xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์กรุงเทพหนุน SME เร่งปรับตัวรับ 4 ปัจจัยท้าทายยุคดิจิทัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ธนาคารกรุงเทพ หนุนเอสเอ็มอีไทยเร่งปรับตัวรับมือ 4 ความท้าทาย ท่ามกลางยุคดิจิทัล การตลาด-เทคโนโลยี-แบรนด์-เงินทุน พร้อมผนึกกำลังพันธมิตรชั้นนำทั้งภาครัฐและเอกชน เสริมความรู้ผู้ประกอบการ SME ไทย ดันขายสินค้าในตลาดโลก ผ่านทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมชี้ปัจจัยเสี่ยงและข้อกีดกันด้านการให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมปรับตัวอย่างยั่งยืน

นายรชฏ เสกตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้อำนวยการลูกค้าธุรกิจรายปลีก นครหลวง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) 
เปิดเผยว่า ในปัจจุบันการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลยังเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับธุรกิจไทย โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องเร่งปรับตัว แต่อย่างไรก็ตาม การปรับตัวให้สอดรับกับทิศทางดังกล่าวอาจยังไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โดยธนาคารมองว่าความท้าทายที่ธุรกิจยังต้องเผชิญหลักๆ มีอยู่ด้วยกัน 4 เรื่อง ได้แก่ การตลาดสมัยใหม่ที่เป็น Digital Commerce ทักษะด้านเทคโนโลยีของแรงงาน การสร้างแบรนด์อย่างเข้มแข็ง และสุดท้ายคือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะมาช่วยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนเพื่อยกระดับศักยภาพธุรกิจ ดังนั้น ธนาคารกรุงเทพจึงได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Alibaba.com ร่วมจัดสัมมนา “โอกาสใหม่ สู่ตลาดโลก ผ่าน Cross Border E-commerce” เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการก้าวไปสู่โอกาสใหม่ๆ ในตลาดโลกที่กำลังเปิดต้อนรับการทำธุรกิจข้ามพรมแดนมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านรูปแบบ E-Commerce ตลอดจนสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องรับมือพร้อมเครื่องมือที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจปรับตัวได้อย่างราบรื่น

"การเข้าสู่ตลาด E-Commerce อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้และเตรียมพร้อมหลายด้าน ทั้งการศึกษาวิจัยตลาดของสินค้าตัวเอง การพัฒนาสินค้า ช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสม ทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งข้อกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและจะเริ่มเห็นกฎเกณฑ์จากประเทศต่างๆ ชัดเจนมากขึ้นในปี 2568 สิ่งเหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการจะต้องพร้อมรับมือ แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นที่จุดไหน ดังนั้น ธนาคารจึงตั้งใจที่จะเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาเจอกัน เพื่อให้ได้รับคำปรึกษาได้อย่างตรงจุดกับธุรกิจมากที่สุด ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมา ธนาคารได้ออกโครงการช่วยเหลือลูกค้า SME ด้วยการให้สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษภายใต้โครงการ “สินเชื่อบัวหลวงเพื่อการปรับตัวธุรกิจ (Bualuang Transformation Loan)” วงเงินโครงการ 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษคงที่ 5% ต่อปี ระยะเวลาสินเชื่อ 5 ปี โดยพิจารณาให้วงเงินสินเชื่อสูงสุด 10 ล้านบาทต่อราย เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน โดยผู้ประกอบการที่สนใจ ทั้งลูกค้าปัจจุบันหรือลูกค้าใหม่ สามารถติดต่อสมัคร สินเชื่อบัวหลวงเพื่อการปรับตัวธุรกิจ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567-31 มกราคม 2568"

น.ส.เรขา ศรีสมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์สถานการณ์ และเตือนภัยทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า แม้กลุ่ม SME จะมีจำนวนมากที่สุดในประเทศ แต่เมื่อดูสัดส่วนของผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าไปขายต่างประเทศกลับมีเพียงร้อยละ 0.7 ของจำนวนผู้ประกอบการ SME ทั้งหมด ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีผู้ประกอบการอีกมากที่ขาดการเข้าถึงข้อมูล แหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจของตัวเองไปสู่การส่งออกได้ ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าอยู่แล้วยังขาดการอัปเดตเทรนด์การค้า แรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีในการใช้แพลตฟอร์มการผลิตและการค้าต่างๆ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนกฎข้อบังคับการส่งออกสินค้าและแหล่งเงินทุนในการปรับปรุงธุรกิจ โดยในปี 2566 มูลค่าการส่งออกของกลุ่ม SME ขยายตัวได้ 26.3% และตลอดช่วง 5 ปี (2562-2566) มูลค่าการส่งออกของกลุ่มเอสเอ็มอีไทยยังขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ 5.2% ซึ่งจากการร่วมมือสนับสนุนทั้งจากภาครัฐ เอกชน และสถาบันการเงิน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการพัฒนาศักยภาพธุรกิจในภาวะการแข่งขันที่ท้าทายได้อย่างแข็งแรง เชื่อว่าในปี 2567 นี้ มูลค่าการส่งออกของกลุ่มผู้ประกอบการ SME จะขยายเพิ่มขึ้นได้อีกร้อยละ 8-10
กำลังโหลดความคิดเห็น