xs
xsm
sm
md
lg

“นฤมล” ประเมินผลกระทบดอกเบี้ยขาขึ้น เตือนบริหารความเสี่ยงก่อนภาระหนี้เพิ่ม ห่วงนอกระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เหรัญญิก พปชร. ประเมินผลกระทบดอกเบี้ยขาขึ้น หลังเงินเฟ้อพุ่งทั่วโลก แต่ขอให้ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อปรับตัวได้ เตือนประชาชนบริหารความเสี่ยงก่อนภาระหนี้เพิ่ม ห่วงมาหนี้นอกระบบอาจโดนฉวยโอกาสขึ้น แนะหลายช่องทางปรึกษา

วันนี้ (22 ก.ค.) ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้โพสต์ Facebook ส่วนตัวแสดงความเห็นถึงกรณีที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0.5% สูงกว่าที่คาดว่าจะขึ้น 0.25% ซึ่งเป็นการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 11 ปี ทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากจาก -0.5% มาหลายปี มาอยู่ที่ 0% เพื่อรองรับอัตราเงินเฟ้อของ 19 ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรที่ปรับสูงขึ้นเท่ากับ 8.6% ซึ่งบางประเทศในกลุ่มนี้มีอัตราเงินเฟ้อเกิน 10% ไปแล้ว

การดำนเนินโยบายดังกล่าวชัดเจนว่าธนาคารกลางยุโรป ปรับดอกเบี้ยไปในทิศทางเดียวกันกับธนาคารกลางอังกฤษ และธนาคารกลางสหรัฐ( เฟด) ที่ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อมาหลายรอบตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
โดยสองวันก่อน ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนของอังกฤษออกมาที่ 9.4% สูงสุดในรอบ 40 ปี คาดว่า ถึงปลายปีนี้ จะสูงขึ้นอีก ไปแตะ 11% และจะค่อยๆ ลดลงในปีหน้า และตั้งแต่ ธันวาคม ปีที่แล้ว ธนาคารกลางอังกฤษได้ขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว 5 รอบ จนปัจจุบันอยู่ที่ 1.25% และคาดว่าในการประชุมเดือนสิงหาคม น่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.5%

ขณะที่ฟากสหรัฐอเมริกา อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน ออกมาสูงถึง 9.1% สูงสุดในรอบ 40 ปี เช่นกัน เฟด จะประชุมวันที่ 27 กรกฎาคม คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75%

จะเห็นว่า สาเหตุสำคัญของปัญหาเงินเฟ้อพุ่งทะยานในเศรษฐกิจโลก ไม่ได้มาจากแค่ราคาน้ำมัน แต่ส่วนหนึ่งมาจากปริมาณเงินที่เพิ่มเข้าไปในระบบจำนวนมาก ด้วยการพิมพ์เงินของธนาคารกลาง ผนวกกับการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำอย่างผิดปกติมายาวนาน การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเดียว โดยไม่ได้มีมาตรการดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบ จึงทำให้ระยะเวลาในการแก้ปัญหานานกว่าที่คาด แต่หากดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบ ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย

เมื่อมองอัตราเงินเฟ้อของไทย เดือนมิถุนายน เท่ากับ 7.66% พุ่งสูงสุดในรอบ 13 ปี วันที่ 10 สิงหาคมนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงขึ้นดอกเบี้ยแน่ ไทยเราไม่เคยมีการพิมพ์เงินเข้าระบบ จึงไม่ได้น่ากังวลเท่ายุโรปและอเมริกา แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมาก็อยู่ในระดับที่ต่ำมากผิดปกติ เพราะดอกเบี้ยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการพยุงและกระตุ้นเศรษฐกิจมานานเช่นกัน

ดังนั้น หาก กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยเดือนหน้า จึงไม่ใช่เรื่องที่มีเหตุผลรองรับ เพราะเป็นไปโดยกลไก เพื่อสกัดเงินเฟ้อและดูและเสถียรภาพค่าเงินบาท และจะได้ออกจากภาวะดอกเบี้ยต่ำผิดปกติ เพียงแต่ขอให้เป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้ทุกคนมีเวลาปรับตัว ให้เศรษฐกิจยังโตได้

เมื่อรู้ว่าดอกเบี้ยจะขึ้น ประเมินต้นทุนของทางการเงินที่จะเพิ่มขึ้น แล้ววางแผนป้องกันความเสี่ยง ถ้ามีหนี้ดอกเบี้ยลอยตัวอยู่ ลองหาช่องทางรีไฟแนนซ์ แต่ที่เป็นห่วงมาก คือ ลูกหนี้นอกระบบ ที่เจ้าหนี้อาจฉวยโอกาสเพิ่มดอกเบี้ยมากเกิน มีหลายหน่วยงานช่วยให้คำปรึกษาได้ มีเบอร์โทร ปรึกษา หาทางออก ผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันค่ะ

* สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) สำนักงานอัยการสูงสุด สายด่วน 1157
* ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง โทร. 1359
* ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ กระทรวงมหาดไทย โทร. 1567
* ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม โทร. 0 2575 3344


กำลังโหลดความคิดเห็น