกิจไทยเสี่ยงป่วยจาก G-E-R-M
ขณะที่มุมมองของ CIMBT ต่อเศรษฐกิจไทย เสี่ยงป่วยจาก G-E-R-M โดยเศรษฐกิจอาจเผชิญความเสี่ยง ประกอบด้วย
G-Geo-politics จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน ต้นทุนขนส่งสินค้าทางเรือจะสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่เป็นต้นทุนสำคัญในภาคการผลิตและขนส่ง ขณะที่ความขัดแย้งในยูเครนที่อาจยืดเยื้อและรุนแรง จนกระทบอุปทานน้ำมันของรัสเซีย เป็นต้น
E-Elections การเลือกตั้งในหลายประเทศที่อาจเปลี่ยนขั้วการเมือง โดยเฉพาะที่น่าติดตาม คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ วันที่ 5 พ.ย.นี้ จะมีความสำคัญต่อทิศทางการค้า การลงทุน และกระแสโลกาภิวัฒน์ตีกลับ ที่จะกระทบกับเศรษฐกิจไทยได้
R-Interest Rate อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับสูงเป็นเวลานาน แม้คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค. จากระดับ 5.5% สู่ 5% ในปลายปีนี้ จากตัวเลขการจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มแผ่วลง แต่หากเฟดยังกังวลต่อทิศทางเงินเฟ้อที่ลดลงช้า และห่วงว่าหากปรับลดดอกเบี้ยเร็วเกินไป จะทำให้เงินเฟ้อกลับมาพุ่งขึ้นต่อได้ ทำให้เฟดอาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปี ซึ่งจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น
M-Manufacturing ภาคการผลิตที่อาจหดตัวต่อเนื่อง ความอ่อนแอของภาคการผลิตมีส่วนสำคัญทำให้เศรษฐกิจไทยอ่อนแอในช่วงที่ผ่านมา ทั้งขาดสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก ขาดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หรือเติบโตรั้งท้ายในภูมิภาค หรือไทยนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันได้
* 7 เหตุผลที่ กนง. อาจลดดอกเบี้ย 0.25% ปลายปีนี้
นายอมรเทพ ยังให้ความเห็นต่อนนโยบายการเงินของไทย โดยมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในปี 67 ลง 0.25% มาเหลือ 2.25% ในช่วงเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 68 และให้สอดคล้องกับระดับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย และเป็นไปทิศทางเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่จะปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ ขณะที่ ณ สิ้นปี 68 คาดว่าอัตราดอกเบี้ยของไทย มีโอกาสจะลงไปอยู่ที่ 1.5%
สำหรับสาเหตุที่คาดว่า กนง.จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปีนี้ ประกอบด้วย 7 เหตุผล
1.อัตราการเติบโตของศักยภาพเศรษฐกิจที่ลดลง ต้องการอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่ลดลงของไทยจำเป็นที่จะต้องมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
2.การลดอัตราดอกเบี้ยหลังจากการปรับลดของเฟด โดยการลดดอกเบี้ยหลังจากเฟดปรับลดดอกเบี้ย สามารถป้องกันการไหลเข้าของเงินทุนที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก
3.ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจพื้นฐาน แม้จะดูเหมือนว่าเศรษฐกิจแข็งแกร่ง แต่ไทยยังเผชิญกับปัญหาการกระจายรายได้ไม่ดี และรายได้ต่ำ ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไม่แข็งแกร่ง
4.ข้อจำกัดของมาตรการกระตุ้นรัฐบาล ผลกระทบจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลอาจถูกประเมินสูงเกินไป จำเป็นต้องมีการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ
5.การดำเนินการเชิงรุก การลดอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้สามารถเตรียมไทยให้พร้อมสำหรับความยากลำบากที่อาจเกิดขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนที่ชัดเจนมากขึ้น แทนที่จะรอจนกว่าสถานการณ์จะแย่ลง
6.การสนับสนุน SMEs โดยธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทย สามารถได้ประโยชน์จากต้นทุนการกู้ยืมที่ต่ำลง ช่วยให้สามารถอยู่รอดได้
7.ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ปัจจุบันยังควบคุมได้ จึงมีพื้นที่ในการลดดอกเบี้ยโดยไม่เสี่ยงต่อแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อ
"ไม่ใช่แค่ปีนี้ที่มองดอกเบี้ยไทยจะลดลง โดยการปรับลดดอกเบี้ยมีเหตุผลมากมาย แต่เรื่องเวลาเป็นสิ่งสำคัญ โดยตามหลังเฟดจะช่วยรักษาเสถียรภาพได้ และไม่มีนโยบายการคลังร้อนแรงจนเกินไป ดังนั้นการปรับลดดอกเบี้ย หากไม่มีนโยบาย Digital Wallet ก็สามารถทำได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ส่วนมาตรการ Digital Wallet จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้นเท่านั้น โดยปลายปีทำให้จีดีพีมีโอกาสทะลุ 4% ได้มากขึ้น เวลาอัดเงินแจกเงินจะกระตุ้นได้ในระยะสั้น แต่พอหมดมาตรการก็จะแผ่วลง ระมัดระวังการใช้จ่ายหลังจากนั้น ต้องประเมินให้ดี โดยปีหน้า อาจจะเห็นเศรษฐกิจโตช้าลงได้" นายอมรเทพ กล่าว
ส่วนความเห็นต่างระหว่างกระทรวงการคลัง กับ ธปท.ในเรื่องนโยบายดอกเบี้ย ที่กระทรวงการคลังต้องการให้ลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ในมุมของ กนง.ยังคงอัตราดอกเบี้ยนั้น เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยมาสนับสนุน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน ช่วยในการควบคุมเงินเฟ้อ และยังป้องกันการรับความเสี่ยงเกินควร รวมถึงอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน ให้พื้นที่สำหรับการปรับเปลี่ยนในอนาคตหากมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
* เงินบาท Q3 แนวโน้มแข็งค่า ลุ้นเฟดลดดอกเบี้ย
นายอมรเทพ ยังประเมินแนวโน้มค่าเงินบาท โดยคาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าจากระดับ 36.70 บาท/ดอลลาร์ ในสิ้นเดือน มิ.ย. มาอยู่ที่ 36.50 บาท/ดอลลาร์ ในสิ้นเดือน ก.ย. โดยเงินบาทมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในไตรมาส 3/67 ตามการคาดการณ์ว่าจะมีการลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในเดือน ก.ย. ซึ่งจะช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องของตลาดการเงิน และช่วยให้เงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย
อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินบาทปลายปี 67 จะอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ 37 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นในเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ส่วนกรณีที่ในปี 67 จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้กังวลผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้นั้น นายอมรเทพ แนะนำนักลงทุนให้หากลุ่มเรตติ้งดี มีความสามารถในการชำระหนี้ หากมองความไม่แน่นอนตลาดหุ้นในปัจจุบัน จะเห็นว่าเป็นโอกาสของนักลงทุนที่จะหาผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก และรับความเสี่ยงได้ โดยมีการครบกำหนดหุ้นกู้ ประกอบกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำ จึงต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ต่อไป