ก.ล.ต. เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 3 ราย ได้แก่ (1) นางเพ็ญประภา ศิริสรรพ์ (2) น.ส.สาธิดา ศิริสรรพ์ และ (3) นายสุรพล อ้นสุวรรณ กรณีขายหุ้นบริษัท สหกลอิควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (SQ)
โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน และกรณีช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการขายหุ้น SQ แก่บุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน โดยให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินรวม 3,954,801 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารกับผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ราย
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) พบบุคคลที่กระทำการเข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับการขายหุ้น SQ โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลขาดทุนจากการดำเนินงานของ SQ ในไตรมาส 3 ปี 2562 ซึ่งขาดทุนสุทธิเป็นจำนวน 266.30 ล้านบาท โดยเป็นการขาดทุนมากที่สุดตั้งแต่ SQ ได้นำหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559 เนื่องจากรายได้จากการให้บริการลดลง และต้นทุนการให้บริการสูงขึ้น
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของ ก.ล.ต. พบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 8 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 นางเพ็ญประภา ซึ่งเป็นภรรยาของผู้บริหารและกรรมการของ SQ และในขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาฝ่ายพัฒนาองค์กรและบุคลากรที่ SQ จึงเข้าข่ายเป็นบุคคลที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายในดังกล่าว ได้ขายหุ้น SQ ของตนรวมจำนวน 3,853,600 หุ้น ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของ น.ส.สาธิดา ซึ่งเป็นบุตรสาว
โดย น.ส.สาธิดา ได้ให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกโดยยินยอมให้นางเพ็ญประภาใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ขายหุ้น SQ รวมทั้งพบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2562 นายสุรพล ซึ่งเป็นเลขานุการบริษัทและผู้อำนวยการฝ่ายงบประมาณจัดหาเงินทุนของ SQ จึงเข้าข่ายเป็นบุคคลที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายในดังกล่าว ได้ขายหุ้น SQ รวมจำนวน 39,000 หุ้น ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตน
ดังนั้น การกระทำดังกล่าวเป็นผลให้นางเพ็ญประภา และนายสุรพล สามารถหลีกเลี่ยงผลขาดทุนจากราคาหุ้น SQ ที่ลดลงภายหลังที่ SQ เปิดเผยข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาส 3 ปี 2562 ที่มีผลขาดทุนสุทธิต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 เวลา 8.10 น.
การกระทำของนางเพ็ญประภา เป็นความผิดตามมาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 244(5) ส่วนการกระทำของ น.ส.สาธิดา เป็นความผิดตามมาตรา 315 ประกอบมาตรา 242(1) และการกระทำของนายสุรพล เป็นความผิดตามมาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 243(2) ซึ่งบุคคลทั้งสามรายมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 วรรคหนึ่ง และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2559
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับ* กับผู้กระทำความผิดทั้ง 3 รายดังกล่าว โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ ดังนี้
(1) ให้นางเพ็ญประภา ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 2,423,419 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 12 เดือน
(2) ให้ น.ส.สาธิดา ชำระค่าปรับทางแพ่ง และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 760,714 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 8 เดือน
(3) ให้นายสุรพล ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 770,668 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน
การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราที่อัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด
ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง